Beef (2023) ซีรีส์การแก้แค้นที่ว่าด้วยเรื่องราวของคนแตกสสลายที่ต้องมาทำร้ายกันเอง

“ไม่เป็นไร” หลายคนอาจใช้คำนี้เพื่อบอกว่าเราไม่ถือโทษกับสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แม้มันจะทำร้ายจิตใจเรามากน้อยขนาดไหน และคำนี้ก็เหมือนใบอนุญาตที่คอยบอกให้เราแกล้งทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เคยรู้สึกไหมว่าเรามักไม่แสดงให้คนอื่นเห็นว่าเรารู้สึกหงุดหงิดหรือโมโห คำว่าไม่เป็นไรก็อาจถูกหยิบมาใช้ในสถานการณ์แบบนี้ แง่หนึ่งมันอาจหมายถึงการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ แต่เราเคยตั้งคำถามไหมว่าแล้วจุดจบของอารมณ์ขุ่นมัวนั้นไปอยู่ที่ไหน เราได้ปล่อยมันไปจริงๆ หรือมันเพียงแค่ถูกเก็บในส่วนลึกที่สุดที่รอวันปะทุออกมาเมื่อไหร่ก็ได้

Beef (2023) เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่พาเราไปดูว่าภายใต้ใบหน้าที่ยิ้มแย้มของชาวเอเชีย-อเมริกันในเรื่องต้องเก็บความรู้สึกไว้มากขนาดไหน และเมื่อมันมีโอกาสได้เผยอารมณ์ที่แท้จริงสักครั้งมันสร้างความวุ่นวายได้ใหญ่โตอย่างที่หลายคนนึกไม่ถึง

เรื่องราวเริ่มต้นบนลานจอดรถของซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่ แดนนี โช (รับบทโดย Steven Yeun) กำลังถอยหลังก็มีรถ SUV สุดหรูสีขาว เบื้องหลังพวงมาลัยคือ เอมี เหลา (รับบทโดย Ali Wong) ขับมาตัดหลังจนเขาเกือบชน เสียงแตรที่บอกให้ระวังดังยาวหลายวินาที พร้อมกับนิ้วกลางจากรถหรู ทำให้แดนนีหมดความอดทน แล้วการไล่ล่าระหว่างรถกระบะสีแดงกับรถ SUV สุดหรู และการมหากาพย์การแก้แค้นระหว่างคนแปลกหน้าก็เริ่มต้นขึ้น

มินิซีรีส์จากสตูดิโอหนังสุดอินดี้ A24 ที่จับมือกับ Netflix มีทั้งหมด 10 ตอน แต่ละอีพีพาเราไปพบกับเรื่องราววายป่วงที่ค่อยๆ ใหญ่โตขึ้น เพียงเพราะจุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างการหัวร้อนบนถนน ก่อนจบลงด้วยการเผชิญหน้าและยอมรับกับตัวตนที่ดำมืดในจิตใจตัวเอง

1

Beef ผลงานการเขียนบทและ show runner ของ อี ซองจิน (Lee Sung Jin) เคยฝากฝีมือการเขียนซีรีส์ที่ว่าด้วยความโดดเดี่ยวของตัวละครไว้หลายเรื่อง เช่น Dave (2021) Undone (2019 – 2022) ในฐานะโปรดิวเซอร์ จนถึง Tuca & Bertie (2019) ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เขาได้เจอกับ สตีเวน ยอน และ อาลี หว่อง ที่มาพากย์เสียงให้กับแอนิเมชันเรื่องนี้ 

จากแอนิเมชัน Tuca & Bertie เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเห็นว่านักแสดงนำทั้งคู่สามารถเป็นตัวละครหลักในเรื่องได้อย่างดี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตัวละคร ‘เอมี เหลา’ ถูกวางตัวให้เป็นชายผิวขาวแต่งตัวเนี้ยบ แต่เพราะเขาคิดว่าการเขียนบทให้เป็นคนเอเชียน่าจะเป็นสิ่งที่เขาถนัดมากกว่า แผนการนั้นเลยถูกพับเก็บไป

ที่ผ่านมาในช่วงปี 1980-1990 ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นนักแสดงชาวเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเป็นเพียงแค่ตัวละครรองท่ามกลางกลุ่มคนขาวเพื่อสร้างสีสันเท่านั้น จนในช่วงหลังนี้ที่เริ่มมีนักแสดงชาวเอเชีย-อเมริกัน หรือ เอเชีย-แคนาเดียนมากขึ้น 

อี ซองจิน ได้นำเรื่องราวภายในจิตใจของคนอพยพรุ่นสองที่เริ่มรับทั้ง 2 วัฒนธรรมระหว่างเอเชียนและอเมริกัน เราจะเห็นว่าตัวละครเล่นบาสเก็ตบอลหรือฟังเพลงฮิปฮอป แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีวัฒนธรรมของชาวเอเชียผสมอยู่ ตัวละครเอเชียนเหล่านี้จึงติดอยู่ระหว่างวัฒนธรรม ไม่ใช่ทั้งคนอเมริกันแบบเต็มตัว จะเรียกว่าเป็นคนเอเชียก็ไม่เต็มปาก

