The Little Mermaid (2023) เรื่องราวความรักของคนนอกและการเติบโตของเงือกน้อยวัยขบถ

The Little Mermaid (2023) ถือเป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่แฟนๆ หลายคนรอคอยในปีนี้ นับตั้งแต่วันแรกที่ได้ประกาศทำ Live Action ไปจนถึงการประกาศตัวนักแสดงอย่าง ฮัลลี เบลีย์ (Halle Bailey) นักร้องและนักแสดงผิวสี จนได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ชมซึ่งมองว่าเธอไม่เหมาะสมกับตัวละครเงือกน้อย ผิวขาว ผมสีแดง ในภาพจำของแฟนดิสนีย์ 

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ไปไม่ถึงฝันกลับไม่ใช่เพราะนักแสดงเงือกน้อยแอเรียลเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องราวความรักระหว่างคนกับเงือก หรืออีกนัยหนึ่งคือการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างซึ่งเป็นประเด็นร่วมสมัยกลับไม่สามารถหยิบขึ้นมาขับเน้นให้ชัดมากพอ จนเหลือเพียงเรื่องราวของการดิ้นรนเพื่ออยู่ด้วยกันของหนุ่มสาวไร้เดียงสาคู่หนึ่งเท่านั้น

สิ่งที่แฟนๆ รอคอยกับ The Little Mermaid ครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงการเก็บภาพความประทับใจกับตัวละครที่ผูกพันในอีกเวอร์ชันเท่านั้น หากแต่เป็นการรอชมฝีมือการแสดงของเบลีย์ ว่าจะสามารถสวมบทบาทเป็นแอเรียลได้ดีอย่างที่คาดหวังหรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการพิสูจน์ตัวเองอย่างที่หากเป็นนักแสดงผิวขาวคงแบกรับความคาดหวังไว้ไม่มากเท่านี้

น่าเสียดายที่ The Little Mermaid ในปี 1989 เคยเป็นหมุดหมายใหม่ที่นำพาให้ทีมแอนิเมชันดิสนีย์พ้นวิกฤติ ด้วยการดำเนินเรื่องแบบใหม่ในยุคนั้นซึ่งแหกขนบเจ้าหญิงในยุคก่อนที่เน้นเรื่องความรักโรแมนติก ไปสู่การพูดถึงประเด็นสังคมอเมริกันยุค 80s อย่างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและการตามหาตัวตนของวัยรุ่น ซึ่งยังคงเป็นประเด็นร่วมสมัยแม้ในปี 2023 แต่สำหรับ Live Action เวอร์ชันล่าสุดในแง่เนื้อเรื่องแล้ว กลับไม่ได้นำเสนอประเด็นใหม่ไปมากกว่าต้นฉบับของตัวเอง

นี่จึงไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ไม่เคารพต้นฉบับ แต่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เคารพต้นฉบับของดิสนีย์อย่างมาก ถ้าหากใครชื่นชอบต้นฉบับน่าจะไม่ผิดหวังกับ The Little Mermaid เวอร์ชันล่าสุดนี้

The Little Mermaid ในฉบับของดิสนีย์ดัดแปลงมาจากต้นฉบับของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) นักเขียนชาวเดนมาร์ก ซึ่งเป็นเรื่องราวแสนเศร้าในตอนจบ นั่นคือสุดท้ายเงือกน้อยต้องเจ็บปวดกับการเสียสละครีบและตัวตนของตัวเอง และเป็นไปดังคำสาปของแม่มดทะเล ที่บอกว่าหากเธอไม่ได้รับความรักจากเจ้าชายกลับคืนมา ต้องกลายเป็นเพียงฟองคลื่นทะเล

