Ploy ซ่องกลางป่าในแบบสุนทรียสหสื่อ

ครั้งแรกที่ผู้เขียนทราบมาคร่าวๆ ว่าสารคดีเรื่อง Ploy (พลอย) ของประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ นั้นว่าด้วยผู้หญิงไทยคนหนึ่งที่ไปทำงานขายบริการทางเพศที่ประเทศสิงคโปร์ ก็เผลอทึกทักเอาเองว่ามันคงเป็นสารคดีประมาณ ‘ตามล่าหาความจริง’ หรือรายการของคุณกรุณา บัวคำศรี ที่ตามติดชีวิตของซับเจกต์ว่าเธอเป็นใคร มาจากไหน ทำไมถึงมาทำงานที่แดนไกล ชีวิตแต่ละวันของเธอทำอะไรบ้าง ประสบความลำบากยากเข็ญอย่างไร 

ทว่าสิ่งที่ผู้เขียนได้ประสบกับหนังเรื่อง Ploy คือการเริ่มต้นด้วยงานแต่งงานของครอบครัวหนึ่งในภาคอีสาน ไม่สามารถจับต้นชนปลายได้ว่าพลอยคือใคร อยู่ตรงไหนในพิธีรื่นเริงนี้ หรือคนเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับพลอย จากนั้นหนังก็เปลี่ยนสถานที่มายังภาคใต้ และข้ามไปยังสิงคโปร์ในที่สุด หากแต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไป มนุษย์ก็ยิ่งหายไปจากหนัง กลายเป็นภาพของตึก อาคาร รถไฟ ไซต์ก่อสร้าง สวนสาธารณะ และป่า ที่กลายเป็นตัวละครของเรื่อง

ผู้สร้างระบุว่า Ploy เป็น ‘สารคดีทดลอง’ ดังนั้นมันจึงเป็นหนังที่ไม่ได้ดูง่ายนักและอาจไม่ได้เข้าใจทุกอย่าง 100% แต่เมื่อลองศึกษาคอนเซ็ปต์ของหนังก็จะเริ่มปะติดปะต่อความน่าสนใจได้ โดยที่มาของ Ploy นั้นมาจากตอนหนึ่งในหนังสือชื่อ ‘คนไกลบ้าน’ ของพัฒนา กิติอาษา ที่รวบรวมบันทึกของเหล่าคนไทยที่ไปทำงานในสิงคโปร์ ผู้สร้างรู้สึกว่าตอนของพลอยนั้นมีอิมแพกต์กว่าเรื่องอื่น แต่เนื่องจากพลอยไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน (พลอยเป็นนามแฝง) ดังนั้นผู้สร้างจึงตัดสินใจทำหนังโดยไม่ได้สนใจจะติดต่อพลอยหรือตามหาว่าพลอยคือใคร ตอนนี้ทำอะไรอยู่ 

วิธีการที่เฉพาะตัว (และอาจเรียกว่าพิสดารก็ได้) คือผู้สร้างใช้วิธี ‘ตามรอย’ การเดินทางของพลอย เริ่มจากบ้านเกิดเธอที่บุรีรัมย์ ไปยังหาดใหญ่ ชายแดนมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ในที่สุด นี่เองเป็นเหตุผลที่หนังฉายภาพของภูมิทัศน์มากกว่าผู้คน ซึ่งผู้สร้างก็ไม่ได้ถ่ายวิวถ่ายบ้านอะไรไปเรื่อยเปื่อย บางฉากต้องมีการวางแผนล่วงหน้า อย่างเช่นช่วงพักในโรงแรมที่มาเลเซีย ผู้สร้างก็จงใจเลือกห้องที่มองเห็นวิวอีกฝั่งเป็นพื้นที่ของสิงคโปร์ 

อย่างไรก็ดี ตัวละครสำคัญที่สุดใน Ploy คือสวนสาธารณะและป่า เนื่องจากพลอยทำงานขายบริการในสวนสาธารณะในลักษณะตั้งเป็นกระโจมชั่วคราวหรือเรียกว่า ‘ซ่องกลางป่า’ (jungle brothel) ซึ่งต้องสารภาพว่าผู้เขียนเองมีโอกาสไปสิงคโปร์ราว 20 ครั้ง แต่ไม่เคยรับรู้ถึงเรื่องซ่องประเภทนี้มาก่อน เนื่องจากซ่องกลางป่ามักอยู่บริเวณชานเมืองอย่าง Woodlands หรือ Punggol ที่นักท่องเที่ยวคงไม่ได้ไปกันสักเท่าไร และยังมีเรื่องน่าสนใจว่าลูกค้าของซ่องกลางป่าก็มักเป็นแรงงานต่างด้าวอย่างชาวอินเดียหรือบังคลาเทศ ทำให้ซ่องกลางป่านี้มีความ ‘ชายขอบ’ ทั้งในแง่ตำแหน่งแห่งที่ ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ

พื้นที่ในสารคดีเรื่อง Ploy ยังสะท้อนถึงประเด็นทางการเมืองและสังคมได้หลายระดับ หนังมีการบันทึกภาพการรวมตัวสังสรรค์ของแรงงานต่างด้าวในวันอาทิตย์ (หรือ Picnic on Sunday) แต่จะสังเกตได้ว่าในขณะที่แรงงานในฮ่องกงจะรวมตัวกันวันอาทิตย์อย่างเปิดเผย อาทิ นั่งปูผ้าใบกันกลางทางเท้าหรือข้างสถานีรถไฟ แรงงานในสิงคโปร์จะรวมตัวกันแบบไม่โจ่งแจ้งเท่า มักไปรวมกันอยู่ใต้สะพานหรือสวนสาธารณะ ทว่าใน Ploy ก็มีฉากสำคัญที่แรงงานเหล่านี้ถูกยามไล่ออกจากสวน กลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่สวนสาธารณะอยู่ดีๆ ก็ ‘ไม่สาธารณะ’ สำหรับคนบางกลุ่ม

อีกลักษณะเด่นของ Ploy ที่ต้องกล่าวถึงคือความเป็นสหสื่อในตัวมันเอง ด้วยความที่ประพัทธ์มีพื้นฐานดั้งเดิมเป็นศิลปินวิดีโออาร์ต หนังจึงไม่ได้เล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา แต่ยังผสมผสานด้วยสื่ออันหลากหลาย (หนังเปิดตัวครั้งแรกที่เทศกาลเบอร์ลินในสาย Forum Expanded ซึ่งฉายหนังที่ ‘สำรวจการบรรจบกันระหว่างภาพยนตร์และสื่อทัศนศิลป์’) มีทั้งภาพถ่ายของผู้คนถูกทำเป็นฟิล์มสไลด์ขาวดำที่ให้ความรู้สึกแบบค้นคลังข้อมูล (archive) เนื่องจากเรื่องของพลอยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาสิบกว่าปีแล้ว, ใบไม้ที่เก็บจากสวนที่มีซ่องกลางป่า, ข่าวจากหนังสือพิมพ์ หรือเสียงอ่านบทความวิชาการ 

แต่สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจที่สุดคือการใช้เสียงพากย์ โดยเฉพาะฉากที่พลอยเล่าถึงประสบการณ์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล่วงละเมิดทางเพศบริเวณซ่องกลางป่า แทนที่จะใช้เสียงที่เป็นธรรมชาติ ผู้สร้างกลับเลือกเสียงที่เล่าออกมาเหมือนละครวิทยุ ส่งผลให้ผู้ชมทิ้งระยะห่างกับทั้งเรื่องเล่าและตัวละครพลอย รวมถึงได้พิจารณาความเจ็บปวดของเธอในฐานะผู้สังเกตการณ์มากขึ้น

รอบที่ผู้เขียนชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ในช่วง Q&A ผู้ชมท่านหนึ่งถามผู้สร้างว่าหนังเรื่อง Ploy คือการทำอะไรเพื่อคุณพลอยบ้าง ซึ่งโปรดิวเซอร์ตอบว่านั่นไม่ใช่จุดประสงค์ตั้งต้นของการสร้างหนังเรื่องนี้อยู่แล้ว และนั่นอาจไม่ใช่หน้าที่ของผู้สร้างภาพยนตร์ด้วย ซึ่งผู้เขียนก็ค่อนข้างเห็นด้วยและอาจเสริมเพิ่มเติมว่า เพียงแค่การบันทึกและบอกเล่าถึงซ่องกลางป่า สวนสวนธารณะ และแรงงานต่างด้าว ก็ถือว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำหน้าที่ของมันเองอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว 

ติดตามข่าวสารของภาพยนตร์เรื่อง Ploy ได้ที่ https://www.facebook.com/ploydocfilm/ และเช็กรอบฉายได้ที่ https://www.facebook.com/docclubandpub/

หมายเหตุ: ส่วนหนึ่งของบทความเรียบเรียงจากการเสวนา “การนำเสนอภาพธรรมชาติในภาพยนตร์และการเมืองเรื่องพื้นที่” โดย ไกรวุฒิ จุลพงศธร (โปรดิวเซอร์) และ คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เมื่อ 22 ธันวาคม 2564 ณ โรงภาพยนตร์ Doc Club & Pub.

AUTHOR