‘อย่ากลับบ้าน’ นับได้ว่าเป็นมิติใหม่ของซีรีส์ไทยที่โคตรฉีก โคตรล้ำ และโคตรทะเยอทะยาน กล้าเล่นกับความคาดหวังคนดูได้มากขนาดนี้
ตั้งแต่ Teaser ปล่อยออกมา นักสืบโซเชียลก็คาดเดาทฤษฎีต่างๆ นานาว่าเรื่องราวจะดำเนินไปในทิศทางไหน แต่ระดับ Netflix ทั้งทีคงไม่มีอะไรที่ธรรมดา เพราะมันจะพาคุณไปไกลกว่าสิ่งที่คิดไว้มาก
เนื้อหาใจความสำคัญของเรื่องจะถูกเล่าผ่านตัวละครผู้หญิงทั้งหมด นั่นคือความตั้งใจของผู้กำกับที่อยากสอดแทรกประเด็นสังคมในหลายมิติ ทั้งในแง่ของผู้หญิงที่ถูกกดทับด้วย Toxic Masculinity สัญญะแห่งปิตาธิปไตย ไปจนถึงการติดอยู่ในห้วงเวลาที่วนลูปไม่รู้จบ ซึ่งบางคนอาจตีความไปถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมือง
บอกเลยว่าซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้สับขาหลอกคนดูเพียงแค่บทเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงองค์ประกอบศิลป์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรมจาก CG บ้านที่ไม่มีอยู่จริง และโลเคชันทั้งหมดก็ไม่ได้ถ่ายทำที่พังงาสักฉากเดียว!
คอลัมน์ Draft Till Done ครั้งนี้ เราจึงชวน ‘ต้น-วุฒิดนัย อินทรเกษตร’ ผู้กำกับที่ลึกลับไม่แพ้ซีรีส์มาพูดคุยถึงเบื้องหลังกระบวนการทำงานของผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นนี้โดยฝีมือทีมงานคนไทย ไปจนถึงความตั้งใจที่อยากผลักดันและทลายกำแพงคอนเทนต์ไทยให้ไปไกลกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เล่นกับความคาดหวังคนดู
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของ ‘อย่ากลับบ้าน’ คือจังหวะการเดินเรื่องที่เหนือความคาดหมายในทุกตอน ใครจะไปคิดว่านี่คือความเก่งกาจในการกำกับซีรีส์เรื่องแรกของต้น ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการนึกเขียนอะไรสนุกๆ ในจินตนาการ จากหน้ากระดาษ 1 แผ่นสู่บท 100 กว่าหน้า!
“ช่วงโควิดไม่มีอะไรทำ ผมก็เลยเขียนบทขึ้นมา 1 หน้ากระดาษ เป็นฉากที่ว่าด้วยเด็กผู้หญิงคนหนึ่งตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วเจอผี เตียงก็ลอยขึ้น เด็กตกจากเตียงหนีผีเข้าไปหลบอยู่ในตู้เสื้อผ้าแล้วก็โดนดูดหายไป จุดประสงค์ตอนนั้นผมแค่อยากเขียนบทเพื่อให้พนักงานในบริษัทมีการบ้านคิดกันสนุกๆ แต่หลังจากนั้นก็รู้สึกอยากจะเอามาพัฒนาเป็นโปรเจกต์หนังจริงๆ จังๆ
“ผมใช้เวลาเขียนบททั้งหมด 2 ปีจากหน้ากระดาษ 1 แผ่นกลายเป็นบท 100 กว่าหน้า หลังจากนั้นก็ไปเสนอค่ายหนังในไทยแต่ก็เงียบไป ซึ่งก็เข้าใจได้ว่ามันอาจจะยากในแง่ของความเป็นหนัง แต่เราก็สามารถใช้ประโยชน์ตรงนี้มาเป็นรอยต่อแต่ละ episode ในรูปแบบของซีรีส์ได้ หลังจากนั้นก็ลองมาเสนอกับทาง Netflix ซึ่งเขาก็สนใจ
