ถอดสูตรความสำเร็จ K-POP สู่ T-POP เป้าหมายระยะยาวที่มีประชาธิปไตยเป็นปัจจัยสำคัญ

เป็นที่ประจักษ์ถึงความสำเร็จของกระแสความนิยมในวัฒนธรรเกาหลีใต้ จนมีการถอดรหัสไขความลับเบื้องหลังที่ทำให้ประเทศเล็กๆ ที่เคยย่อยยับจากผลพ่วงของสงครามถึงกลับมายืนหยัดอย่างสง่างามจนแซงหน้าหลายๆ ชาติที่เคยเข้ามารุกรานประเทศนี้ 

แต่ถึงแม้เราจะได้เรียนรู้และตามรอยเส้นทางของเกาหลีใต้ไปจนถึงจุดกำเนิดและสาเหตุของความนิยมใน ฮัน-รยู จนเจอแล้วก็ตาม แต่ก็ยังโดนทิ้งห่างนานเป็นทศวรรษ นั่นก็เพราะปัจจัยที่ส่งให้สินค้าทางวัฒนธรรมจากเกาหลีใต้ที่ไทยเรายังไม่มี นั่นคือความเป็นประชาธิปไตยที่สามารถเปิดโอกาสให้ศิลปินได้สร้างสรรค์และท้าทายกับประเด็นหัวข้อใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเชื่อมโยงกับค่านิยมโลกนั่นเอง 

คอลัมน์พิเศษที่เป็นส่วนหนึ่งของ Main Couse เดือนธันวาคมในชื่อ T-POP Offstage ซึ่งชวน ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมกันวิเคราะห์กันอีกสักครั้ง ว่าทำไมเส้นทางอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยยังไม่ราบรื่นดังใจไปไกลยืนแถวหน้าในวัฒนธรรมกระแสหลักได้สักที

โดย ฮัน-รยู (Korean-Wave) แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้ ฮัน-รยู 1.0 (K-Drama ตั้งแต่ปี 1995-2005) ฮัน-รยู 2.0 (K-Pop Music ตั้งแต่ปี 2006-ปัจจุบัน) ฮัน-รยู 3.0 (K-Culture ปัจจุบัน) และในอนาคตการเติบโตขึ้นเป็น ฮัน-รยู 4.0 (K-Style) โดยเราขอเจาะกันที่ ฮัน-รยู 2.0 (K-Pop Music) ที่มีเหล่าศิลปินไอดอลเป็นแม่ทัพในการปักธงได้ในทุกทวีปทั่วโลก

ปัจจัยการผลิตที่เรียกว่าไอดอล

ไอดอลเกาหลีสามารถทำได้หลายอย่าง ฝึกร้อง เต้น บุคลิกท่าทาง และการเป็นศิลปิน หลายๆ คนรับงานซีรีส์ เดินแบบ และงานเบื้องหน้าอื่นๆ ด้วย K-POP จึงเป็นช่องทางไปสู่อาชีพในวงการอื่นๆ ในวงการ โดยมีเพลงเป็นคอนเทนต์แบบหนึ่ง การที่จะฝึกไอดอลขึ้นมาเพื่อทำเพลงอย่างเดียวจึงดูเป็นเรื่องน่าเสียดาย ไอดอลของเกาหลีจึงได้รับการเทรนหลายๆ ด้าน แต่ละคนสามารถที่จะไปแจ้งเกิดด้านอื่นๆ ในวงการบันเทิงได้ด้วย นอกเหนือจากการร้องเพลง เอกลักษณ์ที่พิเศษของ K-POP จึงอยู่ที่การมีความสามารถหลากหลายมากกว่าของไทยและที่อื่น

สำหรับไอดอลในปัจจุบันเริ่มต้นเส้นทางเข้าสังกัดปั้นกันอายุน้อยลงเรื่อยๆ เพราะถ้าเริ่มตอน 20 ปีกว่าจะเดบิวต์ได้กลายเป็นว่าอายุใกล้สามสิบแล้ว ทำให้ต้องปั้นศิลปินกันตั้งแต่อายุ 13-14 ปี ผ่านการคัดตัวเพื่อส่งไปเทรนที่เกาหลีใต้ พอบรรลุนิติภาวะก็สามารถเดบิวต์รอแจ้งเกิดกันได้เลย

