หมูบินได้ : ตลกร้ายในคราบละครเด็ก

บทละครเวที: ชวน – จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ
เพลงประกอบและกำกับการแสดง: ชวน – จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ
อำนวยการสร้าง: ออม – อธิศ ธ. อาสนจินดา
กำกับศิลป์: โจ๊ก – จิรกิตติ์ สุนทรลาภยศ
ออกแบบและควบคุมไฟ: อ๊อฟเฟอร์ – ขนิษฐา นงนุช
กำกับเวที: บี – อารยา พิทักษ์

หมูบินได้
เคยทำเป็นละครเวทีมาก่อนเมื่อ 9 ปีที่แล้ว การรีสเตจครั้งนี้ยังได้ชุดนักแสดงและทีมโปรดักชันเดิมมาด้วยส่วนหนึ่ง
และรับนักแสดงมาใหม่อีกส่วนหนึ่ง
ทำให้มีความสดใหม่โดยยังคงผู้มีประสบการณ์เอาไว้ด้วย

เรามาดู หมูบินได้
ด้วยความคาดหวังว่าจะดูสนุกๆ ไม่เครียด
เพราะเห็นโปสเตอร์มีแต่รอยยิ้มและสีสันสดใส ยังโปรยอีกว่ามาจากวรรณกรรมรางวัลชนะเลิศหนังสือดีเด่น
SEVEN
BOOK AWARDS ประจำปี 2546 – 2547 ประเภทวรรณกรรมเยาวชน เราเลยตายใจ
ไปดูโดยไม่เคยอ่านหนังสือเรื่องนี้หรือหาข้อมูลไปก่อน

เรื่องราวเล่าถึงหมู่บ้านหนึ่งที่มีแต่ประชากรหมู
มีหมูเด็กสาวตัวหนึ่งชื่อ ‘กองดิน’ เธอมีปีกมาตั้งแต่เกิด และเธอฝันไว้ว่าสักวันจะบินด้วยปีกของตัวเอง
เธอจึงเริ่มฝึกบินทุกวันๆ จนร่างกายหมูที่เคยอวบอ้วนเริ่มผ่ายผอมและมีกล้ามเนื้อ
การเปลี่ยนแปลงของเธอทำให้ชาวหมูทั้งหมู่บ้านตกใจและมองว่าเธอแปลก
หมูควรจะอวบอ้วนและเอาแต่กินกับนอนสิ อุปสรรคใหญ่ของ ‘กองดิน’
จึงไม่ใช่ความพยายามซึ่งตัวเธอมีพร้อม
แต่เป็นความเห็นจากคนรอบข้างที่กำลังเสียดแทงความฝันและปีกของเธอจนแหว่งวิ่นต่างหาก
และนั่นทำให้ปีกของเธอต้องขาดร่วงไปในที่สุด

เรื่องราวเหล่านี้เล่าผ่าน
2 ส่วน ส่วนของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอ่านหนังสือให้เราฟัง แทนจิตใจของ
‘กองดิน’ และส่วนของการแสดงทั้งหมดที่จะบอกว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ช่วงเวลา 40 นาทีมีเพลงประกอบน่ารักๆ เอาใจเด็กๆ
และวัยรุ่นให้ดูเพลินๆ สนุกดี จังหวะมุกต่างๆ ก็ขำ ไม่ติดขัดอะไร
หรือถ้ามีจังหวะมุกหลุดไปบ้าง นักแสดงคนอื่นจะช่วยตบมุกให้จนเข้าที่และดำเนินการแสดงต่อไปอย่างราบรื่น
เป็นละครเวทีที่ดูได้ทุกเพศทุกวัยจริงๆ

สำหรับเรา ละครเวทีเรื่องนี้คล้ายเรื่อง
Animal
Farm
ไม่ใช่แค่ตัวละครหลักเป็นหมู
แต่ยังเสพได้หลายชั้นเชิง แม้สิ่งที่แสดงออกมาจะเป็นมู้ดแอนด์โทนแบบเด็กๆ มีเพลงประกอบ ใช้ชุดและการแสดงที่น่ารัก
แสดงออกอย่างสดใสผ่านทั้งน้ำเสียงและสีหน้า นั่นคือชั้นเชิงหนึ่งที่เราสามารถรับรู้ได้

และหากเจาะลงไปดูให้ลึกกว่านั้น
พิจารณาจากสารที่ได้รับ จะเห็นว่าละครเวทีเรื่องนี้มีตลกร้ายแอบแฝงอยู่
และเป็นตลกร้ายที่ยังคงดำรงอยู่ในทุกยุคสมัย เป็นสารที่ตอกย้ำว่า ‘ความแตกต่างคือความแปลกที่ไม่ควรได้รับการยอมรับจากคนในสังคม’ และหากใครได้ไปดูมาแล้ว
เนื้อเรื่องจะยิ่งขยี้สารนี้ให้ละเอียดลงไปอีก
(อยากให้ไปดูกัน ไม่บอกหมดดีกว่า) ด้วยสารของเรื่องที่ค่อนข้างเข้มข้นและมืดหม่น
เป็นเรื่องที่เกิดในชีวิตคนเราจริงๆ เราคิดว่าเพื่อกลบเกลื่อนความมืดหม่นนั้น
หนังสือต้นฉบับและละครเวทีจึงต้องใช้วิธีการเล่าเรื่องที่น่ารักขึ้นหน่อย
จะได้ตบให้โทนเรื่องกลับมาสดใสและเสพได้ง่ายๆ

มีเพลงหนึ่งที่ตรงกับละครเรื่องนี้
คือเพลง Somewhere Over the Rainbow เป็นเพลงที่บรรเลงขึ้นมาในละครด้วยแต่ไม่ได้ขับร้อง
ฟังผ่านๆ อาจลืมไปเลย พอดีชอบเพลงนี้เลยจำทำนองได้ เรานึกถึงเนื้อเพลงว่า

somewhere over the rainbow way up high
And the dream that you dare to, why oh, why
can’t I?

‘กองดิน’ เป็นเพียงหมูตัวหนึ่งที่อยากบินข้ามฟ้าข้ามสายรุ้ง
แต่สังคมไม่ยอมให้เธอทำตามฝัน ปีกของเธอจึงต้องถูกพับเก็บไว้ในลิ้นชัก
จนถึงวันที่เธอถูกหล่อหลอมขึ้นใหม่
กลายเป็นหมูอีกตัวในสังคมที่ทำได้เพียงเชิดชูคนที่กล้าทำตามฝัน
เหมือนอย่างที่หมูตัวอื่นๆ ทำได้เพียงเท่านั้น

ดูละครเวทีเรื่องนี้จบ
เรานั่งนิ่งอยู่กับตัวเอง ถามตัวเองว่า ‘เรายังมีโอกาสทำสิ่งที่เราอยากทำมั้ย’
ด้วยวัยที่ยังหนุ่มอยู่ (ขอยืนยันว่ายังหนุ่มจริงๆ)
เราคงมีโอกาสอีกมาก แต่เมื่อวันใดที่เราเป็นคนพาลูกมาดูละครเรื่องนี้
เราคงไม่มีวันย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ และคงนั่งซึมไปอีกนานเมื่อรู้ตัวว่าสายเกินแก้

ขอบคุณ
หมูบินได้ ที่เตือนสติเราว่ายังมีโอกาสให้ทำตามฝันอยู่
และเตือนเราว่า ถ้ามีลูกแล้วลูกฝันอยากทำอะไรก็สนับสนุนเขาบ้างแล้วกัน

ละครเวทีหมูบินได้ยังมีแสดงวันที่ 1-3 ธันวาคม 2560 เวลา 18.30 น. และ 20.00 น. ที่ Theatre2, Acmen Ekamai Complex (ตึกโรงเรียนเก่า เอกมัยซอย 15)

ภาพ Seeing the Same

AUTHOR