เรารีบนัดคิวสัมภาษณ์อย่างดีใจทันทีที่รู้ว่า ‘View From The Bus Tour’ วงดนตรีโฟล์กอินดี้จากเชียงใหม่กำลังจะมาแสดงสดที่กรุงเทพฯ
ระยะทางเกือบ 700 กิโล ใช้เวลาเดินทางกว่า 9 โมง ทำให้การพบกันครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และคงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก เราจึงไม่พลาดพูดคุยกับ ‘เฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล’ นักร้องและนักแต่งเพลงของวง นอกเหนือจากการเป็นนักดนตรีแล้ว เขายังใช้เสียงของตัวเองขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ด้วย
My Hometown Project คือหนึ่งในนั้น โปรเจกต์ที่เขาและกลุ่มเพื่อนจะตระเวนแสดงดนตรีสดในเชียงใหม่หรือที่เขาเรียกว่า ‘บ้าน’ 10 โชว์ใน 1 เดือน ที่สำคัญคือทุกคนเข้าชมได้ฟรี
ที่ผ่านมาประเด็นค่าแรงขั้นต่ำของเชียงใหม่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง แม้จะเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ มีไลฟ์สไตล์ให้จับจ่ายใช้สอยตลอดทั้งวันไม่ต่างจากเมืองหลวง สวนทางกับค่าแรงที่ไม่ได้ขยับขึ้นตามความเจริญของเมือง
นอกเหนือจากการแสดงสด ในโปรเจกต์นี้จึงแทรกการพูดคุยเสวนากับเพื่อนๆ ในแวดวงศิลปะและวัฒนธรรม ระหว่างการแสดง พร้อมผลิตรายการออนไลน์ ‘My Hometown Session’ ที่บันทึกการแสดงสดและการพูดคุยประเด็นท้องถิ่นนิยมไว้ด้วย เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการกระจายอำนาจ และทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่คนทำงานสร้างสรรค์สามารถอยู่ได้จริง
เราเตรียมคำถามทุกเรื่องที่เราอยากรู้ จากมือกีตาร์ของวง Solitude Is Bliss สู่ View From The Bus Tour เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร อะไรที่ทำให้เขาต้องลุกขึ้นมาทำโปรเจกต์เพื่อบ้านเกิด เชียงใหม่เป็นเมืองดนตรีจริงไหม จนถึงเศษเสี้ยวความทรงจำใดบ้างที่ถูกเล่าออกมาผ่านดนตรีและงานที่เขาทำอยู่
เฟนเดอร์ตอบอย่างตั้งใจ พรั่งพรูออกมาเพื่อหวังว่าทุกอย่างจะครอบคลุมและทำให้เราเห็นภาพใหญ่เพียงพอ รู้ตัวอีกทีพระอาทิตย์ก็เริ่มคล้อยต่ำ ถึงเวลาที่ต้องบอกลา
สิ่งที่น่าเสียดายมีเพียงอย่างเดียวถ้าเราได้เชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น ระยะทางทางและการเดินทางไม่ใช่อุปสรรค เราคงได้เจอกันบ่อยกว่านี้
