เรื่องเล่นใหญ่บนโต๊ะอาหารชาวไต้หวัน กับวัฒนธรรมการกิน เหลือดีกว่าขาด ของเต็มโต๊ะ!

ว่าด้วยวัฒนธรรมการกิน ถ้าบ้านเราจริงจังเรื่องการกินไม่เป็นสองรองใครแล้ว เราขอส่งชื่อไต้หวันเข้าร่วมประกวด เพราะเรื่องการกินและอาหารของคนไต้หวันก็ตัวแม่ ตัวมารดา และตัวให้นมบุตรไม่แพ้กัน!

มาไต้หวันเองก็หลายที แต่ก็มีครั้งนี้นี่แหละ เป็นครั้งแรกที่ไปกับทัวร์ไต้หวัน โดยสำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ พาไปเปิดโลกในสถานที่แปลกใหม่ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) รวมถึงพาไปทัวร์กินตามร้านต่างๆ แน่นอนว่า ไม่เพียงอิ่มจนพุงกาง แต่ยังได้รู้เรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับวัฒนธรรมการกินของชาวไต้หวัน โดยเฉพาะจากเพื่อนหนุ่มลูกครึ่งไทย-ไต้หวัน ที่จะมาขิงว่า อาหารบ้านเขาก็จัดเต็มเหมือนกันนะ!

1

น้ำจิ้มชาบู 20 เครื่องปรุง

ร้านอาหารยอดฮิตที่ชาวไทยมาเยือนไต้หวันต้องเข้าไปลิ้มลองคงหนีไม่พ้น ‘ร้าน Mala Hot Pot’ โดยเฉพาะน้ำซุปหมาล่า ที่กลายเป็นของมันต้องมีอยู่ในหม้อของตนเอง เพื่อนชาวไต้หวันเห็นแล้วก็คันปากยุบยิบอยากจะบอกว่า จริงๆ แล้วมีน้ำซุปที่อยากนำเสนอให้เราได้ชิม นั่นคือ ‘ซุปเจียงหมู่ยา’ (Jiang Mu Ya)

ซุปเจียงหมู่ยา หากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ นั่นก็คือ ซุปน้ำเป็ดต้มกับเหล้าและขิง หรือบางร้านจะใส่พวกยาจีนสมุนไพรเข้าไปด้วย รสชาติให้ความรู้สึกเหมือนยาจีนเข้มข้น มีกลิ่นขิงนิดๆ รสชาติฝาดหน่อยๆ เคล็ดลับกินให้อร่อยยิ่งขึ้น ให้เก็บเนื้อเป็ดไว้กินตอนสุดท้าย เพราะเนื้อเป็ดจะถูกต้มให้เนื้อเปื่อยจนนุ่มอร่อย แต่ถ้ากินเลยเนื้อจะเหนียวติดฟันมาก

“งั้นสั่งกินเลยดีไหม” ฉันถามด้วยความตื่นเต้น

“ไม่ได้! เขาจะเปิดขายพิเศษในช่วงหน้าหนาว ส่วนใหญ่ไม่ค่อยขายหน้าร้อนกัน อันที่จริงคนไต้หวันชอบกินชาบูตอนหน้าหนาว เพราะให้ความอบอุ่นเหมือนกับที่ไทย หน้าร้อนก็ต้องอยากกินของเย็นๆ ไว้ดับกระหาย”

ตอนนั้นคือหน้าฝน สรุปว่า อดกิน…ไปโดยปริยาย

“อยากกิน ก็มาไต้หวันอีกรอบสิ หน้าหนาวนะ” เพื่อนพูดเชิญชวน ประหนึ่งไต้หวันก็แค่หน้าปากซอยบ้านเราแค่นั้นเอง