“คอนเซปต์ของเรื่องนี้คือการเปลี่ยน genre ไปเรื่อยๆ เราจะไม่ยึดติดอยู่กับ genre เดียว เปิดมาตอนแรกอาจจะเป็นหนังผี ดูไปเรื่อยๆ อาจจะเปลี่ยนเป็นหนังสืบสวน ลึกลับ ดราม่า หรือไซไฟ เพราะเราอยากจะพาคนดูไปสู่ทิศทางที่คาดไม่ถึง นี่คือความสนุกในแง่ของการเขียนบท และก็เป็นความท้าทายในแง่ของการเล่นกับความคาดหวังคนดูด้วย”
ตีแผ่ความเจ็บปวดของผู้หญิงและความเป็นแม่
อีกหนึ่งความน่าสนใจของเรื่องนี้คือแกนหลักจะถูกเล่าผ่านตัวละครผู้หญิงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร ‘วารี’ (รับบทโดยนุ่น วรนุช) แม่ที่พาลูกหนีเพราะถูกสามีทำร้ายร่างกาย ‘สารวัตรฟ้า’ (รับบทโดยแพร พิชชาภา) ผู้หญิงอุ้มท้องที่ต้องแข็งแกร่งเพื่อต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง และ ‘พนิดา’ (รับบทโดยซินดี้ สิรินยา) ผู้หญิงที่ต้องทำงานหนักเพื่อเป็นเสาหลักของครอบครัวจนป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบเพลง ‘ความทรงจำ’ ในตอนสุดท้ายเป็นการถ่ายทอดความเจ็บปวดของผู้หญิงที่ติดอยู่ในวังวนได้อย่างลงตัว
“นอกจากผมที่เป็นคนเขียนบท ผมก็จะมีพี่อัม (อัม-อมราพร แผ่นดินทอง) มาร่วมพัฒนาบทเพื่อเติมมุมมองบางอย่างในสายตาผู้หญิง รวมไปถึง background ตัวละครและรายละเอียดต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องด้วย
“ตอนเขียนบทใน sequence สุดท้ายที่เล่าว่าเด็กคนหนึ่งได้โตขึ้นมาเป็นตัวละครวารีในปัจจุบัน ผมอยากเล่าด้วยเพลง ‘ความทรงจำ’ เพราะมีท่อนที่ร้องว่า ‘อยู่ในช่วงเวลา จะนานจะช้ายังยืนที่เก่า’ ซึ่งมันคือคอนเซปต์ของเรื่องนี้ที่กำลังพูดถึงผู้หญิงที่ติดอยู่ในวังวน เราอยากเอามาทำใหม่ให้กลายเป็นเพลงเศร้า มีกลิ่นอายความหลอนนิดๆ และที่สำคัญต้องเป็นผู้หญิงร้อง ซึ่งตอนนั้นเราก็นึกถึงเสียงของน้องวี (วี-วิโอเลต วอเทียร์) ก็เลยชวนมาร้องเพลงประกอบซีรีส์เรื่องนี้”
สัญญะแห่งปิตาธิปไตย
นอกจากความตั้งใจของต้นที่อยากสะท้อนปัญหาสังคมของการที่ผู้หญิงถูกกดทับด้วย Toxic Masculinity แล้ว ยังสอดแทรกเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไว้อย่างแยบยลอีกด้วย
“สารภาพว่าบทในตอนแรกไม่ค่อยมีตัวละครผู้ชายดีๆ เลย พี่อัมก็กลัวว่ามันจะกลายเป็นหนังโคตรเฟมินิสต์หรือเปล่า ผมก็เลยเพิ่มตัวละครผู้ชายดีๆ เข้ามาทีหลังเพื่อทำให้เรื่องราวมีความสมดุลและกลมกล่อมมากขึ้น
“คนมักจะถามผมอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นผู้ชายทำไมถึงเลือกที่จะเล่าประเด็นของผู้หญิง ผมรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นคนดำก็สามารถพูดเรื่องการเหยียดผิวได้ เราไม่ต้องเป็น LGBTQ+ ก็สามารถพูดถึงเรื่องสมรสเท่าเทียมได้ เช่นเดียวกันในประเด็นของเฟมินิสต์ ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นเพศอะไร มันเป็นเรื่องของสังคมและคุณค่าของคน ยิ่งถ้าเราสามารถทำให้คนดูเข้าใจ message ที่ใส่เข้าไปในเนื้อเรื่องได้ นั่นคือความท้าทายและความน่าสนุกของคนทำ”