ภาพจาก https://www.pinterest.com/pin/603482418831824860/

ก่อนที่จะเดบิวต์ศิลปินสักวงได้นั้น เกาหลีใต้ต้องนำมาฝึกและอบรมกันหนักมาก จากตารางที่ผมเห็นในแต่ละวันต้องใช้เวลามากกว่า 10 ชั่วโมง เก็บตัวกันในคอนโด มีผู้จัดการคอยดูแล ฝึกการเต้น การร้อง การเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ ฝึกวิธีการพูด รวมถึงฝึกภาษาเกาหลี ทุกด้านของการใช้ชีวิต  

ทุกอย่างจะมีคนดูแลหมด เรียกได้ว่าเป็นโรงงานผลิตไอดอล ฉะนั้นเมื่อโรงงานหาวัตถุดิบที่เหมาะกับการผลิตได้แล้ว ที่เหลือก็เข้าสู่กระบวนการผลิตที่มีทีมงานเข้ามาประกบดูแลในด้านต่างๆ ในการฝึกฝน ซึ่งอาศัยมืออาชีพที่เทรนศิลปินรุ่นก่อนๆ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมาดูแลรุ่นใหม่ต่อไป

ในไทยเรามองกันว่าเพลงมีเอาไว้สำหรับฟังคลายเครียด แต่เราไม่ได้มองว่าเพลงหรือศิลปินคือเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยการผลิตที่สามารถทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศ ผู้นำไทยอาจไม่ได้มองแบบนั้นในเชิงการเมือง 

การใช้ประโยชน์ K-POP ไม่ใช่แค่ในเรื่องเชิงพาณิชย์เท่านั้น ต้นสังกัดเองก็เปิดกว้างให้รัฐบาลนำไปโปรโมตงานด้านอื่นๆ ในระดับเวทีนานาชาติ ในเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Green Economy รวมถึงสันติภาพโลก ศิลปินเหล่านี้ก็มีจิตสำนึกและพร้อมจะให้ความร่วมมือจึงทำให้เกิดการบูรณาการได้

เกาหลีใต้มองว่าศิลปินเหล่านี้ถึงแม้จะสร้างขึ้นมาในกรอบของบริษัทภาคเอกชนเพื่อสร้างผลกำไร แต่ว่าพวกเขาเป็นทรัพย์สมบัติของประเทศ ฉะนั้นจึงมีผลกับภาพลักษณ์ของประเทศ ภาคประชาชนเองก็มองว่าศิลปินเหล่านี้คือแม่ทัพที่เป็นสินค้าของเรา

คลื่นความนิยมจากศิลปินสู่การเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์

ในเวฟที่ 1.0 ชื่อศิลปินที่สร้างกระแสที่เป็นที่รู้จักคือ วง H.O.T. ศิลปินเดี่ยว BoA และ ทงบังชินกิ โดยเฉพาะ ทงบังชินกิ สามารถระเบิดกระแสจุดพลุในประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

สำหรับในเวฟที่ 2.0 เริ่มตั้งแต่ปี 2006-2010 กว่าๆ กระแสความนิยมของ K-POP music ได้ขยายมายังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แฟนด้อมศิลปินวงต่างๆ จึงเริ่มเกิดขึ้นหลังจากปี 2006 รายชื่อของศิลปินที่ยังจำกันได้ก็มี Girls’ Generation, BIGBANG, 2PM และ SHINee 