the middle of nowhere
จาก Solitude Is Bliss มาเป็น View From The Bus Tour ได้ยังไง
ความจริง View From The Bus Tour เกิดขึ้นก่อน
ช่วงแรกมันเป็นซาวนด์คลาวด์ เราหัดเขียนเพลงแล้วก็อยากจะหาที่เผยแพร่ ตอนนั้นยังไม่มีแอ็กเคานต์ยูทูบ เพราะเรายังไม่มีวิดีโอ
เราเริ่มเรกคอร์ดและเขียนเพลงครั้งแรกเป็นเดโม เมื่อประมาณปี 2012 น่าจะประมาณม.5 แล้ว 2013 เจอสมาชิกวง แล้วก็เริ่มทำ Solitude Is Bliss ขึ้นมา ถ้าบอกว่าอะไรเกิดก่อนก็น่าจะเป็น View From The Bus Tour เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ได้ทดลอง ฮีลลิ่ง เซฟโซนของตัวเอง
ชื่อ View From The Bus Tour มาจากไหน
เราเป็นคนที่ย้ายบ้านบ่อย ตอนเด็กๆ อยู่แม่สาย แล้วก็นั่งรถทัวร์ไปหาพ่อที่เป็นนักดนตรีอยู่ที่พะเยา หรือปีหนึ่งจะไปอยู่อุบลฯ หาตายาย ที่ย้ายไปอยู่อุบล เราก็จะได้นั่งรถทัวร์บ่อยๆ ก็ชอบมองข้างทาง มองไกลไปเรื่อยๆ แล้วความรู้สึกตอนนั้นมันเป็นความรู้สึกอิสระ
เพิ่งมานิยามตอนโตว่ามันเป็นความรู้สึกอิสระครั้งแรก ลืมไปว่าเราเคยทำอะไร เรากังวลเรื่องอะไร ตอนเด็กๆ เป็นเด็กมีความวิตกกังวล แต่ตอนที่นั่งรถทัวร์เราก็ลืมไปเลยว่าเราเป็นใคร ทำอะไร แค่มองไปตามวิวที่มองเห็นตอนนั้น
แล้วเวลาเราโตมา เขียนเพลง ทำงานอาร์ต มันจะทำให้เราย้อนกลับไปนึกถึงความรู้สึกนั้น เราก็เลยตั้งชื่อตามความรู้สึกนั้น คือวิวบนรถทัวร์
มองย้อนกลับไปถือเป็นความทรงจำที่ดีไหม
ดีที่สุดแล้วในตอนเด็ก บางคนความปลอดภัยของเขาอาจจะรู้สึกว่าได้อยู่ในห้อง หรืออยู่ในบ้าน แต่ของเราคือ the middle of nowhere (ความเดียวดายในที่ห่างไกล) ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เป็นคนที่ท่องเที่ยวขนาดนั้น
เรารู้สึกว่าการย้ายบ้านบ่อยๆ ทำให้เราเรียนรู้ความหลากหลายด้วยซ้ำ ก็เลยชินกับความไม่อยู่กับร่องกับรอย
หลายคนเข้าใจว่าคุณประจำอยู่กรุงเทพฯ
เออ ใช่ หลายคนจะเข้าใจผิด มีครั้งหนึ่ง ที่เราเล่นที่เชียงใหม่ เขาบอกว่าพี่จะมาเล่นที่เชียงใหม่เมื่อไหร่คะ เราบอกไปว่า ‘เราอยู่นี่ บ้านอยู่สันติธรรมนี่เอง’ (หัวเราะ)
เคยพิจารณาว่าอยากย้ายมาอยู่กรุงเทพ แต่พอถามทีละคนแล้วก็ไม่เห็นจะมีใครอยากมาสักคน คิดภาพไม่ออกว่าจะอยู่ยังไง หลายคนๆ ที่เป็นศิลปินมาจากเชียงใหม่ มาอยู่นี่เขาก็ต้องทำงานหนักพอสมควร อย่าง Polycat, NAP A LEAN หรือ electric.neon.lamp
