Live long and prosper

1. สิ่งที่นำกลับบ้าน

เมื่ออายุยังน้อย ความฝันของเราอาจตั้งอยู่บนความมั่นคงทางการเงินหรืออาชีพ แต่เมื่ออายุมากขึ้น เส้นทางชีวิตที่เราเลือกใช้อาจไม่ได้ตั้งอยู่บนระนาบเดิม

ป้าวา-พรพรรณ เขียวพันธุ์ และ ลุงจันทร์ เขียวพันธุ์ ทิ้งชีวิตไกลบ้านเพื่อกลับมาเริ่มต้นใหม่ที่หมู่บ้านชาวมอญในลำพูน หลังย้ายไปอยู่ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มานับสิบปี

“ที่ไปเมืองนอกคือไปชีวิต อยากไปอยู่เมืองนอก อยากได้เงินเยอะๆ อยากทุกอย่าง ใฝ่ฝันเหมือนทุกคน ป้ากับลุงไปเจอกันที่นู่น ไปหาเงิน ทำงาน 7 วันไม่เคยหยุด ฝรั่งว่าเราบ้า เราก็ยอมบ้าเพราะเราไปขุดทอง

“แต่เราได้เห็นวิถีชีวิตของเขา เห็นคนแก่แต่งตัวสวยๆ เข้าช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ซื้อกับข้าว เขามีตะกร้าเล็กๆ ไม่ซื้ออะไรมากมาย เราคุยกับเขาเลยรู้ว่าเขาอายุ 98 แล้วแต่ยังเหมือนคนอายุ 60 กว่าๆ เท่านั้น เขาบอกว่าที่อายุยืนเพราะอารมณ์ดี กินอาหารตามฤดูกาล หลังประจำเดือนมาให้กินกีวี่ มันจะล้างมดลูก พอถึงหน้าลูกแพร์ อย่ากินลูกที่เขียวมากนัก ต้องกินลูกที่มีสีน้ำตาล แบบแก่ๆ มันจะฝาดนิดๆ แต่กินทั้งเปลือกมันจะช่วยกระเพาะปัสสาวะ เพราะหน้าหนาวคนมักมีปัญหาตรงนี้ หรือกินแอปเปิ้ลวันละลูกทุกวัน สุขภาพฟันจะดี เราก็เชื่อเขา สิบปีไม่เคยไปหาหมอเลย”

หญิงชราร่างเล็กท่าทางกระฉับกระเฉงแข็งแรงเล่าอดีตให้เราฟัง เคล็ดลับสุขภาพจากตะวันตกทำให้เธอและสามีปรับอาหารการกินใหม่ แต่เมื่อย้ายกลับมาประเทศบ้านเกิด สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปส่งผลให้ตำรับต่างชาติที่เคยกินไม่ได้ผลเหมือนเคย ตรงกันข้าม สองสามีภรรยาค้นพบหัวใจของการกินอาหารสุขภาพที่บ้านเกิดของลุงจันทร์นี่เอง

“คนแก่ที่นี่ทำไมแข็งแรง จะตายก็ตายเลย ไม่ป่วย ไม่เข้าโรงพยาบาลกันบ่อยๆ เพราะวิถีกินของมอญธรรมชาติที่สุด เขากินอาหารตามฤดูกาลที่นี่ กินผัก กินปลา ป้าสนใจเรื่องวัฒนธรรมอาหาร เลยเริ่มวิจัยว่าคนรุ่นเก่าเขากินอะไรบ้าง ทำไมเขาจึงอายุยืน ทำไมชีวิตเขามีความสุข

“เราเคยคิดว่าเราคงจะมีความสุขเพราะมีเงินเยอะๆ แต่พอมาถึงจุดนี้ ป้าว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือสุขภาพ ดีกว่ามีเงินเป็นล้านๆ แล้วต้องไปใช้ค่ายาค่าหมอ”

2. มุมมองมอญ

“ลำพูนมีชุมชนมอญที่เก่าแก่ วัฒนธรรมมอญมีแต่ของดีๆ ทั้งนั้น แต่เราไม่รู้เพราะไม่สนใจ ทั้งที่อาหารที่เขากินก็ดี อย่างขนมจีนปลาย่าง ปลาปั้น คือปลาสับคลุกกับข้าวคั่วเป็นลูกชิ้น เขากินมานานจนไม่รู้ว่ากินมาตั้งแต่รุ่นไหน แล้วยังเอาผักมาทำเป็นแกงบอน แกงกระเจี๊ยบ แกงขี้เหล็ก แกงกล้วยดิบ ป้าก็ทำวิจัยหมดเลยว่ากินอะไรแล้วช่วยร่างกายยังไงบ้าง”

