ความในใจของผู้จัดเทศกาลละครเด็กที่อยากให้ประเทศนี้รักการละครและศิลปะมากขึ้นสักที

เด็กแต่ละยุคมีสิ่งเพลิดเพลินใจต่างกันไป สำหรับเราคือการ์ตูนช่อง 9 เช้าวันเสาร์-อาทิตย์ สำหรับเด็กยุคนี้ น่าจะหนีไม่พ้นความบันเทิงที่เสพผ่านแก็ดเจ็ตต่างๆ (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด) แต่ไม่ว่ายุคไหน ถ้าลองหันมองรอบตัวดีๆ เราจะพบว่าพื้นที่สำหรับเด็กที่ดีในประเทศนี้ – ไม่ได้มีมากมายขนาดนั้น

การก่อเกิดของเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ BICT Fest (Bangkok International Children’s Theatre Festival) ด้วยการผลักดันของกลุ่มคนละครเวทีชาวไทย จึงมีความหมายมากกว่าแค่เรื่องเพลิดเพลินใจ และปีนี้ก็ถือเป็นการจัดเทศกาลครั้งที่ 2 แล้ว

ไม่แปลกอะไรถ้าคุณไม่ดูละครเวทีแล้วจะไม่ได้ยินข่าว ไม่แปลกอะไรถ้าคุณยังสงสัยว่าเราดูละครเวทีกันไปทำไม แต่การกลับมาครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะผลตอบรับที่น่าชื่นใจของเทศกาลครั้งแรกเมื่อปี 2559 มีพ่อแม่ผู้ปกครองมากมายจูงมือลูกหลานไปชมละครเวที ร่วมกิจกรรมน่าสนุกในเทศกาล นั่นน่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า ที่จริงแล้วคนในบ้านเราต้องการสิ่งเหล่านี้ เพียงแต่ที่ผ่านมาเรามีน้อยเกินไป

ระหว่างเทศกาล เรานัดคุยกับ อุ๊-อัจจิมา ณ พัทลุง director แห่ง BICT Fest เพื่อให้รู้ว่าเทศกาลนี้คืออะไร มาแล้วได้อะไร ทำไมถึงต้องมี และอุปสรรคที่เธอต้องเจอเพื่อสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริงคืออะไร

ถ้าคุณเห็นด้วย ปีต่อไปลองพาคนใกล้ตัวมาชมและสัมผัสพลังของละครเวทีด้วยตัวเอง นั่นจะเป็นพลังหนึ่งที่ทำให้วงการละครและศิลปะในบ้านเราเบ่งบานขึ้นอีกนิด

ในฐานะที่คุณเคยทำละครเวทีสำหรับผู้ใหญ่มาก่อน ละครสำหรับเด็กมีอะไรที่จับใจเราและทำให้ขยับมาจัดงานนี้ได้

เราเรียนจบละครที่อังกฤษและมีโอกาสได้ทำงานกับบริษัทที่เปิดโอกาสให้กับคนต่างผิวสี เพราะส่วนมากคนผิวขาวจะได้งานเยอะกว่า ตอนนั้นไม่เคยสนใจละครเด็กเลย คิดว่าไม่สำคัญ ทำงานตรงนี้ก็ดีกับ CV ของเราและได้เงินด้วย แต่พอได้ทำงานกับ Theatre-Rites ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำละครเด็ก ประสบการณ์ 2 ปีตรงนั้นเปลี่ยนชีวิตเลย

เขาทำงานกับเด็กอย่างที่เราไม่เคยเห็นใครทำมาก่อน ใช้เวลา 2 ปีสร้างงานหนึ่งชิ้น ใช้นักแสดงที่เก่ง ความสามารถเต็มเปี่ยม โปรเจกต์หนึ่งที่ได้ทำตอนนั้นชื่อ Salt เป็นงานที่ดัดแปลงพื้นที่โรงงานปุ๋ยเก่ามาใช้ เปลี่ยนตึก 4 ชั้นให้เป็นพื้นที่ที่มีการละครแล้วให้เด็กเดินเข้าไปได้ซึ่งเรียกว่า promenade performance เราเปลี่ยนความคิดทุกอย่างเกี่ยวกับละครเด็กและมีความฝันว่าอยากเอางานเขามาที่เมืองไทย เพราะงานสำหรับเด็กในบ้านเราจะเห็นว่าผู้ใหญ่มักทำตัว silly ใส่เด็ก มีเพื่อนคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ทำงานแบบนี้ เขาเล่าว่าเด็กพูดกลับมาว่า “เป็นอะไรอ่ะ” วันนั้นเขารู้เลยว่าเด็กมีความต้องการในระดับสูงกว่าที่เราคิดมาก

