Black Cherry หนังสือเปิดเปลือยความเจ็บปวดที่ผู้หญิงต้องเผชิญ

Highlights

  • Black Cherry : ความโหยหาเป็นชื่อยาเสพติด เป็นรื่องสั้นบ้าง นวนิยายบ้าง ความเรียงบ้าง ของลูกแก้ว โชติรส ที่ว่าด้วยความน่ากลัวของสังคมที่พร้อมจะลงโทษผู้หญิงที่หลุดไปจากจารีต ถึงแม้หนังสือจะใช้เวลาแค่ไม่นานก็อ่านจบ แต่ความเข้มข้นนั้นหนักหนาเอาการ บ้างชวนให้กระอักกระอ่วน และบ้างก็ชวนให้วาบหวาม แต่กับบางเรื่องที่ชวนให้กระอักกระอ่วนใจ และโดยเฉพาะกับอำนาจของเพศชายที่ปรากฏให้เห็นชัดผ่านเรื่องสั้นหลายๆ เรื่อง เราถึงกับต้องกลับมานั่งคิดต่อว่าอำนาจเหล่านี้ยังคงถูกยอมรับในสังคมอย่างเป็นปกติ ก็ชวนให้ขุ่นเคืองใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว

Chimamanda Ngozi Adichie นักเขียนสาวชาวไนจีเรียเจ้าของนวนิยายเรื่องดังอย่าง Americanah น่าจะเป็นนักเขียนคนแรกที่ทำให้ผมเข้าใจคำว่า feminists ผ่านการอ่าน ‘เราทุกคนควรเป็นเฟมินิสต์’ (We Should All Be Feminists) หนังสือเล่มเล็กๆ ที่ Adichie อธิบายให้เห็นอย่างง่ายๆ ทว่าแจ่มชัดว่าทำไมแนวคิดสตรีนิยมจึงสำคัญและการไม่ตระหนักรู้ถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในโครงสร้างทางสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้เพียงใด

Adiche กล่าวไว้ว่า นิยามคำว่าเฟมินิสต์ของฉันคือชายหรือหญิงคนใดก็ตามที่พูดว่า ใช่ ในปัจจุบันนี้เรามีปัญหาเรื่องเพศสภาพและเราควรจะแก้ไขมัน เราต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม เราทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงต้องทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิม” กล่าวคือสำหรับ Adiche แล้ว เฟมินิสต์ไม่ใช่อุดมการณ์ที่ดูเกรี้ยวกราดน่าหวาดกลัวอย่างที่เรามักเข้าใจกันไปเอง ทว่าเป็นดั่งแว่นขยายที่ช่วยตรวจสอบความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของสังคม เช่นกันที่สตรีนิยมเองก็ไม่ใช่ขบวนการที่จะเปิดรับเฉพาะ ‘สตรี’ เพียงเท่านั้นเพราะหากมีผู้ชายที่ตระหนักถึงการกดขี่ทางเพศและพร้อมจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมนี้ พวกเขาก็ย่อมขานเรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์ได้เช่นเดียวกัน

ถ้าคิดอย่างเร็วๆ ผมเชื่อว่าใครๆ คงเห็นด้วยว่า “ใช่สิ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ควรได้รับความเท่าเทียมกันในทุกๆ เรื่อง” แต่อันตรายหนึ่งของความคิดเช่นนี้อยู่ที่ว่า บ่อยครั้งเรามักจะหลงลืมไปว่าโครงสร้างสถาบันและวิชาความรู้ต่างๆ ที่พร่ำสอนกันอยู่เรื่อยมายังคงสร้างความชินชาต่อสังคมที่ผู้ชายถือครองอำนาจเหนือกว่าผู้หญิงในหลายๆ มิติ

