มนต์เสน่ห์หนังโทนสีลูกกวาดที่ยังไม่เสื่อมคลายของ Wes Anderson ใน The Wonderful Story of Henry Sugar

เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) ผู้กำกับหนังสีโทนลูกกวาดกลับมาสร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนๆ อีกครั้งในปีนี้ด้วยหนังสั้น 40 นาที ทำให้ทุกคนทึ่งไปกับความกล้าเล่น กล้าลองในหนังสั้นเรื่องใหม่ The Wonderful Story of Henry Sugar ที่เพิ่งเข้าระบบสตรีมมิงบนเน็ตฟลิกซ์

หลังจากได้เคยกำกับ Fantastic Mr. Fox (2009) ภาพยนตร์แอนิเมชันสต็อปโมชันที่ดัดแปลงจากหนังสือของ โรอาลด์ ดาห์ล นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชื่อดัง คราวนี้ เวส แอนเดอร์สัน หยิบเรื่องราวของ เฮนรี่ ชูการ์ (รับบทโดย เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์) เศรษฐีหนุ่มนักพนันที่ได้มาเจอรายงานทางการแพทย์ของคนที่สามารถมองทะลุสิ่งของได้ และฝึกฝนวิชานั้นเพื่อนำมาใช้กับการโกงไพ่  

แอนเดอร์สัน ใช้เวลาหลายปีในการตีความและหาวิธีเล่าเรื่องที่เหมาะกับ ‘Henry Sugar’ ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจยกบทบรรยายของผู้เขียนใส่ลงในปากของตัวละครอย่างโจ่งแจ้ง เขาให้ตัวละครเหล่านั้นอธิบายการกระทำของตัวเองผ่านกล้อง ผู้กำกับหนุ่มบอกกับ The New York Times ถึงเหตุผลที่เขาเลือกวิธีนี้ว่า “ผมไม่รู้ว่าจะทำยังไงถ้าจะต้องไม่มีเสียงบรรยายของเขา การเล่าเรื่องของเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมชอบเรื่องนี้” 

เราเลยได้เห็นวิธีการเล่าเรื่องของ ‘Henry Sugar’ แบบใหม่ และคงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าไม่ได้ความเก๋าจากผู้กำกับที่ตัดสินใจใช้การเล่าแบบละครเวทีแทบทั้งเรื่อง นักแสดงทุกคนต้องจำบทยาวๆ จนถึงบล็อกกิ้งสุดเป๊ะเมื่อต้องเปลี่ยนฉาก รวมไปถึงมุกตลกที่แทรกอยู่ตลอดเรื่อง

ช่วงแรกของภาพยนตร์พาให้เรารู้จักกับ ดาห์ล (รับบทโดย เรล์ฟ ไฟนส์) ผู้เขียนเรื่องนี้ เป็นคนเล่าจุดเริ่มต้นของเรื่องราวในห้องทำงานของตัวเอง ก่อนจะแนะนำให้เรารู้จักกับ เฮนรี ซึ่งนำพาเราไปรู้จักกับ หมอ แซด.แซด. แชตเตอร์จี ศัลยแพทย์ผู้บันทึกการรักษาของชายผู้มองเห็นทะลุสิ่งของ ผู้ที่พาเราไปรู้จักกับ อิมแดด หรือชายผู้มีพลังวิเศษอีกที

สิ่งที่เรายกให้เป็นความกล้าของผู้กำกับคือการที่เหล่าตัวละครพูดคำว่า “i said” “I cried” หรือ “said the man whose job it was to never forget a face” อย่างไม่ต้องปกปิด ซึ่งปกติเรามักจะได้เห็นเฉพาะในหนังสือเท่านั้น และคงไม่ได้ยินใครพูดออกมาเท่าไหร่ เนื่องจากเราคงไม่จำเป็นต้องอธิบายสิ่งที่เราเห็นอยู่แล้ว และนั่นก็เป็นความกวนเล็กๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยบทพูดยาวๆ ดูไม่น่าเบื่อขนาดนั้นคือฉากหลังที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถูกออกแบบให้เหมือนกับละครเวที เราจะเห็นทั้งตัวละครที่เป็นคนเปลี่ยนฉากเองไปมา ภาพเพนต์สีสันสไตล์ยุค 70s นอกจากนี้เรายังเห็นเทคนิคที่ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่กางออกมาให้เราเห็นจะๆ เช่น ฉากลอยตัวของเฮนรี ใช้วิธีนั่งบนกระจกสะท้อน หรือฉากที่เราชอบมากที่สุดคงเป็นซีน X-ray ที่นักแสดงต้องกะจังหวะให้ตรงกับกราฟิกในเรื่อง

แม้สุดท้ายแล้วเรื่องราวของ เฮนรี ชูการ์ แทบไม่ต่างอะไรไปจากบทประพันธ์เดิม แต่เมื่อมาอยู่ในมือของผู้กำกับสไตล์จัดจ้าน ก็เรียกได้ว่าเหมือนเราได้แว่นสายตาอันใหม่ที่ทำให้เราได้เห็นสิ่งเดิมในมิติใหม่ แถมยังเต็มอิ่มตลอดทั้ง 40 นาที ขณะเดียวกันท้ายที่สุดหนังก็ประสบความสำเร็จที่ชวนให้คนดูเชื่อได้ว่าเรื่องราวของ เฮนรี่ ชูการ์ อาจจะเป็นเรื่องจริงขึ้นมาก็ได้ แม้จะเล่าด้วยวิธีที่ห่างไกลจากความเป็นจริงมากก็ตาม

ก่อนหน้านี้ ‘Henry Sugar’ ถูกฉายเปิดตัวในเทศกาลหนัง Venice International Film Festival ปลายเดือนสิงหาคม แถมยังถือเป็นเรื่องแรกของในโปรเจกต์ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงของดาห์ลจาก Netflix หลังจากที่บริษัทสตรีมมิงเจ้ายักษ์เพิ่งซื้อบริษัท Roald Dahl Story Company เมื่อปี 2021 และได้รับสิทธิ์ดัดแปลงเรื่องราวทั้งหมดของผู้เขียนไป ปัจจุบันได้มีการเปิดเผยแล้วว่าจะมีเรื่องราวจากบทประพันธ์ของ โรอาลด์ ดาห์ล อีก 3 เรื่องตามมา ตลอดเดือนกันยายนนี้ คือ The Swan Thursday (28 กันยายน) The Rat Catcher Friday (29 กันยายน) และ Poison Saturday (30 กันยายน) 

AUTHOR