‘เพราะเราทุกคนต่างเคยเป็นเด็กมาก่อน’ before 2475 กับบทสนทนาของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร

เมื่อไม่กี่วันก่อนเราเห็นภาพโปสเตอร์โปรโมตละครเวที ชายหนุ่มวัยรุ่น 7 คนสวมหมวก ใส่สูท ผูกเนกไท พร้อมกับคำว่า before 2475 หรือช่วงเวลาก่อนปฏิวัติสยามที่พาประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย ยังไม่ทันไรก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นมากมาย 

แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองจะผ่านมานานเท่าไหร่ แต่ชื่อของ ‘คณะราษฎร’ ยังถูกยกขึ้นมาถกเถียงในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองอยู่เสมอ สิ่งที่เราสนใจคือทำไมถึงอยากหยิบเรื่องคณะราษฎรมาบอกเล่าในยุคสมัยนี้

เพราะความสงสัยนี้เอง เราจึงติดต่อสัมภาษณ์และนัดหมายกับ ‘เอมอัยย์–เอมอัยย์ พลพิทักษ์’ หญิงสาวผู้รับหน้าที่เป็นทั้งผู้กำกับและคนเขียนบทเจ้าของผลงานหนังสั้นที่กลายเป็นกระแสไวรัลอย่างวลี “นี่ เธอยังเป็นสลิ่มอยู่ปะ” จากเรื่อง Cloud Cuckoo Country (2022) และในครั้งนี้เธอทำละครเวทีเรื่องใหม่ ‘Before 2475’ ขนทีมนักแสดงหนุ่มผู้รับบทบาทเป็นคณะราษฎรทั้ง 7 ได้แก่ ‘เคนจิ–วศิน ภาณุมาภรณ์’, ‘จีน–ธีมา ธาดาประทีป’, ‘ตังโก้–ฐิตินันต์ รัตนฐิตินันต์’, ‘ต้น–ภูธิป สุกกรี’, ‘เตอร์–นวิน พรกุลวัฒน์’, ‘ทู–ธนวิชญ์ วนาสุขพันธ์’ และ ‘จีโน่–แทนปิติ สุภัทรวณิชย์’ มาร่วมตอบคำถามที่เราสงสัยครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

ในฐานะคนทำงานศิลปะ–before 2475 คือละครเวทีที่นำเรื่องราวผู้ก่อการคณะราษฎรในภาพขาวดำหนังสือประวัติศาสตร์ มาเล่าเรื่องใหม่ด้วยน้ำเสียงของละคร Coming of age ผสม Comedy Drama ด้วยความตั้งใจที่อยากจะขยายพื้นที่นิยายประวัติศาสตร์ไทยออกไปให้ไกลกว่าเดิม

ในฐานะคนรุ่นใหม่–before 2475 คือเรื่องราวที่จะพาผู้คนมองย้อนกลับไปในอดีต และออกตามหาตัวตนในวัยหนุ่มสาว ด้วยแรงบันดาลใจจากตัวอย่างของผู้คนที่ผลักดันตัวเองขึ้นมาตามฝันที่หวังได้ ตั้งแต่คำถามที่ว่า อะไรทำให้เด็กคนนึงโตมาเป็นกบฏหรือฮีโร่? ไปจนถึงคำถามอย่าง ทำไมวิชาประวัติศาสตร์ไทยไม่ค่อยพูดถึงเรื่องคนธรรมดา? 

ความเป็นมาของละครเวทีเรื่องนี้คืออะไร 

พวกเขามีอุดมการณ์แบบไหน และทำไมต้องเป็น ‘before 2475’ 

คำตอบของพวกเขารออยู่ในบรรทัดต่อจากนี้

“ไม่ว่าใครจะมองยังไง สิ่งสำคัญคือมันเกิดขึ้นจริง”

หลังจากโปรโมตเรื่องนี้ออกไปแล้วเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ คุณมีความกังวลบ้างไหม 

เอมอัยย์ : เราไม่ได้กังวลอะไรเป็นพิเศษ เพราะเราทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แล้วมันก็เป็นเรื่องจริง ไม่ได้จะมา สร้างภาพจำว่าพวกเขาเป็นพระเอกในดวงใจอะไรแบบนั้น เราพยายามมองพวกเขาหลายแง่มุมมากๆ 

