T-Pop เพลงป๊อปแบบไทยที่เปลี่ยนไปในโลกไร้พรมแดน

ไม่ต้องบอกหลายคนก็คงพอจะรู้ว่า T-Pop ช่วงหลังๆ เริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ทั้งสร้างปรากฏการณ์ดังไกลไปถึงต่างประเทศ หรือเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ ส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกอินเทอร์เน็ตทำให้เราได้สำรวจและพบเจอแนวเพลงใหม่ๆ มากขึ้น 

เพื่อทำความรู้จักเพลงไทยยุคหลังให้มากขึ้น กิจกรรมเสียงเพลงแห่งศตวรรษ ตอน ‘เพลงไทยในโลกไร้พรมแดน’ โดย OKMD ร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดกิจกรรมเสวนาและสาธิตแบบมีส่วนร่วม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมเฉลิมฉลอง ‘ร้อยปีตึกเรา’ หรืออาคารมิวเซียมสยาม พาทุกคนไปสำรวจประวัติศาสตร์เพลงไทยที่อยู่ในยุคใกล้เคียงกับปัจจุบันมากที่สุด 

ก่อนหน้านี้กิจกรรมเสียงเพลงแห่งศตวรรษพาเราไปสำรวจเส้นทางดนตรีในรอบ 100 ปี เริ่มต้นจากดนตรีแจ๊ซ ร็อกแอนด์โรล ก่อนย้ายกลับมาที่ฝั่งไทยผ่านเรื่องราวของดนตรีไทยสากล อย่างเพลงลูกทุ่งและเพลงลูกกรุง แม้ว่าแนวดนตรีแต่ละประเภทจะมีเส้นเรื่องเป็นของตัวเอง แต่หลายๆ ครั้งเราจะเห็นว่าการเกิดขึ้นของแนวดนตรีใหม่ๆ มักมีการหยิบยืมองค์ประกอบหรือมีกลิ่นอายของเพลงในยุคก่อนๆ อยู่เสมอ

เช่นเดียวกับเพลงไทยในยุคหลังๆ ที่บางครั้งก็หยิบเอาวัฒนธรรมและสไตล์เพลงเก่าๆ เข้ามาผสมผสานกับเทคโนโลยีและมุมมองใหม่ๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในยุคนี้ 

กิจกรรมนี้พาเราไปสำรวจบรรยากาศของวงการเพลงไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ไล่ขึ้นมาผ่านพัฒนาการของเทคโนโลยี ที่ทำให้เราเห็นกระแสเพลงที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากป๊อปคัลเจอร์ การฟื้นคืนของละครเวที กระแสเพลงสไตล์เก่า รวมไปถึงดาราหน้าใหม่จากรายการประกวดต่างๆ นำมาสู่วัฒนธรรมแฟนคลับ จนเกิดเป็นความพยายามสร้างดนตรี T-Pop เพื่อส่งออกให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยอีกรูปแบบหนึ่ง ผ่านการบรรยายโดย ผศ. ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ และ อ.ธนชัย แซ่ซิ่น จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพูดคุยและนำเสนอเหตุการณ์สำคัญ สลับกับการสาธิตการแสดงสดของวงดนตรี

แม้ว่าเพลงป๊อปไทยจะได้รับความนิยมจากกลุ่มวัยรุ่นทุกยุคทุกสมัย แต่เมื่อลองนำเพลงเมื่อ 25 ปีที่แล้วมาเปรียบเทียบกับเพลง ‘สมัยนี้’ จะพบว่าท่วงทำนอง และวิธีการร้องกลับแตกต่างกัน สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คงต้องย้อนกลับไปสำรวจเส้นทางของเพลงไทยช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีส่งผลมาถึงวิธีการทำเพลงด้วยเช่นกัน

1

ก่อนที่เราจะไปรู้จัก T-Pop อย่างที่เรารู้จักทุกวันนี้ ผู้บรรยายพาเราย้อนกลับเข้าไปสู่บรรยากาศของโลกในปี 1997 เต็มไปด้วยป๊อปคัลเจอร์ในตำนาน ทั้งดิสนีย์ แอนิเมชั่นจากญี่ปุ่น เพลงสากล หรือแม้กระทั่งวิดีโอ ล้วนมีส่วนหล่อหลอมให้เพลงเริ่มหลากหลายขึ้น

ในวงการเพลงไทยก็เริ่มเคลื่อนไหวบ้างเช่นกัน ภายหลังจากการเกิดขึ้นของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง Grammy และ RS ทำให้ยุคนั้นเทปคาสเซ็ตต์มียอดขายถล่มทลาย หลักล้านก๊อปปี้ เพลงป๊อปในยุคนี้เป็นที่รู้จักในจังหวะเพลงสบายๆ ไม่หวือหวามากนัก 

ท่ามกลางการแข่งขันของ 2 ค่ายเพลงใหญ่ ช่วงเวลานั้นก็ได้มีค่ายเพลง Bakery Music (1994) เกิดขึ้นมาสร้างจุดเปลี่ยนใหม่ให้กับเพลงไทย จากเดิมที่มีโครงสร้างเพลงง่ายๆ แต่เพลง ใคร ของบอย โกสิยพงษ์ ก็ถูกนำมาร้องแบบ RnB ด้วยโครงสร้างเพลงที่ซับซ้อนขึ้น รวมถึงการอิมโพรไวซ์สไตล์แจ๊ซและการเปลี่ยนคีย์ในเพลงแบบที่ยุคนั้นไม่ค่อยทำ 

เมื่อเล่ามาถึงตอนนี้วงดนตรีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ก็หยิบเพลงใคร นำมาบรรเลงให้เรารับฟังแบบสดๆ เพื่อโชว์ความสดใหม่ของเพลงไทยในช่วงเวลานั้น

ไม่นานนักวัฒนธรรมการฟังเพลงไปพร้อมๆ กับดูเอ็มวีก็เกิดขึ้นในเวลาต่อมา จากรายการ Channel [V] Thailand ซึ่งเป็นช่องโทรทัศน์เคเบิลรายการเพลง ออกอากาศ 24 ชั่วโมง เปิดมิวสิกวิดีโอเพลงไทย เพลงเอเชีย และเพลงสากล ในยุคก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะบูมขึ้น ช่องนี้ได้ทำให้คนได้รู้จักเพลงใหม่ๆ โดยเฉพาะเพลงต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเป็นช่องที่ไม่ได้ถูกฉายผ่านฟรีทีวีจึงทำให้กลุ่มคนฟังเพลงสากลยังคงเป็นกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น

ในช่วงเวลานั้นเองก็เกิดวัฒนธรรม ‘เด็กแนว’ ในช่วงปี 2000 ซึ่งเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ยุคโมเดิร์นด็อกจากค่าย Bakery Music เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มวัยรุ่นที่มีความสนใจนอกเหนือไปจากสื่อกระแสหลัก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เพลงนอกกระแสในช่วงนี้จึงได้รับความนิยมไปด้วย โดยเฉพาะค่ายเพลง Smallroom (1999) ค่ายเพลงอินดี้ ที่มีศิลปินแนวๆ อย่างที่หลายคนรู้จักดี เช่น สี่เต่าเธอ, Slur, Superbaker, Tattoo Colour, The Richman Toy ฯลฯ ที่ได้รับความนิยมและเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

2

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เพลงร็อกจากค่ายใหญ่อย่าง RS หรือ Grammy ก็กลายเป็นที่นิยมมากขึ้น หลายวงในยุคนี้กลายเป็นตำนานในวงการเพลงไทย ไม่ว่าจะเป็นวง Bodyslam, Clash, Silly Fools และอื่นๆ ก่อนที่ทั้งห้องจะสั่นสะเทือนไปด้วยเพลงร็อกที่วงดนตรีดุริยางคศิลป์เลือกนำแสดง อย่างเพลง จิ๊จ๊ะ ของ Silly Fools จังหวะกลองที่เร้าใจชวนทุกคนผงกหัวตามไม่ต่างจากคอนเสิร์ตขนาดย่อมๆ เล่นสลับกับเพลง ไม่รู้จักคำว่าพอ ของ ปาน ธนพร ศิลปินหญิงในยุคเดียวกัน เพลงที่โดดเด่นจากการเล่าเรื่องจากมุมมองของผู้หญิงในยุคที่เพลงส่วนใหญ่ถ่ายทอดจากมุมมองของผู้ชาย

ในเวลาต่อมา ปี 2003 ภาพยนตร์ แฟนฉัน ก็สร้างปรากฏการณ์โหยหาอดีต ทำให้ทุกคนพร้อมใจกันกลับไปย้อนฟังเพลงของศิลปินในยุคเก่าๆ ช่วงเวลาเดียวกับภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น 18 กะรัต, ชาตรี, สาว สาว สาว หรือรอยัลสไปร์ท ซึ่งผู้บรรยายได้ให้เหตุผลปรากฏการณ์นี้ว่าการถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เพลงเก่าๆ กลายเป็นที่นิยมอีกครั้ง นอกเหนือไปจากการนำไปคัฟเวอร์

เพลงไทยกลับมามีรสชาติแปลกใหม่ขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับการกลับมาของละครเวทีที่ค่อยๆ กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งตั้งแต่ปี 1997 มีการเกิดขึ้นของโรงละครคล้ายกับโรงละครบรอดเวย์ของนิวยอร์ก ก่อนได้แสดงเรื่อง บัลลังก์เมฆ ซึ่งมีลักษณะเป็นการพูดผสมร้องเพลง หรือเรื่อง คู่กรรม ที่มีลักษณะเป็นการร้องทั้งหมด ในแบบออร์เคสตร้า 

สไตล์นี้ส่งผลมาถึงเพลง ไม่ใช่ผู้ชาย ของ doobadoo ด้วยสไตล์การร้องที่แตกต่าง ผสมผสานกันระหว่างแนวดนตรีป๊อป แจ๊ซ และโอเปร่า ที่มักใช้ในละครแบบบรอดเวย์ จนกลายเป็นเพลงสไตล์อินดี้ไม่เหมือนใคร แล้ววงดนตรีก็หยิบเพลงนี้มาแสดงให้เราฟังกันอีกครั้ง

3

ช่วงเวลาเดียวกันรายการเรียลิตี้โชว์ก็เข้ามาเขย่าวงการเพลงไทยให้เปลี่ยนไปอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรายการ True Academy Fantasia หรือรายการ The Star ที่สร้างความแตกต่างจากรายการที่ผ่านมาคือผู้ชมทางบ้านได้มีส่วนร่วมโหวตศิลปินด้วยตัวเอง จนนำมาสู่การเกิดเป็นกลุ่มแฟนคลับที่เหนียวแน่น 

นอกจากนี้โจทย์การร้องเพลงที่เปลี่ยนไปในทุกสัปดาห์ ยังทำให้เพลงเก่าๆ ถูกหยิบขึ้นมาร้องและได้รับความนิยมอีกครั้ง จากความสำเร็จของรายการทำให้มีศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่ได้เป็นผู้ชนะในรายการก็ตาม 

กระแสแฟนคลับถูกส่งต่อมาเรื่อยๆ จนมาถึงยุคของ J-Pop และ K-Pop ที่ตีคู่กันมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จนกระทั่งสื่อเกาหลีกลายเป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่ไว้ได้มากที่สุด เป็นผลมาจากช่วงปลาย 1990 รัฐบาลเกาหลีเริ่มสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างจริงจัง 

การสนับสนุนของรัฐบาลทำให้ทั้งวงการเพลงและซีรีส์เฟื่องฟูมาถึงไทย ไม่ว่าจะเป็น RAIN ดงบังชินกิ (TVXQ!) หรือ Super Junior หรือฝั่งซีรีส์เช่น แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง, Full House สะดุดรักที่พักใจ หรือ My Sassy Girl ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม ฯลฯ ที่หล่อหลอมให้แฟนด้อมของแฟนคลับเริ่มแข็งแรง และชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชูป้ายไฟ การมีชื่อเรียกแฟนคลับของตัวเอง หรือการรวมตัวกันบนโลกออนไลน์