แน่นอนว่าในฐานะผู้ชาย ผมย่อมไม่สามารถตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ผู้หญิงต้องเผชิญได้ดีเท่าผู้หญิงด้วยกัน เช่นนี้แล้ว ‘Black Cherry : ความโหยหาเป็นชื่อยาเสพติด’ รวมเรื่องสั้นบ้าง นวนิยายบ้าง ความเรียงบ้าง ของลูกแก้ว โชติรส จึงประสบความสำเร็จในการเปิดเปลือยความเจ็บปวดที่ผู้หญิงต้องเผชิญให้กับผู้ชายอีกหลายๆ คนรวมถึงผู้หญิงด้วยกันได้เห็นถึงความน่ากลัวของสังคมที่พร้อมจะลงโทษผู้หญิงที่หลุดไปจากจารีต ผิดแผกไปจากจริยวัตร

“…ฉันเข้าๆ ออกๆ ด้วยเรื่องไปมีอะไรกับผู้ชาย (คนเดิมคนเดียวคนนั้น) หลายครั้ง ทุกครั้งวนซ้ำอยู่กับการถูกตำหนิไปในเชิงว่าใจง่าย ไม่รักนวลสงวนตัว รู้ไหมว่าพ่อแม่จะเสียใจแค่ไหน จบด้วยการที่ฉันร้องไห้ทุกครั้ง รังเกียจตัวเองทุกที และอยากไปโรงเรียนน้อยลง” – หน้า 80

ประโยคนี้ยกมาจากเรื่องสั้น ‘กว่าจะเป็นแบบกู’ ว่าด้วยเด็กสาวคนหนึ่งที่ชีวิตในวัยเรียนต้องพลิกผันเพียงเพราะไปร่วมรักกับหนุ่มใหญ่ที่มีครอบครัวแล้ว ผ่านเรื่องสั้นนี้ลูกแก้วไม่เพียงจะชวนตั้งคำถามว่าเซ็กซ์ในวัยเรียนเป็นเรื่องผิดบาปขนาดนั้นเลยหรือ? แต่ยังรวมถึงประเด็นที่ว่า เมื่อความจริงเปิดเผยว่าเด็กสาวไปมีสัมพันธ์กับหนุ่มใหญ่จริง ทำไมความผิดทั้งหมดถึงต้องโหมประโคมมาที่ตัวเด็กหญิงแค่ฝ่ายเดียว ผู้ชายอยู่ตรงไหนในสมการนี้ หรือแค่เพราะทัศนคติที่ว่าผู้ชายก็เจ้าชู้กันทุกคนจะเป็นคำอธิบายที่สมเหตุสมผลพอให้ความผิดของฝ่ายชายสูญสลายหายไปโดยทันที

เป็นเพราะกรอบศีลธรรมที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว รักษาพรหมจรรย์ไว้กระทั่งคืนวันแต่งงาน หยิบเซ็กซ์มาผูกติดกับประเด็นจริยธรรม กระทั่งการที่ผู้หญิงจะยอมรับว่าหื่นกระหายใคร่อยากก็กลายเป็นเรื่องผิดธรรมชาติอย่างที่ไม่อาจประกาศออกมาได้ ทว่าผู้หญิงในเรื่องสั้นของลูกแก้วไม่ได้ถูกสะกดข่มให้อยู่ภายใต้กรอบศีลธรรมเหล่านี้ กล่าวคือผู้หญิงใน Black Cherry ต่างยินดีที่จะเปิดเผยความเงี่ยนอย่างเป็นปกติ ไม่เขินอาย ไม่คิดว่าผิด และแม้ว่าหลายๆ ครั้งพวกเธอจะต้องสู้รบปรบมือกับอำนาจของผู้ชาย ชนะบ้างในบางคราว แพ้บ้างในบางที แต่ถึงอย่างนั้นผู้หญิงของลูกแก้วก็ล้วนตระหนักว่าอำนาจของผู้ชายไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้ชอบธรรม พวกเธอมีสิทธิที่จะโต้เถียงคัดง้างและปฏิเสธได้อย่างเต็มที่