เพื่อบันทึกตำราอาหารมอญแบบดั้งเดิม ป้าวาและลุงจันทร์ไปทำความรู้จักและเก็บข้อมูลจากเพื่อนบ้าน เจ้าบ้านทั้งคู่พาเราไปเยี่ยม อุ๊ยปุด ปัญญารัตน์ ชายชราชาวมอญที่แก่ที่สุดในหมู่บ้าน อุ๊ยยังแข็งแรง ความจำดี แม้จะมีอายุมากถึง 100 ปี

“อุ๊ยเป็นคนโบราณ เขาชอบกินผักริมรั้ว ของที่ชอบที่สุดคือหยวกกล้วย กินกับปลาแห้ง บางทีก็กินกับมะม่วง สุขภาพเขาดีมาก เดี๋ยวนี้หาแบบนี้ไม่ค่อยมีแล้ว”

“ไม่หรอก ไปข้างหน้า ต้นไม้สูงกว่านี้ก็ยังมีอีก”

อุ๊ยปุดตอบยิ้มๆ ระหว่างที่ลูกสาวเตรียมผักกับตำน้ำพริกเป็นอาหารเย็น จังหวะชีวิตของครอบครัวมอญที่เชื่องช้าเรียบง่าย เป็นเสน่ห์ที่เราค่อยๆ ได้ทำความรู้จัก หลังถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันสักพัก ชายชราให้ศีลให้พรเราด้วยภาษามอญ ก่อนลุงจันทร์จะปั่นจักรยานนำทางไปที่ดินของสองสามีภรรยาตระกูลเขียวพันธุ์ โปรเจกต์ใหญ่ที่สุดที่ทั้งคู่กำลังจะทำร่วมกันคือ ‘การแบ่งปัน’

3. สวนพักกาย บ้านพักใจ

หลังเสร็จสิ้นการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมและชาติพันธุ์มอญ เจ้าบ้านทั้งคู่อยากต่อยอดให้ชุมชนด้วยการปลูกอาหารทุกอย่างที่ชาวบ้านกิน ปลูกสมุนไพรทุกอย่างที่รู้จัก เปลี่ยนสวนส่วนตัวเป็นแหล่งอาหารมอญและที่พักเล็กๆ สำหรับคนที่สนใจอยากดูแลตัวเอง

“เรามีสวนที่ปลอดสารพิษมา 20 – 30 ปีแล้ว แต่ก่อนไม่รู้เรื่องสวนเลย ปลูกต้นไม้ทิ้งไว้ตามธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี สมัยนั้นไม่มีคำว่าอินทรีย์ มีแต่คำว่าปลอดสาร คือไม่มีเป็นสารพิษอะไรในสวน หลังทำวิจัยเสร็จ กระเจี๊ยบก็หาย บอนก็หาย ผักพื้นบ้านก็หาย เราก็เลยจะมาฟื้นฟูขึ้นใหม่ ลุงกับป้าลุยกันสองคน ตั้งใจว่าจะวางมือจากอย่างอื่นแล้วมาทำสวนของเราเอง อยากทำบ้านพักหลังเล็กๆ ให้คนอยู่ ทำเป็นศูนย์สุขภาพ และที่สุดคือถ้าเราไม่อยู่แล้ว อยากยกให้เป็นมูลนิธิของชุมชน”

สายตาของป้าวามุ่งมั่นระหว่างเล่าเรื่องความฝันที่กำลังก่อรูปร่าง กระเจี๊ยบเมืองรสเปรี้ยวลูกเล็กๆ ออกลูกแดงสดแข่งกับกระเจี๊ยบหวานลูกโต ฝรั่งเวียดนามออกลูกอยู่ในห่อที่ลุงจันทร์บรรจงหุ้มอย่างทนุถนอม ลำไยเหยียดกิ่งก้านอิสระ ขณะที่หม่อน มะรุม ทุเรียนน้ำ บอน และผักเชียงดากระจายตัวอยู่ใกล้คูน้ำข้างสวน มองเผินๆ ดูเหมือนสวนนี้ยังโล่งว่างรอการเติมเต็ม แต่ความตั้งใจของเจ้าบ้านก็บรรจุเต็มเปี่ยมพื้นที่สีเขียว

“เดี๋ยวเราจะขุดคลองทั้งสวน จะเลี้ยงปลานิลและทำบ้านดินเป็นตู้เย็นไว้เก็บผลผลิต แล้วก็อยากใช้ไม่ไผ่สานจากอำเภอลี้มาทำเป็นบ้านพักเล็กๆ ให้คนอยู่ ใครมีปัญหาอะไรมาก็กินตามนั้น ไม่ต้องไปกินยา แค่จ่ายค่าที่พักกับอาหารของตัวเองแค่นั้น จะกลับไปปลูกเองก็ได้ ไม่ต้องเป็นคนแก่คนป่วยก็ได้ แต่เป็นคนที่รักตัวเอง วิธีรักษามันอยู่ข้างใน ป้าอยากแลกเปลี่ยนเรื่องนี้”

ป้าวาเอื้อมไปเด็ดใบคนทีสอมาให้เราเคี้ยว รสขมปี๋มีฤทธิ์รักษาเหงือก ฟัน และดูแลน้ำเหลือง ส่วนลุงจันทร์เก็บอ้อยดำท่อนยาวเตรียมกลับไปคั้นเป็นน้ำบำรุงเส้นเลือดฝอย เจ้าบ้านใจดีชี้ให้ดูต้นจิกที่ขึ้นกระจัดกระจายทั่วพื้นที่

“เราจะตั้งชื่อที่นี่ว่าสวนมุจลินท์ แปลว่าต้นจิก เพราะเรามีต้นนี้เยอะ เดือนหน้าใบจะแตกยอดอ่อน เอามายำกินได้ จิกมีฤทธิ์ป้องกันมะเร็งลำไส้ แล้วก็เป็นชื่อพญานาคปางนาคปรกด้วย หลักการของเราใกล้เคียงกับวิถีพุทธ แบ่งเป็น 3 อ. อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

“ต่อให้อยู่กรุงเทพฯ ไม่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ก็ต้องดูแลตัวเอง ให้เวลาตัวเองนะ ชีวิตเรา เราไม่เคยให้กับตัวเองเลย ให้แต่คนอื่น เราไม่รู้ตัวหรอก ทำงานทุกอย่างคิดว่าให้ตัวเรา แต่จริงๆ เราไม่เคยให้ร่างกายเราเลย ตื่นเช้ามาเราก็เตรียมตัวไปทำงาน แต่เราไม่ได้ให้เวลาสัก 10 นาทีกับฟันของเรา ปากของเรา ตับไตไส้พุงของเรา หน้าอาจจะให้เพราะผู้หญิงอยากสวย แต่ข้างในไม่ให้เลย ก็ต้องให้แล้ว เพราะร่างกายมันบอกไม่ได้ บอกทีไร แปลว่าป่วยแล้ว”

แดดร่มลมตกเมื่อเราทั้งหมดเดินออกจากสวนช้าๆ ไม่มีจังหวะรีบร้อนวุ่นวายเข้ามารบกวน บรรยากาศสงบโอบกอดช่วงเวลาเย็น เราสูดอากาศสะอาดเข้าไปเต็มปอด ในพื้นที่สีเขียวของเจ้าบ้าน

ความฝันของทั้งคู่แต่งโลกให้งดงามขึ้นเล็กน้อย ไม่ใช่เพราะสวนเขียวชอุ่ม แต่เพราะหัวใจที่คิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง

“ชีวิตคนเรามันมีค่านะ เราเป็นมนุษย์ที่มีค่า เราต้องอายุยืน ถ้าขนาดตัวเองยังดูแลไม่ได้ แล้วจะดูแลสังคมได้ยังไง ดูแลตัวเองดี ก็แบ่งปันความสุขให้กับคนอื่นได้ ไม่ได้เอาเงินไปแจกเขา แต่เอาความสุขไปแจกก็พอ”

พรพรรณ เขียวพันธุ์ และ จันทร์ เขียวพันธุ์

นักอนุรักษ์วิถีมอญ และเจ้าบ้านชาวป่าซาง

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

อ่านความน่ารักของเมืองลำพูนแบบเต็มๆ ได้ด้านล่างนี้เลย

AUTHOR