บ้านเราโฟกัสกับการทำให้คนเป็นคนดี ละครเวทีสำหรับเด็กสมัยก่อนมักเป็นละครที่พูดถึงศีลธรรมและการสอนให้เป็นเด็กดี ต้องมีลำดับเรื่อง 1 2 3 4 5 ที่ย่อยมาให้หมดแล้ว แต่พอเราไปเห็นว่ามันมีประเทศอื่นๆ ที่เขาทำละครเด็กกันอย่างก้าวไกล คุณภาพเทียบเท่าละครผู้ใหญ่ เราก็อยากลองเอาเข้ามาให้คนได้ดู

ขอถามแทนกลุ่มคนที่ไม่เคยดูละครเวทีเลยว่ามันดียังไง

เราไม่ปิดกั้นศาสตร์อื่น เราเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เราเพียงเลือกทำงานในศาสตร์ที่เรารู้จักดีที่สุด เราเชื่อในศักยภาพของการละครว่ามันทำงานกับคนได้ดี มันมีพลังที่จะบันดาลใจให้คนมีจินตนาการ ไม่ว่าจะวัยไหน เพศไหน ความสามารถไหน

การละครเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ครบ มันเป็นสิ่งที่สด เป็นศิลปะที่มีชีวิต อย่างเราดูงานเพนต์ติ้ง เราไม่ได้สัมผัสกับคนที่อยู่ในพื้นที่การแสดง เวลาดูหนังเราไม่ได้ยินเสียงลมหายใจ เสียงเหนื่อย เสียงหอบของคนแสดง ทุกอย่างเหมือนกันหมดทุกครั้ง แต่ละครเล่นสด คนมีชีวิต มันจะมีโมเมนต์ มีเรื่องจังหวะเวลาที่ศาสตร์อื่นให้ไม่ได้

มันเป็นการสร้างชุมชนด้วย เพราะมีคนมาอยู่ร่วมกัน มาดูอะไรที่คนที่มีชีวิตทำ มีการแลกเปลี่ยนที่สด การเรียนรู้เกิดขึ้นทั้งเรื่องร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก และความรู้ แล้วสมัยนี้คนใช้เวลาอยู่กับแก็ดเจ็ตเยอะ การที่เรามารวมกันเพื่อชื่นชมสิ่งต่างๆ ร่วมกัน มันสร้างความเชื่อมโยงได้ เลยรู้สึกว่ามันน่าจะมีศักยภาพบางอย่าง

แต่ดูเหมือนกลุ่มคนทำกับกลุ่มคนดูละครบ้านเรายังเป็นกลุ่มเดียวกัน ไม่กระจายเป็นวงกว้างเท่าไหร่ ทำละครผู้ใหญ่คนยังดูน้อย แล้วละครเด็กไม่ยิ่งหนักเหรอ

นี่แหละ เราก็เลยต้องทำกัน ตั้งแต่ปีที่แล้วคนดูก็เป็นกลุ่มที่เราไม่เคยเห็น ละครเด็กมีศักยภาพตรงนี้ มันดึงคนดูกลุ่มอื่นเข้ามา เขาเป็นพ่อแม่รุ่นใหม่ที่ต้องการหาสิ่งนี้ให้ลูก เราก็ตื่นเต้นเพราะไม่เคยเห็นคนกลุ่มนี้มาก่อน เทศกาลนี้มีฟังก์ชันหลายอย่าง นอกจากเราจะอยากสร้างคนดูในอนาคตแล้ว เรายังต้องการให้ละครเป็นสิ่งสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต สร้างความสมดุลจากการที่บ้านเราโฟกัสแต่เรื่องเรียนอย่างเดียว

คุณออกแบบเทศกาลละครเด็กนี้ยังไง

ตัวเทศกาลพยายามผลักดันให้วงการละครในเมืองไทยมีการแลกเปลี่ยนจากคนต่างประเทศ คนที่รัฐบาลสนับสนุนให้พัฒนางานไปอย่างกว้างไกล การที่เราได้แลกเปลี่ยนกับเขา เขาได้เห็นวัฒนธรรมและคนดูจากวัฒนธรรมที่ต่างกับเขา มันน่าจะมีอะไรที่ทำให้เกิดขึ้นได้

