ลิ้มรสพหุวัฒนธรรมและสัมผัสธรรมชาติใน ‘ระนอง’ เมืองเล็กๆ ที่ครบเครื่อง

“เครื่องกำลังปรับระดับลงสู่ท่าอากาศยาน กรุณาปรับพนักเก้าอี้ให้อยู่ในระดับตรง เก็บโต๊ะหน้าที่นั่ง เปิดหน้าต่าง และงดใช้…” เสียงอัตโนมัติลอดจากลำโพงเข้าสู่โสตประสาทปลุกผู้โดยสารขึ้นจากภวังค์ ระนอง  

สุดลูกหูลูกตาเบื้องล่างเห็นเพียงทิวเขากับป่าโกงกางตลอดแนวลำน้ำคดโค้งที่ไหลออกสู่ท้องทะเล ป่า ลำน้ำ ทะเล ลำน้ำ ป่า สลับไปมาอยู่แบบนั้น

สุดลูกหูลูกตา สงบ ผ่อนคลาย

ปกติเรามักใช้เวลาบนเครื่องบินในการเก็บชั่วโมงชาร์จพลังงานให้คุ้มค่าที่สุด แต่มาระนองทีไรเราจะใช้เสียงประกาศนี้เป็นนาฬิกาปลุกให้พยายามตื่น ชะเง้อมองออกไปนอกหน้าต่างเพื่อดูว่าองศาเครื่องบินและมุมที่นั่งจะเลือกสรรวิวช็อตไหนให้ผ่านตา จะว่าโรแมนติกก็ว่าเถอะ ก็มันสดชื่นจริงๆ

ภาพมุมสูงนี้ไม่ผิดเพี้ยนไปจากภาพระนาบสายตามนุษย์ ในสายตาเราระนองโดดเด่นเรื่องธรรมชาติมาก มีน้ำตกใหญ่ที่มองเห็นได้จากถนนสายหลัก มีป่าชายเลนกระจายอยู่แทบทุกในอำเภอ มีทะเลหมอกระยะใกล้เมืองให้เดินขึ้นไปดู แถมยังมีน้ำแร่ที่น้อยเมืองนักจะมี

คุณสมบัติเพียบพร้อมขนาดนี้ แต่ขอสารภาพว่าทั้งที่มาเยือนภาคใต้ทุกปี เราเพิ่งเคยมาถึงระนองครั้งแรกก็ปีที่แล้วนี่เอง ก็เพราะระนองไม่ใช่ประตูสู่ภาคใต้ ไม่ใช่ทางผ่าน และไม่เคยเป็นจุดหมายปลายทางในฝัน ระนองเหมือนเป็นจังหวัดเงียบๆ อีกแห่งที่ซ่อนตัวอยู่ในอ้อมกอดของทะเลและหุบเขา แทบไม่มีบทในบันทึกท่องเที่ยวกระแสหลัก ไม่มีอะไรดังเด่น ยิ่งเทียบกับจังหวัดใกล้เคียง ระนองก็ยิ่งเล็กกระจิ๋วหลิว

ระนองเพิ่งกำลังมาช่วงไม่กี่ปีนี้ ถึงจะไม่ได้แรงแบบเป็นกระแสจนคนแน่นจังหวัด แต่ก็มีคนแวะมาเยี่ยมเยียนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

‘เดอะบลูสกาย รีสอร์ท’ รีสอร์ตจำลองบรรยากาศแบบมัลดีฟที่ตั้งอยูบนเกาะพยามคือจุดเริ่มต้นชวนคนรักการพักผ่อนทุนหนาเข้ามาเยือนเมืองแห่งนี้

