‘สวนสัตว์กระดาษและเรื่องสั้นอื่นๆ’ เพราะเป็นอื่นจึงเจ็บปวด

Highlights

  • พบกับ คาลิล พิศสุวรรณ เช่นเคยในคอลัมน์ reason to read คราวนี้เขาแนะนำ สวนสัตว์กระดาษและเรื่องสั้นอื่นๆ หนังสือรวมเรื่องสั้นของ Ken Liu นักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีนผู้โด่งดัง
  • นอกจากสไตล์เรื่องสั้นที่หลากหลายจนคาดไม่ถึง สิ่งที่คาลิลชวนสังเกตคือประเด็นว่าด้วย ความเป็นอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสั้น สวนสัตว์กระดาษ ซึ่งสะท้อนห้วงความคิดหนึ่งของหลิวเองที่ก็เคยโยกย้ายถิ่นฐานและได้รับสถานะ คนนอก ในอีกวัฒนธรรมหนึ่งไปโดยปริยาย

ใครที่เคยดู Love, Death & Robot ซีรีส์แอนิเมชั่นทาง Netflix คงจะคุ้นเคยกับแอนิเมชั่นความยาว 17 นาทีเรื่อง Good Hunting ที่เล่าเรื่องของเด็กหนุ่มนักล่าปีศาจซึ่งอยู่ๆ ก็ไปผูกพันกับปีศาจสาวตนหนึ่ง รู้ไหมครับว่าแอนิเมชั่นเรื่องนี้จริงๆ แล้วถูกดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งใน สวนสัตว์กระดาษและเรื่องสั้นอื่นๆ หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้แหละครับ

สวนสัตว์กระดาษและเรื่องสั้นอื่นๆ เป็นผลงานของ Ken Liu นักเขียนชาวจีนอเมริกัน ที่นับว่าโด่งดังสุดๆ เพราะเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้ไปคว้ารางวัลใหญ่ๆ ของโลกวรรณกรรมมาถึง 3 เวทีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Hugo Award, Nebula Award และ World Fantasy Award แน่นอนครับว่า ชื่อของรางวัลที่ห้อยท้ายหนังสือเล่มนี้ย่อมส่งผลให้มันน่าสนใจในทันทีก่อนที่จะได้อ่านด้วยซ้ำ แต่พ้นไปจากเสียงชื่นชมและจำนวนรางวัล ผมพบว่า สวนสัตว์กระดาษและเรื่องสั้นอื่นๆ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่อุดมไปด้วยรสชาติอันหลากหลายดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นไซไฟ สัจนิยมมหัศจรรย์ หรือสืบสวนอาชญากรรม รสชาติเหล่านี้ล้วนปรากฏผ่านเรื่องสั้นต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ จนยากที่จะคาดเดาว่า หลังจากที่อ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งจบ เรื่องถัดไปที่รอคอยเราอยู่จะเป็นเรื่องสั้นแนวไหน

ในแง่หนึ่งเราอาจกล่าวได้ว่าเป็นพรสวรรค์ของหลิวก็คงไม่ผิด เพราะไม่เพียงเรื่องสั้นแต่ละเรื่องจะฉีกขาดรสชาติจากเรื่องสั้นอื่นๆ อย่างชัดเจน ชนิดที่หากจะบอกว่าเรื่องสั้นทุกๆ เรื่องล้วนเขียนขึ้นจากนักเขียนคนละคนกัน ก็คงจะเชื่อได้ไม่ยาก แต่ในขณะที่หนังสือเล่มนี้อัดแน่นด้วยรสชาติอันหลากหลาย ก็ไม่ได้แปลว่านักอ่านจะสามารถเชื่อมโยงได้กับเรื่องสั้นทุกๆ เรื่องในระดับใกล้เคียงกันทั้งหมด กล่าวคือ แม้ผมจะชื่นชอบเรื่องสั้นแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ในหนังสือเล่มนี้มากแค่ไหน ทว่าพอเป็นเรื่องสั้นแนวไซไฟ ผมกลับพบว่าตัวเองมีปัญหาต่อการคิดภาพและจินตนาการตามโดยทันที จะบอกว่าเป็นปัญหาของหนังสือก็คงไม่ใช่ เพียงแต่เป็นเพราะประสบการณ์ของผมเองมากกว่าที่ไม่ได้คุ้นเคยกับการอ่านนวนิยายแนวไซไฟนัก เมื่อเทียบกับงานเขียนแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือเมื่อเรื่องสั้นแต่ละเรื่องฉีก genre จากกันโดยชัดเจน กว่าที่เราจะจูนติดกับเรื่องสั้นแต่ละเรื่องจึงอาจต้องอาศัยเวลาอยู่สักหน่อย