ในอีพีแรกๆ ซีรีส์ไม่ได้ให้ข้อมูลกับเรามากนัก แต่เหตุการณ์การปะทะกันบนถนนกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้รู้จักกับตัวละครต่างๆ มากขึ้น อย่าง แดนนี โช ชายหนุ่มผู้รับเหมาตกอับ เขาแบกรับความคาดหวังและความกดดันในการเป็นลูกชายคนโตไว้ เขาใช้ชีวิตแต่ละวันกับการหาเงินเพื่อมาซื้อที่ดินสำหรับสร้างบ้าน เพื่อรับพ่อแม่ที่ทำงานใช้หนี้อยู่เกาหลีกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง 

เขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวแต่ยังมี พอล (รับบทโดย Young Mazino) น้องชายของแดนนี แม้จะเหนือกว่าพี่ชายทั้งความคิดและร่างกายที่สมส่วน แต่เขาก็ยังถูกพี่ชายข่มอยู่เสมอ กลายเป็นน้องเล็กในสังคมเอเชียทำให้เขาต้องยอมพี่ๆ (อย่างไม่เต็มใจ) โดยเฉพาะกับ ไอแซค (David Choe) ลูกพี่ลูกน้องของแดนนีและพอลที่เพิ่งออกจากคุกเพราะความอยากร่ำรวยแม้ว่าจะต้องทำผิดกฎหมายก็ตาม  

ขณะที่ เอมี เหลา เจ้าของธุรกิจร้านขายต้นไม้ แม้ภายนอกจะดูเพียบพร้อม เธอมีทั้งฐานะ มีบ้านหลังโต สามีที่อบอุ่น และลูกสาวที่น่ารัก แต่ลึกๆ แล้วความสัมพันธ์ของเธอกับ จอร์จ (Joseph Lee) สามีชาวญี่ปุ่น-อเมริกัน ดูเหมือนไม่เข้าใจกันเท่าไหร่ เพราะจอร์จคือลูกชายของศิลปินชื่อดังที่มองโลกในแง่ดี เขาจึงมักบอกให้เธอลืมเรื่องเล็กๆ ไป แม้จะเจอเรื่องน่าหงุดหงิดแค่ไหนก็ตาม จนเป็นปัญหาที่ทำให้เธอรู้สึกว่าต้องปกปิดอารมณ์ที่แท้จริงเอาไว้ 

นอกจากนี้ เอมีผู้เป็นแม่และผู้หญิงเชื้อสายเอเชีย ยังต้องคอยรองรับอารมณ์ของคนรอบตัวและเสแสร้งเหมือนว่าทุกอย่างโอเคทำให้เธอรู้สึกว่างเปล่าและโดดเดี่ยว ทั้งการต้องคอยเอาใจ จอร์แดน (Maria Bello) คนรวยผิวขาวที่บางครั้งก็เหยียดเธอเหมือนไม่ตั้งใจ แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ต้องยิ้มรับเพราะต้องการให้จอร์แดนยอมตกลงเซ็นสัญญาซื้อธุรกิจ จนถึงแม่สามีที่มักบอกว่าเธอต้องทำอย่างไร หรือแม้แต่ครอบครัวที่เธอเติบโตมาก็สร้างบาดแผลขนาดใหญ่ให้เธอ กลายเป็นเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิต (ที่ผิดพลาด) ของเธอหลายครั้ง  

2

หลังจากที่ดูเราพบว่าเรื่องนี้ห่างไกลจากการขำจนเสียงดังลั่น แต่เป็นการขำหึหึบนความตลกร้าย และหลายครั้งก็ทำเอาเราเศร้าไปกับสิ่งที่ตัวละครต้องเจอ ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเว้าแหว่งในจิตใจที่ตัวละครต้องเผชิญก็ไม่ต่างไปจากเราเช่นกัน บางครั้งเราอาจเผลอทำร้ายคนรอบข้างเพราะอารมณ์โกรธที่เราเก็บกดไว้

แต่ละตอนของซีรีส์พาเราไปเจอกับเรื่องราววายป่วงที่ค่อยๆ ใหญ่โตขึ้น เพียงเพราะจุดเริ่มต้นเล็กๆ ก่อนพาเราเข้าไปทำความรู้จักกับสิ่งที่อยู่ภายใต้จิตใจของแดนนีและเอมี ที่ฉายพร้อมไปกับการแก้แค้นที่ดุเดือดไม่ต่างจากการทำสงคราม ก่อนที่สุดท้ายก็ทิ้งไว้เพียงเศษซากความเสียหายที่ทิ้งไว้กับคนรอบตัว