ระหว่างรอพนักงานเตรียมน้ำซุปใส่หม้อ พวกเราก็ไปหยิบเนื้อสัตว์ ผัก และเครื่องเคียงต่างๆ ที่วางเรียงรายเต็มสองตู้ยักษ์ ที่ตื่นตาตื่นใจเราเป็นพิเศษคือ น้ำจิ้มที่ให้ลูกค้าปรุงแต่งหลากหลายกว่า 10-20 วัตถุดิบมามิกซ์แอนด์แมตช์ตามสไตล์ของตัวเอง ด้วยความสงสัยเรื่องน้ำจิ้ม ทำไมมีให้เลือกปรุงมากมายขนาดนี้ สืบสาวราวเรื่องจนได้ความว่า คนไต้หวันจริงจังเรื่องน้ำจิ้มมาก

บางคนก็ชอบหวานเผ็ด เค็มเปรี้ยว หรือมันๆ ผสมหวานหน่อยๆ เปรี้ยวนิดๆ มีหลายเลเยอร์สุดซับซ้อน จะให้เหมารวมทำน้ำจิ้มที่ผสมจนอร่อยกลมกล่อมแล้ว ก็อาจจะไม่ถูกใจชาวไต้หวันทั้งหมด (คาดว่าน่าจะแอบไปปรุงแต่งรสชาติของตัวเองอยู่ดี เหมือนคนไทยชอบปรุงเครื่องปรุงในก๋วยเตี๋ยวประมาณนั้น) เพราะฉะนั้นการมีวัตถุดิบเครื่องปรุงหลากหลายให้เลือก น่าจะตอบโจทย์ชาวไต้หวันให้กินอร่อยถูกใจในแบบตนเองมากกว่า

ระหว่างกินก็เมาท์มอยไปเรื่อยเปื่อย นี่ก็ถามไปว่า ส่วนใหญ่คนไต้หวันเขากินชาบูโอกาสไหนกันหรอ เพื่อนตอบเร็วแบบไม่ต้องคิดด้วยสัญชาตญาณดิบว่า…

“กินเพื่ออิ่ม” เพื่อนหยุดพูดไปนิดหนึ่ง เพราะเห็นสีหน้าเราคิดว่ามันตอบกวนๆ

“นี่…ไม่ได้กวนตีน (หัวเราะ) ชาบูไต้หวันให้ของกินเยอะมาก อร่อยด้วย มากับใครก็ได้ มาคนเดียวก็ได้ มากินให้อิ่มล้วนๆ (หัวเราะ)” ขณะเพื่อนพูดก็คีบหมูเข้าปากชุดใหญ่ตามไปด้วย

โอเค อยากอิ่มจุกๆ ต้องมากินชาบูหม้อไฟที่ไต้หวันนะคะ

2

อาหารเต็มโต๊ะ อย่าให้เหลือพื้นที่

สำหรับไต้หวันไม่ได้โดดเด่นแค่เรื่องชาบูหม้อไฟ แต่ร้านอาหารโลคัลก็จัดเต็มไม่น้อยหน้า เรามีโอกาสไปกิน ‘ซงจู๋หยวน’ ร้านอาหารเก่าแก่ในย่านหยางหมิงซานที่เปิดมานานกว่า 30 ปี เสิร์ฟอาหารพื้นถิ่นที่ชาวไต้หวันชอบกินมาให้ได้ลิ้มลอง

บนโต๊ะกลมที่เรานั่งกับเพื่อนๆ ถูกเติมเต็มด้วยจานอาหารมากมายจนแทบจะไม่เหลือพื้นที่ (มีทั้งหมดประมาณ 10 กว่าเมนูเสิร์ฟมาในจานชามใหญ่ๆ หม้อโตๆ จนอยากจะร้องขอชีวิตว่าหยุดเสิร์ฟเถอะ กลัวกินไม่หมด) พี่ไกด์หนึ่งเดียวในทัวร์อธิบายอาหารแต่ละจาน 