อีกนัยหนึ่ง นางเงือกและมนุษย์หมายถึงความรักต้องห้ามที่มาจากเรื่องจริงของนักเขียนซึ่งมีความรักเพศเดียวกัน หรือคนกลุ่ม LGBTQ+ ในยุคที่เป็นเรื่องผิดบาปในสังคม ไม่แปลกที่ The Little Mermaid ของแอนเดอร์เซนจะเต็มไปด้วยการเสียสละ การสูญเสียตัวเอง และความอึดอัดที่ไม่สามารถบอกกับใครได้เหมือนเงือกน้อยที่ต้องแลกเสียงร้องของตัวเองกับขาเพื่อให้ได้เคียงคู่กับชายคนที่เธอรัก

กลับมาที่เงือกน้อยแอเรียลในฉบับดิสนีย์ ฝีมือการกำกับของ ร็อบ มาร์แชล (Rob Marshall) ยังคงแก่นสำคัญคือความรักต้องห้ามระหว่างคนกับเงือก ในฉบับคนแสดงแอเรียลยังคงเป็นเงือกน้อยไร้เดียงสาอายุ 16 เหมือนในฉบับแอนิเมชัน เธอคือลูกสาวคนสุดท้องในบรรดาลูกสาวทั้ง 7 คนของไตรตัน (Javier Ángel Encinas Bardem) ราชาผู้ปกครองท้องทะเล 

ลูกๆ ของเจ้าทะเลเมื่อเติบโตพอ พวกเธอจะมีน่านน้ำที่ต้องดูแลของตัวเอง ในขณะที่แอเรียลยังเป็นแค่เงือกน้อยที่ต้องอยู่ในโอวาทของพ่อ เพราะเป็นคนเดียวที่ยังไม่มีประสบการณ์เห็นโลกกว้างเท่ากับคนอื่น เธอจึงรู้จักโลกเท่าที่พี่ๆ และพ่อจะเล่าให้ฟัง นั่นคือมนุษย์เป็นพวกผู้ร้ายและป่าเถื่อน ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังไม่เข้าใจว่าลึกๆ ผู้คนจะเป็นคนที่เลวร้ายได้ เธอจึงทำได้เพียงตามเก็บข้าวของเครื่องใช้ที่เธอไม่รู้จักจากเหล่าเรืออัปปางที่จมสู่ก้นทะเลไปสะสมในถ้ำของตัวเอง และเก็บความอยากรู้อยากเห็นนั้นไว้ในใจ

จนวันหนึ่งที่เธอแอบขึ้นมาเหนือผิวน้ำและได้ช่วยชีวิตเจ้าชายอีริค (Jonah Andre Hauer-King) จากเหตุการณ์เรือล่ม โดยที่เจ้าชายไม่รู้ว่าใครเป็นคนช่วยชีวิต นอกจากเสียงร้องอันไพเราะที่เขาจดจำได้ขณะกำลังสะลึมสะลือบนชายฝั่ง จนเป็นแรงผลักดันให้ทั้งสองปรารถนาที่จะได้อยู่ด้วยกันมากขึ้น 

เจ้าชายอีริคเพียรออกตามหาหญิงสาวที่ช่วยชีวิตเขาทุกๆ วัน ขณะที่แอเรียลแหกกฎของพ่อ ด้วยการแลกเสียงของเธอกับขาเพื่อที่จะได้เป็นมนุษย์กับแม่มด เออร์ซูลา (Melissa McCarthy) โดยมีข้อแม้ว่าเธอต้องทำให้เจ้าชายอีริคจูบเธอด้วยความรักให้ได้ในเวลา 3 วัน หากทำได้เธอจะได้กลายเป็นมนุษย์ แต่ถ้าทำไม่สำเร็จเธอต้องตกเป็นทาสของแม่มดปลาหมึกยักษ์เออร์ซูลาไปตลอดกาล ก่อนเป็นเรื่องราวให้เราคอยตามลุ้น ตามเชียร์ว่าแอเรียลจะสามารถพ้นคำสาปของแม่มดไปได้หรือไม่

