Analogift ศิลปินกระดาษผู้หลงใหลโลกแอนะล็อกและคู่สีแบบหนังเวส แอนเดอร์สัน

ในโลกของคนทั่วไป กระดาษอาจเป็นเพียงวัสดุสำหรับขีดเขียนที่ไม่มีอะไรพิเศษนัก แต่ในโลกของ Analogift หรือ กิฟท์–จิตติมน มันทรานนท์ อดีตสถาปนิกที่หันมาเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์โมเดลกระดาษ กระดาษเป็นเหมือนประตูวิเศษที่พาเธอก้าวสู่โลกแห่งจินตนาการได้ไม่สิ้นสุด

กระดาษของกิฟท์กลายเป็นรองเท้าของฟอร์เรสต์ ตัวละครจากภาพยนตร์ในตำนานอย่าง Forrest Gump ได้เห็นสาวน้อย Amélie กับโฟโต้บูทจากภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน และเป็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เชื่อเถอะว่าเห็นแล้วจะทำให้คุณอยากลุกขึ้นมาทำโมเดลกระดาษขนาดจิ๋วด้วยมือของตัวเองสักครั้ง

กิฟท์บอกกับเราว่าความสนุกของการทำโมเดลกระดาษคือการได้จับคู่สีสันใหม่ๆ และได้จินตนาการว่าจุดเล็กๆ ในเรื่องราวต่างๆ นั้นมีเรื่องเล่ายังไง แต่กระบวนการทำงานของกิฟท์ที่ลงลึกกว่านี้จะเป็นยังไง เบื้องหลังโมเดลกระดาษต่างๆ ต่อไปนี้มีคำตอบ

ลองหยิบกระดาษที่อยู่ใกล้ๆ มาสัก 1 แผ่น แล้วมาสร้างโมเดลจิ๋วของตัวเองไปพร้อมกับบทสนทนาระหว่างเราและกิฟท์ไปพร้อมๆ กัน

ปลูกต้นกระดาษในดวงใจ

ก่อนจะรับบทเป็นศิลปินผู้หลงใหลการสร้างโมเดลกระดาษ กิฟท์เติบโตในบ้านที่มีคุณพ่อเป็นครูสอนศิลปะ การวาดรูปก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่จำความได้ ในช่วงเวลาเดียวกัน ความหลงใหลในกระดาษก็เริ่มปลูกต้นรักในหัวใจเช่นกัน

“สมัยประถมเราค้นเจอสมุดสอนพับโอริกามิของแม่ เราเลยเริ่มพับกระดาษเป็นตั้งแต่ตอนนั้น หลังจากนั้นเมื่อมีโอกาสไปเที่ยวที่ต่างๆ เช่น ร้านขายเครื่องเขียน นิทรรศการ ก็จะไปซื้อกระดาษที่ขายในงานมาเก็บสะสมไว้โดยที่ไม่รู้เหมือนกันว่าซื้อมาทำอะไร แค่รู้สึกว่าสีและเนื้อสัมผัสมันสวยและแตกต่างเท่านั้น” กิฟท์ย้อนเล่าถึงความทรงจำวัยเด็กให้ฟัง

งานกระดาษนั้นน่าหลงใหลก็จริง แต่เพราะยังไม่เห็นทางไปในตอนนั้น เมื่อต้องเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัย เธอจึงเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงนี้เองที่เธอห่างหายจากกระดาษไปวนเวียนอยู่กับการสร้างโมเดลอาคารจากวัสดุอื่นๆ กระทั่งจบการศึกษาและเผชิญหน้ากับงานสถาปนิกที่เต็มไปด้วยความกดดันจริงๆ เธอจึงกลับมามองกระดาษที่สะสมไว้อีกครั้ง

“เราลองเอากระดาษที่เก็บไว้มาทำเป็นโมเดลจิ๋วโดยมีอุปกรณ์แค่แผ่นรองตัด คัตเตอร์ และดินสอ เริ่มจากวาดรูปโต๊ะ เก้าอี้ หรือของที่อยากทำเป็นรูปแบบสองมิติ จากนั้นก็จินตนาการอิงกับการพับกล่อง เพื่อวาดเทมเพลตสิ่งของเหล่านั้นแล้วจึงตัดและพับให้เป็นรูปทรงสามมิติ 