เคยคิดไหมว่าถ้ามาอยู่ที่กรุงเทพเส้นทางดนตรีเราอาจจะไปได้ไกลกว่านี้
เคยคิดครับ มันก็คงประสบความสำเร็จในแง่ของเงินกับปริมาณงาน แต่ก็อาจจะตามใจตัวเองมากไม่ได้ อาจจะโดนกลืนไปบ้าง สุขภาพจิตน่าจะวุ่นวายกว่านี้
เราชอบใช้คำว่าอยู่กรุงเทพเงินมันเยอะ แต่เวลาน้อย เชียงใหม่คือเงินน้อยแต่เวลาเยอะ แต่ตอนนี้มันก็ถ่างกันเกินไปหน่อย ถ้ามันบาลานซ์หน่อยก็ดี เชียงใหม่มีการแข่งขันที่เฮลตี้มากหน่อยก็ดี ส่วนกรุงเทพก็ลดปริมาณคนแล้วก็ชิวบ้างก็ดี ก็เป็นภาพฝันของเรา
แต่ถ้าได้มาอยู่กรุงเทพฯ มันคงดีขึ้นแหละ แต่คงแลกมากับการอิกนอร์อะไรหลายอย่างมากๆ ถ้าสังเกตวงการบันเทิงบ้านเราจะไม่ค่อยพูดเรื่องซีเรียส แต่ชีวิตเรามันซีเรียสมาตลอด เราจะไปไต่เต้าเพื่อไม่พูดได้ยังไง เราต้องทำงานเพื่อจะได้พูดได้มากขึ้น มันไม่มีทางอื่นให้เราเลือกแล้ว
การกระจายอำนาจคือคำตอบ
โปรเจกต์ My hometown เริ่มขึ้นด้วยความรู้สึกแบบไหน
เราวาดภาพมาตลอดว่าอยากเติบโตที่เชียงใหม่
เราไม่ยอมย้ายไปกรุงเทพ เพราะเราอยากโตที่นี่ โดยที่ไม่รู้ความจริงว่าศักยภาพของเมือง บุคลากร และซีนดนตรีในเชียงใหม่มันสามารถซัพพอร์ตคนที่เพิ่งเกิดใหม่ได้ขนาดไหน
แต่ปรากฎว่ามันก็มีคนที่มีประสบการณ์แหละ แต่มันไม่มีคอมมิวนิตีที่เป็นระบบที่ดี กลายเป็นว่าเราต้องเรียนรู้สิ่งที่เราไม่รู้ด้วยตัวเอง ครูพักลักจำ และลองกันเอง
ถึงจุดหนึ่งเรารู้สึกว่าเราอยากเป็นผู้ใหญ่คนนั้นที่ไกด์เราได้ ชี้ทางได้ว่าจะเริ่มต้นได้ยังไง สิ่งที่ต้องทำในแง่ของเทคนิคคืออะไร หรือปัญหาที่ต้องเจอในแง่นามธรรมคืออะไร ไม่ต้องเป็นเหมือนเราที่ต้องงมหาทางเอาเอง
จุดเริ่มต้นมันไม่ได้ใหญ่เลย แต่มันถูกตีความและขยายขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะเราเอาเพื่อนสนิทอีกคนมาช่วย มันทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคอมมิวนิตี อาร์ตเชียงใหม่ ที่พยายามทำให้เกิด Ecosystem ขึ้นมา
โปรเจกต์นี้ทำอะไรบ้าง
เราเอาคอนเซปต์นักดนตรีที่อยากเติบโตในเมืองนี้ไปนั่งเล่าให้ร้านฟัง ว่าอยากทำ Live Session ร้านที่เราไปติดต่อส่วนใหญ่จะเป็นที่วงดนตรีสดเป็นจุดขาย อย่างร้านแจซ ร้านที่เน้นไลฟ์มิวสิค
ต่อมาคือจะทำยังไงให้คนเห็นเพอร์ฟอร์มานซ์โดยที่เราไม่ต้องพยายามไปขายที่จังหวัดอื่น? งั้นก็ทัวร์ในบ้านดิ เราจัดทัวร์ทั่วจังหวัดเชียงใหม่ดึงแขกให้เข้ามาดูเรา