ตามมาด้วยการเปิดหมู่เกาะมะริดในฝั่งเมียนมา ตัวอย่างชื่อเกาะที่คุ้นหูกันน่าจะเป็นเกาะหัวใจมรกตหรือเกาะนาวโอพี น้ำทะเลสีฟ้าใสที่ตัดกับหาดทรายขาวสะอาดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนได้เป็นอย่างดี เกาะเหล่านี้นอกจากจะเปิดมุมให้มองเมียนมาในแบบที่คนไทยไม่ค่อยนึกถึงมาก่อนแล้ว ยังมีคุณูปการให้ระนองเติบโตตามไปด้วยไม่น้อยก็มาก เพราะการเดินทางไปเกาะพม่านั้นนักท่องเที่ยวไทยขึ้นเรือจากระนองสะดวกที่สุด แถมแทบทุกทริปที่ไปเยือนเกาะพม่ายังเป็นเดย์ทริป นักท่องเที่ยวจึงนิยมแวะพักในเมืองระนองก่อนหรือหลังลงเกาะ หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีแวะมากินข้าวจิบกาแฟบ้างก่อนจะเดินทางต่อ อาจเรียกได้ว่านับแต่นั้นมาระนองก็เป็นอีกหนึ่งในจังหวัดที่เข้าสู่วงการท่องเที่ยวร่วมสมัยในที่สุด

ย้อนกลับไปตอนที่มาเยือนระนองครั้งแรก เราสองคนมีวัตถุประสงค์การเยือนต่างกัน คนหนึ่งมาประชุม ส่วนอีกคนติดสอยมาพักผ่อนและเปลี่ยนที่นั่งทำงาน จึงไม่ได้เสิร์ชหาจุดสนใจหรือทำการบ้านใดๆ ไว้ล่วงหน้า เผอิญว่าตรงกับช่วงวันหยุดยาวจึงแทบหาที่พักทางอินเทอร์เน็ตไม่ได้ เราเลยถือโอกาสสำรวจเมืองไปพร้อมๆ กับหาที่พัก และขอยอมรับแบบเลี่ยนๆ ว่าตกหลุมรักเมืองนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่มาเยือนจนต้องมีครั้งอื่นๆ ตามมา

ถนนเรืองราษฎร์คือจุดหมายเพราะเป็นถนนหลักของเมือง ตึกแถวที่ผสานโครงสร้างแบบตะวันตกเข้ากับลวดลาย สัญลักษณ์ และรูปแบบอาคารบางส่วนตามคติแบบจีน (บ้างก็เรียกชิโน-โปรตุกีส บ้างก็เรียกชิโน-ยูโรเปียน) ยังคงมีให้เห็น ตึกส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านการบูรณะหรืออนุรักษ์เป็นการเฉพาะ ยังคงมีชีวิตในแบบที่มันเป็น ไม่ได้เติมแต่งสีสันเหมือนที่โด่งดังในจังหวัดภูเก็ต

ต้นถนนเรืองราษฎร์

เมื่อเข้าสู่ต้นถนนเรืองราษฎร์ช่วงสี่แยกตลาดเก่าจะมีศาลเจ้าต่ายเต๊เอี๋ย ศาลเจ้าฮกเกี้ยนเป็นจุดสังเกต ตรงกันข้ามมีร้านใบเตย ร้านสารพัดขนมโบราณ บางวันก็จะมีขนมโบราณของชาวฮกเกี้ยนที่หาชิมได้ยาก เดินขึ้นมาหน่อยจะเจอตลาดเทศบาล ตลาดที่ขายอาหารตอนเช้า พอตกเย็นมาก็เน้นเครื่องดื่มและน้ำชาเป็นหลัก 

หากตลาดเป็นภาพสะท้อนบ้านเมืองและผู้คน ระนองก็มีความเฉพาะตัวค่อนข้างสูง สินค้าที่วางขาย ผู้คนที่ขวักไขว่บอกเล่าความหลากหลายได้เป็นอย่างดี มีผู้คนหลายชาติพันธุ์จากทั้งเมียนมา จีน ไทย มลายู คนท้องถิ่นภาคใต้ และอื่นๆ ปะปนกันจนเกิดเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรม หรือบางครั้งเราอาจเห็นความเมียนมาชัดเจนสุดเสียด้วยซ้ำ เพราะทั้งคนค้าคนขาย คนที่เป็นลูกจ้าง หรือคนที่มาจับจ่ายในตลาดส่วนใหญ่ก็ข้ามมาจากฝั่งเมียนมา ป้ายแปะบอกชื่อสินค้าก็ดี หรือไวนิลโฆษณาก็ว่า เป็นไบลิงกวลไทย-พม่าแทบทั้งนั้น เศรษฐกิจระนองจึงเติบโตและขับเคลื่อนโดยมีผู้คนจากเมียนมาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