ประเด็นหนึ่งที่ผมสนใจในหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ คือเรื่องของความเป็นอื่นด้วยความที่หลิวเกิดในประเทศจีนและมีชีวิตในช่วงวัยเด็กที่นั่น แต่แล้วเมื่อเขาต้องเดินทางมาสหรัฐพร้อมครอบครัว นั่นจึงทำให้เขารับรู้ถึงความแตกต่างในฐานะคนนอกที่ต้องมาดำเนินชีวิตในอีกประเทศหนึ่งที่ไม่ใช่บ้านเกิดของเขา เรื่องสั้นเรื่อง สวนสัตว์กระดาษ คือตัวอย่างอันชัดเจนต่อประเด็นนี้ หลิวถ่ายทอดชีวิตของแจ็คชายหนุ่มลูกครึ่งจีนอเมริกัน ในวัยเยาว์ของเขา แม่ชาวจีนผู้ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วมักจะพับกระดาษเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ แล้วเป่าลมหายใจเข้าไป เพื่อให้สัตว์กระดาษมีชีวิตจิตใจ กระโดดโลดเต้นได้ตามที่ใจต้องการ แจ็คหลงรักมนตร์วิเศษของแม่ พอๆ กับที่เขาหลงใหลในสัตว์กระดาษ และด้วยความที่แจ็คในวัยเด็กไม่ค่อยจะมีเพื่อนมาก สัตว์ต่างๆ นี้จึงเป็นเสมือนเพื่อนเพียงกลุ่มเดียวที่เขามี

แต่แล้วในระหว่างการเติบโต แจ็คก็ค่อยๆ รับรู้ถึงตัวตนที่แตกต่างของเขาในฐานะลูกครึ่งและตัวตนของแม่ในฐานะชาวจีนอพยพ เพราะไม่เพียงแต่แม่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เท่านั้น แต่เธอยังเอาแต่ทำอาหารจีนให้เขาทาน ไม่เคยมีเลยสักครั้งที่แม่จะทำอาหารตะวันตกอย่างที่คนอื่นๆ เขากินกัน แจ็คค่อยๆ ตั้งคำถามต่อความเป็นตัวเองและความเป็นอื่นที่มองเห็นในตัวแม่ของเขาเรื่อยๆ เขาเริ่มจะเรียกร้องให้แม่ทำอาหารอเมริกัน บังคับให้แม่ต้องสื่อสารกับเขาเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น นั่นทำให้แม่หม่นเศร้าลงทุกวัน ความเป็นจีนกลายเป็นสิ่งที่แจ็คชิงชัง พอๆ กับที่สัตว์กระดาษเองก็ค่อยๆ หล่นหายไปจากความทรงจำและถูกหลงลืมไปในที่สุด

