The Subtitle Project คืออีกหนึ่งวงอินดี้ป๊อปน่าจับตาจากค่ายเพลง Minimal Record
สิ่งแรกที่นึกออกหลังจากฟังเพลง ทุน, วน, กระซิบ ของพวกเขาคือ ไม่อยากให้วงดนตรีวงนี้เลิกทำเพลงหรือเงียบหายไปจากเส้นทางของตัวเองเลย เพราะหลายบทเพลงใน Ordinary People สตูดิโออัลบั้มแรกที่ทั้งสามช่วยกันปลุกปั้นนั้นมีความหมายต่อเรา คนฟังที่รู้สึกว่าชีวิตในเมืองหลวงนั้นไม่ยี่หระต่อหัวจิตหัวใจของเราเอาเสียเลย
ยิ่งวันไหนที่รู้สึกฟ้าหม่นไม่เป็นใจ ยิ่งต้องเปิดฟัง ราวกับคนอกหักที่ชอบฟังเพลงช้ำๆ ซ้ำเติมตัวเอง
เราเรียกพวกเขาว่าวงดนตรีเล็กๆ จากเชียงใหม่ แต่สำหรับสมาชิกวงอย่าง เด๋อ–ณครินทร์ รอดพุฒ มือเบสและนักแต่งเพลง, มัท–เทอดพงศ์ พงษ์จินดา มือกีตาร์ และ มายด์–วรัญญา พงษ์เพ็ชร์ นักร้องนำ ทั้งสามนิยามการรวมตัวของตัวเองว่าเป็นโปรเจกต์ศิลปะที่อยากนำเสนอความสวยงามและความไม่สวยงามของชีวิตออกมาในรูปแบบของเสียงเพลง
แถมคนเขียนเพลงอย่างเด๋อชอบเล่าเรื่องราวที่สัมพันธ์ระหว่างคนและสิ่งรอบตัว ไม่แปลกที่คนเหงาผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่อย่างเราจะโดนตกจากเพลงของพวกเขาอย่างจัง
ไหนๆ ลมหนาวหอบเรามาเยือนเมืองที่เราผูกพันอย่างเชียงใหม่ทั้งที ขอแวบไปทักทายและทำความรู้จักวงดนตรีที่เราสนใจวงนี้ถึงที่มั่น ไถ่ถามถึงความตั้งใจและเมสเซจที่พวกเขาซ่อนไว้ในเพลงหม่นๆ แต่ละเพลงไปด้วยเลย
เล่าจุดเริ่มต้นของวงให้ฟังหน่อยได้ไหม
เด๋อ : เมื่อก่อนเราทำเพลงเชิงทดลองอยู่แล้ว ตอนนั้นใช้ชื่อว่า derdamissyou (เด๋อด๋ามิสยู) แต่พอทำเพลงในคอมพิวเตอร์ อุปสรรคอย่างหนึ่งที่เจอคือมันเพอร์ฟอร์มลำบาก เลยฟอร์มทีมใหม่เพื่อที่จะได้ออกไปเล่นโดยชวนมัทมือกีตาร์ที่เป็นน้องที่ทำกราฟิกในสตูดิโอของเรา มัทก็เลยชวนรุ่นน้องอย่างมายด์มาเป็นนักร้องนำ
ตอนตั้งชื่อวง เหมือนมัทจะพูดขึ้นมาว่า เพราะเราทำงานวิดีโอกันอยู่แล้ว เวลาเราทำซับไตเติลในโปรแกรม Premiere เราจะมี The Subtitle Project แยกออกมาจากโปรเจกต์หลัก เราว่ามันมีความหมายบางอย่าง เพลงมันเหมือนเป็นซับไตเติลของความคิดหรือสิ่งที่เราอยากจะนำเสนอ แล้วเราชอบคำว่าโปรเจกต์ มันดูเป็นการเซตอัพอะไรบางอย่างขึ้นมา
