กอล์ฟ-สราวุฒิ ศิลปินจิตรกรรมไทยที่ป็อปจนคว้ารางวัล ปกอัลบั้มยอดเยี่ยมจากเวที TOTY Music Awards 2022

บางทีถ้าจะทำความเข้าใจงานศิลปะสักชิ้นอาจต้องย้อนกันไปถึงจุดเริ่มต้นของศิลปิน เพื่อรู้จักตัวตนและความคิดของเขา ได้เห็นถึงเส้นทางการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใดๆ ออกมาให้เราเห็น สำหรับรางวัล Cover Art of The Year ที่ กอล์ฟ-สราวุฒิ ปานหนู ได้รับจากเวที T-Pop Of The Year หรือ TOTY Music Awards 2022 ก็เช่นกัน ด้วยลายเซ็นงานจิตรกรรมไทยประยุกต์ให้ร่วมสมัยจนเป็นเอกลักษณ์ของเขา ทำให้มีทั้งนักร้องและเทศกาลดนตรีชักชวนให้มาออกแบบโปสเตอร์งานและเริ่มเป็นที่รู้จัก

จนกระทั่งศิลปินที่เป็นที่ยอมรับในวงการเพลงระดับสากล ภูมิ-วิภูริศ ศิริทิพย์ ก็เป็นหนึ่งในแฟนคลับผลงานและติดต่อให้เขามาร่วมในโปรเจกต์ ‘The Greng Jai Piece’ ที่เป็นผลงานอัลบั้มเต็มลำดับที่ 2 ของเขา จึงทำให้ ‘กอล์ฟ’ กลายเป็นที่จับตาทันทีหลังจากหน้าปกอัลบั้มเปิดเผยสู่สาธารณะและยืนยันด้วยรางวัลที่เขาได้รับ แม้จะเพิ่งทดลองแนวทางของตัวเองที่ต่อยอดจากจิตรกรรมไทยแบบประเพณีมาใส่ความป็อปที่ดึงบริบทสังคมปัจจุบันเข้ามาเล่าให้ร่วมสมัยได้ไม่กี่ชิ้นแต่ก็เชื่อได้ว่าเขากำลังมาถูกทางแล้ว

จากเด็กหนุ่มที่หลงเสน่ห์ศิลปะและจิตรกรรมไทยเมื่อครั้งได้ไปฝึกงานเขียนภาพในโบสถ์ของวัดแห่งหนึ่ง จนทำให้ตัดสินใจเข้าสู่วงการศิลปะไทยเต็มตัว เดินทางสู่การเป็นนักศึกษาของวิทยาลัยเพาะช่างเพื่อลงเรียนในสาขาจิตรกรรมไทย ฝึกมือสะสมทักษะอย่างเข้มข้นจนพร้อมที่จะสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง 

“เมื่อเข้าใจงานโบราณอย่างดีและมีความเชี่ยวชาญก็เหมือนมีอุปกรณ์อยู่เต็มกระเป๋า ทำให้สามารถหยิบใช้อย่างคล่องมือ จะบิดหรือปรับใช้ในรูปแบบต่างๆ ที่เราอยากนำเสนอได้”

เมื่อค้นพบแนวทางใหม่จากการเปิดรับวิธีการนำเสนอศิลปะในรูปแบบต่างๆ จากเพื่อนและคนรอบตัว รวมทั้งสื่อหลากหลายแขนง ทั้งข่าวสารบ้านเมือง ภาพยนตร์ และดนตรีซึ่งมีอิทธิพลกับความคิดจนกลายมาเป็นโปรเจกต์ทดลองของตัวเองที่เริ่มต้นเมื่อปี 2022 

“เรื่องที่ผมสนใจอยู่ตอนนี้ คือ เรื่องมลพิษทางอากาศ สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ฝุ่น ซึ่งมากระทบกับชีวิตเราโดยตรง แม้โควิด-19 จะซาแต่ยังต้องใส่หน้ากากกันอยู่เพราะมีฝุ่นที่เป็นอันตราย ซึ่งเป็นเรื่องที่มากระทบจิตใจที่อยากเล่าลงในผลงานศิลปะ ซึ่งจิตรกรรมไทยแต่เดิมจะเน้นในเรื่องของศาสนา รูปแบบสังคมในยุคนั้นที่เล่าอย่างแบบตรงไปตรงมา”