เราบอกร้านที่จะไปแสดงว่าจะมีเซสชั่นทอล์ก พูดเรื่องเชียงใหม่นะ พูดเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่ง ร้านรวงหรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเมืองเขาเห็นภาพตรงกันอยู่แล้ว
แล้วเราก็เสนอว่าเรามีฐานแฟนเพลง มีตารางทัวร์ชัดเจน เราอยากจะขอหนึ่งช่วง ที่จะแสดงดนตรีปกติของเขามาวันหนึ่ง ส่วนเราก็โปรโมตผ่านโปสเตอร์กับโปรเจกต์ของเราเอง แต่เราไม่เก็บค่าบัตร เหมือนเราเป็นวงดนตรีประจำร้านนั่นแหละ เพื่อเล่นดนตรีสดให้คนที่เป็นแฟนเพลงในร้านนั้นอยู่แล้ว
เราเชื่อว่าถ้าคุณภาพของวงเราดีจริงๆ ยังไงมันก็จะทำงานปากต่อปาก เพื่อนต่างชาติ หรือเด็กมหาวิทยาลัยก็ชวนกันมาง่ายอยู่แล้ว ขอให้มีคนมาดู
คุณทำให้คนเข้าใจปัญหาโครงสร้างผ่านการแสดงดนตรีสดได้ยังไง
เวลาไปเล่นโฟล์กเดี่ยว เราจะเล่าที่มาระหว่างเพลงว่าตอนนั้นเราคิดอะไรอยู่ เพราะกลัวคนจะไม่เข้าใจ เพลงเรามันไม่ได้เล่าจริตเพลงไทยเท่าไหร่ จนเริ่มชินกับการเล่าเรื่อง แล้วกลายเป็นว่าคนฟังอินกับเพลงที่ฟังมากขึ้น อินกับประเด็นที่เราใส่เข้าไปด้วย ซึ่งเราก็ขยายเป็นภาพให้เห็นว่าปัญหาเหล่านี้มีที่มาจากโครงสร้างเลยนะ
พอเราใช้ดนตรีเป็นสื่อกลาง คนฟังก็จะเก็ต โดยที่เราไม่ต้องจู่ๆ ไปบอกว่า ฟังนะ นี่คือ การกระจายอำนาจ อันนั้นก็คงไม่ฟัง เพราะมันไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิตกูเลย จะฟังทำไม
หลายๆ คนจะบอกว่าไม่เคยเข้าใจชัดขนาดนี้มาก่อน พอมันเชื่อมโยงกับประสบการณ์แล้ว เรื่องระบบมันใกล้ตัวขนาดนี้ ไม่ได้แยกจากตัวเราออกไป พอทำ Live Session เราก็เลยให้เพื่อนๆ ที่เป็นนักเคลื่อนไหว ศิลปิน มาคุยคั่นระหว่างเพลง พอเอาทุกคนมาคุยก็จะกลายเป็นทอล์กแทน
ในโปรเจกต์คุณบอกว่าอยากสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ด้วย ระบบนี้มีหน้าตาเป็นยังไง
ระบบนี้เราพูดถึงคนทำงานสร้างสรรค์ ถ้าในเมืองนี้มันมีกิจกรรม หรือมีพื้นที่ตรงกลางเชื่อมต่อระหว่างคนอยากได้งานกับคนทำงาน และทำให้ผู้เชี่ยวชาญ (Specialist) ด้านต่างๆ สามารถกลับไปอยู่บ้านเกิดของตัวเองได้ก็คงจะดี
ในนิเวศสร้างสรรค์ก็จะมีศิลปิน ซัพพลายเออร์ สตูดิโอ ผู้ซื้อผู้ขายในตลาด ดีไซน์เนอร์ การจัดการ กฎหมาย มีเดีย และอื่นๆ มีเวิร์กช็อปด้วย เผื่อสร้างบุคลากรในอนาคต ถ้าเด็กรุ่นใหม่เขาอยากเป็นผู้จัดการก็จะได้เรียนรู้จากเวิร์กช็อปนี้
มันจำเป็นต้องมีให้ครบเพราะว่าเชื่อมโยงกันหมด โมเดลนี้เราก็เทียบกับพอร์ตแลนด์ หรือซิดนีย์ เขาก็จะมีผังแบบนี้อยู่เสมอ แต่ละหัวเขาจะแข็งแรงด้วยตัวของตัวเอง
เรื่องที่เราทำกับเพื่อนเรียกว่าพัฒนาเมืองโดยใช้ดนตรีเป็นศูนย์กลาง เพราะเชียงใหม่มันเป็นเมืองดนตรี แต่มันไม่ตรงปกมาหลายปีแล้ว เราเลยมาตั้งคำถามว่าเป็นเมืองดนตรีทั้งๆ ที่ระบบนิเวศมันไม่ได้ครบขนาดนั้นได้ยังไง เมื่อก่อนเราเข้าใจว่ามีแค่นักดนตรีกับนักท่องเที่ยวมาดูสองอันนี้ก็ครบแล้ว แต่พอมานั่งคิดจริงๆ ถึงพบว่ามันต้องมีอีกหลายขาถึงทำให้เมืองมันเติบโตจริงๆ
แล้วอะไรที่ทำให้เชียงใหม่ยังเป็นเมืองดนตรีที่แข็งแรงไม่ได้
คำตอบคือต้องกระจายอำนาจ
ระบบนิเวศสร้างสรรค์มันผูกกับความตระหนักรู้ของตัวเมืองด้วยว่ามันสามารถสร้างคุณค่าให้กับเมืองได้ ยกตัวอย่างญี่ปุ่น แต่ละเมืองเขาก็จะมีของดีของเขา เราก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นโมเดลที่เราก็ทำได้ เพราะทุกที่ก็มีของดีของตัวเอง ซึ่งมันสามารถเป็นตัวดึงดูดคนให้ไปอยู่อาศัย ไปเที่ยว ลงทุน หรือนั่งทำงานได้
แล้วทำไมถึงทำไม่ได้สักที ทั้งที่แต่ละจังหวัดก็มีคนที่มี Knowledge และ Knowhow คนรุ่นใหม่ที่เขารู้ว่าจะสร้างแบรนด์ดิ้งยังไง พวกนั้นเขาไปอยู่ไหนกันหมด เขาก็ไปอยู่กรุงเทพกัน เพราะว่าระบบมันยังเป็นศูนย์กลางอยู่
ดังนั้นการกระจายอำนาจ มันจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ หรือคนที่ทำงานสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะงานคราฟต์ งานดีไซน์ที่มันต้องผูกเรื่องเมืองสามารถกลับบ้านหรืออยู่ที่ๆ ตัวเองอยากอยู่ก็ได้
เรารู้สึกว่าจังหวัดอื่นก็สามารถทำได้เหมือนกัน ถ้าเมืองอันดับสองอย่างเชียงใหม่ทำโมเดลนี้ได้ จังหวัดอื่นก็ทำได้ อาจจะไม่ได้เอาดนตรีเป็นตัวชู หรือคอมมิวนิตีมันจะเล็กขนาดไหนก็ได้ ตามสเกลของจังหวัดเลย ถ้ามันมีคนทำงานเหล่านี้ครบถ้วน คุณก็มีของดีไปสู้กับคนอื่นได้
ณ ตอนนี้เราคงพูดได้แค่ปลายทางแหละ แต่เราจะรอให้รัฐมาซัพพอร์ตเราก่อนถึงจะทำได้ก็ไม่รู้ว่ามันเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำอะไรได้ ในตอนนี้เราก็ควรทำของเราก่อนแล้วค่อยทำให้เป็นอำนาจต่อรอง
นกตัวนึงส่งสายตา จ้องมองเข้ามาอยากพาฉันออกไป
คุณสนใจการเมืองตั้งแต่เริ่มทำดนตรีเลยไหม
เราเป็นคนไม่สนใจการเมืองด้วยตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่ามันน่าเบื่อแล้วก็ไม่น่าสนใจ แต่พอโตมาก็เริ่มเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราเจอเชียงใหม่
เราเริ่มอาชีพนักดนตรีไปได้แค่ปีเดียว รัฐประหารก็มา มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าไม่สนใจไม่ได้แล้ว ตอนนั้นเรารู้สึกว่าการรัฐประหารมันไม่น่าจะเวิร์ก มึงเพิ่งรัฐประหารเมื่อปี 2549 ปี 2557 มึงเอาอีกแล้วเหรอ แล้วมันน่ากลัวตรงที่ว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่เข้าใจ แถมเชียร์ด้วยซ้ำ มีรัฐประหารแล้ว เงียบกันซักที มันเหมือนเขี่ยปัญหาไว้ใต้พรมเลยอะ แล้วเมื่อไหร่จะแก้กันสักที
แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจ จนตาสว่างครั้งแรกปี 2559-2560 พบว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด ตอนนั้นก็ประจวบเหมาะหลายๆ อย่าง เรื่องความสัมพันธ์ ช่วงวัย ทรอม่าตอนเด็ก ต่างๆ นานา ระเบิดจนเรากลายเป็นซึมเศร้าขึ้นมา เราพบว่าเราไม่มีแรงหรือความเข้าใจใดๆ ที่ทำกับเรื่องพวกนี้ได้เลย
แล้วการเมืองเข้ามาอยู่ในดนตรีคุณได้ยังไง
หลังจากช่วงนั้นเราก็พยายามฮีลตัวเองและทำความเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในโลกนี้ ในประเทศนี้ สังคมนี้ เมืองที่เราอยู่
สิ่งที่เราทำได้มากที่สุดในการเปลี่ยนให้กลายเป็นโลกที่เราอยากอยู่จริงๆ ก็เริ่มมาจากสิ่งที่เราทำได้ดีและถนัดคืออะไร อย่างเมื่อก่อนตอนที่เริ่มอินการเมืองเราสนใจไปหมดเลย พูดทุกเรื่องที่มันไม่แฟร์ พูดจนไม่มีคนฟัง เพราะคนน่าจะได้ยินบ่อยแล้ว บวกกับท็อกซิกด้วย เพราะมีแต่การด่าอย่างเดียว
ตอนหลังเราเลือกที่จะพูดเรื่องที่เราเข้าใจมากที่สุด คือเรื่องที่เอามาโยงกับเรื่องดนตรีได้
พอเราทำแบบนี้กลายเป็นว่าคนเริ่มฟังเรามากขึ้น เพราะคนก็เห็นว่าเราน่าเชื่อและเราก็ทำได้จริงๆ แต่เรื่องอื่นเราก็ยังสนใจอยู่เหมือนเดิม
แต่ละเพลงของ View From The Bus Tour ถึงจะมีจุดเริ่มต้นจากเรื่องซีเรียส แต่ดนตรีก็ทำให้เรารู้สึกมีความหวังอยู่ มันเกิดมาจากอะไร
ส่วนตัวเราเองถ้าจะเลือกฟังอะไรสักอย่างเราก็อยากฟังอะไรที่มีความหวัง พอเราทำเพลง เราก็อยากทำเพลงแบบนั้นให้คนรู้สึกกับเรา
