Ceci n’est pas la politique : นี่ไม่ใช่การเมือง แต่นี่คือสังคมหนึ่งที่สะท้อนผ่านละครเวที

ออกแบบการแสดงและกำกับ จารุนันท์ พันธชาติ
เขียนบทฆาตกรรม ภัทรียา พัวพงศกร
กำกับเวที ชนิดา ปัญญาเนรมิตดี
สถานที่จัดแสดง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ก่อนดูละครเวทีเรื่อง Ceci n’est pas la politique หรือ นี่ไม่ใช่การเมือง เรากังวลว่าการเขียนรีวิวละครให้ดู ‘ใหม่’ คงเป็นเรื่องยาก เพราะละครเวทีเรื่องนี้เคยแสดงมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2015 มาปีนี้จึงนำกลับมารีสเตจพร้อมนักแสดงหน้าใหม่ แต่ผิดคาด เพราะผู้กำกับ จารุนันท์ พันธชาติ และกลุ่มโปรดักชันละครเวที B-Floor ได้ปัดฝุ่นพร้อมแต่งเติมงานเก่าให้ใหม่และมีสีสัน จน นี่ไม่ใช่การเมือง กลับมาโดดเด่นบนแสงไฟสีสลัวอีกครั้ง

นี่ไม่ใช่การเมือง เป็นละครอินเทอร์แรคทีฟว่าด้วยการหาตัวฆาตกรผู้ปลิดชีพ จิตรา เจ้าของรีสอร์ตที่สุขภาพไม่สู้ดี จากผู้หญิง 6 คนที่วนเวียนอยู่รอบตัวจิตราในวันเกิดเหตุ แต่ละคนต่างพูดให้ตัวเองปลอดมลทิน หน้าที่ของผู้ชมอย่างเราคือการจับผิดเพื่อหาฆาตกร

เมื่อได้ดู นี่ไม่ใช่การเมือง เรานึกถึงละครเวทีเรื่อง ราโชมอน ที่เคยเรียนสมัยมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการหาตัวฆาตกรที่ฆ่าซามูไรคนหนึ่ง แต่ทุกคนกลับบอกว่าตัวเองเป็นฆาตกร แม้แต่ตัวซามูไรที่ตายไปเป็นผีแล้วกลับมาให้ปากคำ เพียงเพราะทุกคนอยากให้คนอื่นมองตัวเองในแบบที่ตัวเองต้องการ นี่ไม่ใช่การเมือง ก็ทำให้เรารู้สึกถึงกลิ่นอายแบบนั้นเหมือนกัน กลิ่นอายที่ทุกคนต่างพูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการเพื่อให้ตัวเองเป็น ‘คนดี’ และหลุดพ้นจากข้อกล่าวหา แต่ นี่ไม่ใช่การเมือง ไม่ยุติธรรมเหมือน ราโชมอน เพราะอยู่ดีๆ ตัวละครหนึ่งก็ถูก ‘อุ้ม’ ไปดื้อๆ (ถูกอุ้มออกไปจากฉากเลยจริงๆ)

หากการอุ้มตัวละครออกจากฉากน่าตกใจแล้ว ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือการที่ตัวละครอื่นๆ จะแสดงต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อถึงบทพูดของตัวละครที่หายไป ตัวละครอื่นๆ จะทำเหมือนได้ยินและตอบสนองกลับไปราวกับไม่มีใครหายไป และเมื่อถึงบทพูดที่กล่าวหาอีกฝ่าย เราจะได้ยินเพียงข้อกล่าวหาแต่ไร้คำแก้ต่างจากตัวละครที่ถูกอุ้มออกไป นี่จึงเหมือนการปิดปากและใส่ความกันดื้อๆ ทั้งๆ ที่ตัวละครนั้นอาจไม่ใช่ฆาตกรก็ได้ เราจึงรู้สึกถึงการเสียดล้อสังคมบางแห่งที่เราคุ้นเคยดี

ในแต่ละรอบ ตัวละครที่ถูกอุ้มจะเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับผู้ชมอย่างเรา ก่อนเข้าชมละครเราจะได้รับไม้ไอศกรีม 4 สีซึ่งใช้แทนคำตอบของคำถามที่เราจะเจอระหว่างการชม นี่ไม่ใช่การเมือง เหมือนเราเล่นเกมทางเลือกอยู่ ทางที่เราเลือกจะส่งผลต่อการอุ้มตัวละครออกจากเวที รวมถึงการนำตัวละครที่ถูกอุ้มออกไปกลับมาสู่เวทีอีกครั้ง ความฮาคือคำถามแต่ละคำถามไม่ได้ช่วยใบ้อะไรเกี่ยวกับตัวฆาตกรเลย ความฮาอีกยกคือตัวเลือกคำตอบที่ไม่รู้จะมีทำไม

การตอบคำถามด้วยไม้ไอศกรีมนี้ เมื่อมีผู้ชมเยอะ คำตอบที่ออกมาจึงคละกัน เมื่อต้องเลือกเพียงคำตอบเดียว เราต้องใช้หลัก ‘ประชาธิปไตย’ เลือกเสียงข้างมาก แม้เสียงข้างมาก อาจไม่ใช่คำตอบที่น่าจะถูกต้องก็ตาม และคำตอบที่เลือกมาจะเป็นตัวตัดสินให้ตัวละครไหนก็ได้ถูกอุ้มออกจากเวที ทำให้เราได้ฟังความข้างเดียว ก่อให้เกิดคำถามว่า เสียงของคนส่วนใหญ่นำความถูกต้องมาสู่สังคมจริงๆ หรือเปล่า

แต่ นี่ไม่ใช่การเมือง ไปไกลกว่านั้น เพราะละครเวทีเรื่องนี้กลับตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของหลัก ‘ประชาธิปไตย’ ในสังคมบางแห่งเลยด้วยซ้ำ การอุ้มตัวละครออกไปก็นับเป็นการทำลายสิทธิในการพูดแล้ว และการตอบคำถามของพวกเราคือการยืนยันว่าเสียงข้างน้อย ‘ต้อง’ แพ้เสียงข้างมากโดยที่เสียงข้างน้อยไม่ทันได้อ้างเหตุผลใดๆ ประกอบกับเสียงเทปที่ลอยมากลางเรื่อง พอจับความได้ว่า “Democracy doesn’t exist.” ทำให้เรารู้สึกว่า หลักประชาธิปไตยในสังคมหนึ่งช่างเป็นเรื่องที่เลือนรางและยากจะต่อลมหายใจได้เหลือเกิน

นอกจากนี้ละครเรื่องนี้ยังเล่นกับความย้อนแย้งในหลักเหตุและผล ชื่อเรื่อง นี่ไม่ใช่การเมือง ตามหลักเหตุผลแล้วอาจถูกต้อง เพราะนี่คือละครเวทีที่เล่าเรื่องการตามหาฆาตกรที่ฆ่าจิตรา แต่ความรู้สึกและชุดเหตุผลในใจเรากลับโต้แย้งว่านี่มันก็การเมืองไม่ใช่เหรอ? เหมือนการตอบคำถามในเรื่อง บางคำตอบรู้ว่าผิดแน่ๆ แต่ก็ยังตอบเพราะรู้สึกชอบใจ และในส่วนเนื้อเรื่อง ลองคิดว่าเรานั่งคุยกับเพื่อนอยู่ดีๆ เพื่อนก็ถูกอุ้มไปดื้อๆ หรือเวลาตัวละครถูกดึงรองเท้าไปเลยขณะยืนอยู่ มันคือการก้าวก่ายสิทธิส่วนบุคคลไม่ใช่เหรอ? แต่ตัวละครทุกตัวกลับนิ่งเฉยราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้อย่างไร? นั่นเพราะพวกเขาอาจรู้สึกว่าเป็นกฎเกณฑ์ในโลกของพวกเขา เป็นระเบียบที่พวกเขาอาจเคยชินไปแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่าพวกเขาปล่อยให้ความรู้สึกเคยชินอยู่เหนือเหตุผลและสิทธิส่วนบุคคล

นี่ไม่ใช่การเมือง จึงเป็นละครเวทีที่ขำ แต่ขำลึกๆ ในความตลกร้ายที่สะท้อนสังคมหนึ่งๆ ออกมา การไม่คัดง้างต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอาจกำลังทำลายระบบยุติธรรมบางอย่าง แล้วเราล่ะ เราปล่อยให้ความรู้สึกเคยชินกับสิ่งที่ไม่ยุติธรรมอยู่เหนือชุดเหตุผลของเราหรือยัง?

นี่ไม่ใช่การเมืองจัดแสดงตั้งแต่วันที่
20 กันยายน – 1 ตุลาคม 2560 (ไม่มีการแสดงในวันจันทร์และวันอังคาร) เวลา
19:30 น. ณ สตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
การแสดงรอบภาษาไทย: วันพุธ วันศุกร์ วันอาทิตย์, การแสดงรอบภาษาอังกฤษ:
วันพฤหัส วันเสาร์

ภาพ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

AUTHOR