สิ่งที่เราชอบที่สุดคงจะเป็นตัวละครมีมิติและมีพัฒนาการตลอดทั้งเรื่อง ความน่าสนใจคือการฉายภาพของคนเอเชียในสังคมอเมริกัน ที่เป็นจุดทำให้เรื่องราวสามารถลุกลามใหญ่โตได้ อย่างการพยายามไม่แสดงอารมณ์โกรธออกมาอย่างตรงไปตรงมา กลับกันตัวละครในเรื่องมักแสดงความรู้สึกที่แท้จริงเมื่ออยู่คนเดียว เหมือนอย่างเอมีที่มีความลับเกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์ที่ไม่ได้บอกใคร หรือแดนนีที่แบกรับความกดดันไว้จนเคยมีความคิดอยากจบชีวิตตัวเองด้วยการรมควัน

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเลี้ยงดูและวัฒนธรรมของเอเชียที่ยึดถึงเกียรติยศและการรวมกลุ่ม (collectivism) ค่อนข้างสูง ทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสได้แสดงความเครียดและความกังวล เพราะความกลัวที่จะถูกตัดสิน ไม่ใช่แค่กับตัวเองแต่ครอบครัวของพวกเขาด้วย กลายเป็นบาดแผลและส่งผลต่อสุขภาพจิต อย่างที่เอมีเคยบอกกับนักจิตบำบัดของเธอว่า “ฉันคิดว่าการโตมากับพ่อแม่สอนให้ฉันเก็บกดความรู้สึกไว้”

ขณะที่ Beef เลือกฉายภาพของคนเอเชียอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป ด้วยการเปิดเปลือยอารมณ์หงุดหงิด หัวร้อน และบ้าคลั่งไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป แทนที่จะเป็นการเหมารวมว่าคนเอเชียส่วนใหญ่ต้องคอยก้มหน้ายอมรับชะตากรรม การต้องนิ่งสงบ หรือถูกคาดหวังให้แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน ตรงตามความหมายของชื่อเรื่องซึ่งเป็นแสลงมีความหมายว่าการไปมีเรื่องทะเลาะกับคนอื่น

3

Beef จึงเป็นเหมือนซีรีส์ที่ว่าด้วยการเผชิญหน้ากับความจริงที่ต้องคอยกดมันไว้ 

ผ่านการแก้แค้นของแดนนีและเอมี ที่ทั้งคู่ต่างมีเรื่องราวที่ต้องแบกรับไว้หนักอึ้งพอๆ กัน ทั้งคู่เหมือนจะมีความสุขขึ้นทุกครั้งที่ได้แก้แค้นแต่ละฝ่ายหรือได้ระเบิดอารมณ์ใส่กัน 

อีกทางหนึ่งก็เหมือนว่าทั้งคู่ได้เข้าใจกันมากขึ้นด้วย กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง แม้ไม่ได้อยู่ในรูปแบบรักโรแมนติก แต่การเห็นตัวตนของกันและกันก็อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เรารู้จักใครสักคนในด้านที่เป็นมนุษย์มากที่สุด

อี ซองจิน พูดถึงความคิดที่อยู่ในซีรีส์เรื่องนี้ไว้ว่า “เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความรู้สึกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับที่ใด เพราะมีสิ่งที่เราไม่สามารถบอกใครได้ หรือสิ่งที่เราอายเกินไปที่จะยอมรับ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน สามารถนำไปสู่การแยกตัวและความโดดเดี่ยวได้ มีบางอย่างที่ปลดปล่อยความรู้สึกนั้นของ 2 ตัวละครหลักได้ คนที่ได้เห็นด้านที่เลวร้ายที่สุดของแต่ละคน ทั้งเรื่องแย่ๆ ที่พวกเขาทำ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยังอยู่ตรงนั้นด้วยกัน เหมือนอย่างที่ Ram Dass เคยพูดไว้ว่า “We’re all just walking each other home.” (หมายถึงการที่แต่ละคนล้วนกำลังเดินทาง (อีกแง่หนึ่งอาจหมายถึงความตายก็ได้) แต่ระหว่างทางนั้นเราได้สร้างความสัมพันธ์กับคนรอบตัว)” 

บางทีการแสดงอารมณ์ออกไปอย่างตรงไปตรงมาแม้เป็นด้านลบอาจช่วยทำให้คนอื่นรับรู้ความต้องการก็จริง แต่อารมณ์โมโหและโกรธเกรี้ยวไม่อาจสื่อสารความเปราะบางที่อยู่ในใจเราได้ทั้งหมด หลังจากที่คุณได้ปลดปล่อยอารมณ์ทั้งหมดแล้ว ขั้นต่อไปที่ช่วยเยียวยาบาดแผลทางจิตใจอาจเป็นเพียงแค่การพูดมันออกมาให้อีกฝ่ายรับรู้ และรับฟังเรื่องราวนั้นด้วยความยินดี รวมถึงการเรียนรู้ที่จะปล่อยวางความอัดอั้นเหล่านั้น ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อให้ตัวเองได้มีอิสระเท่านั้นเอง

อ้างอิง

https://www.popsugar.com/entertainment/beef-netflix-asian-american-masculinity-49144155

https://www.glamour.com/story/ali-wong-beef-character-was-originally-envisioned-as-a-white-man 

https://asianyouthact.org/2021/01/20/academic-pressures-on-asian-students/

https://www.youtube.com/watch?v=KZ8J4f63rkg&t=319s

AUTHOR