“โดยปกติเธอไม่แคร์ศีลธรรมอะไรทั้งนั้น ใครจะเป็นอาจารย์ เป็นพระแก่คราวพ่อ เป็นคู่หมั้นใคร ความใคร่คือความใคร่ เธอเอากับใครก็ได้ตราบที่มันต้องตรงกับกฎสี่ข้อ หนึ่งเธออยากเอากับเขาแทบคลั่ง สองเขาก็อยากเอาเธอแทบคลั่งเช่นกัน สามความยินยอมพร้อมใจคือการถามทวนใหม่ในทุกครั้ง และสุดท้ายถุงยางอนามัยต้องอยู่ในสมการนี้เสมอ” – หน้า 28

จากเรื่องสั้น ‘ว่ากันว่า’ ลูกแก้วชี้ให้เห็นว่า ‘consent’ หรือความยินยอมยังคงถูกมองข้ามอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งของผู้ชายที่มักจะเข้าใจไปเองว่าเมื่อได้ร่วมรักกับผู้หญิงคนหนึ่งสักครั้งหนึ่งแล้ว เธอก็จะยินยอมพร้อมใจที่จะขึ้นเตียงกับเขาในครั้งต่อๆ ไปโดยที่ผู้ชายไม่จำเป็นต้องถามถึงความสมัครใจซ้ำๆ แต่อย่างไรการ ‘คิดไปเอง’ เช่นนี้ ที่บ่อยครั้งได้สร้างบาดแผลให้กับผู้หญิงทั้งทางร่างกายและจิตใจหากเราผลักประเด็นนี้ไปให้ไกลยิ่งขึ้น ลักษณะการคิดไปเองเช่นนี้ได้กลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของอำนาจที่ติดตัวผู้ชายไปจนกระทั่งวันที่แต่งงานและเริ่มต้นชีวิตคู่ที่พวกเขาจะพากันหลงคิดไปว่า การแต่งงาน = ความยินยอมพร้อมใจของภรรยาที่จะร่วมรักกับสามีได้ทุกเมื่อ

ปัญหาของวิธีคิดเช่นนี้คือการที่ผู้ชายมองผู้หญิงเป็นวัตถุหนึ่งๆ ที่พร้อมจะสนองตอบความต้องการในทุกเวลา แต่ลูกแก้วได้ชี้ให้เห็นว่าแม้ผู้หญิงเองก็มีแรงขับทางเพศที่เข้มข้นไม่ต่างกัน หากนั่นเป็นคนละประเด็นกับการที่ผู้หญิงเองก็ต้องมีสิทธิเหนือร่างกายของตัวเองที่จะตอบรับหรือปฏิเสธความต้องการของผู้ชายประหนึ่งเรื่องสามัญธรรมดา

Black Cherry เป็นหนังสือเล่มบางๆ ที่ใช้เวลาแค่ไม่นานก็อ่านจบ เพียงแต่ว่าอย่าได้ปรามาสขนาดที่เล็กของมัน เพราะความเข้มข้นของเนื้อหาของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องนั้นหนักหนาเอาการทีเดียว โดยเฉพาะหากได้ลองจินตนาการภาพตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเรื่องด้วยแล้ว บ้างก็ชวนให้กระอักกระอ่วน และบ้างก็ชวนให้วาบหวามซะเหลือเกิน แน่นอนว่าผมเองก็นึกชื่นชมลูกแก้วที่สามารถบรรยายความอีโรติกได้อย่างถึงใจ แต่กับบางเรื่องที่ชวนให้กระอักกระอ่วนใจ ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมทางสังคมที่คอยแต่จะกดทับผู้หญิงไว้

และโดยเฉพาะกับอำนาจของเพศชายที่ปรากฏให้เห็นชัดผ่านเรื่องสั้นหลายๆ เรื่อง การต้องมานั่งคิดต่อไปว่าอำนาจเหล่านี้ยังคงถูกยอมรับในสังคมอย่างเป็นปกติ ก็ชวนให้ขุ่นเคืองใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา