‘สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน’ หนังสือที่ว่าด้วยเสรีภาพ ความหวัง และความรุนแรง

Highlights

  • รัชดีเป็นนักเขียนอังกฤษเชื้อสายอินเดีย เขาเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในฐานะนักเขียนมือฉมัง Midnight’s Children นวนิยายเล่มที่ 2 ของเขาคว้ารางวัล Man Booker Prize
  • นวนิยายเล่มใหม่ของรัชดีได้สร้างข้อถกเถียงอย่างรุนแรงในโลกอิสลาม เพราะเนื้อหาของมันพาดพิงการตีความตัวตนของ ‘นบีมุฮัมมัด’ ชื่อของเขาจึงถูกจดจำในฐานะนักเขียนผู้เป็นทั้งที่รักและที่ชังมากที่สุดคนหนึ่ง
  • รัชดีรู้ดีว่านวนิยายของเขาไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับทุกคนได้ เช่นกันที่มันจะรบกวนจิตใจหลายๆ คน แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ใช่เหตุผลกลใดที่เขาจะต้องทนปิดปากเงียบ สยบยอมไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ออกมา หรือหวาดผวาต่อความบ้าคลั่งอันไร้เหตุผลที่จ้องจะปลิดชีวิตเขา

ย้อนกลับไปเกือบๆ สามสิบปีก่อน ‘Salman Rushdie’ คือหนึ่งในชื่อ ‘แสลงหู’ ของชาวมุสลิมจำนวนมาก

รัชดีเป็นนักเขียนอังกฤษเชื้อสายอินเดีย เขาเกิดในครอบครัวมุสลิมในเมืองบอมเบย์ ซึ่งตอนนั้นยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เติบโตที่นั่นก่อนจะเดินทางมาเรียนมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ เป็นปี 1981 ที่ชื่อของรัชดีกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกเมื่อ Midnight’s Children นวนิยายเล่มที่ 2 ของเขาคว้ารางวัล Man Booker Prize มาได้ ชื่อของรัชดีถูกจดจำในฐานะนักเขียนมือฉมัง พร้อมๆ กันหนังสือเล่มนี้ก็ถูกจดจำในฐานะวรรณกรรมเล่มสำคัญในช่วงหลังจากที่อินเดียได้รับอิสรภาพ

amazon.com

นั่นเป็นเรื่องเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน และแม้ว่าปัจจุบันเขาจะไม่ต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ แต่ชื่อของรัชดีก็ถูกจดจำในฐานะนักเขียนผู้เป็นทั้งที่รักและที่ชังมากที่สุดคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ ว่ากันที่นวนิยายของเขากันบ้าง ถ้าใครเคยอ่านงานของรัชดีคงจะพอรับรู้ว่า ‘สัจนิยมมหัศจรรย์’ มีบทบาทสำคัญในนวนิยายของเขา ในแง่ของการผสานความเหนือจริงและสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ ซึ่งไม่น่าจะมีอยู่จริงเข้ากับวิถีชีวิตประจำวันของโลกแห่งความจริงดังที่ได้กลายเป็นลายเซ็นประจำตัวของ ‘Gabriel García Márquez’ นักเขียนชาวละตินอเมริกาคนสำคัญ เพียงแต่ขณะที่ความมหัศจรรย์ในวรรณกรรมของมาร์เกซมักจะปรากฏในพื้นที่ลาตินอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ความมหัศจรรย์ในนวนิยายของรัชดีกลับไม่ได้จำกัดอยู่แค่อินเดียหรือภูมิภาคเอเชียใต้ หากพาดเกี่ยวกันไปมาระหว่างพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก ซึ่งการเปรียบเทียบและตั้งคำถามต่อความแตกต่างระหว่างโลกทั้งสองฝั่งนี้เองที่ได้กลายเป็นลายเซ็นของรัชดีที่มักจะพบเห็นผ่านงานของเขาอยู่เสมอ