นอกเหนือจากเรื่องราวความรักของแอเรียลและเจ้าชายอีริคแล้ว สิ่งที่ทำให้ The Little Mermaid ในฉบับคนแสดงมีสีสันมากขึ้น คือ บรรดาเพื่อนตัวน้อยที่คอยอยู่เคียงข้างแอเรียล ไม่ว่าจะเป็น ปลาน้อย ‘ฟลาวเดอร์’ เจ้าปูสีแดงสำเนียงจาไมก้า ‘เซบาสเตียน’ ซึ่งได้นักแสดงมากความสามารถมาพากย์เสียง Daveed Diggs และ Jacob Tremblay พร้อมด้วยนกนางนวล ‘สกัตเติล’ ที่คราวนี้ถูกเปลี่ยนให้เป็นเสียงผู้หญิง โดย Awkwafina เจ้าแม่คอเมเดียน จึงทำให้แก๊งนี้เมื่อโผล่ออกมาทีไรต้องเรียกเสียงหัวเราะได้ทุกที แม้ว่า CG ที่ออกมาจะทำให้สัตว์ที่อยู่ในเรื่องดูสมจริงมากจนไม่เห็นความสดใสก็ตาม

ตลอดทั้งเรื่องมีฉากและเพลงที่อยู่ในความทรงจำในเวอร์ชั่นปี 1989 เก็บไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ถ้ำเก็บสมบัติของแอเรียล ความรื่นเริงของโลกใต้ท้องทะเล ถ้ำของแม่มดเออร์ซูลา โขดหินที่แอเรียลแอบมองเจ้าชาย หรือฉากพายเรือใต้หมู่ดาว บรรดาฉากทั้งหมดนี้ช่วยทำให้โลกของคนและเงือกดูมีชีวิตจริงด้วยเวทมนตร์ของดิสนีย์ 

นอกจากฉากแล้ว เมื่อรวมกับเพลง อยู่ในโลกเธอ (Part of Your World) เพลงหลักของเรื่องที่ได้เสียงเบลีย์มาร้องด้วยการตีความใหม่ให้มีความอึดอัดและอยากออกไปจากโลกใต้ทะเล ยิ่งทำให้แอเรียลดูมีมิติมากขึ้นในฉบับของตัวเธอเอง 

เช่นเดียวกับเพลงหลักอื่นๆ เช่น เพลง ใต้ท้องทะเล (Under the Sea) ก็ยังคงชวนให้เห็นมุมมองของเซบาสเตียนที่มีต่อโลกท้องทะเลที่งดงาม ต่างจากโลกมนุษย์ที่ทุกคนต่างทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย และหากเป็นปลาที่ต้องขึ้นไปบนบกก็มีแต่จะต้องเป็นอาหารเท่านั้น หรือเพลง ใจอันไร้ที่พึ่งพา (Poor Unfortunate Souls) จากแม่มดเออร์ซูลาที่พยายามหลอกล่อให้แอเรียลยอมแลกเสียงของเธอกับขา แม้จะต้องจากพ่อและพี่ๆ แต่เธอจะได้ออกไปสำรวจโลกด้านบนและอยู่กับคนรักอย่างที่ปรารถนา หรือเพลง จุ๊บเธอเลย (Kiss the Girl) ที่มีการเพิ่มท่อนเกี่ยวกับการยินยอม (Consent) มาด้วย 

ฉบับ Live Action เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มมิติและความรู้สึกนึกคิดอย่างที่มนุษย์ควรจะมี ด้วยความพยายามเพิ่มเหตุผลรองรับการกระทำของตัวละครให้มีน้ำหนักมากขึ้นซึ่งเคยขาดหายไปในฉบับแอนิเมชัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าชายอีริคที่หลงใหลการเดินเรือเพื่อออกไปพบเจอกับวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เขาไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับแอเรียลที่อยากออกไปพ้นน้ำเพื่อเข้าใจโลกมนุษย์มากขึ้น หรือแม้แต่ความร้ายของแม่มดเออร์ซูลาที่มาจากความชิงชังในพี่ชายไตรตัน 