“แม้จะต่างจากการขึ้นโมเดลของสถาปนิกที่จะทำโมเดลอาคารทีละด้านๆ แล้วค่อยนำกาวมาทาให้ติดกัน แต่มุมมองตรงนั้นก็ช่วยให้จินตนาการภาพได้ง่ายขึ้น” กิฟท์อธิบายถึงขั้นตอนการทำให้ฟัง

Rear Window

งานชิ้นแรกที่ทำสำเร็จคือ Rear Window เป็นโมเดลกระดาษสีขาว-ดำที่ได้แรงบันดาลใจจากฉากหนึ่งในภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน ทำขึ้นโดยใช้กระดาษทำเบเกอรีและกระดาษขาวเทามาสร้างเป็นชิ้นงาน แล้วจึงนำมาจัดแสงถ่ายรูป ทำเป็นงานสต็อปโมชั่นอีกที

“ช่วงแรกๆ ก็ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ ผ่านการดูยูทูบและอินเทอร์เน็ต ทำจริงจังบ้าง ไม่จริงจังบ้าง แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือตอนที่คุณยายเสียซึ่งทำให้เราคิดเรื่องความตายขึ้นมา เราไม่รู้เลยว่าเวลาชีวิตเหลืออีกมากน้อยแค่ไหน เราจะไปตอนไหนก็ไม่รู้ เราจึงควรรีบทำสิ่งที่อยากทำอย่างจริงจังดูสักครั้ง” 

Rear Window

เรื่องเล่าและจินตนาการที่ไม่รู้จบ

เมื่อตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะลองเปลี่ยนงานอดิเรกให้เป็นงานประจำ กิฟท์จึงตั้งต้นชีวิตจากการคิดพิจารณาว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วเธอสนุกกับอะไร และใน 10 ปีข้างหน้าเธออยากวนเวียนในวงการไหน และชวนเพื่อนสนิทมิตรสหายรอบตัวมาพูดคุยถึงหัวข้อดังกล่าวเพื่อนำเรื่องราวที่เพื่อนแลกเปลี่ยนมาสานต่อเป็นโมเดลใน Gift Project ที่เธอทำโมเดลขึ้นมาจากการพูดคุยและส่งมอบโมเดลนั้นกลับไปให้เพื่อนผู้เป็นเจ้าของเรื่องเล่า

Athletics

“เราเป็นคนชอบเรื่องเล่า ชอบนำเรื่องที่ได้ยินมาจินตนาการต่อเองเพื่อสร้างรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างงาน Athletics หนึ่งในงานจาก Gift Project เกิดขึ้นจากเพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เล่าว่าตอนเด็กๆ เขาเคยเป็นนักวิ่งที่โรงเรียน เขาดูสนุกที่ได้เล่าถึงเรื่องนี้และบอกอีกว่าแม้ตอนนี้จะไม่ได้วิ่งเหมือนเดิมแล้วแต่เขาก็ไม่ป่วยเลย 

“จากเรื่องราวตรงนั้น เราก็คิดต่อจินตนาการต่อไปเรื่อยๆ ว่าถ้าจะสร้างโมเดลกระดาษที่ได้จากเรื่องของเขา รูปร่างหน้าตาจะต้องเป็นยังไง เขาเป็นนักวิ่งก็น่าจะมีห้องล็อกเกอร์ไว้เก็บเหรียญและถ้วยรางวัลที่เคยได้ ด้วยความเป็นคนญี่ปุ่นก็น่าจะต้องมีธงชาติติดด้วยนะ 

“สิ่งสุดท้ายคือน่าจะมีรองเท้าวิ่งซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในความทรงจำของนักวิ่งทุกคนซึ่งรองเท้านี่ทำยากสุดเลย เราใช้เวลา 2-3 วันในการหาเทมเพลต ดูว่าคนทำรองเท้าหนังเขาขึ้นแบบกันยังไง แล้วนำมาประยุกต์กับกระดาษ” กิฟท์อธิบายวิธีการทำงานจากจุดเล็กๆ ที่เธอสนใจ

