กำกับการแสดง: อธิศ ธรรมรุจา
ดัดแปลงบทละคร: นินาท บุญโพธิ์ทอง และอธิศ ธรรมรุจา
สถานที่: Cho Why
CHENG-MENG คือผลงานละครเวทีรีสเตจของกลุ่ม A Theatre Unit จากครั้งที่เคยแสดงไปเมื่อปลายปี 2553 โดยนอกจากจะได้นักแสดงชุดใหม่ทั้งหมดแล้ว ยังมี ออม-อธิศ ธรรมรุจา หนึ่งในนักแสดงดั้งเดิมผันมาเป็นผู้กำกับละครในครั้งนี้ด้วย
เรื่องราวว่าด้วยครอบครัวหนึ่งที่อยู่ๆ อาเฮีย หัวเรือใหญ่ของบ้านก็หายตัวไปกว่า 6 เดือน ทำให้ซ้อหลี (รับบทโดย ณัฐญา นาคะเวช) ภรรยาของอาป๊า น้องชายอาเฮียที่เสียชีวิตไปนานแล้วต้องคอยดูแลคนในบ้านอย่างวิทย์ (รับบทโดย ธำรงค์ เดชธรรมธร) ลูกชายวัยว้าวุ่น และชุน (รับบทโดย จิรายุ พัชรศักดิ์มงคล) ลูกชายของอาเฮียที่เป็นสถาปนิกจบใหม่ไฟแรง โดยมี แปะ (รับบทโดย ขรรค์ชัย กลีบการะเกต) คนสนิทของครอบครัวคอยเข้ามาช่วยเหลืออยู่ตลอด แล้วในคืนที่ทุกคนกำลังเตรียมงานเช็งเม้ง ข่าวคราวเรื่องอาเฮียก็ทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป
ในฐานะที่พอมีเชื้อสายจีนอยู่บ้างและคุ้นเคยกับวันรวมญาติ นั่งพับกระดาษเงินกระดาษทองและเผากงเต๊กมาตั้งแต่เด็กๆ เราเลยค่อนข้างสนุกและเข้าใจบทสนทนาที่ตัวละครทั้งสี่โต้ตอบกันได้ง่ายหน่อย และแน่นอนว่าอดไม่ได้ที่จะเทียบตัวเองเข้ากับชุน เพราะด้วยวัยและบริบทที่ใกล้เคียงกว่า สารภาพอย่างตรงไปตรงมา เราคือผลผลิตของครอบครัวไทยเชื้อสายจีนที่แทบไม่เคยเข้าไปข้องเกี่ยวกับประเพณีการไหว้บรรพบุรุษ ทำไมต้องไหว้ด้วยสิ่งนี้ จำนวนเท่าไหนถึงพอดี ยิ่งกว่าทำไม่เป็น คือเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทั้งหมดที่ทำนั้นเพื่ออะไร?
ละครใช้ประเพณีจีนที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ สิ่งต้องทำ และสิ่งห้ามทำ โยงเข้าหาความหมายของคำว่า ‘ครอบครัว’ ที่ดีมีมาตรฐาน ภรรยาต้องคอยดูแลทำกับข้าวให้สามีและลูกๆ ลูกก็ควรตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือแล้วจบออกมาสืบทอดกิจการต่อจากที่บ้าน และอะไรอีกหลายอย่างที่บางครั้งก็กลายเป็นบ่วงแหที่บางคนไม่ชอบใจ ละครชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่แค่เด็กรุ่นลูกหลานหรอก แม้แต่กับซ้อหลีที่อยู่รับใช้อาเฮีย อาป๊า มานานกว่า 20 ปี ก็ไปไหนไม่ได้เมื่อก้าวเท้าเข้ามาอยู่ในบ้านเดียวกันแล้ว
ประเด็นของชุนน่าจะเป็นเรื่องใหญ่และน่าเอาใจช่วยที่สุดในเรื่อง เมื่อเด็กหนุ่มมีความฝันและสิ่งที่อยากทำซึ่งไม่ใช่การเดินตามรอยเดิมของครอบครัว-ที่ตอนนี้คนที่อยู่ก็แทบไม่มีสายสัมพันธ์ยึดโยงกับเขาอีกทั้งซ้อหลีและวิทย์-ไม่แปลกหากชุนจะรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิมากพอที่จะออกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ของตัวเอง เพื่อปล่อยวางจากธรรมเนียมประเพณีทุกอย่างที่เขาไม่ได้สร้างและอยากจดจำมัน
นอกจาก CHENG-MENG จะใช้พื้นที่ทั้งสองชั้นของ Cho Why ได้อย่างชาญฉลาดและสร้างความรู้สึกร่วมให้คนดูให้อินไปกับเรื่องราวได้ดีมากๆ แล้ว ฉากที่เราชอบที่สุดทั้งที่มันแสนธรรมดา คือฉากที่แปะนั่งลงคุยกับชุนเพื่อไล่อธิบายความหมายของประเพณีจีนต่างๆ ที่ชุนไม่เคยจำ และนำไปสู่การระเบิดสิ่งที่กดทับตัวชุนตลอดออกมา ในแง่การแสดง ยอมรับว่าช่วงแรกเราแอบติดขัดกับท่าทางและการใช้เสียงของ เจ จิรายุ ที่ยังฝืนๆ อยู่บ้าง แต่ในฉากดังกล่าว จิรายุกลับนำเสนอตัวละครชุนที่สับสนออกมาได้อย่างดีและลื่นไหล ทำให้เราเพิ่มคะแนนให้เขาโดยไม่รู้ตัวเลย
อีกส่วนสำคัญที่เข้ามาเพิ่มสีสันให้ละครได้มากคือความลับของซ้อหลีและวิทย์ที่เราอยากให้ไปลุ้นกันเองในเรื่องว่าคืออะไร แต่ฉากที่นักแสดงต่างวัยปะทะกันนั้นก็น่าจดจำไม่ต่างกัน ที่น่าปรบมือให้มากคือการแสดงของ อู ณัฐญา ที่เราสังเกตเห็นแววตา ท่าทาง และน้ำเสียงที่เปลี่ยนไปในแต่ละบทสนทนาอย่างเป็นธรรมชาติ ณัฐญาตอบรับกับปฏิกิริยาที่นักแสดงคนอื่นส่งมาได้ทันที และยังคงรักษาจังหวะคอเมดี้นิดๆ ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
บทสรุปของละครไม่เกินความคาดเดา แต่ต้องยอมรับว่าเราแอบเสียดายไม่น้อยที่ละครปูทางเลือกที่น่าสนใจให้ตัวละครมาแล้วแต่กลับไม่ใช้มันให้สุดทาง ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่สูญสิ้นความหมายและน่าชื่นชม อย่างน้อยที่สุด มันก็พาเราย้อนไปมองวันที่เราโคตรจะไม่เข้าใจครอบครัวเลยสักอย่าง และนั่งทำความเข้าใจมันอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านมาแล้ว
ครอบครัวเป็นบ่วงขนาดใหญ่ที่คล้องไม่ให้เราเดินไปไหน หรือเป็นที่ที่เดินทางเหนื่อยเมื่อไหร่ก็กลับมาพักได้เสมอ
คำตอบของแต่ละคนแตกต่างไปตามเงื่อนไขที่เราเลือกได้ และไม่ได้เลือกนั่นแหละ
CHENG-MENG จัดแสดงที่ Cho Why ซอยนานา ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 2 เมษายน 2560 รอบ 20.00 น. (เสาร์อาทิตย์ เพิ่มรอบ 16.00 น.) อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจอีเวนต์นะ