กำกับการแสดง : วิชย อาทมาท
สถานที่ : Buffalo Bridge Gallery
เป็นเรื่องบังเอิญหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ช่วงเวลาที่ละครเรื่องนี้แสดง ลูกหลานชาวจีนหลายคนคงได้เดินทางไปเยี่ยมบรรพบุรุษในเทศกาลเชงเม้งกันเนืองแน่น ช่วงเวลาแห่งการเจอญาติผู้ใหญ่หรือแม้แต่พี่น้องที่แยกย้ายกันไปมีครอบครัว และกลับมาพูดคุยกัน
ไม่มากก็น้อย บทสนทนาหน้าฮวงซุ้ย สุสาน หรือแม้แต่โต๊ะไหว้เจ้าในบ้านหลังเก่าล้วนคลุกเคล้าไปด้วยความทรงจำของคนที่จากไปที่ถูกขุดขึ้นมาทบทวนกันอีกครั้ง…
เพลงนี้พ่อเคยร้อง ผลงานของเบส-วิชย อาทมาท เคยแสดงมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นหนึ่งในละครสั้น 5 เรื่องของโปรเจกต์ One Fine Day in One Fine Room เมื่อปี 2013 (แสดงที่ The Reading Room) ก่อนจะขยายมาเล่าแบบเต็มๆ 3 ฉาก ในปี 2015 (แสดงที่ Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์) และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยใช้นักแสดงเจ้าเก่าสองคนคือ ชวน-จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ และ อิ๋ว-ปานรัตน กริชชาญชัย เหมือนเดิม ในสถานการณ์ที่พี่น้องเชื้อสายจีนสองคนนัดกลับมาทำบุญให้พ่อผู้ล่วงลับ ในวันใดวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม ในปีใดปีหนึ่ง เหมือนเดิม
และเหมือนทุกครั้ง, การแสดงของชวนและอิ๋วยังคงมีเสน่ห์จากกระบวนการทำบทที่ทั้งคู่ลงมาคลุกคลีเต็มตัว พวกเขาหยิบเรื่องราวส่วนหนึ่งในชีวิตจริงมาเล่าผ่านตัวละคร ล้อไปกับเหตุการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสถานที่จัดแสดง ซึ่งทำให้การแสดงทั้งสามครั้งย่อมไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่คนที่ดูต่างรอบกันก็จะไม่เหมือนกัน
สิ่งที่ดีมาตลอดและทำให้ เพลงนี้พ่อเคยร้อง เป็นละครที่ดูสนุก (มาก) คือความธรรมดากับจังหวะที่เข้ากันดีของบทสนทนาที่เป็นธรรมชาติ แสนขบขัน ประชดประชัน แต่ก็เจือไปด้วยความเป็นห่วงเป็นใยไม่น้อยของคู่พี่น้องที่เหมือนจะไม่สนิทกันเท่าไหร่ และเหมือนจะไม่เคยเห็นด้วยกับสิ่งที่อีกคนทำ พวกเขาใช้เวลาของเช้าวันหนึ่งที่นัดมาทำบุญให้พ่อ มองเห็นการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยของกันและกัน
พ่อชอบกินเค้กส้มที่ลูกสาวทำหรือเค้กกาแฟจากร้านหน้าปากซอย? พ่อเลิกสูบบุหรี่ตอนไหน? ทำไมพ่อถึงชอบฟังเพลงเลสลี่ จาง? คือเรื่องราวของพ่อที่สองพี่น้องขุดขึ้นมาพูดคุยกันระหว่างนั่งพับกระดาษเงินกระดาษทองเตรียมเผาไปให้พ่อใช้ ระหว่างรอให้ข้าวหุงสุก (ที่ก็ไม่แน่ใจว่าตกลงพ่อชอบกินข้าวแข็งหรือข้าวแฉะกว่ากัน) ระหว่างรอให้ธูปที่จุดไหว้หมดไป ความทรงจำของคนที่เคยอยู่ วันหนึ่งจะถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้งโดยน้ำเสียงไม่มั่นใจ แต่ไม่ใช่ไม่คิดถึง
แต่อันที่จริง พวกเขาอาจจะแค่ใช้เรื่องของพ่อเป็นแค่หัวข้อเริ่มเปิดบทสนทนาที่อยากรู้ความเป็นไปของอีกฝ่ายมากกว่า
จำได้ว่าตอนที่ดูสองครั้งก่อนแรก เราค่อนข้างประทับใจกับบทสนทนาที่เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ขับให้ประเด็นเรื่อง ‘ความคิดถึง’ คนที่จากไปชัดเจนขึ้นมา แต่การดูครั้งนี้ที่เราเข้าใจโครงสร้างของเรื่องเล่าทั้งหมดแล้ว (แต่ก็อดตลกและปล่อยเสียงฮาไปกับหลายมุกใหม่ไม่ได้) เรากลับโฟกัสที่ชีวิตและการเติบโตของสองตัวละครที่ยังอยู่มากขึ้น แต่ละฉากคือการเปลี่ยนผ่านของเวลาที่ไม่รู้ว่าผ่านไปกี่ปี แต่ก็นานพอที่จะทำให้เรารู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นให้ต่างฝ่ายได้บอกเล่า เฝ้าดู และคอยห่วงใย
สองพี่น้องที่ไม่เคยใช้คำพูดสนับสนุนการตัดสินใจของอีกฝ่าย แต่ใช้การกระทำและความจริงใจเป็นตัวบอก
อย่างไรก็ตาม เสน่ห์ของ เพลงนี้พ่อเคยร้อง ที่เบสทำได้ดีเสมอคือการสร้างมวลบรรยากาศที่ชวนให้คนดูขุด ‘ความทรงจำส่วนตัว’ จากกล่องแห่งความลับในวัยเยาว์ออกมารื้ออีกครั้ง เราคิดถึงบ้านของอากงที่เคยไปนอนเล่นทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ตอนเด็กๆ เมื่อเห็นฉากของละครที่เนรมิตตึกแถวเก่าให้เป็นบ้านหลังใหม่ของตัวละครที่มีรถไฟฟ้าบีทีเอสวิ่งผ่าน คิดถึงบรรยากาศของโรงเจที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมายเมื่อได้ฟังเพลงฮิตของเลสลี่ จางอีกครั้ง คิดถึงตัวเองตอนเด็กที่ไม่ชอบใจเพราะเหม็นกลิ่นควันเวลาที่พ่อสูบบุหรี่
และเราคิดถึงเขา เมื่อภาพของพระจันทร์ ดวงดาว และจักรวาล สว่างไสวซ้อนทับลงบนฉากที่สองนักแสดงนั่งอยู่ตรงนั้น
นี่อาจเป็นเหตุผลที่ไม่ว่า เพลงนี้พ่อเคยร้อง จะแสดงอีกกี่รอบกี่ครั้ง เราก็จะมาดูมัน และนั่งคิดถึงใครที่หลบอยู่ในความทรงจำที่ลึกที่สุดไปแล้วอยู่ดี
เพลงนี้พ่อเคยร้อง จัดแสดงจนถึงวันที่ 9 เมษายน (ยกเว้นวันอังคารและวันพุธ) ที่ Buffalo Bridge Gallery สะพานควาย รอบ 20:00 น. บัตรราคาเต็ม 420 บาท (ราคาโอน 400 บาท) จองได้ที่ https://www.facebook.com/events/150040625704057/