“ส่วนเหตุผลที่เลือกช่วงปี 2535 เพราะสคริปต์เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นปีนั้น เราจะเห็นว่าเด็ก 5 ขวบถูกดึงย้อนกลับไปเมื่อ 32 ปีที่แล้ว และโตมาจนมีลูก 5 ขวบในยุคปัจจุบัน นั่นก็คือปี 2567 เพราะฉะนั้นเราก็จะเลือกช่วงปีที่มันมีเหตุการณ์สำคัญ ส่วนเรื่องจะมีสัญญะทางการเมืองหรือเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองยังไงบ้าง ก็เป็นสิ่งที่คนดูต้องตีความกันเองต่อไป”
ทุกโลเคชันไม่มีอยู่จริง
หากใครดูจบแล้วสงสัยว่า ‘บ้านจารึกอนันต์’ แห่งนี้ตั้งอยู่ตรงไหนของพังงา หรืออยากจะตามหาโลเคชันเพื่อตามรอยหนัง ขอบอกว่าไม่ต้องคาดเดาให้เสียเวลา เพราะทุกโลเคชันถูกเซ็ตขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ตัวบ้าน ย่านเมืองเก่า สวนยางพารา หรือแม้กระทั่งโรงงานไฟฟ้าก็ไม่ได้ถ่ายทำที่พังงาสักฉากเดียว!
“บ้านหลังนี้ไม่มีจริง และเราก็ไม่ได้ไปถ่ายที่พังงาเลย บ้านถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ฉากภายในบ้านถูกเซ็ตขึ้นมาใหม่ที่โกดังแถวหนองจอก ไม่ว่าจะเป็นชั้น 1 ชั้น 2 ห้องใต้ดิน บันได หรือทางเดิน ส่วนอาคารภายนอกบ้านก็สร้างเปลือกอาคารขึ้นมาที่กลางผา จังหวัดนครนายก ส่วนฉากเมืองเก่าตะกั่วป่าก็ไปถ่ายที่จันทบุรี เพราะเป็นจังหวัดที่มีโลเคชันและตัวอาคารหน้าตาใกล้เคียงกับที่พังงามากที่สุด
“เหตุผลที่เราเลือกโลเคชันเป็นพังงา เพราะเป็นระยะทางที่เหมาะสมในแง่ของตัวละครที่ขับรถหนีออกไปจากกรุงเทพฯ ผมอยากให้บรรยากาศของบ้านหลังนี้อยู่ท่ามกลางป่าที่มีความชื้น ฝนตกทุกวัน มีความแฉะ เพื่อเสริมความลึกลับให้กับบรรยากาศของเรื่อง แต่ในแง่โปรดักชันก็ต้องยอมรับว่าการที่เราจะไปสร้างบ้านไกลถึงพังงามันต้องใช้เงินเยอะมาก เราก็เลยสร้างที่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ แต่เซ็ตภาพบรรยากาศให้มีความรู้สึกเหมือนอยู่ที่พังงาจริงๆ
“ในเรื่องนี้มีหลายอย่างมากที่คนดูอาจจะไม่รู้ว่ามันคือ CG อย่างเช่น ฉากภายนอกบ้านทั้งหลัง เราสร้างเปลือกอาคารที่ทะลุหน้าต่างเข้าไป ใยแมงมุมที่อยู่ตรงเครื่องปั่นไฟ แต่ฉากใหญ่ๆ ก็จะอยู่ใน episode 4 ที่เป็นโรงไฟฟ้า ทุกอย่างในนั้นถูกสร้างด้วย CG ซึ่งเป็นสิ่งที่เราประณีตกับมันพอสมควร เราทำเสร็จเป็น episode สุดท้ายเลย”
สเกตช์แปลนบ้านพร้อมบท