แต่ทั้งในเวฟที่ 1.0 และ 2.0 กระแสอยู่เฉพาะในทวีปเอเชียยังไม่สามารถบุกตลาดยุโรปได้ ในเวฟที่ 1.0 (ก่อนปี 2005) เป็นการเน้นส่งออกศิลปินไอดอลไปยังเอเชียตะวันออกที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ได้แก่ จีนและญี่ปุ่น ซึ่งจีนเป็นตลาดใหญ่มีประชากรจำนวนมาก ส่วนญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มียอดซื้อสูง ถ้าจะแบ่งง่ายๆ ให้เห็นภาพก็คือยุคที่สตรีมมิงยังไม่เข้ามา ผู้บริโภคต้องซื้อซีดีและวิดีโอเพื่อสนับสนุนศิลปิน 

มาถึงเวฟที่ 3.0 เข้าสู่ระบบ SNS (Social Network Site) ยุคออนไลน์สตรีมมิงที่มีการ Cross Platform ตัวแทนศิลปินของยุคนี้ผมยกให้กับ BLACKPINK และ BTS 

สำหรับเวฟที่ 4.0 ต้องลุ้นกันว่าวงไอดอลไหนจะโดดเด่นขึ้นมาแจ้งเกิดในระดับโลก 

กว่าที่ Raw Material จะมาเป็นไอดอล

เกาหลีใต้ในยุคหลัง 2000 เป็นต้นมา (ฮันรยู 2.0) ต้องมีการปรับตัว โดยการ Localized ให้มากขึ้น ด้วยการนำ Raw Material ไปเทรนภายใต้กระบวนการผลิตศิลปินของเกาหลี ทั้งนี้ก็เพราะต้องการสลายแรงต้านจากคนในท้องถิ่น 

สำหรับการคัดตัวค้นหาไอดอลมีวิธีการสองแบบด้วยกันคือ หนึ่ง วางคอนเซ็ปต์วงไว้ก่อน รู้แล้วว่าจะมีจำนวนสมาชิกในวงกี่คน ใครบ้างจะเป็นลีดเดอร์ ใครจะเป็นนักร้องหลักหรือร้องแร็ป หน้าตาศิลปินในวงและบุคลิกภาพ จากนั้นจึงค้นหาคนที่เหมาะกับตำแหน่งเหล่านี้ด้วยการเดินออกไปหาทั้งในเกาหลีใต้และต่างประเทศ คัดตัวมาจับใส่ในตำแหน่งตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้กันตั้งแต่แรก ยกตัวอย่างกรณีของลูกหนัง (H1-KEY) ก็มาจากการคัดตัวในแบบที่หนึ่ง 

สอง ศิลปินที่ร้องดีมีแววเก่งแต่ยังไม่มีตำแหน่งตามคอนเซ็ปต์ ต้นสังกัดก็จะรับเข้ามาก่อน แล้วค่อยมาหาที่ทางให้ เขียนเพลงดีไซน์วิธีการปั้นให้เป็นศิลปินต่อไป เพื่อขัดเกลาให้ความสามารถด้านอื่นๆ ฉายแสงขึ้นมา ยกตัวอย่างศิลปินในรูปแบบที่สองนี้ ในยุค 2.0 สมาชิกบางคนในวง Girls’ Generation

แต่ในยุคหลังๆ มีเรื่องของงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือจำนวนสมาชิกจะน้อยลงเรื่อยๆ จากในช่วงแรกวงเช่น Super Junior หรือ Girls’ Generation จะเป็นยุคที่วงไอดอลส่วนใหญ่มีสมาชิกมากกว่า 5 คนขึ้นไป ส่วนในยุคหลัง เกาหลีใต้ต้องการที่จะล็อกเป้าความสำเร็จจึงทำให้ลดจำนวนสมาชิกลงแบบในปัจจุบัน