จีน : ก่อนที่จะเข้ามาแสดงเรื่องนี้ก็มีความกังวล เพราะมันเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ผมมองว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ใครจะเป็นคนเขียนก็ได้ประมาณหนึ่ง แต่คนที่สามารถเขียนได้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนมีอำนาจในการเคาะประวัติศาสตร์เวลานั้นเหมือนกัน ด้วยความที่ผมเรียนการแสดงเพราะอยากเข้าใจความเป็นมนุษย์ ผมมองว่าการได้มาเล่นเรื่องนี้อาจจะทำให้เราเข้าใจผู้คนในประวัติศาสตร์ที่ถูกวาดให้กลายเป็นบางอย่างได้มากขึ้น เราอาจจะได้เห็น  Vision บางอย่างที่น่าสนใจ 

ต้น : พอเราเห็นฟีดแบ็กก็มีความกังวลว่าวันแสดงจะมีอะไรเกิดขึ้นไหม แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นจริงๆ มันผิดที่เราหรือผิดที่อะไรกันแน่ เพราะเราแค่มาบอกเล่าเรื่องราว ดังนั้นเรามองว่ามันก็ขึ้นอยู่กับชุดความคิดของแต่ละคนมากกว่า ว่าจะตีความยังไง

เตอร์ : ตอนแรกก็มีความกังวล เพราะเราไม่รู้ว่าผู้กำกับจะเล่าไปทางไหน อยากจะสื่ออะไร มีการเติมแต่งแค่ไหน แต่พอรู้ว่าผู้กำกับอยากจะเล่าความเป็นมนุษย์ของทั้ง 7 คนนี้ ในฐานะนักแสดงเรามองว่าเป็นความท้าทาย เพราะเราไม่ได้เล่นเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ในฐานะนักปฏิวัติ แต่เราเล่นเป็นตัวละครของเด็กคนหนึ่งที่มีความฝันและความหวังกับอะไรบางอย่าง 

ประวัติศาสตร์ 2475 มีการพูดถึงหลายมุมมอง หลายมิติมาก คุณมั่นใจได้ยังไงว่าข้อมูลที่นำมาเขียนบทละครคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

เอมอัยย์ : บทที่เขียนเราพยายามอิงจากประวัติศาสตร์เท่าที่หาได้ หลายอย่างก็มาจากบันทึกของแต่ละคน ซึ่งมันก็เป็นความคิดเห็นจริงๆ ของคนนั้น แต่อะไรที่หาไม่ได้ก็ต้องแต่งเติมเพื่อความ Dramatic ของละคร ตามจินตนาการของผู้เขียน ตามยุคสมัย และท้องเรื่องประวัติศาสตร์ 

อาจารย์ส.ศิวรักษ์เคยพูดว่าเหตุการณ์นี้จะมองว่ามันเป็นเรอเนซองส์ของไทยหรือจะมองเป็นพม่าตีกรุงแตกรอบสองก็ได้ ไม่ว่าใครจะมองยังไง แต่สิ่งที่สำคัญคือมันเกิดขึ้นจริง ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าคณะราษฎรมีอยู่จริง คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองได้จริง เป็นครั้งแรกที่ประเทศชนะ ผู้คนชนะจริง และเริ่มที่ 7 คนนี้จริง แต่ไม่ได้บอกนะว่าดีหรือไม่ดี 

“ทำทั้งทีก็ต้องเสี่ยงทำอะไรที่เราอยากเห็น”

ถ้ามองว่า 2475 คือชัยชนะของสามัญชน แต่ทำไมในหน้าประวัติศาสตร์ไทยกลับแทบไม่เคยพูดถึงในแง่นั้นเท่าไรเลย

เอมอัยย์ : ทุกประเทศที่มีหนังอิงประวัติศาสตร์มีพื้นที่กว้างมากๆ มันเล่าเรื่องอะไรก็ได้ แต่พื้นที่ของ Historical Fiction ในประเทศไทยมันค่อนข้างแคบ ทำให้เราไม่ค่อยเห็นมุมมองของผู้คนในเฉดอื่นสักเท่าไหร่ พอเราโปรโมตเรื่องนี้ออกไปมันก็เลยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาก ทำให้เราอยากลองเล่าในมุมของคนธรรมดา เพราะเราก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เราทำกันแบบไม่ได้มีสปอนเซอร์ ทำทั้งทีก็ต้องทำอะไรที่แปลกและแตกต่าง ทำทั้งที ก็ต้องทำอะไรที่เราอยากดู ทำทั้งทีก็ต้องเสี่ยงทำอะไรที่เราอยากเห็น