เดินทะลุตลาดเทศบาลเข้าไปด้านในเป็นตลาดล่าง นอกจากอาหารทะเล ของสด ผัก ผลไม้แล้ว เราชอบแวะซื้อของกินแบบที่คนจากฝั่งพม่ากินกัน เป็นขนมจำพวกแผ่นแป้งผสมข้าวโพดทอดที่ซื้อจากร้านอาหารเช้าของคนมุสลิม แวดตาโดวโทหรือหมูพะโล้เสียบไม้แบบพม่าเป็นอีกเมนูที่เมื่อคนไทยไปเยือนย่างกุ้งมักรีวิวถึง เด็ดสุดคือขนมจีนน้ำยา โมลัตโต๊ะหรือขนมจีนน้ำยาทวาย เป็นน้ำซุปปลาต้มสมุนไพรสีใสปนเหลือง กับโมฮิงยาหรือขนมจีนแบบเมียนมา การกินตามแบบฉบับคือขยำแผ่นแป้งข้าวโพดทอดลงไปในถ้วยขนมจีนด้วย แน่นอนว่าทั้งแม่ค้าและลูกค้าแทบทั้งหมดคือคนพื้นเพพม่า

ภาพโดย ศรายุทธ กุลราช

ความเป็นเมืองท่าเมืองชายแดนนี่แหละที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของระนอง ระนองเป็นเมืองท่าที่คึกคักด้วยผู้คนที่ไหลเวียนเข้ามาค้าขายนับตั้งแต่ยังไม่มีการแบ่งพื้นที่เรียกเป็นจังหวัด หรือก่อนมีการปักปันเขตแดนรัฐชาติแบบที่เรารับรู้กันตอนนี้ เป็นเมืองท่าทางตอนบนสุดของแหลมมลายูที่มีการติดต่อค้าขายกับเมืองทางตอนใต้ของเมียนมา และชาวจีนโพ้นทะเลกับนายทุนโรงถลุงแร่ดีบุกที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ปีนังและสิงคโปร์เมื่อครั้งอยู่ใต้อาณานิคมของชาติตะวันตก หากไม่นับช่วงโควิดในทุกวันนี้ ระนองจะมีคนจากเมียนมาที่ข้ามฝั่งแม่น้ำและทะลเข้ามาซื้อ-ขายสินค้าอุปโภคบริโภคกันเป็นเรื่องปกติ หรืออาจมาทำธุระค้างสักคืนสองคืนก่อนจะข้ามกลับไป การนั่งเรือข้ามฟากด้วยเรือที่ท่าสะพานปลา-เกาะสอง ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

คงคลาสสิก

กลับมาบนถนนเรืองราษฎร์ ถัดจากตลาดไปก็ยังคงเป็นโซนค้าขาย ผ้าปาเต๊ะ ขนมโบราณ ร้านเครื่องเขียน ร้านรองเท้า ร้านเสื้อผ้า ร้านน้ำชา ร้านขายของมือสอง ที่สะดุดตาที่สุดสำหรับเราเห็นจะเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดประมาณ 4 คูหาชื่อว่า ‘เพชรนคร’ ที่จำหน่ายสินค้าไม่ต่างอะไรจากห้างใหญ่ในเมือง มีทั้งเสื้อผ้าแบรนด์และเครื่องสำอาง ให้บรรยากาศคล้ายๆ ห้างไนติงเกลที่กรุงเทพฯ แต่สินค้ายังคงเป็นแบรนด์ที่หาได้ทั่วไป ใกล้ๆ กันมีป้ายห้างสรรพสินค้าอีกแห่งที่เดาได้ว่าคงเป็นห้างในลักษณะเดียวกันนี้ เพียงแต่เราไม่ทันมีโอกาสได้เข้าไปเดินเล่น เหลือเพียงแต่ตัวอักษรโลหะชื่อร้านทิ้งเป็นหลักฐานของคนไม่เคยมาระนองก่อนอย่างเรา 