งานของ กอล์ฟ มีลายเซ็นของตัวเองที่ยังคงกลิ่นความเป็นไทยไม่หลุดกรอบจนสุดโต่ง แต่ปรับงานจิตรกรรมไทยให้มีเอกลักษณ์และใช้สีสันที่ฉูดฉาดที่แตกต่างจากงานแบบขนบโบราณเพื่อทำให้ดึงดูดสายตาและความสนใจมากขึ้น 

หลังจากที่ได้รับโจทย์จากภูมิ ให้รับหน้าที่ออกแบบอาร์ตเวิร์กรวมแล้ว 4 ชิ้นด้วยกัน ประกอบ ด้วยปกอัลบั้ม โปสเตอร์ทัวร์ต่างประเทศ และคาแรกเตอร์ 2 ชิ้น กอล์ฟใช้เวลาทั้งหมดรวมแล้ว 1 เดือนจึงได้มาเป็นผลงานที่ถูกใจทั้งศิลปินและแฟนเพลงที่ติดตาม จนหลายๆ คนเริ่มให้ความสนใจผลงานของเขา สำหรับปกอัลบั้ม ภูมิ ส่งบรีฟมาให้เพียงขอให้มีฟีลลิ่งของงานวัดและตัวสลอธเพื่อแทนตัวตนของเขา ส่วนในตัวโปสเตอร์บรีฟเพิ่มเติมต้องการให้มี สุนัขของเขา ยีราฟ และเรือหางยาวประกอบอยู่ด้วย ซึ่ง กอล์ฟ ก็ได้เติมความเป็นไทยด้วยการใส่ภาพเขาพระสุเมรุไว้เบื้องหลัง เพื่อสื่อถึงการออกทัวร์ประเทศต่างๆ ครั้งใหม่ของภูมิ 

“ก่อนเริ่ม ผมอธิบายกับภูมิไว้ก่อนว่าตัวเองมีข้อจำกัดด้วยความเป็นศิลปินสาย painting บนเฟรมวาดรูป จึงไม่ถนัดงานรูปแบบ digital แต่ภูมิก็เข้าใจธรรมชาติและยืนยันที่จะร่วมงานด้วยกัน ซึ่งการทำงานทั้งหมดจนเสร็จสิ้นเป็นชิ้นงาน เป็นการพูดคุยผ่านการสนทนาในกล่องแชตเท่านั้น”

หลังจากที่ตีความและส่งบรีฟจำนวน 3-4 ภาพสเกตช์ให้ศิลปินได้เลือก ในที่สุดก็มาเคาะกันที่ดราฟต์ที่หนึ่ง แล้วจึงเริ่มสเกตช์สีที่จะใช้ก่อนจะลงในงานจริง ภาพงานวัดที่เขาวาดไม่ได้เฉพาะเจาะจงอ้างอิงจากที่ใดที่หนึ่งแต่เป็นภาพจิตรกรรมในวัดต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มาตั้งแต่สมัยเรียน รวมถึงการหาข้อมูลจากหนังสือเพิ่มเติมปะติดปะต่อกันเป็นฉากที่เราเห็น ถ้าสังเกตดีๆ เราจะเห็นรายละเอียดเช่น น้องเป็ด น้องหมีที่เป็นความชอบส่วนตัวของ กอล์ฟ เติมลงไปในงานได้อย่างน่ารัก น่าเอ็นดู

ในขั้นตอนทั้งหมดส่วนที่ยากที่สุดและเป็นกระบวนการที่เขาไม่ถนัดที่ยังไงก็หนีไม่พ้นนั่นคือการแปลงเป็นรูปแบบดิจิทัลที่มีคุณภาพสูงเพื่อส่งงานให้กับศิลปิน 