เรารู้สึกว่าประเด็นเรื่อง 2475 มันน่าตื่นเต้นในตัวเองอยู่แล้ว ถ้าอยู่ในประเทศอื่นเขาคงแย่งกันทำไปหลายรอบแล้ว เพราะมันเป็น Timing Crazy Year ของโลกใบนี้ มีเรื่องเกิดขึ้นเยอะมากในช่วงเวลานั้น เรารู้จัก ‘Midnight in Paris’ ของ Woody Allen ตอนนั้น Earnest Hemingway กำลังเขียนเขียนหนังสือถึงช่วงเวลาอันงดงามของปารีส เรารู้จัก Sylvia Beach ผ่านร้านหนังสือ Shakespeare and Company และดนตรีแจซแฟชั่นแกสบี้กำลังรุ่งเรือง ซึ่งประเทศเราเองก็มีเรื่องที่น่าสนใจมากๆ เหมือนกัน มีคนสยามที่อยู่ปารีสในเวลานั้น ในตอนที่โลกนี้ยังจดจำและพูดถึงมันอยู่เรื่อยๆ ทำไมเราไม่ลองเล่าเรื่องของคนกลุ่มนี้ดูบ้างล่ะ 

อย่างเรื่อง ‘หอมติดกระดาน’ หรือ ‘ในกำแพงแก้ว’ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองร่วมสมัยใหม่ที่น่าสนใจ ไม่ใช่เรื่องประวัติศาสตร์สงคราม ยิ่งอ่านไปก็ยิ่งรู้สึกว่ามันมีพื้นที่กว้างมากที่ทำให้รู้ว่าสรุปแล้วอะไรกำลังหลอกหลอนคนไทยอยู่กันแน่ ตัวละคร 7 คนในประวัติศาสตร์ที่ตายไปนานแล้ว อาจจะมีมรดกทางประวัติศาสตร์ทางสังคมส่งต่อมา แต่พวกเขาไม่ใช่ผีของสังคมไทยแล้วรึเปล่า หรือจริงๆ แล้วผีก็คือพวกเรากันเองที่กำลังสร้างอะไรบางอย่างมาหลอก

“ทุกคนในประวัติศาสตร์เคยเป็นเด็กมาก่อน”

การเลือกนำเสนอ 2475 ด้วยแง่มุม Coming of age เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกเลยไหม

เอมอัยย์ : เรารู้สึกสนใจแง่มุมทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้มานานแล้ว เรามองว่ามันเป็นวัตถุดิบที่ดีมาก เด็กวัย 20 กว่าๆ รวมตัวกันทำอะไรบางอย่างที่เสี่ยง เราก็เลยอยากหยิบเรื่องนี้มาเล่าใหม่ด้วยน้ําเสียงของละคร 

Coming of age ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ปรุงรสชาติให้สนุกเหมือนการ์ตูนโชเน็นจัมป์ แต่ยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน ด้วยการเล่าผ่านตัวละครที่คนอาจจะยังไม่รู้จักพวกเขา ณ เวลานั้น หรือแม้แต่พวกเขาเองก็ยังไม่ได้รู้จักตัวเองดีพอ

คิดว่าอะไรทำให้เด็กคนหนึ่งโตมาเป็นกบฏหรือฮีโร่

เอมอัยย์ : สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือทุกคนในประวัติศาสตร์เคยเป็นเด็กมาก่อน เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน อย่าง ‘มารี อ็องตัวแน็ต’ ตอนอายุ 14 ก็เคยร้องไห้เพราะพาหมาข้ามประเทศไม่ได้ หรือ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ ก็เคยเป็นเด็กที่ชอบศิลปะมากๆ มาก่อน ซึ่งก่อนที่คณะราษฎรจะกลายเป็นฮีโร่หรือกบฏ กลายเป็นคนที่ทุกคนรักหรือเกลียด พวกเขาเองก็เคยเป็นเด็กที่ไม่รู้ประสีประสา เคยเป็นวัยรุ่นที่ไม่แน่ใจว่ากำลังคิดอะไรอยู่ หลักคิดอะไรก็ตามที่เราจำพวกเขาในปลายทางของชีวิต มันก็ยังไม่แข็งแรงพอในช่วงเวลานั้น เราก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้มีเส้นแบ่งขนาดนั้น มันขึ้นอยู่กับใจคนมากกว่าว่าจะมองพวกเขาเป็นแบบไหน 