ในปี 1988 ชื่อของรัชดีกลับมาอยู่ในแสงไฟอีกครั้ง เพียงแต่รอบนี้กลับไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะ The Satanic Verses นวนิยายเล่มใหม่ของรัชดีได้สร้างข้อถกเถียงอย่างรุนแรงในโลกอิสลาม นั่นเพราะเนื้อหาของมันพาดพิงการตีความตัวตนของ ‘นบีมุฮัมมัด’ ซึ่งถือว่าเป็นข้อห้ามในศาสนา จากสาเหตุนี้รัชดีไม่เพียงจะถูกจ้องทำร้ายจากชาวมุสลิมที่ไม่เห็นด้วยกับการตีความของเขาเท่านั้น แต่ยังโดนมองว่าเจตนาของเขาคือการลบหลู่ศาสนาอย่างรุนแรง รัชดีต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ อยู่เป็นปีจากความเป็นไปได้ที่จะถูกฆ่า แม้ว่าตัวเขาเองจะยังยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาจะใช้นวนิยายเล่มนี้ว่าร้ายอิสลามแต่อย่างใด ทว่านั่นก็ไม่ได้ช่วยให้ความรุนแรงคลี่คลายลงได้

‘Two Years Eight Months and Twenty-Eight Nights’ หรือ ‘สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน’ หนังสือที่ผมหยิบมาพูดถึงในครั้งนี้ก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงการพาดเกี่ยวกันระหว่างตะวันตกกับตะวันออกอย่างชัดเจน เล่าอย่างคร่าวๆ นวนิยายเล่มนี้เริ่มต้นจากเหตุการณ์ประหลาดๆ เมื่ออยู่มาวันหนึ่ง ‘มิสเตอร์เจอโรนิโม’ คนสวนชาวอินเดียธรรมดาๆ ในมหานครนิวยอร์ก พบว่าสองเท้าของเขาลอยอยู่เหนือผืนดิน ปัญหาคือการลอยตัวได้อย่างไม่มีสาเหตุนี้ไม่ได้นำมาซึ่งสิ่งดีๆ แต่อย่างใด ชีวิตของมิสเตอร์เจอโรนิโมกลับตาลปัตร มีเรื่องแปลกๆ และคนประหลาดๆ เข้ามาในชีวิตเขามากขึ้น แถมเรื่องราวยิ่งปั่นป่วนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมิสเตอร์เจอโรนิโมพบว่า จริงๆ แล้วตัวเขาเองสืบเชื้อสาย ‘ญิน’ สิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่พระเจ้าเป็นผู้สร้างขึ้นตามความเชื่อของอิสลาม โดยที่มีแต่เขาและเหล่าญาติๆ ที่สืบเชื้อสายมาจากญินเหมือนๆ กันเท่านั้นที่จะสามารถหยุดยั้งแผนการทำลายล้างโลกของญินร้ายทั้งสี่ตัวซึ่งเป็นต้นเรื่องของความพังพินาศต่างๆ ในชีวิตของมิสเตอร์เจอโรนิโม

หากลองบวกจำนวนวันภายใต้ระยะเวลา 2 ปี 8 เดือน กับ 28 คืนเข้าด้วยกัน เราจะได้ตัวเลข 1,001 พอดี ซึ่งนวนิยายเรื่องนี้ก็คือการเล่าซ้ำนิทาน ‘พันหนึ่งราตรี’ ภายใต้บริบทของโลกยุคปัจจุบันนั่นเอง เพียงแต่เมื่อฉากหลังเปลี่ยนไป เราจึงได้เห็นการหยิบฉวยวัตถุดิบต่างๆ ของยุคสมัยนี้ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางศาสนา ปัญหาโลกร้อน ระบบทุนนิยม และประเด็นผู้ลี้ภัย เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการสรรค์สร้างนิทานพันหนึ่งราตรีเวอร์ชั่นศตวรรษที่ 21 ของหนังสือเล่มนี้

ประเด็นหนึ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนและคล้ายจะเป็นโครงสร้างของหนังสือเล่มนี้คือ การปะทะกันระหว่างเหตุผลกับศรัทธา โดยรัชดีไม่เพียงจะโฟกัสเนื้อหาแค่กับปัจจุบันเท่านั้น หากยังพาเราย้อนอดีตหลายร้อยปีก่อน แนะนำให้รู้จักกับนักปรัชญาชาวมุสลิมสองคน คือ ‘อัลเฆาะซาลี’ และ ‘อิบนุ รุชด์’ โดยที่ปราชญ์คนแรกเป็นดั่งต้นสายของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ในขณะที่ปราชญ์คนหลังเป็นตัวแทนของหลักเหตุผล การตั้งคำถาม อีกทั้งยังเป็นต้นตระกูลของมิสเตอร์เจอโรนิโมอีกด้วย รัชดีอธิบายความชั่วร้ายและความคิดอันก้าวร้าวของอัลเฆาะซาลีว่าเป็นผลจากการชักใยของญินอันชั่วร้ายที่มุ่งหวังจะทำลายโลก ด้วยเหตุนี้จึงมีแต่แนวคิดที่ยึดถือหลักเหตุผลอย่าง อิบนุ รุชด์เท่านั้นที่จะมาคัดง้างกับความกราดเกรี้ยวของอัลเฆาะซาลีและกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงได้ ราวกับเขากำลังบอกกับเราว่า มีแต่เหตุผลเท่านั้นที่จะรับมือกับความไร้เหตุผลที่เป็นการสร้างความเลวร้ายให้กับโลกใบนี้

