Humans of the mountain

น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก แต่ภูเขาเป็นของอิ่วเมี่ยน

พี่ก้อง-สุพจน์ กรประสิทธิ์วัฒน์ เจ้าของกาแฟก้องวัลเล่ย์หันมาพูดประโยคนี้กับเรา ขณะขับจี๊ปปุเลงๆ บนทางคดเคี้ยวสู่บ้านในกรัง เกือบสามสิบปีแล้วที่ชาวเผ่าอิ่วเมี่ยนอพยพจากภาคเหนือมาอยู่ในป่าปักษ์ใต้ หมู่บ้านชาวภูเขาซ่อนตัวอยู่ในมุมลับของอำเภอกระบุรี ที่แม้กระทั่งคนระนองเองอาจไม่รู้จัก คนนอกเรียกพวกเขาว่าเย้า แต่ชื่อแท้จริงที่พวกเขาเรียกตัวเองคืออิ่วเมี่ยน เหมือน human ที่แปลว่ามนุษย์

สาวๆ นุ่งชุดประจำเผ่าสีดำแดงและเครื่องเงินรอต้อนรับพวกเราและ ‘ครูก้อง’ อยู่แล้วเมื่อเราเดินทางถึงในตอนเย็น สองปีก่อนหน้านี้ เจ้าของก้องวัลเล่ย์เข้ามาสอนชาวอิ่วเมี่ยนคั่วกาแฟและผลิตกาแฟโรบัสต้าพรีเมี่ยม กาเอสเพรสโซร้อนๆ กับกาน้ำชาดอกกาแฟที่เก็บได้แค่ปีละครั้งจึงตั้งเตรียมพร้อมบนโตกสานสำหรับแกล้มบทสนทนา

“เรามาจากอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชรครับ ตอนนี้หลักๆ เราทำไร่กาแฟ ทุเรียน แล้วก็หมาก เหมือนสวนคอนโดที่มีพืช 3 ชนิดอยู่ในสวนเดียวกัน ชั้นแรกคือกาแฟ สูงขึ้นไปคือทุเรียน ชั้นที่สามคือหมาก พื้นที่มันเหมาะกับการเพาะปลูก และสร้างรายได้พออยู่ได้ให้เกษตรกรที่นี่” อาเซ็ง-เฉงโจว แซ่ฟุ้ง หัวหน้ากลุ่มพัฒนากาแฟเอ่ยปากเล่าเรื่องเมื่อเราล้อมวงกันใต้เงาไม้ ประชากรเจ็ดสิบกว่าชีวิตที่นี่ล้วนเป็นญาติกัน ยึดอาชีพเกษตรกรรมทั้งหมด และแต่ละครัวเรือนก็ร่วมผลิตกาแฟคุณภาพส่งให้ก้องวัลเลย์ราวปีละพันกว่าตัน

“ตั้งแต่รู้จักครูก้อง มีความเปลี่ยนแปลงเรื่องกาแฟ ทั้งราคาและคุณภาพ ตอนนี้ทุกคนดื่มกาแฟคั่วเอง เราไม่ได้ซื้อกาแฟที่ตลาด เมื่อก่อนเราคิดว่ามันทำยาก ไม่รู้วิธีการว่าต้องทำยังไงมั่ง แต่พอทำเองก็รู้ว่าทำได้” อาเก๊า-คมสันต์ แซ่เติ๋ง ผู้ใหญ่อีกคนในหมู่บ้านกล่าวเสริม เป้าหมายในอนาคตของชาวอิ่วเมี่ยนคือผลิตกาแฟแบรนด์ของตัวเอง แม้ยังไม่มั่นใจเรื่องการตลาดนัก แต่กาแฟหอมเข้มกับชาดอกไม้หวานละมุนที่เราได้จิบก็บอกใบ้ว่าฝ่ายการผลิตพร้อมเต็มที่แล้ว

“เราภูมิใจกับงานของเรานะ เคยส่งทั้งกาแฟคั่วและชาดอกกาแฟให้เพื่อนที่ลำปางชิม เขาโทรมาบอกว่าไม่คิดว่ากาแฟเราจะหอมอร่อย เขาก็ปลูกกาแฟเหมือนกัน แต่เป็นอราบิก้า” อาเซ็งพูดอย่างจริงใจ “บางทีคนข้างนอกเขาก็ไม่เข้าใจ มีช่วงนึงคนเขาจะพูดว่าชาวเขาคือคนที่ทำลายป่า คนที่ค้ายาเสพติด อะไรประมาณนี้ ทั้งที่ปัจจุบันนี่เลิกราไปหมดแล้ว อาจจะมีเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว คือชาวเขาอยู่บนที่สูงมาก พืชที่จะสร้างรายได้ให้คนบนพื้นที่สูงขนาดนั้นคือฝิ่นตัวเดียว ปลูกพืชอื่นเอามาจำหน่ายให้พ่อค้าไม่ได้”