ทำไมถึงอยากหยิบเรื่องคณะราษฎรมาบอกเล่าในยุคสมัยนี้ คุณคิดว่ามันสะท้อนอะไร

เอมอัยย์ : เราคุยกับอาจารย์กษิดิศ อนันทนาธร ซึ่งเป็นคนที่สนใจประเด็น 2475 และคนอื่นๆ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าประวัติศาสตร์ช่วงนี้ไม่ค่อยมีข้อมูลเท่าไหร่ แล้วมันหายไปไหน หรือการที่พวกเขาไม่ได้บันทึกไว้อาจจะเป็นเพราะพวกเขาเองก็ไม่ได้คิดว่าในอนาคตตัวเองจะเป็นอะไร ไม่ได้เชื่อมั่นในตัวเองด้วยซ้ำว่าจะทำอะไรได้ 

สำหรับเรา พวกเขาดูเป็นเจเนอเรชันที่มีหวังเมื่อ 90 กว่าปีที่แล้ว เรารู้สึกคอนเนกต์กับประวัติศาสตร์ช่วงนี้เป็นพิเศษ เพราะตอนนี้เราเองก็อยู่ในช่วงอายุเดียวกันกับพวกเขา เราชอบถามตัวเองว่าถ้าได้รู้เรื่องนี้ลึกๆ ตั้งแต่เด็กจะมีความคิดเปลี่ยนไปขนาดไหนนะ ถ้ารู้ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้ารู้ว่าคนอายุ 20 กว่าๆ ก็เปลี่ยนแปลงอะไรได้หลายอย่าง เพราะมันต่างกับโลกทุกวันนี้ที่พยายามกดและบอกเราว่าคนอายุ 20 กว่าๆ ทำอะไรไม่ได้ 

เราพยายามสำรวจและหาคำตอบว่าตอนนี้เราอยู่ในช่วงเวลาแบบไหน เมื่อเทียบเจเนอเรชันกันมันจะสะท้อนอะไรได้บ้าง ตอนนั้นพวกเขาเป็นวัยรุ่นที่ดูมีความฝันมาก แล้วพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ พวกเขากำลังหวังอะไรอยู่ เราคิดว่าพวกเขาก็น่าจะบอกอะไรบางอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ในเจเนอเรชันนี้ได้เหมือนกัน

“เราอยากพาพวกเขาออกมาจากภาพขาวดำในหนังสือ”

ทำไมถึงเล่า 2475 ผ่านรูปแบบละครเวที

เอมอัยย์ : เราอยากลองวิธีการเล่าแบบนี้ว่ามันเวิร์กไหม อยากรู้ว่าคนดูจะรู้จักตัวละครได้ดีแค่ไหน ซึ่งแพลตฟอร์มละครเวทีมีความเป็นมนุษย์สุดๆ เราไม่อยากให้มองคนพวกนี้เป็นแค่ผู้ชายใส่หมวกใส่สูทในภาพขาวดำหนังสือประวัติศาสตร์ แต่อยากให้คุณเดินเข้ามาในโรงละครแล้วรู้จักคนพวกนี้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีตัวตน มีเลือดเนื้อ มีมุกตลกเป็นของตัวเอง มีเรื่องเศร้าเป็นของตัวเอง มีความกลัวเป็นของตัวเอง 

เราคิด Media Direction ตั้งแต่ช่วงที่ทำแรกๆ ว่าอยากให้เขาเป็นวัยรุ่น Photobooth ของยุคนี้ อยากให้เขาเป็นวัยรุ่นที่จับต้องได้ อยากลองพาพวกเขาออกมาจากภาพขาวดำในหนังสือดูบ้าง คณะราษฎรมีสมาชิกอีกเยอะมาก แต่สมาชิก 7 คนที่ปารีสไม่ค่อยมีคนพูดถึงและแทบจะไม่มีคนรู้จักชื่อพวกเขาเลย เรารู้สึกว่าแค่คนดูออกมาจากโรงและจำชื่อพวกเขาได้เราก็ดีใจแล้ว

ตังโก้ : ผมรู้สึกว่าความเจ๋งของละครเวทีเรื่องนี้คือความคิดสร้างสรรค์ของคนทำ ทีมโปรดักชันที่คิดเรื่องการเล่าเรื่อง และความกล้าที่จะทำ ผมไม่ค่อยเห็นแบบนี้ในละครเวทีไทยเท่าไหร่ สำหรับผมมันคือบทละครที่ยากสำหรับคนเล่น แต่ถ้าทำได้มันสนุกสำหรับคนดู 