ทลายร่มเงาและสร้างเส้นทางความสำเร็จในแบบตัวเอง

การที่เกาหลีใต้สามารถหลุดออกมาจากร่มเงาของ J-POP และพากระแสเกาหลีให้ไปในระดับโลกได้นั้นก็มาจากความพยายามของ 3 ส่วน คือ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งถ้ายังจับมือกันได้แบบนี้เราก็ยังจะอยู่กับ K-Wave ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งไทยต้องหาช่องเพื่อแทรกตัวเองเข้าไปให้ได้ เราต้องชัดเจนกันก่อนว่าอยากขายอะไร เพลงในตัวมันเองไม่ได้สร้างรายได้เพียงพอที่จะทำให้สามารถคุ้มค่ากับการลงทุนจำนวนมากแบบเกาหลี ถ้าจะปั้นศิลปินขึ้นมาร้องเพลงอย่างเดียวผมว่าไม่ได้แล้ว 

ฉะนั้นการจะลงทุนให้ศิลปินสักคนเก่งขึ้นมาได้นั้น ต้องคิดว่าประเทศเราจะขายอะไรผ่านเขา แล้วเราก็ต้องเอาสิ่งนั้นมาลงทุนต่อด้วย อย่างเช่น เอาเงินจากสปอนเซอร์มาก่อนที่จะเขียนบทถ่ายซีรีส์ เพราะถ้าจะเอาเพียงรายได้จากซีรีย์มาคัฟเวอร์ค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยเฉพาะต้นทุนโปรดักชันของซีรีส์เกาหลีใต้ก็สูงมากเกินกว่ารายรับของซีรีส์เรื่องหนึ่งที่จะเข้ามาแล้ว ถึงแม้จะเอาซีรีส์ไปขายต่างประเทศก็ยังไม่สามารถเทียบเท่าต้นทุนกับงบที่ลงไปกับการถ่ายทำ 

สิ่งที่เกาหลีต้องการจึงไม่ได้มาจากซีรีส์แต่มาจากสินค้าที่ tie-in อยู่ในซีรีส์ต่างหากที่จะเป็นตัวสะท้อนต้นทุนการทำงานที่สูงขนาดนั้น เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมเพลง การจะปั้นให้ศิลปินคนหนึ่งแจ้งเกิดขึ้นมานั้น ทุกวันนี้รายรับไม่ได้มาจากการขายซิงเกิลแล้ว ศิลปินเป็นเครื่องมืออีกแบบหนึ่งที่จะผลักดันเศรษฐกิจ เป็นโจทย์ที่คนลงทุนต้องคิดต่อซึ่งก็คือภาครัฐและต้นสังกัด 

ต้นสังกัดจะได้รับส่วนแบ่งจากโฆษณาและรายการที่ศิลปินในค่ายไปโชว์ตัว เพราะตอนที่ยังไม่ได้ดังค่ายลงทุนกับศิลปินคนหนึ่งหลายสิบล้านเป็นเวลา 6-7 ปี ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าจะแจ้งเกิดได้หรือไม่ ดูแลทั้งด้านการกินอยู่และใช้ชีวิตทุกด้าน เพราะฉะนั้นรายได้ทุกอย่างที่เกิดจากศิลปินที่เป็นโปรดักต์ของเขานั้นต้องฟังคำสั่งและทิศทางที่จะไปต่อจากค่าย ซึ่งเกาหลีใต้มีระบบที่จัดการดูแลทั้งหมดนี้ไว้แล้ว โดยธรรมเนียมปฏิบัติของไทยก็อาจมีความแตกต่างจากเกาหลีซึ่งทำให้ไม่สามารถบังคับได้แบบนั้น มีความอะลุ่มอล่วย

การเป็นประชาธิปไตยเบื้องหลังการยอมรับในระดับสากล

ใช่ครับ (เสียงหนักแน่น) โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก ประการแรกคือการที่ศิลปินจากประเทศนั้นๆ มีความเป็นประชาธิปไตยสูงทเพิ่มโอกาสให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างมีเสรีภาพสูงขึ้นเช่นกัน      

ประการที่สองศิลปินมีความเคารพในความเป็นประชาธิปไตย ในสมัยนี้ศิลปินจะเก่งในเรื่องการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องแสดงจิตวิญญาณความเป็นประชาธิปไตยเพื่อให้ตัวเองได้รับการยอมรับด้วยเช่นกัน