จากเขาลูกหนึ่งสู่เขาอีกลูก ประวัติศาสตร์ของชาวอิ่วเมี่ยนเปลี่ยนไปแต่ละบทเมื่อการย้ายถิ่นเกิดขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนผู้คนในเผ่าที่ต้องแยกจากกันทุกครั้งที่มีความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายที่ตะเข็บชายแดนไทย-ลาว ไล่มาจนถึงพะเยา กำแพงเพชร และเมื่อบริเวณน้ำตกคลองลานถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พวกเขาก็ต้องอพยพอีกครั้ง

“นี่ถ้าต้องย้ายอีกก็ไม่รู้จะย้ายไปไหนแล้วครับ มีแต่ลงทะเล”

หัวหน้ากลุ่มอิ่วเมี่ยนที่เดินทางมาไกลที่สุดพูดยิ้มๆ จากป่าเหนือสู่ป่าใต้ ความเชื่อและวิถีชีวิตของพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักจากกลุ่มภาคเหนือ จะต่างกันก็แค่พืชที่ปลูก แต่ชาวเผ่ายังคงนิยมกิจกรรมปักผ้าด้วยมือ ใช้ภาษาเฉพาะตัวที่เขียนด้วยตัวอักษรจีนฮั่น และทุกเทศกาลตรุษจีน ทำบุญพิธีใหญ่ หรือโรงเรียนปิดเทอมใหญ่ พวกเขาจะกลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องเสมอ อิ่วเมี่ยนทั้งโลกมีแค่ 12 ตระกูลเท่านั้น สายใยระหว่างคนของภูเขาจึงแนบแน่นแม้มีระยะทางกั้นกลาง

“ช่วงปลายร้อนต้นฝนที่นี่ก็สวยและหนาว ประมาณเดือนพฤษภาคม มีทะเลหมอกสวยมากไม่แพ้ภาคเหนือเลยครับ จะแวะมาชิมผลผลิต มาคุยกับชาวบ้านก็ได้ แต่ถ้าจะมาต้องบอกล่วงหน้าก่อน เพราะแต่งตัวแบบนี้มันเหนื่อยมาก”

อาเก๊าบอกอย่างใจดีพลางหัวเราะ ฟ้ายามโพล้เพล้เปลี่ยนเป็นสีเข้มจนมองเห็นหมู่ดาวเหนือ สภากาแฟของเรา เด็กสาวๆ กลับเข้าบ้านไปเปลี่ยนชุด บ้านในกรังยังไม่มีโฮมสเตย์ให้นอนค้าง ตอนนี้สามารถแวะเข้ามาเที่ยวได้กับทางก้องวัลเล่ย์เท่านั้น แต่ในอนาคตอาจจัดเป็นทริปเที่ยวชมกระบวนการทำกาแฟ กินอาหารแบบอิ่วเมี่ยน และเปิดโฮมสเตย์ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวให้แขกช่วยเก็บเมล็ดกาแฟสีแดง

พูดเพียงเท่านี้ใจเราก็เต้นกระตุกอยากกลับมาเต็มแก่ ผืนป่ารกครึ้ม วิถีชีวิตเรียบง่าย และจิตวิญญาณของขุนเขาที่สถิตย์ในมนุษย์ที่ไม่ยอมท้อถอย แม้ผ่านกาลเวลาและเส้นทางยาวไกล ปลายังคงว่ายน้ำ นกยังคงกระพือปีกบิน และอิ่วเมี่ยนก็ปลูกชีวิตในหุบเขาเหมือนที่เคยทำเสมอมา

“เมื่อก่อนมาอยู่แรกๆ เราเป็นชนเผ่าที่ปิดตัวเอง ไม่อยากให้คนรู้จัก เราเป็นกลุ่มที่เล็กมาก ใช้ภาษาไม่เหมือนเขา ความคิด วัฒนธรรมเราก็แตกต่างจากคนที่นี่ แต่ตอนนี้เราเปิดบ้านแล้วก็ยินดีต้อนรับทุกคนที่อยากมาสัมผัสถ้าอยากรู้จักชีวิตอิ่วเมี่ยนก็เข้ามาหาได้เลย”

เฉงโจว แซ่ฟุ้ง และ คมสันต์ แซ่เติ๋ง
เกษตรกรชาวอิ่วเมี่ยน และเจ้าบ้านชาวกระบุรี

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

สัมผัสมนตร์เสน่ห์ของจังหวัดระนองแบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่างเลย

AUTHOR