พาร์ตที่ยากที่สุดของละครเรื่องนี้คืออะไร

จีโน่ : ด้วยความที่ละครเรื่องนี้ดำเนินเรื่องผ่านไดอะล็อกทั้งหมด นักแสดงต้องทำงานร่วมกันทั้งซีนไปตลอดทั้งฉากให้ได้โดยที่ทุกคนจะต้องรับส่งกัน ต้องฟังกันจริงๆ เหมือนเป็นซีน Long take เลย ผมว่าพาร์ตนี้คือสิ่งที่ยากที่สุด 

เอมอัยย์ : เรานั่งคุยกับอาจารย์กษิดิศ อนันทนาธร เขาเองก็อยากรู้เหมือนกันว่าพวกเขาทั้ง 7 คนจะมีความสัมพันธ์ในเลเยอร์แบบไหน มีมิตรภาพเป็นแบบไหน คาแรกเตอร์ทุกคนก็ดูจัดจ้านแตกต่างกันมาก เราก็อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าเป็นละครเวทีบทพูดจะเป็นยังไง เราเลยโฟกัสตั้งแต่เขารู้จักกันยังไง เขาเรียกกันว่าอะไร เขาใช้ชีวิตอย่างไร ทำซีนประชุมกัน 4-5 วันในอพาร์ตเม้นที่มักจะถูกเล่าเพียงบรรทัดหรือสองบรรทัดออกมาเลยว่าเขาคุยอะไรกันบ้าง บทสนทนาเริ่มต้นและจบลงยังไง เราพยายามสำรวจวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างลึกซึ้งมากขึ้น 

เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตัวละคร 7 คน เลเยอร์ความรู้สึกและการตัดสินใจของพวกเขาเป็นสิ่งหนึ่งที่เดินเรื่อง ดังนั้นการหานักแสดงสำคัญมาก เพราะต้องใช้ฝีมือนักแสดงและการทำคาแรกเตอร์เยอะ ตอนแคสต์เราก็เลยไม่ได้หาแค่คนที่ตรงคาแรกเตอร์ แต่เราหาคนที่เคมีตรงกันด้วย เรามองว่าการ Improvise มันคือการหาความเป็นมนุษย์บางอย่างที่มากกว่าแค่ตัวละครในประวัติศาสตร์ 

“ไม่มีใครเกิดมาแล้วอยากเปลี่ยนแปลงประเทศเลยหรอก”

แล้วในแง่ของนักแสดงล่ะ ต้องทำการบ้านกับตัวละครเยอะไหม ดูมันห่างไกลจากตัวคุณเหมือนกัน

จีน : ผมรับบทเป็นแปลก เขาเป็นตัวละครที่มีข้อมูลเยอะมาก มีข้อมูลทั้งสองฝั่ง เรารู้สึกว่าแปลกเป็นตัวละครที่ยากและท้าทายมากๆ ด้วยความที่ชั้นการคิดเขาเยอะ เขาดูเป็นคนที่ยิ้มให้นะ แต่เป็นรอยยิ้มที่มีเลศนัย มันมีความซับซ้อนหลายๆ อย่าง การเวิร์กครั้งนี้ทำให้เรามองตัวละครแปลกกลมขึ้นกว่าเดิม 

เคนจิ : เรารู้สึกว่าประวัติศาสตร์ช่วงนั้นมันหายาก บันทึกหรือเอกสารต่างๆ ช่วงที่อยู่ปารีสแทบไม่ค่อยมีใครเขียนไว้เลย ส่วนใหญ่จะมีแต่ข้อมูลในอนาคต อย่างตอนที่เขากลายเป็นรัฐบุรุษหรือนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งความสนุกมันอยู่ตรงที่เราต้องสำรวจตัวละครว่าช่วงวัยรุ่นเขาเป็นคนยังไง

ตังโก้ : สิ่งที่ดึงดูดให้เรามาเล่นเรื่องนี้คือตัวละครคุณประยูร ด้วยความที่เขาเติบโตมากับราชวงศ์ มีความรักราชวงศ์ เป็นคนที่ถูกได้รับความเอ็นดูและความเมตตาจากรัชกาลที่ 6 แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาเห็นปัญหาความหวังดีของเจ้าที่อาจจะไม่สามารถควบคุมราษฎรทุกคนได้ เขาเห็นช่องโหว่ตรงนี้และอยากจะเปลี่ยน ทำให้เราเห็นความซับซ้อนของตัวละครและอยากเข้าไปสำรวจมันมากๆ

เราพยายามหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดเท่าที่จะหาได้ เริ่มจากเซิร์ชชื่อคุณประยูรก็จะเห็นว่าเขาเขียนหนังสืออะไรมาบ้าง เราอ่านเพื่อดูมุมมองของเขา อย่าง ‘ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า’, ‘บันทึกเรื่องการเปลี่ยนเเปลงการปกครอง 2475’ จากนั้นก็ลองดูในมุมมองของอาจารย์ปรีดี หนังสือของตั้ว และอีกหลายๆ คน ซึ่งเราจะเวิร์กผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันแล้วก็ไปตามแนวทางของผู้กำกับ 

เตอร์ : เราได้อ่านหนังสืองานศพของตั้ว ลภานุกรม มีแต่คนเขียนชมหมดเลย ถึงจะมีคนเขียนชมมากมายขนาดไหน แต่เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เขาก็ต้องมีความรัก ความสุข ความต้องการ ความหิว ความไม่มั่นใจโลเล เขาไม่ได้เพอร์เฟกต์ เราต้องกระเทาะให้ได้ว่าเขามีความกลัวอะไร เขาเจออะไรมาในตอนเด็ก ความอยุติธรรมที่เจอทำให้เขาคิดอะไร บริบทในสยามตอนนั้นเป็นยังไง อะไรที่ทำให้เขาอยากเปลี่ยนแปลงระบบหรือทำอะไรสักอย่าง เรารู้สึกว่าไม่มีใครเกิดมาแล้วอยากเปลี่ยนแปลงประเทศเลยหรอก

ตอนแรกเราก็โฟกัสแค่ว่าก่อนปฏิวัติตั้วเป็นคนยังไง แต่พอเราได้ไปรีเสิร์จชีวิตเขาหลังปฏิวัติเสร็จก็เซอร์ไพรส์เหมือนกันนะ เพราะเราเห็นเป้าหมายชีวิตเขาชัดเจนขึ้นมากเลย เพราะเขาก็ทำสิ่งนั้นไปจนถึงท้ายที่สุดของชีวิต เราก็เลยจับพาร์ต after 2475 มาใช้กับ before 2475 ในแง่ของการมีเป้าหมายในชีวิตด้วยเหมือนกัน

ต้น : เรื่องน่าเศร้าอย่างหนึ่งของคุณทัศนัยคือมีข้อมูลน้อยมาก เขากลับมาสยามปี 2475 พอปี 2476 เขาก็จากไปด้วยโรคปอดบวม แต่เราก็พยายามหาข้อมูลเท่าที่หาได้ และมีวิธีเวิร์กกับชุดความคิดของตัวละครเพื่อให้เข้าใจเขามากขึ้น อย่างเช่น ถ้าคุณทัศนัยซื้อของเซเว่น เขาจะบอกว่ามี all member ไหม อีกวิธีที่ชอบใช้คือการทำเพลย์ลิสต์ขึ้นมา เพราะเรารู้สึกว่าการฟังเพลงที่แสดงความคิดแบบลอจิกของเขาจะทำให้เราอินได้ง่ายขึ้น

เอมอัยย์ : ตัวละครที่มีชีวิตต่อเราจะเวิร์กกับตัวตนอนาคตด้วย อย่างตัวละครแปลก เขาโตมาเป็นจอมพล ป. พิบูลสงคราม เราก็ต้องมาเวิร์กต่อว่าจอมพล ป. ทำอะไร เขาอยู่ข้างไหนของสงคราม เขาน่าจะเป็นคนประมาณไหนในช่วงวัยรุ่น แต่ตัวละครที่ไม่ได้มีเรื่องต่อไปในชีวิตอย่างทัศนัย เราก็ต้องจินตนาการกับสิ่งที่มีอยู่ในอดีตของเขา การเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นยังไง ครอบครัวสนับสนุนทำให้เขากลายเป็นคนแบบไหน เขาโดนกดดันขนาดไหน เขามีภาระอะไรบ้าง

“วิชาประวัติศาสตร์ไทยไม่ค่อยพูดถึงเรื่องคนธรรมดา”

ก่อนหน้านี้เคยมองว่าประวัติศาสตร์ 2475 เป็นเรื่องไกลตัวไหม 

เคนจิ : ก่อนหน้านี้เราก็ไม่ค่อยสนใจประวัติศาสตร์ไทยเท่าไหร่ แต่การได้มาเล่นเรื่องนี้ทำให้เรา aware หลายอย่างมากขึ้น ยิ่งเราได้ข้อมูลมากเท่าไหร่ รับรู้ว่าประวัติศาสตร์มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ตัวเราเองก็ยิ่งรู้สึกว่า นี่เราจะยังนิ่งเฉยได้อยู่อีกเหรอ เรารู้สึกขนาดที่ว่าหลังเล่นละครเรื่องนี้จบ อยากไปเรียนรัฐศาสตร์ต่อ และในฐานะศิลปินที่ทำงานศิลปะ เราอยากทำละครที่เล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงต่อไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าคนที่มาดูเรื่องนี้ก็ไม่จำเป็นต้องอินประวัติศาสตร์หรือการเมืองก็ได้ แค่มาดูชีวิตมนุษย์คนหนึ่งที่มีความคิดอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่รอบตัวเขาให้ดีขึ้น 

จีน : ผมมองว่าความเป็นไปของโลกมันแอบติดลูปประมาณนึง สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต การที่เรารู้จักประวัติศาสตร์ก็อาจจะทำให้เรารู้จักวิธีการแก้ไขปัญหาที่กำลังจะมาหาในอนาคตได้

เอมอัยย์ : เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวจนไม่สามารถที่จะฟังได้ หรือเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากจนไม่สามารถรู้สึกตามได้ เพราะมันเป็นเรื่องของผู้คนที่พานพบ รู้จักกัน และพยายามจะทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมามีความเชื่อของตัวเอง และเคยใช้เวลาไปกับความบ้าคลั่งอะไรบางอย่าง เราอยากพาความเป็นมนุษย์แบบนั้น ความสนุกของช่วงวัยนั้น ความฝันในวัยนั้นมาให้คุณเห็นและลองสัมผัสมันอีกครั้ง 

ในฐานะคนรุ่นใหม่ คุณมีมุมมองยังไงกับการศึกษาวิชาเรียนประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทยทุกวันนี้

เอมอัยย์ : เรารู้สึกว่าประวัติศาสตร์เป็นครูที่สอนความเป็นไปได้ของชีวิตได้ดีมาก แต่เราดันไม่ทำ เราเห็นว่ามีคนที่เคยฝันเหมือนเราเมื่อหลายสิบกว่าปีก่อน เขาเป็นคนธรรมดาเหมือนเราเลย แล้วเขาทำอะไรได้บ้าง ถึงจุดหนึ่งมนุษย์ทุกคนรู้แหละว่าชีวิตเรามีความเป็นไปได้หลากหลายมาก แต่จุดนั้นจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ พอยิ่งโตมาเราอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ เราฟัง Podcast ประวัติศาสตร์ เราสนุกมากเลยนะ แล้วทำไมเราไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้ตอนเรียน?

เคนจิ : ประวัติศาสตร์ในหลักสูตรจะเล่าแค่เรื่องชนชั้นสูง วีรบุรุษ หรือฮีโร่ แต่เรื่องของคนธรรมดา นักคิด หรือศิลปินแทบไม่มีเลย เรารู้สึกว่าสิ่งสำคัญของการศึกษาในยุคนี้ควรจะโฟกัสเรื่องปรัชญาหรือจิตวิทยาด้วย ทุกวันนี้คนที่มีความรู้แต่ไม่รู้ว่าต้องใช้ชีวิตยังไงมันมีอยู่เยอะมากเลยนะ กลายเป็นว่าเรียนเก่งไปแต่ไม่ได้เข้าใจชีวิต เข้าใจโลก เข้าใจเพื่อนมนุษย์ ถ้าจะมองกลับไปที่รากเหง้าของการศึกษา เรารู้สึกว่าการสอนให้คนรู้ว่าชีวิตคืออะไร ความเป็นมนุษย์คืออะไร มันสำคัญกับเด็กคนนึงมากๆ

ตังโก้ : ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่พูดยากว่าอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเวลานั้น ดังนั้นผมมองว่าวิชาประวัติศาสตร์เป็นปลายเปิดมากกว่า ดังนั้นมันก็เป็นโอกาสที่ดีในระบบการศึกษาที่จะสอนให้คนมี Critical Thinking มากขึ้น ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้คือคีย์สำคัญและมันก็เป็นประโยชน์กับทุกคน 