ส่วนหลักของเทศกาลนี้ประกอบด้วย 3 อย่าง ได้แก่ การแสดง เวิร์กช็อป และวงเสวนา อย่างเช่นทอล์กเกี่ยวกับ New French Circus ตอนคิดจะเอาเข้ามาก็มีเพื่อนถามว่า “อุ๊ย เขาจะเอาสัตว์มาเล่นไหม” เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่นะตัวเอง เทศกาลเรามีงานที่ท้าทายคนดู เพราะเวลาคิดถึงงานเด็ก คนจะคิดถึงงานหุ่นเท่านั้น เราก็ยังมีงานพัพเพ็ตนะ และเรายังนำงานอื่นที่ทำให้เห็นว่างานเด็กมีรูปแบบหลากหลาย มีคุณภาพ และเป็นมืออาชีพเข้ามาด้วย

งานเด็กมีกระบวนการสร้างสรรค์ที่ซับซ้อนและไม่ง่าย คนจะคิดว่าเด็กรับได้เท่านี้แหละ แต่จริงๆ เขารับได้เท่าๆ กับผู้ใหญ่และเปิดกว้างกว่าด้วยซ้ำ การให้ประสบการณ์เขาในตอนนี้เป็นช่วงสำคัญมาก เพราะผู้ใหญ่จะโดนกดทับและปิดกั้นจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ในสังคมที่คอยบอกเราว่าต้องมองยังไง เรารู้สึกว่าตอนเราเป็นเด็ก เรามีเส้นขีดกั้นเยอะและไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีในการเติบโต

งานที่เลือกมาบางส่วนมีเนื้อหาที่ซับซ้อน แอ็บสแตรกท์ พูดถึงสิ่งที่คนคิดว่าเด็กไม่พร้อมดู บางเรื่องก็พูดถึงความตาย พูดถึงคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในบ้านเราและพยายามปรับตัวเข้ากับสังคม แต่เราก็พยายามบาลานซ์ไม่ให้คนดูรู้สึกว่าหนักไป บางอันเข้ามาดูแล้วขำ บางอันเข้ามาแล้วรู้สึกถึงความ poetic

หรือปีนี้เราอยากให้มีงานที่มีลักษณะ inclusive หรือเป็นสังคมที่รวมผู้คนหลากหลาย เราก็เชิญการแสดงจากกลุ่ม Four Go Wild in Wellies จากสกอตแลนด์ที่นักแสดง 2 คนเป็นดาวน์ซินโดรม เราต้องการสร้างพื้นที่ให้คนเห็นว่ามีคนหลากหลายในสังคมนี้ คนที่คนบางกลุ่มคิดว่าเขาไม่พร้อมจะทำอะไรที่มีคุณภาพ แต่จริงๆ เขาไปทัวร์การแสดงมาหลายที่แล้ว งานเขาทำได้เทียบเท่าหรือดีกว่างานคนทั่วไปด้วยซ้ำ

นอกจากความเก่ง คุณมีเกณฑ์อะไรในการเลือกคณะละครเข้ามาแสดง

ด้วยความที่เราแบ่งเวลาอยู่ทั้งอังกฤษและกรุงเทพฯ ตอนอยู่อังกฤษจะมีโอกาสได้เห็นงานที่มาแสดง และเราก็ชอบทำความรู้จักและทำงานกับศิลปิน ส่วนมากในปีแรกจึงเป็นเพื่อนกันมาก่อน เราต้องการให้เทศกาลนำคนที่มีความคิดเดียวกันมารับรู้อะไรจากวัฒนธรรมของเราด้วย ไม่อยากเลือกคนที่จะมาแสดงอย่างเดียว

นอกจากนี้เรายังสร้างพื้นที่ให้มีงานจากคณะละครไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะงานเด็กยังมีน้อยในภูมิภาคของเรา ส่วนใหญ่เราเอาละครไปเน้นด้านการศึกษา แต่ในด้านความคิดสร้างสรรค์ของเรายังเพิ่งเริ่มต้น เทศกาลละครมีหน้าที่มากกว่าแค่มาจัดงานสนุกๆ อย่างเดียว เราอยากให้เป็นพื้นที่ที่ครอบครัวมาใช้เวลาร่วมกันได้ พ่อแม่ก็เอ็นจอย

ทำไมละครที่คุณเลือกสรรมาต้องให้เด็กกับผู้ใหญ่ดูด้วยกันได้

เพราะเด็กเดินมาดูละครเองไม่ได้ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ต้องพามา เขาก็นับเป็นผู้ชมด้วย การที่เด็กได้เห็นพ่อแม่ร้องไห้ มันเป็นประสบการณ์ที่ดี ไม่ใช่เพื่อตัวเขาเท่านั้น แต่เด็กได้เห็นว่าพ่อแม่มีชีวิต มีอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช่ต้องสตรองอย่างเดียว เขาซัพพอร์ตพ่อแม่ได้ เช็ดน้ำตาได้เวลาพ่อแม่รู้สึกเศร้า

ในงาน circus ผู้ใหญ่กับเด็กดูแล้วจะมีปฏิกิริยาต่างกัน เมื่อก่อนมันจะเป็นสไตล์กายกรรมเปียงยาง มีสัตว์แสดง แต่รุ่นใหม่จะใช้การเต้นหรือศาสตร์อื่นมาร่วมด้วย สิ่งหนึ่งที่มีในงานรูปแบบนี้คือความเสี่ยง เช่น เวลาดูคนจะตกจากที่สูงหรือจะพลาดในการรับลูกบอล เวลาคนพลาดเด็กจะหัวเราะ แต่ผู้ใหญ่จะหวาดเสียวว่าจะพลาดไหม ปฏิกิริยาที่แตกต่างกันทำให้น่าสนใจ เราชอบเพราะมันไม่ต้องไปในทางเดียวกัน เราไม่จำเป็นต้องไกด์ให้เขารู้สึกเหมือนกัน

เหมือนการทดลองหรือเปล่า

ใช่ แล้วมันก็เกิด แต่เราจะไม่ตอบคำถามว่าผลลัพธ์ของเทศกาลแบบไหนที่เราอยากจะเห็น เพราะเราไม่ใช่นักการเมือง (หัวเราะ) เราแค่ทำละคร ทำเทศกาล ไม่ได้ทำงานด้านการศึกษา ไม่ได้เป็นรัฐบาล บอกได้อย่างเดียวว่าเราอยากให้มีคนรักละครเพิ่มขึ้นในอนาคต

แล้วอะไรใช้วัดผลว่าเทศกาลของเราได้ผล

น่าจะเป็นจำนวนคน ปีแรกเรามีคนดู 2,500 คน ส่วนใหญ่เขาก็ชอบกัน ปีแรกที่จะบ่นกันก็คือทำไมไม่จัดทุกเดือน ถ้าจัดทุกเดือนนี่คือตาย (หัวเราะ) เขาไม่รู้ว่ามันต้องใช้พลังงานมากแค่ไหนกว่าจะทำโปรแกรมออกมาได้แต่ละปี แต่เราก็มีแฟนคลับ มีคนที่กดไลก์ มาสนับสนุน สิ่งที่เราไม่มีซัพพอร์ตอย่างเดียวคือจากรัฐบาล (หัวเราะ) ทั้งที่เราก็ติดต่อตลอดนะ

เขาให้เหตุผลไหมว่าทำไมเขาถึงไม่สนับสนุน

นั่นสิ ก็งงเหมือนกัน เราว่าเขาคงรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่เขาอยากสนับสนุนมีอะไรบ้าง แต่ก็งงว่าทำไมไม่ใช่งานเด็ก เพราะเขาก็บอกว่าเด็กเป็นสิ่งสำคัญ

เรื่องนี้คงไม่มีใครตอบได้

ใช่

แล้วทำไมเมืองอย่างกรุงเทพฯ ถึงควรมีเทศกาลแบบนี้

ลองมองไปรอบๆ สิ ดูข้างนอก

เพราะมันมีแต่ตึกเหรอ

มันมีแต่ช้อปปิ้งมอลล์ เราถึงเอาเทศกาลมาลงที่นี่ (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) นี่ก็ยังกลุ้มใจว่าถ้า กทม.เข้ามาดูแล้วจะเกิดอะไรขึ้น กลัวเขาไม่ให้ทุน มันต้องมีพื้นที่แบบนี้เยอะขึ้นถ้าอยากให้คนทำกิจกรรมแบบนี้เยอะๆ

แสดงว่าความท้าทายในการจัดเทศกาลนี้ก็คือ

เงิน (หัวเราะ) อย่างอื่นไม่ท้าทายเท่าหาทุนมาทำให้มันเกิดขึ้นในแต่ละปี ยากเย็นเหลือเกิน เพราะละครไม่ใช่อะไรที่เป็นด้านธุรกิจ หาเงินได้ เราได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศเยอะมาก ได้จากสถานทูตฝรั่งเศส จาก Japan Foundation จากสถาบันเกอเธ่ ที่จริงเราได้เงินจาก TCEB กับ ททท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้เงินจากรัฐบาลมาสนับสนุนอีกที แต่รัฐบาลหรือกระทรวงไม่ได้ให้เลย มันเลยเป็นเรื่องเศร้าที่บ้านเราไม่ค่อยสนับสนุน เราอยากให้มีคนสนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประชาชน เพราะพอมีกระแสเพิ่มขึ้นก็หวังว่าจะทำให้รัฐบาลสนใจตรงนี้มากขึ้นเหมือนกัน

สุดท้ายแล้วละครจะให้อะไรผู้ชม

มันเป็นคำถามที่ยากเพราะมันเป็นสิ่งจับต้องไม่ได้ ประสบการณ์แต่ละคนแตกต่างกันไป การดูละครเป็นโอกาสให้เราเรียนรู้ชีวิตที่เราไม่รู้จัก เราบอกไม่ได้ว่ามันจะให้อะไร เราไม่อยากเป็น dictator กำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่ละครจะให้ มันเป็นศิลปะที่คนจะเห็นว่าจับต้องไม่ได้แล้วยูจะมีคุณค่าอะไร การที่มันมีคุณค่าแค่เป็นอารมณ์กับความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ มันไม่พอสำหรับบ้านเราที่ต้องได้อะไรที่วัดได้

การที่สังคมบ้านเราพยายามจะเป็น dictator มันเป็นปัญหามากน้อยแค่ไหนกับเด็กคนหนึ่งที่จะโตขึ้นมา

มันเป็นปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มันบอกอะไรบางอย่างในประเทศนี้ที่ไม่อยากให้คนมีความคิดเป็นของตัวเอง พยายามจะขีดกั้นให้ทุกคนอยู่ในแนวคิดเดียวกัน เทศกาลถึงอยากให้เด็กหรือผู้ใหญ่มาดูงานและมีคำถาม เราโอเคมากในการตั้งคำถามจากสิ่งที่เขารู้ ไม่ต้องสรุปทุกอย่าง แต่เป็นที่ที่เปิดให้เขาได้คิดต่อ

ทุกคนมีความสามารถที่จะเข้าใจ แต่เขาไม่ได้มีโอกาสเจอะเจอสิ่งที่แตกต่างและแปลกใหม่ ฉะนั้นเราคุยกันได้ ถ้าเขาไม่รู้ เราก็มีพื้นที่เสวนา มี post-show talk ที่เจอศิลปินได้โดยตรง ไม่ได้บอกว่าถ้าไม่รู้ก็ช่างแม่ง

ถึงตอนนี้เขาอาจจะยังไม่เก็ต แต่ผลลัพธ์มันจะเห็นได้ในอีกหลายๆ ปีข้างหน้าใช่ไหม

เราไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่เก็ตนะ เราไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะรักละคร คนชมศิลปะไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปิน มาดูละครก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนทำละคร แต่มันเป็นเรื่องการสร้างความเป็นมนุษย์ข้างใน ศิลปะมีศักยภาพในการทำให้คน complete มากขึ้น มีความสมดุลกันในเรื่องความคิดความรู้สึก ไม่ต้องเก่งหรือเป็นฮีโร่อะไร แค่เขาดีลกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้

เราว่าพวกเลข ฟิสิกส์ก็สำคัญ แต่เราเอามาสร้างเสริมกันได้ เพราะศิลปะเป็นที่ที่เราแสดงออกด้านความคิดความรู้สึก ในขณะที่เลขและวิทยาศาสตร์ไม่ได้ให้สิ่งนั้น เด็กคนนั้นอาจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือหรือนักคอมพิวเตอร์ก็ได้ แต่เวลาคนคิดค้นอะไรที่น่าสนใจ อย่างสตีฟ จอบส์ เราว่ามันมีเซนส์ของความคิดสร้างสรรค์เข้ามาเสริม ทำให้สิ่งที่เขาสร้างมันมี color สร้างอะไรที่เป็นระดับโลกได้

ภาพ นิติพงษ์ การดี, BICT Fest, Maiyasit Pianmanakij, Naphatrapee Suntorntirnan, Deun Chonmunkhong, Khemngnern Tonsakulrungruang, Wipat Lertpureewong

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี