หลังจากกทม. ประกาศขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนให้งดออกจากบ้าน และเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น Work From Home (WFH) เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญฝุ่น PM2.5 ที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จนกทม. ต้องออกมาตรการรับมือเพิ่มเติม อย่างการขยายระยะเวลา WFH การประกาศปิดโรงเรียน และการห้ามรถบรรทุกสัญจรหลายพื้นที่
ท่ามกลางวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่รุนแรงเช่นนี้ บริษัทหลายแห่งกลับไม่อนุญาตให้พนักงาน WFH ไม่ว่าจะเพราะความจำเป็นในการทำงาน หรือการพิจารณาถึงผลประโยชน์ของบริษัทมากกว่าความปลอดภัยของพนักงาน ล้วนส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากยังคงต้องประสบปัญหานี้ โดยไม่อาจทำอะไรได้เลย นอกจากก้มหน้าจำยอมต่อคุณภาพชีวิตที่เลือกไม่ได้ ทั้งที่ ‘อากาศสะอาด’ คือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับ
a day ขอเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้เหล่ามนุษย์ออฟฟิศที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ WFH ได้ออกมาพูดถึงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ เพราะในชีวิตจริง พวกเขาอาจไม่มีโอกาสเลือกคุณภาพชีวิตที่ดี หรือมีอำนาจมากพอที่จะเรียกร้องเพื่อสิทธิ์ของตัวเอง

“ขณะที่ผู้บริหารเดินทางด้วยรถยนต์ และทำงานในห้องที่มีเครื่องกรองอากาศเติมโอโซน แต่พนักงานเงินเดือนน้อยต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ฝ่าฝุ่น หาซื้อหน้ากากชิ้นละ 20 – 25 บาท และนั่งทำงานในพื้นที่ที่ไม่มีเครื่องฟอกอากาศ ถ้าผู้บริหารมองว่า คนทำงานคือ ‘คน’ คงไม่ตัดสินใจแบบนี้” – พนักงานบริษัท อายุ 25 ปี
“สิ่งที่สำคัญกว่าการให้ความร่วมมือคือ บริษัทจะ ‘รับผิดชอบสุขภาพ’ ของพนักงานอย่างไร? หากพวกเรามีอาการเจ็บป่วย เนื่องจากมลภาวะทางอากาศในตอนนี้ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคภูมิแพ้ ทุกคนต่างมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาสุขภาพ” – นักข่าว อายุ 35 ปี

“ไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงบังคับให้เข้าออฟฟิศในสถานการณ์ฝุ่นที่รุนแรงขนาดนี้ ทั้งที่บริษัทมี Hybrid Policy อยู่แล้ว และวันที่ทำงานแบบ WFH ก็ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ทุกคนสามารถทำงานได้ตามปกติ การบังคับให้เข้าออฟฟิศ เพียงเพื่อให้ครบตามจำนวนวันที่กำหนด ถือเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างมาก เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ บริษัทควรให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานมากกว่า” – พนักงานเอเจนซี อายุ 24 ปี
“ตอนนี้ค่าฝุ่นสูงมาก ถ้าวันไหนไม่มีประชุมหรืองานที่ต้องทำร่วมกันจริงจัง บริษัทควรอนุญาต WFH จะดีกว่า เพราะบริษัทหลายแห่งไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้ MRT หรือ BTS ทำให้พนักงานต้องเดินทางหลายต่อ ซึ่งอาจได้รับ PM2.5 ในปริมาณมากขณะเดิน หรือนั่งรถมอเตอร์ไซค์ เราไม่อยากให้ใครต้องป่วย เพราะแค่ไปทำงานที่ออฟฟิศ” – Content Creator อายุ 23 ปี

“เนื่องจากกทม. แค่ขอความร่วมมือ แต่ไม่ได้ประกาศเป็นคำสั่งที่เด็ดขาด บริษัทจึงอาจมองว่า สถานการณ์ PM2.5 ตอนนี้ยังไม่ใช่เรื่องร้ายแรงหรือจริงจัง พนักงานหลายคนก็เพิกเฉยต่อเรื่องนี้ รวมถึงรูปแบบการทำงานค่อนข้างจำเป็นต้องออกจากบ้าน เช่น ทำงานนอกสถานที่ บางครั้งจึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้” – พนักงานบริษัท อายุ 22 ปี
นอกจากนี้ พนิดา มงคลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน จังหวัดสมุทรปราการ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อประเทศไทยยังไม่มี ‘พ.ร.บ.อากาศสะอาด’ จึงเป็นเรื่องปกติที่ผู้ประกอบการจะคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทตน มากกว่าสุขภาพของพนักงาน การขอความร่วมมือเพียงอย่างเดียว ไม่อาจคุ้มครองคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายที่กำหนดเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
. . . . . . . . . . . . . . . . . . .

สถานการณ์ PM2.5 ในปัจจุบันรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หลายพื้นที่ในกทม. มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ซึ่งจัดอยู่ในระดับสีแดง จนอาจกระทบต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาว หรืออันตรายถึงชีวิต บริษัทจึงควรตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหานี้ เล็งเห็นความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน และปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นรูปแบบ WFH กรณีที่ไม่มีความจำเป็นต้องออกไปทำงานข้างนอก
อย่างไรก็ตาม การผลักภาระให้บริษัท หน่วยงานต่างๆ ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย ต้องปรับตัวและรับมือปัญหาเพียงลำพังนั้นไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุก เพื่อแก้ไขปัญหานี้ตั้งแต่ต้นตอ และประกาศคำสั่งที่ชัดเจน เพื่อปกป้องคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเร่งด่วน
ไม่ใช่เพียงพนักงานบริษัทที่ต้องการมาตรการความปลอดภัยที่รัดกุม เพราะยังมีผู้คนอีกมากมายที่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งกลุ่มคนไร้บ้าน คนยากจน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) พ่อค้าแม่ค้า แรงงานก่อสร้าง พนักงานกวาดขยะ รวมถึงประชาชนในจังหวัดอื่นๆ และคนภาคเหนือที่ใช้ชีวิตท่ามกลาง PM2.5 มาอย่างยาวนาน บางคนไม่มีแม้แต่กำลังทรัพย์สำหรับซื้อหน้ากากอนามัยคุณภาพดี และเครื่องกรองอากาศภายในบ้าน
ไม่ว่าจะเป็นใครหรือทำอาชีพอะไร ทุกคนมีสิทธิ์จะได้รับอากาศที่บริสุทธ์