เมื่อพิจารณากันในแง่นี้ เราจึงอาจมอง ‘สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน’ ว่าเป็นงานที่สะท้อนความคิดของรัชดีต่อช่วงเวลาที่เขาถูกปองร้ายจากชาวมุสลิมในหลายๆ ประเทศอย่างที่กล่าวไปข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าสำหรับเขา เหตุผลคือทางออกต่อความรุนแรง แต่เพราะความพ่ายแพ้ของหลักเหตุผลที่ไม่อาจเจรจากับศรัทธาอันรุนแรงได้ นั่นจึงนำมาซึ่งช่วงเวลาอันเลวร้ายที่เขาต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ บาดแผลที่กัดกินเขาปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในหนังสือเล่มนี้ ผ่านเนื้อหาที่ท้าทายต่อแนวคิดอนุรักษนิยมที่ไม่อนุญาตให้ตั้งคำถาม ตีความ และจ้องจะปิดปากคำพูดและความคิดของมนุษย์ใดๆ ที่คิดเห็นไม่ตรงกัน พูดอีกอย่างคือ สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน คือความพยายามของรัชดีต่อการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก เขาเคยกล่าวว่า “เสรีภาพด้านการแสดงออกคืออะไรกันล่ะ ถ้าคุณไม่สามารถที่จะสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับใครได้” รัชดีรู้ดีว่านวนิยายของเขาไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับทุกคนได้ เช่นกันที่มันจะรบกวนจิตใจหลายๆ คน แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ใช่เหตุผลกลใดที่เขาจะต้องทนปิดปากเงียบ สยบยอมไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ออกมา หรือหวาดผวาต่อความบ้าคลั่งอันไร้เหตุผลที่จ้องจะปลิดชีวิตเขา

พ้นไปจากประเด็นนี้ เรื่องราวที่ข้ามผ่านระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกของ สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน ยังสะท้อนความคิดเรื่องพรมแดนของรัชดีอย่างน่าสนใจ อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ความมหัศจรรย์ในงานเขียนของรัชดีไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่เดียว แต่ข้ามพ้นไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก นวนิยายของเขาจึงมีลักษณะของ ‘โลกาภิวัตน์’ ปรากฏอยู่อย่างชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเพราะเขาเกิดในอินเดียแล้วมาเรียนที่อังกฤษ หรืออาจเป็นเพราะการถูกปองร้ายจนต้องเร่ร่อนไปยังที่ต่างๆ โลกของรัชดีจึงไม่ใช่โลกที่หยุดนิ่งและโดดเดี่ยว แต่เป็นโลกที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตะวันตกหรือตะวันออก หากเป็นโลกที่หลอมละลายเข้าหากันอย่างไม่อาจแยกขาดได้อีกต่อไป

เมื่อโลกทั้งสองฝั่งต่างก็เชื่อมโยงเข้าหากัน เมื่อกำแพงของวัฒนธรรมซึ่งเคยขวางกั้นถูกทลายลงไปเรื่อยๆ และเมื่อความรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ฝั่งหนึ่งฝั่งใดอีกแล้ว แต่แทนที่โลกจะหันหน้าเข้าหากันและจับมือช่วยเหลือกันไว้ ความพิลึกพิลั่นอย่างที่สุดคือการที่เรากลับจะยิ่งกีดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่กลุ่มอนุรักษนิยมในบางประเทศจะมีฐานผู้สนับสนุนมากขึ้นเท่านั้น แต่สงครามและความรุนแรงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกกลับมีแต่จะทวีขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าคับแค้นใจ ในยุคสมัยที่มนุษย์สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างง่ายดาย น่าคิดนะครับว่า บางทีความบิดเบี้ยวพิสดารที่ปรากฏอยู่ใน สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน อาจเป็นผลลัพธ์ของการผสมผสานระหว่างจินตนาการอันเลิศล้ำกับความสิ้นหวังจนเริ่มจะเพ้อเจ้อของโลกในตอนนี้ก็เป็นได้

AUTHOR