เช่น ไก่ต้มสับชิ้นใหญ่เนื้อแน่น ซุปไก่ใส่พริก ที่นำขิง พริก และไก่มาต้มจนเป็นน้ำซุปเข้มข้น หมูสามชั้นตุ๋นโบราณ โดยนำขาหมูดำมาตุ๋นเป็นเวลากว่าสามชั่วโมงให้เปื่อยจนนุ่ม รวมถึงอีกเมนูที่ห้ามพลาดคือ เต้าหู้เหม็น ที่ทีเด็ดคือเอาเต้าหู้เหม็นมาใส่มันแกวและปาท่องโก๋ไปผัดรวมกัน (ตอนแรกไม่กล้าชิม แต่พี่ๆ เชียร์ให้กิน รสชาติเรียกว่าต้องลองดูสักครั้งในชีวิต อย่างน้อยเอาไปโม้เพื่อนได้ในภายหลังว่าได้ชิมเต้าหู้เหม็นในตำนานเรียบร้อยแล้ว) เหล่านี้เป็นเมนูอาหารยอดฮิตที่ชาวไต้หวันสั่งมากินกันกับครอบครัว หรือพบเจอคนสำคัญในโอกาสพิเศษ

เมื่อเห็นอาหารเต็มโต๊ะจนแน่นเอี้ยด ก็รู้สึกถึงความกดดันว่าพวกเราจะกินหมดหรือไม่ เราถามเพื่อนหนุ่มที่ไม่รีรอคีบขาหมูเข้าปากอย่างไวว่า เวลากินอาหารกันเขาจัดเต็มกันขนาดนี้เลยเหรอ ความเป็นจริงวัฒนธรรมการกินอาหารพร้อมหน้าของชาวไต้หวันมีสโลแกนไม่ต่างจากไทย นั่นคือ อาหารต้องเต็มโต๊ะ เหลือดีกว่าขาด และเจ้าบ้านจะเสียหน้าไม่ได้!

เพราะหน้าตาและปริมาณของอาหารที่เสิร์ฟอยู่บนโต๊ะก็เปรียบเหมือนเป็นหน้าตาของเจ้าบ้าน สะท้อนถึงการดูแลเอาใจใส่ต่อแขกหรือคนสนิท หรือมารยาททางสังคมที่ต้องให้เกียรติแขกที่มาให้อิ่มหนำ อุดมสมบูรณ์ ประหนึ่งกินมื้อนี้อยู่ได้อีกอาทิตย์หนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า หลังจากมื้อนั้นก็แอบปลดกระดุมกางเกงไปหนึ่งเม็ดทันที

3

ชาเลิฟเวอร์

อีกหนึ่งวัฒนธรรมการกินที่ชาวไต้หวันใส่ใจเป็นพิเศษคือเรื่องสุขภาพ สังเกตได้ว่า เกือบทุกเมนูอาหารจะต้องมีพื้นที่สีเขียวให้ผักเข้าไปแทรกอยู่ ทั้งนี้รวมถึงสภาพแวดล้อมทุกอย่างของไต้หวันก็สนับสนุนเรื่องสุขภาพที่ดีด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเมืองให้คนปั่นจักรยาน เดินออกกำลังกาย รวมถึงมีสถานที่ท่องเที่ยวเช่น ป่า หรือบ่อน้ำพุร้อนที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย 

มีวันหนึ่งช่วงเย็นๆ เรากับเพื่อนมีโอกาสได้ไปกินร้านสเต็กแห่งหนึ่งในไต้หวัน เอาจริงก็เป็นเมนูอาหารจานเดียวเหมือนร้านทั่วไป แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เขาให้ผักเยอะมาก ทั้งผักกาดขาว ผัดถั่วงอก หรือผักสลัด กินกับสเต็กปาเข้าไปสามจานจุกๆ รับรองว่า ระบบขับถ่ายดีแน่นอน