จึงไม่แปลกใจที่จะมีข่าวว่า อี ย็องแอ (นางเอกซีรีย์แดจังกึม) บริจาคเงิน 100 ล้านวอนให้กับประเทศยูเครน รวมถึงแสดงออกกับการไม่เห็นด้วยที่รัสเซียบุกยูเครน เพื่อประกาศว่านี่คือสิ่งที่รับไม่ได้ในประชาสังคมโลก ทำแบบนี้มันไม่ถูก 

สังคมเกาหลีเคยผ่านช่วงยุคที่ปกครองด้วยทหารมาก่อนในระหว่างทศวรรษที่ 1960-1990 จนสิ้นสุดยุคเผด็จการทหารในปี 1993 ได้รัฐบาลพลเรือนขึ้นมาบริหาร เกาหลีใต้ก็หันหลังให้กับระบบเผด็จการและเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ทำให้ศิลปินทุกค่ายยึดมั่นในจุดนี้ ผมเชื่อว่าการอยู่ในสังคมประชาธิปไตยนั่นมีส่วนทำให้ศิลปินสามารถเติบโตได้ด้วย 

รวมถึงการเข้าไปสู่ตลาดโลกมีเรื่องค่านิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง ถึงจะเป็นศิลปินที่เก่งแต่เหยียดผู้หญิง หรือค่านิยมที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมสากลของโลกก็ไปต่อได้ยาก ศิลปินนั้นวางอยู่บนความชอบและไม่ชอบของมนุษย์ เรายอมรับในความเก่งแต่อาจไม่ชอบทัศนคติของเขาก็มี เพราะฉะนั้นการเป็นศิลปินไม่หมายถึงการทำผลงานที่ดีอย่างเดียว แต่เป็นการขายทัศนคติและค่านิยมอีกด้วย 

ดังนั้นการที่ใครจะเป็นไอดอลก็เป็นไปได้ว่าเรากำลังมองหาความเพอร์เฟกต์ของผลงาน ค่านิยม วิธีคิด และการใช้ชีวิตเช่นกัน ผมคิดว่าถ้าเราจะเดินไปสู่ในระดับสากลอันนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เริ่มด้วยวิธีคิดที่ถูกต้องและการสะท้อนวิธีคิดของตัวเองผ่านเพลงและผลงานที่ทำ 

สังเกตได้ว่าคอนเทนต์ของเกาหลีไปแตะในประเด็นที่มีความเป็นสากล อย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Parasite ถึงแม้จะเป็นหนังจากเกาหลีใต้แต่เล่าในประเด็นที่คนทั่วโลกเชื่อมโยงได้คือความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือ Squid game ที่สะท้อนว่ามนุษย์สามารถกำจัดกันเองได้เพียงเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด เหล่านี้เป็นค่านิยมสากลที่เป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก ฉะนั้นการที่จะเดินไปสู่กระแสหลักของโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ภาพยนตร์ ซีรีย์ ต้องสะท้อนค่านิยมสากล อาทิ สะท้อนความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ หรือการแก้ไขวิกฤตของโลก ด้วยเช่นกัน

ประชาธิปไตยในไทยที่ยังน้ำท่วมปาก

ผมเห็นว่ารัฐบาลใหม่นี้ก็กำลังพยายามกันอยู่นะครับ แต่ไทยเรามีหลายสถาบันที่ไม่สามารถพูดถึงได้ ศิลปินเองไม่มีโอกาสสร้างสรรค์งานได้แบบไม่มีการตีกรอบ เกาหลีใต้สามารถแตะได้ทุกสถาบันเพราะประเทศเขาไม่มีสีขาว ไม่มีศาสนา และไม่มีสีน้ำเงินแล้ว ธงชาติมีแต่สีแดงทำให้แตะได้หมดและทำคอนเทนต์ได้ลึกและกว้างมากกว่า 

เรามีข้อจำกัดหลายอย่างที่ยังมีความอนุรักษ์นิยมซึ่งไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง เปรียบเทียบกับคอนเทนต์ของเกาหลีมีความหลากหลายสูงมาก