หลังจากได้พูดคุยกับเจ้าของร้านแถวนั้นก็พบว่ากลุ่มลูกค้าคือคนจากเมียนมาเสียส่วนใหญ่ บ้างก็ซื้อใส่ในชีวิตประจำวัน บ้างก็ซื้อกลับเป็นของฝากให้คนทางบ้าน ทุกวันนี้ไม่มากก็น้อยห้างร้านเหล่านี้ได้รับผลกระทบทั้งจากการขยายตัวของการช้อปปิ้งออนไลน์ ความสะดวกที่มากขึ้นในการเดินทางจากฝั่งเมียนมาสู่ตัวเมืองกรุงเทพฯ และความคล่องตัวทางเศรษฐกิจที่ลดน้อยลงมาร่วม 10 ปี พร้อมๆ กับการซบเซาของภาคประมงซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของระนอง

ป้ายอักษรโลหะนี้เป็นอะไรที่สร้างความเพลิดเพลินให้กับการเดินระนองได้ดี ตัวอักษรที่ติดเหนือทางเข้าร้านล้วนแต่มีเอกลักษณ์ ไม่ใช่ฟอนต์มาตรฐานหรือโมเดิร์นแบบที่เห็นทั่วไปในปัจจุบัน จนสงสัยไปเองว่าเขาอาจสั่งออกแบบฟอนต์ให้เข้ากับคาแร็กเตอร์ร้าน และด้วยความที่ร้านบ้างก็ปิด บ้างก็เปิด บ้างก็เลิกกิจการ ป้ายเหล่านั้นจึงทำหน้าที่เหมือนคำบอกใบ้ให้จินตนาการไปว่าอะไรวางขายหรือมีอะไรซ่อนอยู่หลังประตูเหล็กเหล่านั้นบ้าง

ท่วงทำนองของเรืองราษฎร์

ถนนเรืองราษฎร์มีชีวิตในจังหวะของตัวเอง เป็นถนนเก่าที่มีลมหายใจ สลับไปกับร้านค้า ร้านอาหาร มีโรงแรมหลายรูปแบบซ่อนตัว มีโรงแรมอายุกว่า 30 ปีที่ถูกฟรีซไว้ในสภาพเดิม มีโรงแรมเดิมที่ปรับปรุงใหม่ รวมถึงมีโรงแรมใหม่ที่ปรับปรุงจากโครงสร้างตึกเดิม

ระนอง

แม้จะไม่ได้แยกขาดออกจากกันชัดเจน เราก็พอจับเซนส์ของถนนเส้นนี้ได้ว่าช่วงต้นของถนนเหมือนเป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ใช้ชีวิตของคนระนองแบบดั้งเดิม ฟังก์ชั่น รูปแบบร้าน รวมไปถึงสินค้ายังคงเหมือนเมื่อวันวาน 

ส่วนช่วงกลางถนนเริ่มให้บรรยากาศเป็นพื้นที่ของวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ลักษณะตึกแบบชิโนฯ ยังคงมีให้เห็นตลอดเส้น แต่ฟังก์ชั่นของหลายร้านเริ่มผสมและเปลี่ยนไป บ้างก็เป็นร้านกาแฟ ร้านขนมสมัยใหม่ที่เพิ่งเปิดบริการมาได้ไม่กี่ปี อีกทั้งยังมีร้านขายเสื้อผ้า ของฝาก ชานม รวมไปถึงร้านอาหารขนาดเล็ก ตลอดสายยังเป็นถนนวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย มีศาลเจ้าจีนถึงสามแห่ง หากเลี้ยวขวาออกจากถนนหลักตรงสามแยกบางส้านตัดขึ้นไปทางพระราชวังรัตนรังสรรค์ก็มีมัสยิด แต่หากตรงเลยคลองสะพานยูงไปเกือบสุดถนนเรืองราษฎร์ก็มีวัดไทยที่ตัวเจดีย์เป็นแบบเมียนมา อันที่จริงแล้วอิทธิพลทางศิลปะและศรัทธาในศาสนาจากฝั่งเมียนมามีให้เห็นทั่วไปในระนอง