ส่งผลมาถึงการสร้าง Boy group และ Girl Group ของไทยที่เริ่มพัฒนาขึ้นให้มีท่าเต้นประกอบที่ซับซ้อนขึ้น มีกลุ่มคนเต้นคัฟเวอร์เป็นซับคัลเจอร์เล็กๆ เกิดขึ้นในยุคนี้ ท่าเต้นกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เพลงกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น นักร้องถูกปลุกปั้นให้กลายเป็น idol จากการมีท่าเต้นประจำ ผลผลิตของเพลงจึงมีทั้งภาพและเสียงออกมาพร้อมกัน 

ตัวอย่างเพลงไทยหลังการเข้ามาของฝั่งญี่ปุ่น เกาหลี ที่เห็นชัดที่สุดคงไม่พ้น Kamikaze ค่ายย่อยภายใต้ RS ที่มีสไตล์เพลงเป็นเอกลักษณ์ ดึงกลุ่ม target เด็กหลังยุค 90 กลับมาได้สำเร็จ จนกระแส T-Pop ในช่วง 2010 ให้หลัง เริ่มปรับสไตล์ให้มีสีสันสดใสไม่ต่างจากวงในอดีต อย่างวงชาตรี หรือ Kamikaze ขณะเดียวกันเพลงในยุคนี้เริ่มมีเพิ่มท่อนแร็ปเข้ามา เนื้อเพลงโกงวรรณยุกต์ หรือบางท่อนอาจไม่มีสัมผัสเลยแต่สามารถลงจังหวะได้พอดี ทั้งยังเพิ่มท่อนภาษาอังกฤษเข้ามามากขึ้น 

จนถึงตอนนี้เพลง รักติดไซเรน ของ PARIS, PEARWAH ก็ถูกหยิบนำมาแสดงสด ให้ผู้ชมสังเกตถึงพัฒนาที่เปลี่ยนไปของ T-Pop ไทยจากช่วงต้น

สิ่งที่ปลุกกระแสเพลงไทยขึ้นมาอีกครั้งในเวลาไล่เลี่ยกันคือ Synthetizer Pop ที่กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้งจากเพลงของ Polycat ที่นำเสนอ 3 เพลง โดยมีเอ็มวีเป็นฟุตเทจจากภาพยนตร์เรื่อง พริกขี้หนูกับหมูแฮม ที่ออกฉายในปี 1989 ที่นำมาตีความใหม่ พร้อมผสมกลิ่นอาย City Pop ซึ่งถือเป็นความแปลกใหม่ที่ทะลุออกมาจากดนตรีอื่นๆ ในช่วงนี้ 

ช่วงสุดท้ายผู้บรรยายพาทุกคนไปสำรวจซอฟต์พาวเวอร์จากไทย อย่างการสร้างละคร Boy love ที่ไม่ว่าค่ายเล็กหรือค่ายใหญ่ต่างพยายามผลิตเพื่อส่งออก ไม่เพียงแต่ตลาดในประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งออกไปถึงตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้เพลงประกอบซีรีส์ที่ถูกแต่งขึ้นมาโดยเฉพาะยังทำให้ทั้งเพลงและภาษาไทยได้รับการพูดถึงในต่างประเทศมากขึ้นอีกด้วย

ช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2000 มีหลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการเพลงไทย ทั้งกระแสป๊อปคัลเจอร์ที่หลั่งไหลเข้ามาจนหลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์เพลงไทยอย่างแยกไม่ออก ซึ่งต้นสายปลายเหตุที่สำคัญคงไม่พ้นการมาถึงของเทคโนโลยี ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนการออกแบบไป นับตั้งแต่การฟังเพลงพร้อม MV การพยายามปล่อยเพลงเป็นซิงเกิลแทนอัลบั้ม หรือแม้กระทั่งท่อนฮุกที่ติดหู จดจำง่ายพร้อมท่าเต้น ที่ทำให้เพลงไทยสามารถไปได้ไกลขึ้นกว่าที่เป็นมา และรอคอยให้เราติดตามว่าเพลงไทยจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อไป

AUTHOR