นอกจากงานชิ้นนี้ งานชิ้นอื่นๆ ของกิฟท์ยังเกิดขึ้นจากจินตนาการของเธออีกเช่นกัน เช่น งาน Suzy’s House Collection ที่เธอต่อยอดจากภาพยนตร์เรื่องโปรดอย่าง Moonrise kingdom แต่แทนที่จะเล่าเรื่องของเด็กๆ ที่เป็นตัวเอกของเรื่อง กิฟท์จินตนาการต่อว่าบ้านของตัวละครยามเป็นผู้ใหญ่จะหน้าตาเป็นแบบไหน

“เขาน่าจะเป็นนักเดินทางเพราะตอนเด็กๆ แม่ไม่ให้เขาออกจากบ้าน แต่ละห้องจึงน่าจะมีเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ซ้ำกันเพราะเขาสะสมมาจากสถานที่ต่างๆ ที่ไปเที่ยวมา 

“อย่างห้องน้ำก็คิดขึ้นว่าควรจะมีอ่างน้ำให้ได้นอนแช่สบายๆ ในอ่างก็น่าจะมีผลไม้ฝานอยู่ด้วยจะได้รู้สึกสดชื่นหลังเหนื่อยล้าจากการเดินทาง” เธอเล่าถึงจินตนาการด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

ห้องน้ำใน Suzy’s House Collection

คู่สีตรงข้าม โลกแอนะล็อก และสิ่งรอบตัว

“ชื่อ ‘Analogift’ มาจากความหลงใหลในสิ่งของยุคแอนะล็อก เช่น นาฬิกาไขลาน โทรศัพท์แบบหมุน เทป และแผ่นเสียง ฯลฯ ซึ่งแต่ละชิ้นต่างมีที่มาที่น่าสนใจ เราจึงชอบหยิบของในยุคนี้มาทำงานเพราะเรื่องราวเหล่านี้จะทำให้งานกระดาษของเราที่ดูแห้งๆ กลับมีชีวิตขึ้น” กิฟท์อธิบายถึงที่มาของชื่อที่เธอใช้ในฐานะศิลปิน

Stair
Vintage Fridge

“นอกจากจะได้แรงบันดาลใจจากสิ่งของยุคแอนะล็อก เราก็มักได้แรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวันด้วย เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับบ้านหรืออาคาร เช่น Stair ก็มาจากการที่เราชอบอยู่บ้านจึงหยิบสิ่งเล็กๆ รอบตัวมาทำเป็นโมเดลจิ๋วๆ ส่วนงาน Amélie ก็มาจากหนังเรื่อง Amélie เลย 

“แต่ถ้าพูดถึงหนังที่เราชอบสุดๆ คือหนังของ Wes Anderson นะ ในหนังจะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ น่ารักเต็มไปหมด สัมพันธ์กับเราที่ชอบใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ลงไปในงาน อย่างงาน Vintage Fridge ก็จะไม่ได้มีแค่ตู้เย็นวินเทจเท่านั้น แต่เมื่อเปิดตู้เย็นก็จะเจอของกินที่เราชอบเต็มไปหมด”

Amélie

นอกจากรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้จากหนังของเวส กิฟท์ยังบอกว่าการใช้คู่สดใสตรงกันข้ามของผู้กำกับหนุ่มก็มีอิทธิพลกับเธอ เช่น ถ้าในงานมีสีแดงก็ต้องมาคู่กับสีเขียวและเหลืองอย่างงานห้องนั่งเล่นใน Suzy’s House Collection หรือหากมีสีฟ้าก็ต้องมีสีชมพูอย่างงาน Marie Antoinette’s Dressing Room

ห้องนั่งเล่นใน Suzy’s House Collection
Marie Antoinette’s Dressing Room

ที่ผ่านมา สีสันทั้งหมดเกิดขึ้นจากการที่กิฟท์ตั้งใจเลือกกระดาษสีสวยๆ มาใช้ แต่เพราะโควิด-19 การนำเข้ากระดาษสีเหล่านี้ในช่วงที่ผ่านมาจึงน้อยลงจนเธอหากระดาษสีสันที่ถูกใจมาสร้างงานไม่ได้ ล่าสุดกิฟท์จึงทดลองนำสีน้ำมาละเลงบนกระดาษเพื่อสร้างสีสันที่ต้องการขึ้นเอง 