อย่างไรก็ตามในขณะที่ The Little Mermaid ปี 1989 คือความพยายามแหกขนบมาพูดถึงประเด็นสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะการตามหาตัวตนของวัยรุ่น หรือการพยายามเข้าใจทางที่เด็กๆ เลือกเดินในมุมของผู้ใหญ่ แต่ในฉบับคนแสดงกลับไม่ได้มีประเด็นอื่นเพิ่มเติมหรือพาให้เราไปสำรวจแง่มุมอื่นๆ ของตัวละครมากนัก แม้จะขยายเวลาฉายจากฉบับแอนิเมชันกว่า 1 ชั่วโมงก็ตาม แน่นอนว่ามีการเพิ่มเติมและลดบางฉากไปจากเดิม แต่ภาพรวมทั้งหมดยังทำให้เราหวนนึกถึงต้นฉบับของดิสนีย์ได้แบบฉากต่อฉาก 

ประเด็นที่ The Little Mermaid นำเสนอไปแล้วเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นร่วมสมัยแม้ผ่านไปกว่า 30 ปี ทั้งความรักบนความแตกต่าง รวมถึงประเด็นวัยรุ่นที่ยังคงเป็นวัยต้องการค้นหาแนวทางของตัวเอง เช่นเดียวกับเราในวัย 16 ต่างก็เคยเป็นเด็กไร้เดียงสา ดื้อรั้นทำตามหัวใจ (เมื่อเปรียบกับเจ้าชายอีริคเป็นไอดอลที่ชื่นชอบ ก็คงนึกออกได้ไม่ยากว่าเราคงยอมทำสิ่งที่ไม่คาดคิดได้เช่นกัน) ย้อนกลับมาที่ปัจจุบันเราจะเห็นว่าประเด็นต่างๆ ที่เคยมองว่าเป็นเรื่องปกติ ถูกท้าทายอีกครั้งด้วยน้ำเสียงของเด็กรุ่นใหม่ ขณะที่ผู้ใหญ่หลายคนไม่ต่างจากราชาไตรตัน ที่ตอบโต้เด็กๆ เหล่านั้นด้วยการสั่งห้ามและถือคำพูดตัวเองเป็นคำขาด แม้ลึกๆ จะอ้างถึงความเป็นห่วงก็ตาม แต่สุดท้ายก็รังแต่จะยิ่งผลักให้คนทั้ง 2 วัยแยกจากกันเรื่อยๆ หนทางที่จะเข้าใจกันอีกครั้งคงมีแต่การเปิดใจและยอมรับในทางที่เด็กๆ เลือกเดิน เพราะเขาคืออนาคตของโลกในวันข้างหน้า

แม้จะมีการปรับแต่งให้เข้ากับยุคสมัยอยู่บ้าง แต่เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้ถูกขับเน้นออกมาให้อยู่ในความคิดหรือการกระทำของตัวละคร เราจึงยังไม่เห็นความจริงใจในการเล่าเรื่องนี้มากนักนอกจากพอเล่าผ่านเป็นพิธี ทำให้เราไม่ได้ผูกพันกับตัวละครเท่าที่ควร พร้อมประเด็นที่ไม่ได้มีอะไรใหม่เหมือนกับการฉายในปี 1989 จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ขาดเสน่ห์ไปอย่างน่าเสียดาย 

The Little Mermaid ปี 2023 จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับใครที่ประทับใจในเวอร์ชันต้นฉบับของดิสนีย์ เพราะแม้จะเปลี่ยนนักแสดงแต่เบลีย์ยังคงตีความความใสซื่อบริสุทธิ์ของแอเรียลไว้ได้อย่างมีชีวิตจิตใจ รวมถึงเพลงและฉากที่น่าตื่นตาตื่นใจใต้ท้องทะเลยังชวนให้เราเพลิดเพลินได้เหมือนวันวาน

อ้างอิง

https://adaymagazine.com/the-little-mermaid/?fbclid=IwAR2yzfiez3xk00B6Zru_aAXRBdWMlkbEjyKN6rPHCYH6-Ftxag18ilQ9x64

AUTHOR