เติมท้อง

ร้าน J&T ที่ขายอาหารพื้นเมืองคือร้านที่ไม่ควรพลาด จะบอกว่าเป็นอาหารท้องถิ่นระนองก็อาจถูกส่วนหนึ่ง หลักๆ คือเป็นอาหารที่ผสมผสานระหว่างอาหารถิ่นฝั่งทะเลอันดามันเข้ากับวัฒนธรรมจีนฮกเกี้ยน แถมยังมีกลิ่นอายอาหารเมียนมาเข้ามาด้วย สำคัญที่สุดคือตบท้ายด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเจ้าของร้าน และแน่นอนว่ารสมือถึง อาหารที่เสิร์ฟมีหลากหลาย ตั้งแต่หมูฮ้อง หมูคั่วรา หมูคั่วเคยเค็ม ยำวุ้นเส้นที่ใส่ถั่วลิสงและถั่วฝักยาว ยาวเย (ยำฮกเกี้ยน ประกอบไปด้วยผักบุ้งลวก เต้าหู้ทอด เนื้อสัตว์ ราดด้วยน้ำจิ้มสูตรเฉพาะ) ผัดใบเหลียงที่เสิร์ฟกับไข่ข้น ส่วนเมนูสุดสร้างสรรค์คือน้ำปั่นใบเหลียง นมปั่นใส่กาหยู (เม็ดมะม่วง) เป็นต้น

ใกล้ๆ กันมีร้านขายอาโป้ง ขนมท้องถิ่นที่ถูกนำเข้ามาในระนองและหัวเมืองชายฝั่งอันดามันของไทยพร้อมกับคนเชื้อสายจีนที่อพยพมาจากมาเลเซียตั้งแต่ยุคเหมืองแร่ อาโป้งมีส่วนผสมเป็นแป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย ไข่แดง ต้องทำในกระทะหลุมเหล็ก ขอบๆ จะกรอบกรุบ ส่วนตรงกลางหนานุ่ม แบบประยุกต์ก็จะมีการเติมไส้เป็นฝอยทองหรือมะพร้าว หากไม่อยากพลาดต้องไปให้ถึงร้านไม่เกินแปดโมงครึ่ง บริเวณใกล้กันยังมีร้านกล้วยทอดรสเลิศซึ่งทีเด็ดอยู่ที่จำปาดะทอดที่มีขายตามฤดูกาลเท่านั้น

ถนนเส้นเดียวกันนี้ยังมีไอติมไข่แข็งเก่าแก่ที่ส่งต่อกิจการจากรุ่นสู่รุ่นอยู่สองร้าน ร้านแรกคือไอศครีมประเสริฐสงค์ ตัดสินตามรสนิยมส่วนตัวเห็นว่าไอศครีมติดหวานไปนิด แต่ที่ประทับใจคือความพร้อมต้อนรับพูดคุยของเจ้าของร้าน แถมยังยินดีให้เราดูการทำไข่แข็งที่เลือกใช้เฉพาะส่วนไข่แดงซึ่งเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ไม่คาว หากใครเป็นสายผลไม้เชื่อมก็น่าลองเพราะเจ้าของบอกว่าเชื่อมเองแทบทุกอย่าง ส่วนอีกหนึ่งร้านคือร้านพร ด้านรสชาติไม่มีใครยอมใคร แต่พรพ่วงดีกรีความเก๋าขึ้นป้ายว่าเป็นไอติมไข่แข็งเจ้าแรกของเมือง

ระนอง

หากไม่นับตลาดสะพานยูง ตลาดนัดของสดและของกินเล่นที่คึกคักไปด้วยคนท้องถิ่นในทุกๆ เช้าที่ตั้งอยู่ช่วงปลายของถนนเรืองราษฎร์ ร้านรวงส่วนใหญ่บนช่วงปลายของถนนเส้นนี้เริ่มต้นวันช่วงหกโมงเย็น ผับ บาร์ ร้านนั่งดื่มหลากหลายแนวรวมตัวกันอยู่ที่โซนนี้เป็นหลัก รองรับทั้งคนท้องถิ่นขาเที่ยว ขาชิลล์ และนักท่องเที่ยว

ที่จริงแล้วระนองเป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟของทางใต้ แต่ด้วยความที่ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โรบัสต้ารสชาติจึงให้รสเข้ม เหมาะกับการชงเพียงบางเมนูอย่างอเมริกาโนมากกว่า ร้านกาแฟของระนองที่มีชื่อเสียงจากการใช้เมล็ดท้องถิ่นร้านหนึ่งคือก้องวัลเลย์ที่อยู่ในอำเภอกระบุรี เส้นทางที่มุ่งสู่ชุมพร แต่ร้านหนึ่งที่น่าสนใจซุกตัวเงียบๆ อยู่ช่วงปลายของถนนเรืองราษฎร์ ตรงข้ามกับรั้วจวนเจ้าเมืองคือร้านจิ๊วกิ้ว ระดับความซ่อนตัวนี้คือต่อให้อยู่บนถนนเส้นหลักและออกสำรวจถนนเส้นนี้หลายต่อหลายครั้ง เราอาจไม่ได้เจอร้านนี้หากไม่ใช่เพราะมีคนแนะนำมา