ด้วยความที่ต้นเรียนจบทางด้านสถาปนิกมาก่อน ทำให้ระหว่างที่เขียนบทเขาก็สเกตช์แปลนบ้านไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น ดีเทลภายในบ้านที่มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัว สีของตัวอาคาร และสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส (หรือ ชิโน-ยูโรเปียน) เป็นการผสมผสานการออกแบบกันระหว่างจีนและโปรตุเกส เพื่อทำให้ background ของตัวละครมีความสมจริงมากที่สุด
“ความพิเศษคือตัวละครพนิดาเป็นผู้ที่คิดค้นเครื่องมือนี้ได้ ดังนั้น background ของครอบครัวนี้ก็มีส่วนสำคัญว่าทำไมพนิดาถึงเป็นลูกครึ่ง ทำไมพนิดาถึงเป็นวิศวกรที่เก่ง หรือทำไมบ้านของพนิดาถึงเป็นแบบนี้ ทั้งหมดมันมีเพื่อสนับสนุนคาแรกเตอร์พนิดา
“พังงาเป็นจังหวัดที่มีคาแรกเตอร์ทางด้านสถาปัตยกรรมที่พิเศษ ดังนั้นบ้านจึงต้องมีคาแรกเตอร์ที่เฉพาะเจาะจง ผมอยากดีไซน์บ้านให้มีความเป็นชิโน-โปรตุกีส มีบรรยากาศความเป็นไม้สีเข้มๆ ปูนฉาบด้วยสีครีม ผมก็ปรึกษากับ Production Designer (แก่-ศราวุธ แก้วน้ำเย็น) หลังจากนั้นเขาก็จะไปลงดีเทลภายในบ้านว่าควรจะเป็นแบบไหน ทั้งสี รูปแบบ รวมไปถึงลักษณะของช่องหน้าต่างและบันได เพื่อสร้างบรรยากาศให้กับเนื้อเรื่อง
“แต่ในฐานะสถาปนิก ถ้าเราออกแบบบันไดแบบนี้ก็น่าจะโดนอาจารย์ด่า (หัวเราะ) เพราะเราก็ไม่ได้เอามาใช้ถูกหลักมากนัก แต่เพื่อความสวยงามทางภาพและเป็นสัญลักษณ์ความลึกลับบางอย่าง ถึงแม้ว่ามันจะขัดกับหลักออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดีก็ตาม“
Symbolic วงกลมและทรงกรวย
ด้วยความที่ต้นมีความสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์และทฤษฎีทางฟิสิกส์เป็นชีวิตจิตใจ หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าในเรื่องนี้ได้ซ่อน Symbolic และ Easter egg ทฤษฎีวนลูปและทับซ้อนของเวลาบางอย่างเพื่อให้เราไขปริศนาอย่างอ้อมๆ ไม่ว่าจะเป็น กระจกสะท้อนในลิฟต์ เครื่องย้อนเวลารูปทรงกรวย คราบฝุ่นควันวงกลม บันไดในบ้าน ไม้บรรทัดวาดลวดลาย (Spirograph) หรือแม้กระทั่งตัวเลขบนนาฬิกา 3.14 ซึ่งเป็นค่าประมาณของพาย (Pi) ใช้เป็นองค์ประกอบในการหาพื้นที่และเส้นรอบวงกลม แฝงนัยถึงความเป็นอนันต์และไม่มีจุดสิ้นสุดนั่นเอง
“การเขียนบท 100 กว่าหน้า แน่นอนว่ามันก็อาจจะมาจากหนังที่เราดูหรือหนังสือที่เราอ่าน ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบดูหนังต่างประเทศ ชอบอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ ดังนั้นการออกแบบซีนหรืออิลีเมนต์ต่างๆ ในเรื่องก็จะมีภาพที่เราเอามาอ้างอิงไว้ในบทด้วย
“ยกตัวอย่างเช่น เครื่องย้อนเวลาในห้องใต้ดินหรือคราบฝุ่นควันที่เกิดขึ้นในตู้เสื้อผ้าที่มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมสลับรูปทรงกรวยก็มาจากหนังสือของ สตีเฟน ฮอว์กิง ที่เราชอบอ่าน การเดินทางข้ามเวลาในแง่สเกลของจักรวาลที่พูดถึงการไปทำให้มิติของเวลาบิดงอทำให้เกิดเป็นรูปทรงกรวย ก็มาจากหนังที่หลายๆ คนอาจจะเคยเห็นในเรื่อง Interstellar หรือแม้กระทั่งทฤษฎีเชิงควอนตัม ผมหยิบเอาบางอย่างในทางฟิสิกส์มาดีไซน์ด้วย”