“ทุกวันนี้มีอาจารย์ปรีดี มีคุณประยูรเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ”

สุดท้าย คุณได้เรียนรู้อะไรจากการเล่าประวัติศาสตร์ผ่านคนหนุ่มสาวบ้าง 

จีน : ถ้าตามประวัติศาสตร์ที่เราเรียนมาตั้งแต่เด็ก สังคมมองว่าแปลกเป็นคนไม่ดีด้วยความที่เราเป็นเด็กดนตรีไทย ก็มีภาพจำว่าแปลกเป็นคนที่ไม่ให้คนเล่นดนตรีไทยในสมัยก่อน ถ้าใครเล่นคือถูกลงโทษ ภาพนี้ทำให้เรามองเขาในรูปแบบหนึ่ง แต่ในวันนี้เราลองมองด้วยแว่นตาของเขาก็ทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การที่เขาเป็นคนแบบนี้อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเป็นเด็กที่โตมาในครอบครัวชาวสวน ทำให้เขามองเห็นหลายๆ อย่างไม่แฟร์ต่อชนชั้นล่าง ไม่แฟร์ต่อประชาชนคนทั่วไป เพราะประโยชน์อยู่กับคนข้างบนเกือบทั้งหมด เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วแปลกมันก็คือเด็กจนๆ คนนึงที่สู้ชีวิตมากๆ จนวันนึงเจอโอกาสที่รู้สึกว่าสามารถทำอะไรให้ประเทศที่เขารักเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และสามารถต่อสู้กับประเทศข้างนอกได้ 

เคนจิ : การไม่ได้มองว่าเขาจะต้องกลายเป็นใครในอนาคต แต่มองว่าเขาก็เป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่เหมือนพวกเราตอนนี้ คนอายุเท่านี้มีความรู้สึกยังไงบ้าง มีกระบวนการความคิดไปได้ไกลขนาดไหน ดังนั้นในยุคสมัยนี้ที่คนมี Empathy กันน้อย เรารู้สึกว่าการรับฟัง การทำความเข้าใจกัน เปิดกว้างรับข้อมูลของฝั่งตรงข้าม มันคือสิ่งจำเป็นมากๆ 

ความน่าสนใจคือเรื่องนี้พูดถึงความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ มนุษย์เราไม่ได้เพอร์เฟกต์และเก่งรอบด้านทุกเรื่อง อาจารย์ปรีดีก็เคยออกมาบอกเองว่า ช่วงเวลานั้นเขาก็ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ เขาก็ยังไม่ได้ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ขนาดนั้น บางอย่างเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไป แต่บางทีก็เหมือนไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย เรารู้สึกว่าจิตวิญญาณของคณะราษฎรมันยังวนเวียนอยู่ตลอด ทุกวันนี้มีอาจารย์ปรี มีคุณประยูรเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ เราก็เชื่อว่าคงจะมีสักวันที่มันจะเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ 

ทีมนักแสดง

‘เคนจิ–วศิน ภาณุมาภรณ์’ รับบทเป็น ปรีดี พนมยงค์

‘จีน–ธีมา ธาดาประทีป’ รับบทเป็น แปลก ขีตตะสังคะ

‘ตังโก้–ฐิตินันต์ รัตนฐิตินันต์’ รับบทเป็น ประยูร ภมรมนตรี

‘ต้น–ภูธิป สุกกรี’ รับบทเป็น ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี

‘เตอร์–นวิน พรกุลวัฒน์’ รับบทเป็น ตั้ว ลพานุกรม

‘ทู–ธนวิชญ์ วนาสุขพันธ์’ รับบทเป็น จรูญ สิงหเสนี

‘จีโน่–แทนปิติ สุภัทรวณิชย์’ รับบทเป็น แนบ พหลโยธิน

ขอบคุณสถานที่

บ้านขนมปังขิง เสาชิงช้า facebook.com/house2456 

PHOTOGRAPHER

Cozy Cream

ไม่ใช่โซดา อย่ามาซ่ากับพี่

gunsept

เด็กหาดใหญ่ แหลงใต้ไม่เป็นแต่ว่า รักดนตรี ศิลปะ ภาพยนตร์

Sisi Wattanagool

มองขึ้นไป….ครับ