มายด์ : พี่เด๋อเคยบอกว่าโปรเจกต์นี้เป็นเหมือนหนังสักเรื่องหนึ่งที่มีพี่เด๋อเป็นผู้กำกับ พี่มัทเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ส่วนมายด์เป็นเหมือนนักแสดง วงเราเลยไม่ค่อยเหมือนวงดนตรีวงอื่นๆ
ถ้ามองเป็นหนังหนึ่งเรื่อง หนังเรื่องนี้อยากเล่าเรื่องอะไร
เด๋อ : หนังชีวิตอะ แต่ไม่ใช่หนังโรแมนติกคอมเมดี้แน่ๆ นัวๆ หน่อย ดูเสร็จแล้วอาจจะอุทานว่าอะไรวะก็ได้ คือในฝั่งเอนเตอร์เทนเมนต์เพลงเราอาจจะทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์แบบเท่าไหร่ เนื่องจากมันต้องแบกภาระอะไรบางอย่าง ภาระที่ว่าคือการสะท้อนชีวิตของคนเมืองในปัจจุบัน
นี่คือเหตุผลที่ตั้งชื่ออัลบั้มว่า Ordinary People ด้วยหรือเปล่า
เด๋อ : ใช่ๆ คือเพลงเราไม่ใช่บทเพลงของผู้กล้า เราชอบเพลงเพื่อชีวิตมากเลย แต่เรารู้สึกว่าฟังก์ชั่นของมันคือปลุกให้เราอยากปฏิวัติสังคม หัดสงสัย ตั้งคำถาม และผลักดันตัวเอง ถ้ามองเพลง The Subtitle Project เป็นคน เราคงเป็นคนธรรมดาที่ยอมรับและเข้าใจการเปลี่ยนแปลง เป็นคนธรรมดาที่เดินเตาะแตะนี่แหละ
ดูเหมือนว่าทุกคนมีงานประจำอยู่แล้ว ทุกวันนี้คุณทำเพลงไปเพื่ออะไร
เด๋อ : ตั้งแต่ไหนแต่ไร เราชอบงานคอนเทนต์มากๆ ชอบอะไรที่มีเนื้อเรื่องเยอะๆ แต่เขียนหนังสือยาวๆ ไม่รอดเลย พอมาเขียนเป็นเพลง เรารู้สึกว่ามันเป็นการเล่าเรื่องที่สั้นดี เหมือนมีดนตรีมาประดับประดาให้มันสวยงามขึ้น เป็นรูปเป็นร่างได้มากขึ้น สำหรับเราแล้วการทำเพลงก็คือการระบายความคิดอย่างหนึ่ง เหมือนกับการโพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่ความคิดของเราแหละมั้ง
แต่เพลงเราแปลกกว่าคนอื่นหน่อยเพราะเราเป็นคนสนใจความสะเทือนใจในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ความรักอะ งงไหม (หัวเราะ) คือเวลาเราดูหนัง เวลาเราเจอคนยากจนข้นแค้น เราจะรู้สึกว่ามันกระทบใจเรามากกว่าคนอกหัก ไม่ก็เรื่องต่างๆ ที่สะเทือนใจชนชั้นกลางอย่างเรา เช่น ชีวิตคนเมืองบางคนมีความหวังแค่วันที่ 16 หรือ 30 ก็เขียนออกมาเป็นเพลง รอวันหวยออก จะเพลงของ derdamissyou หรือเพลงของ The Subtitle Project มันก็มีมุมมองประมาณนี้
มายด์ : อย่างมายด์ก็ไม่ได้ร้องเพลงเป็นอาชีพหลัก แต่งานพาร์ตนี้มันเหมือนได้ทำอะไรที่เยียวยาและเติมเต็มตัวเองในรูปแบบหนึ่ง เหมือนแรกเริ่มที่ทำวงกันเรายังเรียนอยู่ ยังวัยรุ่นกว่านี้ มันเหมือนเราโตมากับการทำเพลงในอัลบั้มนี้เลย ถึงจะผ่านมาแค่สองปี แต่ระหว่างทางเรารู้สึกกับแต่ละเพลงไม่เหมือนกัน เหมือนเวลาอ่านหนังสือหรือดูหนังเรื่องเดิมในแต่ละวัยเราจะคิดไม่เหมือนกัน
ในฐานะคนร้อง ความรู้สึกที่เปลี่ยนไปมันเป็นยังไง
มายด์ : เหมือนเราค่อยๆ เข้าใจมันมากขึ้น ไม่ใช่แค่กับเพลง แต่หมายถึงสังคม สิ่งรอบตัวที่เราต้องเจอ ยกตัวอย่างเช่นเพลง วน ตอนแรกๆ เราจะรู้สึกว่ามันส่วนตัวมาก ความเป็นวัยรุ่นทำให้เรามองว่ามันเป็นเรื่องความรัก ดูเป็นเรื่องส่วนตัว แต่พออยู่กับเพลงไปนานๆ แล้ว เรารู้สึกว่าเพลงนี้ไม่ได้พูดแค่นั้น จริงๆ แล้วมันพูดเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นอีก
เพลงส่วนใหญ่ของพวกคุณพูดถึงความสัมพันธ์ที่เรามีกับสิ่งรอบตัว สนใจว่าการอยู่ในเมืองที่ดูเหมือนจะชิลล์อย่างเชียงใหม่ มันส่งผลต่อตัวตนของคุณยังไงบ้าง
เด๋อ : ความจริงเราเป็นคนนนทบุเรี่ยนที่อยู่เชียงใหม่มา 20 ปี การมาอยู่ที่นี่มันไม่ได้ส่งผลกับอะไรเท่าไหร่ แต่ส่งผลกับมุมมองเราที่มีต่อเมืองกรุงเทพฯ
ตอนอยู่ที่นู่นเราไม่เคยตั้งคำถามกับกรุงเทพฯ เลยนะ แต่การอยู่เชียงใหม่ จากตรงนี้ไปห้างอย่างเซ็นทรัลเฟสติวัล เราก็แค่ขับรถไป จบ ถ้าเป็นกรุงเทพฯ สมมติจะไปพารากอน เราออกจากบ้าน นั่งวินฯ 20 บาท ต่อด้วยรถเมล์ ต่อบีทีเอสไปลงสยาม การถอยออกมาทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเรา กับเมือง เหมือนเราเห็นกรุงเทพฯ ชัดขึ้น เราเห็นว่าคนกรุงเทพฯ อยู่กันยังไง แล้วมันแบบ เฮ้อ เราอยู่ไม่ไหวว่ะ ประมาณนั้น
มีเพลงไหนไหมที่พูดถึงความแตกต่างระหว่างสองเมืองนี้
เด๋อ : น่าจะเป็น มหานคร เป็นเพลงที่พูดแทนเด็กบ้านนอกว่าเมืองที่เขาอยู่ไม่มีโอกาสอะไรเลย จริงๆ อันนี้เราพูดถึงเรื่องการจัดสรรทรัพยากรของประเทศว่าทุกอย่างมันไปลงที่กรุงเทพฯ หมด อย่างเพื่อนๆ ที่เรียบจบที่เชียงใหม่มาด้วยกัน บางคนมันไม่สามารถอยู่ที่นี่ต่อได้เพราะงานอยู่ที่กรุงเทพฯ หมด เราอาจจะคิดไปเองว่าจริงๆ แล้วคนเราไม่ได้อยากจะละถิ่นฐานของตัวเองหรอก เพียงแต่ว่าโอกาสทุกอย่างมันอยู่ตรงนั้นหมด เราเลยจำเป็นต้องเดินทางไป
เรียก มหานคร ว่าเป็นเพลงที่เกิดจากความน้อยใจได้ไหม
เด๋อ : เออใช่ แต่มันหายน้อยใจแล้วนะ ไม่งั้นเขียนเพลงไม่ได้ (หัวเราะ) ตอนนี้น่าจะเรียกว่าเข้าใจแล้วมากกว่า เพราะถ้าเขียนเพลงในภาวะอารมณ์ที่น้อยใจมากๆ เราคงบ่นด่ากว่านี้เยอะ พอตอนนี้เราเข้าใจแล้ว เราก็แค่อยากอธิบายให้คนอื่นเข้าใจด้วย สำหรับ มหานคร น่าจะประมาณนี้มั้ง