เพลงเรามันมาจากความอยากจะระบายความรู้สึกที่เราเคย Fucked Up มาก่อน แต่เราก็จะเล่าไปด้วยว่าที่เราผ่านมาได้ด้วยวิธีไหน หรืออันที่เรายังผ่านไม่ได้ สิ่งที่เป็นความหวัง หรือแสงเล็กๆ พวกนั้นมันมีหน้าตาเป็นยังไง อีกหน่อยมันอาจจะพัฒนาไป เช่น ดนตรีหม่น แต่เนื้อเพลงมีความหวัง
บางเพลงเรามีแค่ความหม่น แล้วมันก็จบลงไม่ได้เพราะมันไม่มีข้อสรุปของมันเอง ความจริงมันก็ทำได้นะ เช่น เพลงพังก์ ด่าสาด ไม่มีโซลูชั่นใดๆ ทั้งสิ้น
บางเพลงเราก็จบไม่ได้ ทิ้งไว้ 5 ปี เพราะเราอยู่ตรงนั้นก็ไม่มีคำตอบว่าจะทำไงดี จนเวลาผ่านไป จิตใจเรากลายเป็นโหมด Observer กับเรื่องราวปีเหล่านั้นมากขึ้น เราก็ใส่โซลูชั่นเหล่านั้นเข้าไปได้บ้างนิดนึง เช่น เพลงเสาไฟ มันก็แอบใส่ความหวังเข้าไปแหละว่า มีนกตัวหนึ่งส่งสายตาพาฉันออกไป คือแค่เมนชั่นถึงอะไรบางอย่างที่พาออกไปจากความรู้สึกเหล่านี้ มันก็ถือเป็นความหวังอันหนึ่งแล้ว
เชียงใหม่–จังหวัดส่งออกดนตรี
คุณเริ่มการทัวร์ในบ้านเกิดด้วยความรู้สึกที่ชอบการแสดงสดด้วยหรือเปล่า
ถ้าพูดถึงความกดดัน เราชอบแบบอัดในห้องมากกว่า คือเราเป็นอินโทรเวิร์ต สุดท้ายมันมีความอึดอัดในแง่การคอนโทรลบรรยากาศ หรือการสื่อสารของคนมันเป็นภาระอันหนักอึ้งของเราอยู่ดี
แต่ถึงเราจะชอบอัดในห้องมากกว่าก็จริง แต่พอเราปล่อยงานออกไปแล้ว ก็ยังอยากไปเล่นสดๆ ให้คนฟังอยู่ดี ก็เป็นสิ่งที่เราต้องรับมือ
เวลาแสดงสดต่อหน้าผู้คนคุณทำยังไง
กว่าจะเล่นสด เล่นกับคน ทอล์กได้ก็คงประมาณปีกว่า แต่เมื่อก่อนเล่นวงกับ Solitude Is Bliss มันไม่ต้องพูดไง ถ้าอายก็นัวๆ ไป งมกับดนตรีไป (หัวเราะ)
แต่พอเล่นโฟล์กสเปซมันเยอะมาก ตอนแรกๆ คือเชี่ย กูไม่ใช่คนที่จะพูดอะไรได้ ก็เลยเริ่มจากเล่าบางเพลงที่เราพอจะจำได้ แต่พอทำแบบนี้มันก็เริ่มมีแพทเทิร์น เราก็ต่อยอดไป กลายเป็นว่าเราเล่าเรื่องได้โอเคขึ้น เริ่มจะรีแลกซ์กับตัวเองบนเวทีแล้ว เริ่มละลายพฤติกรรมกับคนข้างล่างได้ เช่น เริ่มเล่นเพลงแรกก็บอกว่า ลาไปก่อนนะครับ มุกห้าบาท สิบบาทก็เล่น (หัวเราะ)
เรื่องอะไรที่ยังต้องได้รับการซัพพอร์ตอีกเพื่อทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองดนตรีแบบตรงปกสักที
อันดับแรกคือให้ความสำคัญกับพื้นที่เยาวชนเยอะขึ้นหน่อย ทำระบบเข้าถึงการใช้พื้นที่สาธารณะ เพื่อเล่นดนตรีเปิดหมวกจากทางราชการง่ายขึ้นมาหน่อย
ไม่รู้ที่อื่นเป็นยังไง แต่ที่เชียงใหม่เขาจัดให้นักดนตรีเปิดหมวกไปอยู่ในหมวดขอทาน ซึ่งแทนที่เราจะไปขอฝ่ายวัฒนธรรม แล้วก็ต้องไปติดต่อทางเทศบาลเพื่อเอาใบหมวดขอทานมาใช้พื้นที่อีกทีนึง โอ้โฮ มันซับซ้อน แล้วก็ช้ามาก
รวมไปถึงเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่สาธารณะ พื้นที่กลางวัน มันสำคัญต่อดนตรีสดมาก เพราะมันไม่จำกัดกลุ่มคนดู บางคนอยากดูดนตรีก็ไม่ได้อยากไปร้านเหล้า เด็กๆ ก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย
แค่ตอนนี้สังคมไม่ให้ความสำคัญกับเด็ก คิดว่าเด็กมีติ๊กต็อก มีโลกของเขาแล้ว แต่ความจริงแล้ว ตั้งแต่หลังโควิดมา เด็กต้องการ Physical Space มากๆ การแฮงก์เอาต์ที่เห็นกันต่อหน้าต่อตา เห็นแฟชั่นจริงๆ ได้กลิ่นจริงๆ เด็กต้องการมากๆ
เราว่าทุกฝ่ายต้องมองให้ไกลกว่านั้นอีกหน่อยด้วยการสร้างพื้นที่ส่วนรวม ถ้ามันแข็งแรงพอมันจะย้อนกลับมาหาเรา ทำให้ชีวิตประจำวัน อาชีพ และสุขภาพเราดีขึ้น เริ่มจากการที่ทุกคนต้องเห็นภาพใหญ่ด้วยกันก่อน
สุดท้ายโปรเจกต์ My Hometown หลังจากนี้จะเป็นยังไง
ตอนนี้เหลือแค่การเสนอวิธีแก้ปัญหาให้กับคอมมูนิตี้ดนตรี มีการคุยกัน เรื่องโปรเจกต์ของเชียงใหม่ออริจินอล ซึ่งจะทำเฟสติวัลไว้ต่อสู้กับโลว์ซีซีนของเชียงใหม่ ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาดูดนตรีสดจริงๆ ในฤดูนั้น ไม่ใช่แค่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ
เราอยากทำให้วงดนตรีในเชียงใหม่เป็นเหมือน House Brand คนสามารถเข้าถึงวงนี้ได้ง่ายมากขึ้น แล้วตัววงเองก็เอาขั้นต่ำเท่ากับค่าแรงหรือสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำนิดหน่อย แต่เน้นเล่นบ่อย คนก็จะเห็นกันมากขึ้น อันนี้คือเป็นคอนเซปต์ของ My Hometown เหมือนกัน
ประโยชน์ที่ได้กลับมามันเยอะมากคือวงได้แฟนเพลงเยอะขึ้น ร้านได้ลูกค้าเยอะขึ้น มันไม่ใช่แค่อีเวนต์เดียว แต่เป็นการแนะนำไปในตัวด้วย ถ้าเขาเห็นแล้วเขาติดใจ ก็อาจจะเพิ่มความเป็นไปได้ของการทำให้คึกคักมากขึ้นในอนาคต
พอแฟนเพลงที่เยอะขึ้นก็จะปากต่อปาก ได้โปรโมตไปฟรีๆ ทั้งภาพทั้งโพสต์ กระจายออกไป แล้วดีมานด์จากที่อื่นก็จะเยอะขึ้น แล้วถ้าที่อื่นอยากให้วงนั้นไปเล่นที่ของเขาก็ชาร์จราคาเต็มได้เลย เพราะมันเป็นดีมานด์ แล้วก็ทำให้ในบ้านเป็นที่สะดวกสบายที่สุด ถ้าคุณไม่จ้างเราไป คุณก็มาดูเราดิ ไม่ใช่แค่เราวงเดียวที่ได้ผลประโยชน์ แต่เป็นทั้งเมืองได้ผลประโยชน์ ก็เป็น Cycle ของระบบนิเวศที่เฮลตี้