จิ๊กกิ้วใช้เมล็ดจากในระนอง คัดเมล็ด คั่ว บด ชงเองทุกอย่าง ที่ว่าอาจหาร้านจิ๊กกิ้วไม่เจอเพราะบรรยากาศเหมือนบ้าน บ้านของคนชอบเก็บของเก่าประเภทพวกเขาควาย ส่วนประกอบรถ ตู้ไม้ อย่างละชิ้นสองชิ้นแต่รวมกันแล้วมีของหลายสิบชิ้นนั่นแหละ บางหนแกก็จะนั่งคัดเมล็ดอยู่หน้าบ้าน แต่หลายทีก็มองไม่เห็นตัวเพราะทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับร้านกาแฟอยู่ ไม่มีป้ายบอกเปิดหรือปิด คาแร็กเตอร์แกเป็นแบบนั้น ขายเมื่ออยากขาย จะแนะนำให้ไปร้านแกก็ทำได้ไม่เต็มปาก เอาเป็นว่าหากมีเวลา รอได้ ไม่รีบ ไม่คาดหวัง อยากจิบกาแฟแกเคล้าบทสนทนาค่อยลองผ่านไปดู

เมนูเด็ดของจิ๊กกิ้วคือกาแฟชงจากเครื่อง moka pot ที่ใช้น้ำมะพร้าวสดแทนน้ำต้มสุกในการชง รสหวานหอมอ่อนๆ ตัดกับความเข้มขมลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ เทดื่มได้สักแก้วสองแก้วบาริสต้าเพียงคนเดียวของร้านก็จะขูดเนื้อมะพร้าวให้ พร้อมแนะนำให้ลองเทกาแฟใส่ กินแบบ affogato เพียงแต่เปลี่ยนไอศครีมเป็นเนื้อมะพร้าว เนื้อมะพร้าวของจิ๊กกิ้วจะอ่อนมาก เมื่อดื่มกาแฟใกล้หมดแกมักจะกลับเข้าไปในครัวอีกครั้งไม่ปล่อยให้เราไปไหนต่อง่ายๆ จากนั้นจะออกมาพร้อมชาชงร้อนๆ (หรือไอเทมอื่นๆ ตามใจและตามฤดูกาล) ให้ตบท้ายก่อนร่ำลา

ระนอง

นอกจากชงกาแฟที่เป็นกึ่งงานประจำกึ่งงานอดิเรก กิจกรรมโปรดของแกคือการเก็บตะวัน แกชอบถ่ายภาพพระอาทิตย์ทั้งขึ้นและตกในมุมต่างๆ ทั่วระนอง แกซอกแซกมาแล้วหลายซอกหลากมุมเขา อากาศแบบวันนี้จะได้เห็นทะเลหมอกไหม เวลานี้พระอาทิตย์ตรงไหนสวย แกทั้งไปซ้ำที่เดิม ทั้งเพิ่มเติมค้นหาที่ใหม่ๆ ราวกับเป็นวิกิพีเดียด้านทัศนียภาพธรรมชาติระนองไปแล้ว หลายๆ จุดที่เราได้ไปแต่ไม่มีอยู่ในคู่มือท่องเที่ยวของระนองก็ได้แกนี่แหละช่วยแนะนำให้

อย่างที่ว่า กาแฟระนองขมเข้ม ถ้าชอบกินลาเต้หรือกาแฟอื่นๆ ขอแนะนำให้ไปร้าน Alis ออกไปจากเรืองราษฎร์ไม่ไกล อยู่บนถนนดับคดี รสชาติจัดว่าดี มีเมล็ดให้เลือกหลากหลาย ชงแบบเอสเพรสโซ่หรือฟิลเตอร์ก็ได้ เป็นร้านของคนรุ่นค่อนข้างใหม่ที่กลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิด 