ผ่านเรื่องสั้นนี้เอง หลิวได้สะท้อนให้เห็นซึ่งบาดแผลที่กัดกินตัวแจ็คอยู่ตลอดเพียงเพราะเขาถูกรับรู้ว่าเป็นอื่นเพราะเขาเป็นชายหนุ่มเอเชีย ไม่ใช่อเมริกันผิวขาวอย่างคนส่วนใหญ่ในประเทศที่เขาอาศัยอยู่ ทำให้แจ็ครับรู้ต่อตัวเขาเองในสถานะของเบี้ยล่างที่ถูกกระทำอยู่ตลอดเวลา สวนสัตว์กระดาษ ผลักประเด็นความเป็นอื่นให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ด้วยการสอดแทรกแง่มุมอำนาจทางเพศลงไปในเรื่องสั้นนี้ ด้วยการที่แจ็คเองก็ต้องการพิสูจน์ความแข็งแกร่งและเหนือกว่าของตน แต่เมื่อสังคมรอบๆ ตัวมีแต่จะกดทับให้เขาจมอยู่ภายใต้นิยามของความด้อยกว่าแค่เพราะเขาเป็นลูกครึ่งจีน จึงมีเพียงแม่ที่เป็นจีนแท้ๆ เท่านั้นที่แจ็คจะสามารถแสดงสถานะอันเหนือกว่าได้ เพราะสำหรับแจ็คแล้ว ลูกครึ่งจีนอเมริกันที่พูดภาษาอังกฤษได้ก็ยังดีกว่าจีนแท้ๆ ที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอื่นได้เลย

ตรงนี้เองครับ หากเรามองว่าสิ่งที่หลิวต้องการจะสะท้อนให้เห็นไปพร้อมๆ กับความแตกต่างทางวัฒนธรรมคือ ภาระอันไม่จำเป็นของเพศชายที่ต้องคอยพิสูจน์ว่าตัวเองเหนือกว่าอยู่เสมอ พวกเขาจำเป็นต้องแสดงให้คนอื่นเห็นว่ามีจิตใจที่เข้มแข็งและพึ่งพาได้ ในขณะเดียวกันก็มองว่า การมีหัวใจที่ละเอียดอ่อนนั้นเป็นเรื่องของผู้หญิงที่แสดงถึงความอ่อนแอ ซึ่งไม่จำเป็นกับพวกเขา แจ็คเองก็ติดอยู่ภายใต้กับดักนี้ และเมื่อเขาล้มเหลวที่จะพิสูจน์ความเป็นชายให้กับคนอื่นๆ ได้รับรู้ จึงมีแต่แม่ผู้อ่อนไหวของเขาเท่านั้นที่ได้กลายเป็นวัตถุรองรับอำนาจของเพศชาย เพื่อตอบสนองและปลอบประโลมว่าอย่างน้อยๆ เขาก็ไม่ได้พ่ายแพ้ไปเสียทั้งหมด อย่างน้อยๆ ก็ไม่ใช่ทุกสนามของชีวิตที่เขาจะรู้สึกไร้ทางสู้ เพราะอย่างน้อยก็ยังมีสนามที่ชื่อว่าอำนาจของเพศชาย

ค่านิยมตะวันตกบดบังแจ็คให้มองไม่เห็นคุณค่าของผู้หญิง คุณค่าของแม่ และคุณค่าของตะวันออก และจริงๆ แล้วอาจไม่ใช่แค่แจ็คหรอกครับที่ติดกับอยู่ในทัศนคติเช่นนี้ เพราะก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมที่เราอยู่กันนี้บ่อยครั้งก็มักจะยกย่องความเข้มแข็งว่าคือคุณค่า และน้ำตาคือความพ่ายแพ้ การมีอารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องของคนอ่อนแอ ซึ่งถึงที่สุดแล้วมันก็มีแต่จะสร้างบาดแผลให้กันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เฉกเช่นเดียวกับที่แจ็คกระทำต่อแม่ของเขา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวุฒิ เตจา

นักเรียนศิลปะการถ่ายภาพผู้นอนเช้าตื่นบ่ายและกำลังจะตายกับหัวข้อทีสิส กำลังหัดกินกาแฟและดูแลต้นไม้ 8 ต้น

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา