Fundamental : การแสดงนามธรรมสุดเร้าอารมณ์รำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม

ออกแบบและกำกับการแสดง: ธีระวัฒน์ มุลวิไล
สถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

 

ภาพชายเงื้อเก้าอี้พับขึ้นไปตีร่างไร้วิญญาณของนักศึกษาชายที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามสุดสะเทือนขวัญในเหตุการณ์
6 ตุลาคม 2519 ซึ่งถ่ายไว้โดย นีล อูลเลวิช (Neil
Ulevich) แสดงให้เห็นความโหดเหี้ยมของการปราบปรามนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่าพระจันทร์ และบริเวณท้องสนามหลวง และเป็นภาพประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่ติดหนึบอยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลกมาตลอด
40 ปี

ในปีนี้
คาเงะ-ธีระวัฒน์ มุลวิไล จากกลุ่มละครมากฝีมือ B-Floor และเจ้าของตำแหน่งนักศิลปวัฒนธรรมผู้มีผลงานดีเด่นด้านสันติภาพ
ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม ปี 2554 จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้หยิบภาพถ่ายนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์การแสดงเรื่องล่าสุด
Fundamental ให้เราได้ร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอีกครั้ง
โดยการแสดงนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะการแสดงครั้งที่ 5 (Performative
Art Festival # 5) ระหว่างเดือนมิถุนายน
– ธันวาคม 2559 ที่จะจัดขึ้นในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

Fundamental คือการแสดงนามธรรมซึ่งเกิดจากจินตนาการของคาเงะที่ต้องการสะท้อนสภาวะความคิดและความรู้สึกอันหลากหลายของผู้คนในภาพดังกล่าว
แล้วจำลองออกมาเป็นการแสดงสดบนเวที เขาสนใจอารมณ์และบริบทอื่นๆ
ที่ภาพถ่ายไม่สามารถบันทึกไว้ได้
ดังนั้นการแสดงจึงเป็นการสมมติเหตุการณ์และสภาวะของผู้คนที่เกิดขึ้นในภาพให้เป็นรูปธรรมมากที่สุดครั้งนี้คาเงะยังคงถ่ายทอดเรื่องราวในมุมมองเทาหม่น
และแทรกอารมณ์ขันไว้ให้หัวเราะกันเป็นพักๆ

ผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นตัวแทนสมาชิกในสังคมที่ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งแวดล้อมต่างๆ
และสะท้อนปรากฏการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นคือนักแสดงหลากเจเนอเรชันจำนวน 13 คน ที่คัดเลือกมาจากการออดิชั่นใหม่ทั้งหมด
เราจึงได้เห็นถึงความสดและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงานตลอดการแสดงเพราะนักแสดงทุกคนทั้งเดิน
วิ่ง กระโดดโลดเต้น คลาน และตีลังกาสลับกันไปมาโดยแทบไม่ได้หยุดพัก ขณะเดียวกันประเด็นเรื่องการเมืองก็ถูกชูและทำให้ตัวละครต้องจัดการกับบริบทที่พวกเขาต้องพบเจอ
เพราะเมื่อสภาพบ้านเมืองเป็นอย่างไร ประชาชนก็ได้รับผลกระทบเหล่านั้นด้วย ขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าประชาชนนี่แหละที่กำหนดทิศทางของบ้านเมืองเช่นกัน

ความน่าสนใจของการแสดงนี้ก็คือนักแสดงแต่ละคนต่างมีบทบาทเท่าเทียมกัน
ไม่มีใครถูกผลักให้โดดเด่นกว่าใคร ทุกคนสลับกันปรับเปลี่ยนหน้าที่อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นผู้ชมจำเป็นต้องสำรวจพฤติกรรมของตัวละครที่แปรท่าทีไปเรื่อยๆ
จากวงจรที่ทุกคนต้องซึมเซา หัวเราะ ร่าเริง ร้องไห้ กรีดร้อง ต่อสู้ และบ้าคลั่ง
โดยที่พวกเขาสื่อสารกันด้วยเสียงซึ่งฟังไม่เป็นภาษาและท่าทางประหลาดๆ
กระหน่ำแสดงออกมา มีเพียงช่วงสั้นๆ
ที่เราพอได้ยินภาษาไทยออกมาบ้างเท่านั้น การปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นี้เองที่อาจเป็นปัญหาสำหรับคนดู
เพราะเราอาจปะติดปะต่อไม่ได้ว่าทำไมอยู่ๆ ตัวละครถึงเปลี่ยนบทบาทและการกระทำไปอย่างฉับพลัน

อีกอย่างที่ชอบและชวนให้ไปจับตาหาความหมายกันให้ดี
คือสัญลักษณ์ที่ตัวละครใช้สอดแทรกในการแสดงตลอดทั้งเรื่อง อาทิ การกะพริบของไฟ
เสียงดนตรีแอมเบียนท์ เสื้อผ้าของนักแสดงที่ออกแบบมาให้ใช้ผ้าแบบเดียวกัน และแผงกั้น
Barrier ซึ่งล้วนมีความหมายแฝงให้ผู้ชมตีความกันอย่างสนุกสนาน
โดยเฉพาะแผงกั้นสีส้มคาดเส้นสีขาวที่นักแสดงใช้เป็นเครื่องมือสื่อแทนสิ่งต่างๆ
ได้อย่างอิสระ ทั้งในฐานะวัตถุที่จับต้องได้ หรือเรื่องนามธรรมในสังคม ยกตัวอย่างเด่นๆ
ที่เห็นคือการใช้แผงกั้นสีส้มให้กลายเป็นเนื้อปลาแซลมอน
แล้วหลังจากนั้นก็กลายเป็นตึกสูง สถาปัตยกรรมริมแม่น้ำที่กำลังถูกถกเถียงอยู่ในวันนี้
ซึ่งความน่าทึ่งตรงนี้เราขอให้ผู้ชมติดตามดูให้ดี

ตลอดระยะเวลากว่า
2 ชั่วโมง ผู้กำกับปล่อยหมัดฮุกคนดูอย่างหนักหน่วงจนเรารู้สึกเกร็งและเครียดกับการดำเนินเรื่องเป็นส่วนใหญ่
แต่บางฉากก็ตื่นเต้น เศร้า หรือบางครั้งก็ขนลุกกับสิ่งที่ได้เห็น
ในฐานะคนรุ่นใหม่ การแสดงชุดนี้ทำให้เราหันมาทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ 6
ตุลามากขึ้นเพราะมันทำให้เห็นว่าคนสามารถฆ่าคนที่เห็นต่างกับตนได้อย่างโหดเหี้ยม แม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะร้ายแรงและน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีให้คนในสังคมปัจจุบัน
แต่เรากลับยังเห็นเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นเดียวกับสถานการณ์ในการแสดงที่โกลาหลส่งผลให้คนเจ็บปวด
กวาดล้างทำลายกัน พยายามทำให้ทุกอย่างสงบ สะสางทำความสะอาด แล้วก็มีความสุข (แต่ไม่รู้ว่าสุขกันจริงไหม) แล้วก็ต่อสู้กันอีกครั้ง วนเป็นลูปเดิมไปเรื่อยๆ

ทั้งนี้ในรอบการแสดงปฐมทัศน์
คาเงะได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวเนื่องกับไอเดียของเนื้อหาทางการเมืองที่ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ถ้าเราสามารถเปิดเผยความคิดเห็นกันได้
สังคมไทยจะไม่เป็นแบบที่เห็นในปัจจุบันนี้เลย เพราะฉะนั้นเราต้องรีเซ็ตความคิดใหม่ทั้งหมด
เพื่อสำรวจว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้องในสังคม”

แม้ว่า
Fundamental จะเป็นการแสดงเชิงนามธรรมแต่ก็ไม่ได้เข้าใจยากจนเกินไป
ยิ่งไปกว่านั้นการแสดงชุดนี้สามารถจุดประกายให้ผู้ชมไปค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์
6 ตุลาเพิ่มเติมได้ บางครั้งข้อคิดที่ได้จากการชม
อาจจะทำให้เราหันมาถามตัวเองมากขึ้นว่าความเจ็บปวดทางประวัติศาสตร์ในอดีตทำให้คนไทยได้เรียนรู้มากแค่ไหน
คล้ายกับตอนที่นักแสดงจ้องหน้าเราอย่างจริงจัง เหมือนกำลังตั้งคำถามเพื่อคาดคั้นเอาคำตอบจากผู้ชมทุกคนว่า ‘จะใช้ชีวิตอยู่ในสภาพสังคมที่ปรากฏในละครจริงๆ เหรอ?’

Fundamental
แสดงยาวไปจนถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2559 (ยกเว้นวันจันทร์และวันอังคาร)
ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บัตรราคา 550 บาท
ติดต่อจองบัตรได้ที่หน้า
เพจอีเวนต์

AUTHOR