พาคอนเทนต์ไทยออกจาก Comfort Zone
ถึงแม้ว่าหลายๆ คนอาจจะคุ้นตาโครงเรื่องแนวนี้จากต่างประเทศกันมาบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่คือซีรีส์ไทยเรื่องแรกที่กล้านำมาตีความใหม่ในบริบทบ้านเรา ซึ่งเป็นความตั้งใจของต้นที่อยากผลักดันให้คอนเทนต์ไทยไปไกลยิ่งกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการนำเสนอบทที่ฉีกกรอบจากมิติเดิมๆ นั่นคือสิ่งที่ยิ่งเน้นย้ำว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก และทุนสร้างเป็นสิ่งสำคัญมากในการผลักดันอุตสาหกรรมแวดวงนี้
“จริงๆ ประเด็นเรื่องทำไมผีส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้หญิงก็เป็นประเด็นที่น่าถกเถียงพูดคุยกัน เพราะไม่ว่าชนชาติไหนหนังผีส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นผีผู้หญิง แต่ถ้ามองในแง่ว่าผีเป็นตัวละคร ผมรู้สึกว่าการที่ตัวละครหนึ่งจะส่งความรู้สึกหวาดกลัวให้กับคนดูได้ บางทีมันก็เป็นเรื่องของพลังหรือความเข้มข้นบางอย่างที่ผู้ชายไม่มี แต่ผมไม่ได้บอกว่าหนังผีน่ากลัวทุกเรื่องต้องเป็นผีผู้หญิงเสมอไป ถ้าเราสามารถทำให้ผีผู้ชายมีความน่ากลัวกว่าผีผู้หญิงได้ มันก็น่าจะเป็นอีก genre หนึ่งที่น่าสนใจ
“ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดในเรื่องนี้คือพาคนดูเปลี่ยน genre ไปเรื่อยๆ ผมไม่อยากให้คอนเทนต์ไทยติดอยู่ที่หนังไม่กี่แบบ อยากให้คอนเทนต์ไทยไปไกลยิ่งกว่าสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งบางทีผมก็คิดว่าอาจจะเป็นกำแพงของการพูดภาษาเดียวกันอยู่ก็ได้ เราอาจจะไม่เชื่อว่าคนที่พูดภาษาเดียวกับเราสามารถทำอะไรแบบนี้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทำหนังหรือคนทำคอนเทนต์ต้องต่อสู้กับมันเยอะมาก เพื่อจะทลายกำแพงเหล่านี้ของคนดูที่มีต่อคอนเทนต์ไทย
“แน่นอนว่าทุนสร้างก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญในคุณภาพของซีรีส์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าทุนไม่ถึงก็อาจจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ผู้กำกับต้องการ แต่ถ้าเรามีสคริปต์ที่ดี ทีมที่เก่ง มีทุนและเวลาที่เหมาะสม ผมมั่นใจว่าคนไทยเราสามารถพัฒนาคุณภาพของโปรดักชันให้ดีขึ้นได้ และถ้าคอนเทนต์ไทยสามารถประสบความสำเร็จได้นอกเหนือจากประเทศไทยไปอีก ก็จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมนี้มีเงินทุนและเวลามากขึ้นได้ สุดท้ายแล้วผมก็หวังว่าเราจะมีสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ในอนาคต”