ปัจจุบันเกาหลีใต้ไม่ได้ขายเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว เขาขายคอนเทนต์ คุณนอนอยู่บ้านไม่ต้องไปถึงเกาหลีใต้ก็สามารถเสพคอนเทนต์กันตั้งแต่เช้าถึงดึก ทำไมต้องพากันไปติดตม.ที่นู่น ลองคิดดูว่าการไปเกาหลีใต้ 4-5 วันกับการเสพคอนเทนต์อยู่บ้านทั้งปี คุณคิดว่าเกาหลีใต้จะทำรายได้จากอะไรมากกว่ากัน เฉพาะที่เรากินอาหารเกาหลีรวมกันทั้งปีในประเทศอาจทำได้รายได้มากกว่าการไปเที่ยวไม่กี่วันซะอีก ปัจจุบันเกาหลีใต้เน้นการขายเรื่อง Cutural Product ไม่ใช่ Tourism อีกต่อไปแล้ว เขาไม่ได้อยากให้เราไปประเทศเขาแล้วนะครับถึงได้เข้มงวดกับ ตม. แบบนี้

จาก KOCCA สู่ THACCA และความหวังในทศวรรษหน้า

เกาหลีใต้ใส่งบประมาณไปที่หน่วยงาน KOCCA หน่วยงานองค์กรมหาชนที่ได้งบประมาณส่วนหนึ่งมาจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวของเกาหลี ที่ดูแลครอบคลุมครบวงจร สามารถเลือกได้ว่าปีนี้จะทุ่มงบไปในวงการไหนของประเทศ เมื่อเงินงบประมาณมาอยู่ที่กองกลางทำให้ KOCCA ที่ดูแลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งหมด จึงปรับกลยุทธ์ในการใช้งบประมาณด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น 10 ปีก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการมีปัญหาเรื่องการขาดคนเขียนบท ทักษะด้านการกำกับและไม่มีสถานที่ถ่ายทำ KOCCA จึงสร้างโรงถ่ายทำขึ้นมารองรับตรงนี้ 

ส่วนใครที่ขาดเงินสนับสนุน KOCCA ก็จะเข้าไปพูดคุยกับรัฐบาลท้องถิ่นให้ หรือผู้สร้างคนไหนขาดแหล่งเงินกู้ก็จะไปคุยกับร้านค้า SME สำหรับคนเขียนบทที่ยังไม่เพียงพอก็จะไปคุยกับมหาวิทยาลัยที่มีนักเรียนเขียนบทแต่ยังไม่เก่ง ก็พานักเขียนบทมืออาชีพที่เล่าเรื่องเก่งๆ มีประสบการณ์ในวงการมาเทรนให้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการตั้งสถาบันรองรับคุณวุฒิของนักเขียนและผู้กำกับ

เมื่อมีหน่วยงานแบบนี้กำกับดูแลครบวงจรทำให้รู้ปัญหาและลงมือได้เลย ทำให้เม็ดเงินที่ใช้ไปคุ้มค่า แต่ของไทยเกิดข้อสงสัยตั้งแต่ที่มาของเกณฑ์การแบ่งงบในแต่ละสาขา ที่คุณอุ๊งอิ๊งประกาศตั้งงบ ห้าพันกว่าล้านบาทนั้นจัดสรรกันยังไง และความต้องการแต่ละสาขาแตกต่างกันขนาดไหน บางสาขาเอกชนมีเงินอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มงบจำนวนมาก 

ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ผู้กำกับภาพยนตร์เมื่ออยากทำหนังสักเรื่องต้องเดินมาขอเงินกับนายทุน ถ้าผู้กำกับดังมีชื่อเสียงก็อาจจะได้เงินไปกำกับหนัง แล้วถ้าหนังเจ๊งขาดทุนนักลงทุนก็เจ๊ง ส่วนเรื่องไหนทำกำไรนายทุนที่ออกเงินให้รับส่วนแบ่งตามตกลงกัน ผมว่ามันไม่เป็นระบบ แทนที่เราจะได้พิจารณากันจากพล็อตเรื่องที่ดีถึงแม้นักแสดงจะไม่มีชื่อเสียงแต่ก็สมควรที่จะลงทุน รัฐควรทำหน้าที่สนับสนุนหลักไม่ใช่นายทุนเป็นคนลงทุนหลัก 