เพื่อนชาวไต้หวันเล่าเสริม คนไต้หวันรักสุขภาพมาก สังเกตได้จากเครื่องดื่มที่พวกเขาเลือกดื่มจะมีแต่ ‘ชา’ ดื่มทุกมื้อ ดื่มทุกวัน และดื่มตลอดไป ตอนแรกเราก็ไม่เชื่อว่าชอบกินขนาดนั้นเลยเหรอ โม้เราหรือเปล่า จนกระทั่งเพื่อนพาเข้าไปเดินมินิมาร์ตตรงโซนเครื่องดื่ม ก็พบว่าตู้ขายน้ำมีทั้งหมด 3 ตู้ ขายชาไปหมดแล้ว 2 ตู้ ซึ่งชามีหลากหลายรสชาติจนเลือกไม่ถูก ทั้งชาอู่หลง ชาสมุนไพร ชาพีช ชาจับเลี้ยง หรือชานมไข่มุก…ฯลฯ เชื่อว่ามาเที่ยวสามวันก็ไม่มีทางดื่มหมด 

ขณะกำลังลังเลว่าจะเลือกกินชาอะไรดี ก็หันไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ซึ่งก็ทำหน้างงๆ เลือกไม่ถูกอยู่เหมือนกัน ในตอนนั้นจำได้ว่ายืนไล่ดูชาไปเป็นสิบนาที สุดท้ายก็ได้ชานมไข่มุกหวานน้อยมากินแทน (สุขภาพดีแบบคิดไปเอง)

“แก ชอบกินชาอะไรเหรอ” เราถามเพื่อน

“กินได้หมด…แต่จริงๆ ตอนนี้อยากดื่มน้ำเปล่า” เพื่อนตอบพลางหัวเราะไปด้วย และพูดต่อว่า

“ก็ทุกร้านเสิร์ฟแต่น้ำชา บางทีก็อยากกินน้ำเปล่าบ้าง…คอมันแห้ง (หัวเราะ)”

เออ ก็จริงอย่างที่เพื่อนพูด เพราะร้านอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่จะเป็นชา ชา และชาทุกอย่าง ข้อดีคือมันช่วยในเรื่องสุขภาพ แต่ข้อควรระวังก็คืออย่าดื่มมากจนเกินไป เดี๋ยวจะคอแห้งเสียงแหบไม่รู้ตัว (แต่คอนเฟิร์มว่าชาอร่อยจริง)

สำหรับเรา ไต้หวันไม่เพียงแค่มีสถานที่ท่องเที่ยวตื่นตาตื่นใจมากมาย แต่ยังมีอาหารหลากหลายให้ลิ้มลอง เช่น ชาบูหม้อไฟไม่ได้มีแค่ซุปหมาล่า แต่มีให้เลือกหลายซุปมากมาย (บางร้านมีใส่ไอติมเข้าไปในหม้อด้วย) หรือจะเป็นพวกอาหารสตรีทฟู้ด ไม่ได้มีแค่เต้าหู้เหม็น แต่ยังมีเมนูเด็ดๆ ชวนเปิดประสบการณ์ไม่เหมือนใคร รวมไปถึงเครื่องดื่มต่างๆ ที่สายรักชาหรือชานมไข่มุกต้องตกหลุมรัก (สังเกตว่า เมนูอาหารบ้านเขาพัฒนาและเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น) ไม่ว่าจะมาเมื่อไหร่ก็มีอาหารแปลกใหม่ให้ตื่นเต้นอยู่ตลอด

สุดท้ายนี้หากใครมีแพลนจะเดินเที่ยวไปไต้หวัน เพื่อความสะดวกและความรวดเร็วในการผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง แนะนำให้กรอก Online Arrival Card ล่วงหน้าก่อนเดินทาง 30 วัน สามารถเข้าไปกรอกได้ทาง https://niaspeedy.immigration.gov.tw/webacard/ และติดตามข่าวสาร สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ หรือกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดของทางไต้หวัน ได้จากสำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ ผ่านทาง https://www.taiwantourism.org/th/ หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย Facebook: Taiwan Tourism Bureau TH

ภาพ: วิรัลพัชร ชูแก้ว และ ธนัสถา ใจมั่น

AUTHOR