“ขั้นตอนนี้เป็นช่วงที่ทำให้ผมเครียดเหมือนกันจึงทดลองใช้ทั้งการสแกนและถ่ายภาพกันอยู่หลายรอบ ได้เพื่อนๆ ที่สตูดิโอมาช่วยกันจนได้สีที่ออกมาสมบูรณ์และใกล้เคียงกับภาพวาดมากที่สุด” 

ผลลัพท์ที่ได้มาก็เกินความคาดหมายเพราะนับตั้งแต่ผลงานชิ้นนี้ออกไปก็มีทั้งคนมาติดตามและติดต่อให้ร่วมงานด้วยอีกหลายโปรเจกต์ ทำให้เขารู้สึกยินดีกับกระแสตอบรับที่ได้มาแต่ก็สร้างความกดดันให้กับงานชิ้นใหม่ที่จะทำออกมาด้วยเช่นกัน สุดท้ายแล้วก็สามารถกลับมาตั้งสติและลุยโปรเจกต์ที่เริ่มมาก่อนหน้านี้ต่อ โดยแว่วๆ ว่ากำลังซุ่มทำผลงานชุด Mr.UM city (มิสเตอร์อำ) อีกประมาณ 10 ชิ้น เพื่อจัดแสดงนิทรรศการส่วนตัวในกรุงเทพฯ ที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า

สำหรับคำชื่นชมที่ทำให้เขาจดจำและประทับมากที่สุดไม่ใช่คำที่บอกว่าผลงานชิ้นนี้เป็นงานที่สวยที่สุด แต่เป็นคำที่บอกว่า ‘งานของคุณเข้าใจง่ายและมีความสนุกสนาน’ ได้ขยายกลุ่มคนที่เสพงานของเขาได้กว้างขึ้น เข้าถึงคนทุกวัย แต่ยังไม่ลืมความเป็นไทยที่เป็นความชอบและแนวทางของเขา จนทำให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาติดตามมากขึ้นเพราะการปรับทิศทางเนื้อหาให้สื่อสารกับเรื่องราวที่เป็นบทสนทนาของคนในยุคปัจจุบัน

“จากที่เคยทำงานโบราณ คนที่ชื่นชมคือจะเข้ามาบอกว่าสวยและวิจิตรมาก แต่พอทำงานที่ป็อปขึ้น ทำให้เข้าใจง่าย เข้าถึงได้ทุกวัย ทั้งยังสนุกกับงานได้ด้วยและคงกลิ่นความเป็นไทยอยู่ ผมเลยรู้ว่าจริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่อาจไม่ได้ต้องการอะไรที่ลึกซึ้ง แต่คนอยากเข้าใจงานมากกว่า ซึ่งก็ตอบโจทย์กับความตั้งใจของตัวเองที่อยากทำให้งานเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ได้เล่าบริบทสังคมที่ตัวเองสนใจลงไปได้” 

พอเราถามว่าคุณคิดว่าหน้าปกสำคัญสำหรับศิลปินนักร้องอย่างไร กอล์ฟให้ความเห็นว่า 

“ปกมันบ่งบอกถึงรสนิยมของศิลปินได้ชัดเจนมาก แต่ละยุคจะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เราเห็นปกอัลบั้มก็สามารถได้ยินสไตล์เพลง มีซาวนด์เพลงลอยขึ้นมาเลยโดยที่ยังไม่เปิดฟังเพลงด้วยซ้ำ ซึ่งหน้าปกของ ภูมิ ที่ทำอยู่ก็เป็นเช่นเดียวกัน เพราะเพลงในอัลบั้นจะมีเสียงของเครื่องดนตรีไทย เช่น ฉิ่ง ตะโพน สอดแทรกได้อย่างนุ่มนวล กลมกล่อมอยู่ในแต่ละเพลงของอัมบั้มนี้ ซึ่งเพลงกับปกก็จะมีความเชื่อมโยงกันและกันนั่นเอง”

รับฟัง Temple Fair ซึ่งเป็นเพลงแรกของอัลบั้ม ‘The Greng Jai Piece’ ที่นำภาพปกอัลบั้มมาทำในรูปแบบแอนิเมชัน

AUTHOR