ถ้าคนต้องการทำหนังแต่ยังขาดเงินทุน พวกเขาสามารถเดินมาหาหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลด้านนี้ อย่างเช่น KOCCA แทนที่จะไปหานายทุน นั่นจะทำให้เกิด SME ขึ้นมากมาย KOCCA เองก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะสามารถไปไกลระดับโลก KOCCA จึงต้องพิจารณาเนื้อหาคอนเทนต์เป็นหลัก แต่ถึงแม้บางคอนเทนต์อาจไม่ได้ไปไกลระดับโลก แต่ส่งเสริมความเป็นเกาหลีซึ่งจะได้ผลลัพธ์ในเชิงเศรษฐกิจกลับมา 

THACCA (ทักก้า) หน่วยงานของไทยที่เพิ่งตั้งกันในปีนี้ก็กำลังเดินตามเส้นทางโมเดลของ KOCCA ซึ่งฉากทัศน์ที่เราเห็นกันอยู่นี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว กว่าจะเป็นความสำเร็จในปัจจุบัน เมื่อ 15 ปีที่แล้ว KOCCA เองก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างในแบบในวันนี้ ค่อยๆ เริ่มจนยอดภูเขาสะสมๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ สามารถโผล่พ้นเหนือน้ำขึ้นมาให้เราได้ชื่นชม ซึ่งถ้า THACCA ของไทยทำสำเร็จก็หมายความว่ากว่าที่ระบบจะเดินได้ด้วยตัวเอง มีการลงทุนด้วยตัวเองก็อาจจะไปเห็นความสำเร็จในอีก 10 ข้างหน้า 

ด้วยโครงสร้างทางธุรกิจสื่อของไทยในทุกวันนี้ผมว่ายากครับ ไทยเราไม่ได้เป็นเหมืองขุดพลอย ส่วนใหญ่ใช้รูปแบบค้นหาเพชรมากกว่า ถึงแม้ของไทยก็มีเวทีประกวดที่เป็นช่องทางเข้าสู่เส้นทางบันเทิงให้เห็น แต่ส่วนใหญ่ศิลปินมักเป็นคนที่เก่งอยู่แล้ว มีความอัจฉริยะและพรสวรรค์เฉพาะตัว แล้วต้นสังกัดมาเกลาอีกนิดหน่อยแล้วออกอัลบั้มให้ โดยที่ค่ายไม่ได้ลงทุนเยอะเท่าของเกาหลีใต้ที่ลงทุนปีละหลายล้านต่อเนื่องกันเจ็ดแปดปี ก่อนที่ศิลปินจะได้เดบิวต์ผลงาน

น่าเสียดายกับทั้งวงการเพลงและภาพยนตร์ นักแสดงที่เก่งๆ ต้องไปเติบโตในต่างประเทศ วนเป็นวงจรแบบนี้ จนถึงวันนี้ผมยังไม่เห็นยุทธศาสตร์ของ THACCA นะครับ ไม่รู้เหมือนกันว่าเขารู้หรือเปล่าว่าเกาหลีใช้โมเดลนี้ในการทำให้วงการเพลงของเขาประสบความสำเร็จ ไม่แน่ใจว่าโค้ชของเขาเด็ดแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาเอกชนเดินกันด้วยตัวเองทำให้ทิศทางสะเปะสะปะ ภาครัฐเองก็ไม่ได้สนับสนุนกันอย่างเป็นระบบจริงๆ จังๆ เกี่ยวกับเรื่องอุตสาหกรรมเพลงของไทย 


แหล่งอ้างอิงจากบทความ

ถอดรหัสเส้นทางสู่ฮัน-รยู 4.0 

AUTHOR