แถวดับคดีนี้เรายังแวะเวียนมาบ่อยๆ ในช่วงเช้า ที่แยกหลังศาล (แยกตลาดใหม่) จะมีร้านอาหารอยู่ 3-4 ร้านติดๆ กัน อาหารที่ขายมีขนมจีนแกงใต้และน้ำยาสามัญอื่นๆ ข้าวราดแกงใต้ และปาท่องโก๋ คนแถวนั้นเล่าให้ฟังว่าราว 30 ปีที่แล้วแถวนี้เป็น บขส. เลยน่าจะเป็นเหตุให้มีร้านอาหารเช้ากระจุกอยู่ ตกมาช่วงบ่ายย่านนี้จะเริ่มเงียบ พ่อค้าแม่ขายเริ่มพักผ่อน ทยอยเก็บข้าวของ และจ่ายตลาดสำหรับเตรียมพร้อมในวันถัดไป

ความเงียบยิ่งปกคลุมเมืองระนองชัดขึ้นในช่วงหัวค่ำ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประชากรน้อยเป็นทุนเดิม ช่วงเวลาที่จะมีผู้คนคึกคักเห็นจะเป็นตลาดเย็นเทศบาลบริเวณสนามกีฬาจังหวัดระนอง หน้าตลาดเทศบาลเมืองระนอง และกระจายอยู่ตามพื้นที่ขายอาหารมื้อค่ำที่หนาแน่นหน่อยในโซนถนนท่าเมืองและย่านตลาดซอยสอง

สถานที่รวมตัวของวัยรุ่นระนองยามค่ำคือร้านน้ำเต้าหู้ ร้านน้ำเต้าหู้ที่ไม่ใช่รถเข็นเพื่อซื้อกินกลับบ้าน แต่มีที่นั่งจริงจังเป็นล่ำเป็นสัน ร้านใหญ่ที่นิยมมีอยู่ 3 ร้าน คือน้ำเต้าหู้ดอกไม้ น้ำเต้าหู้ซอยสอง และน้ำเต้าหู้อาแปะ บางครั้งคนเยอะถึงขั้นต้องรอคิว ร้านเหล่านี้เป็นร้านน้ำเต้าหู้ประเภทที่อยากใส่เครื่องอะไร แบบไหน จะเอาอะไรมารวมกับอะไรก็ทำให้ได้ทั้งนั้น วัยรุ่นส่วนหนึ่งก็มาพบกันที่ร้านเหล่านี้บ้างเพื่อแลกเปลี่ยนบทสนทนา บ้างก็มาวอร์มเครื่องก่อนจะหาที่ไปต่อยามดึก

ระนอง

เพียงแค่ในตัวเมืองบนถนนไม่กี่เส้น จริงๆ ใช้เวลาครึ่งวันก็วนครบ แต่ความเป็นระนองที่ว่าด้วยความเงียบ ความเก่าที่ยังมีชีวิต ความหลากหลายที่สัมผัสได้ชัดเจนและเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ทำให้การทำความรู้จักกับเมืองแห่งนี้จัดอยู่ในหมวดน่าสนใจมาก ยิ่งมีเวลาเดินดู เดินคิด เดินกิน ได้ฟัง ได้พูดคุย เดินซึมซับไปเรื่อยๆ จึงทำให้เรามาระนองอีกในรอบต่อๆ ไป รู้ตัวอีกทีระนองกลายมาเป็นจังหวัดที่ไปบ่อยที่สุดในรอบปีไปเสียแล้ว นึกถึงคำพูดของคุณเปิ้ล เจ้าของที่พัก A Day Inn Ranong Hostel ที่ว่า “ถ้าคนที่ชอบก็จะชอบเลย แต่ไม่ชอบก็จะมองว่าไม่มีอะไร เดินห้านาทีจบ” เราสองคนคงจัดอยู่ในกลุ่มแรก

ส่วนความเป็นธรรมชาติของระนองที่เราหลงใหลเป็นยังไง คนท้องถิ่นหรือคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในระนองทุกวันนี้มีมุมมอง เห็นโอกาส ความท้าทาย ความเป็นมาของเมืองแห่งนี้แบบไหน จะหาโอกาสเล่าให้ฟังในครั้งต่อๆ ไป ระนอง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ทฤตมน กมลวิทย์

มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ และสนุกกับการบอกเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่าย