“เราทำงาน Grand Catapest Hotel ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากหนังเรื่อง The Grand Budapest Hotel ของเวส แอนเดอร์สัน ด้วยสีน้ำ เราพบว่านอกจากจะทำให้เราใจเย็นขึ้น การใช้สีน้ำก็ยังทลายข้อจำกัดเรื่องสีและการลงรายละเอียดต่างๆ ออกไป เพราะเราสร้างกระดาษสีที่ต้องการเองได้เลย” เธอเล่ากระบวนการใหม่ให้ฟังพร้อมโชว์ผลงานชิ้นล่าสุดให้ดู

Grand Catapest Hotel

ศิลปินที่หลงรักรอยยิ้มของผู้เสพงาน

จากวันที่มีอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้น กิฟท์บอกว่าวันนี้เธอเก็บสะสมอุปกรณ์การทำงานกระดาษแบบเฉพาะทางมากขึ้นเรื่อยๆ จากวันแรกๆ ที่เธอมักสร้างงานตามออร์เดอร์คนอื่น คล้ายๆ งาน Gift Project เธอก็เริ่มหันมาทำงานส่วนตัวแล้วหารายได้จากการสร้างเทมเพลตโมเดลกระดาษที่ลงขายในเว็บไซต์ Etsy

“ช่วงแรก เราอยากเป็นศิลปินที่รับงานจากลูกค้า ตอนนี้เราไม่ได้อยากทำแบบนั้นแล้วแต่เราอยากสร้างงานของตัวเองแล้วแบ่งปันเทคนิคต่างๆ มากกว่า เพราะหนึ่ง–การสร้างงานของตัวเองมันอิสระกว่า สอง–เวลาเราลงงานตัวเองในแพลตฟอร์มต่างๆ แล้วคนรู้สึกสบายใจ เราจะรู้สึกมีความสุขกว่ามาก สาม–เราจำได้ว่าตอนเริ่มต้นที่ต้องลองผิดลองถูกด้วยตนเองมันยากขนาดไหน เราไม่รู้จะเดินไปทางไหนหรือไปปรึกษาใคร 

“เราเลยหยิบโมเดลบางส่วนมาตัดทอนรายละเอียดแล้วลงขายเทมเพลตดิจิทัลเพื่อให้คนไปสร้างงานกระดาษของเขาเอง และแชร์เทคนิคการทำโมเดลต่างๆ ลงในเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และยูทูบของเรา ความรู้สึกเวลาที่เห็นคนแฮปปี้กับโมเดลที่เขาทำด้วยตัวเองและความรู้สึกเวลามีคนมาขอบคุณที่เราแชร์สิ่งนี้ออกไปมันดีกว่าเยอะเลย” กิฟท์บอกถึงเป้าหมายในปัจจุบัน

“จริงๆ วันแรกที่เราตัดสินใจลาออกจากการเป็นสถาปนิก ครอบครัวก็ไม่เห็นด้วยนะ” เธอพาย้อนกลับไปถึงจุดเปลี่ยนชีวิตอีกครั้งพลางหัวเราะ

“เขาก็เหมือนพ่อแม่ทั่วไปนั่นแหละที่คิดว่าการเป็นสถาปนิกน่าจะได้เงินมากและมั่นคงกว่า แต่ตอนนี้เขาก็เข้าใจแล้วซึ่งมันก็ทำให้เรารู้สึกดีมากๆ เพราะที่ผ่านมามันพิสูจน์แล้วว่าก่อนหน้านี้เราหลงทางมาตลอดว่าคนอื่นว่ายังไงเราก็ว่าตามนั้น คนอื่นคิดว่าสิ่งไหนดีเราก็ทำอย่างนั้น

“การได้ทำโมเดลกระดาษซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบมันอาจจะต้องอดทนกับปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามาสักหน่อย แต่พอถึงวันหนึ่งความซื่อสัตย์กับตัวเองจะทำให้เรารู้สึกว่าฉันทำสำเร็จได้ หลังจากนั้นเราจะต่อยอดงานของตัวเองออกไปได้ไม่รู้จบ” เธอยืนยัน


ขอบคุณภาพจาก กิฟท์–จิตติมน มันทรานนท์

AUTHOR