ความฝันของพวกคุณคืออะไร
มายด์ : อยากไปเล่นต่างประเทศ (ยิ้ม)
เด๋อ : อันนี้ไม่แน่ใจ เพราะคอนเทนต์ของเรายังเป็นภาษาไทยเนอะ เราว่าเราเหมือนนักดนตรีเชียงใหม่อีกหลายๆ วง เหมือนนักดนตรีทั่วไปที่อยากได้รับการยอมรับบ้าง ตอนนี้คนฟังเพลงเรายังอยู่กระจายๆ กัน ถ้ามีการรวมคนแล้วแสดงตัวกันว่าชอบเราบ้างเราก็ดีใจแล้ว
5 บทเพลงจาก The Subtitle Project ที่เหล่าคนเมืองควรลองฟังสักครั้ง
01
กระซิบ (Tell no one)
เด๋อ : ธรรมดาเวลาเจอคนใหม่ๆ หรือคนที่เราไม่แน่ใจ เราไม่ใช่คนกล้าหาญที่จะแสดงสิ่งที่เราเป็นออกไปโดยทันที เหมือนเราต้องเช็กก่อนว่าเขาเปิดใจฟังเราไหม เรารู้สึกว่าคนเราเปิดใจกันยากมากขึ้น การเคารพว่าเขาเป็นอย่างนี้เราเป็นอย่างนี้มันทำยากขึ้น เราเลยเลือกที่จะกระซิบแทนการพูด คนที่เขาตั้งใจฟังเราจะได้ยินเอง
02
วน
เด๋อ : เพลงนี้เป็นเพลงคอนเซปต์มาก ตอนเขียนเราสร้างตัวละครขึ้นมา เป็นคนคนหนึ่งที่เลิกกับแฟนไปโดยไม่ได้บอกลา ในใจก็เลยมีเรื่องที่ค้างคา แต่กลายเป็นว่าเขาสร้างความคิด หลอกตัวเองทุกวันเลยว่ามันมีการบอกลากันเกิดขึ้นแล้ว ‘ฉันแต่งเติมเรื่องราว สร้างวันเปลี่ยนความหมาย เธอบอกลากับฉัน’ คิดแบบนี้วนอยู่ในหัว จนจู่ๆ วันนั้นมันเกิดขึ้นจริงๆ มีการบอกลาเกิดขึ้น เหมือนได้เคลียร์ตัวเองแล้ว
03
รอยร้าวบนหน้าจอ
เด๋อ : มัทบอกเราว่าอัลบั้มนี้มีเพลงรักสักเพลงก็ดีนะพี่ (หัวเราะ) เราสร้างผู้หญิงคนหนึ่งที่เพิ่งเลิกกับแฟนขึ้นมา แล้วโมเมนต์ที่เขาไถหน้าจอมือถือ ส่องเฟซบุ๊กแฟนเก่าแล้วเห็นว่า ชีวิตผู้ชายคนนั้นดำเนินไปตามปกติ โพสต์เหมือนเดิม เป็นคนๆ เดิม จูงหมาตัวเดิม กินเหล้าร้านเดิม เพียงแต่ว่าตัดผู้หญิงคนนั้นออกไป ลึกๆ แล้วผู้หญิงยังคงคิดถึง ยังคงรู้สึกอะ ในรูปนั้นควรมีฉันอยู่สิ อันนี้คือเพลงรักที่เฮิร์ตสุดเท่าที่จะทำได้ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วเติมดราม่าให้หน้าจอมือถือแตกไปด้วย (หัวเราะ) ส่องชีวิตคนอื่นผ่านจอมือถือแตกๆ อันนี้แหละ
04
ไฟดับ
เด๋อ : เนื้อเพลงร้องว่า ‘ไฟดับในคืนที่ลืมชาร์จโทรศัพท์’ คือเราไม่รู้จะหาจังหวะไหนให้คนในสังคมได้จมอยู่กับตัวเองอะ ฉะนั้นวันนั้นต้องเป็นวันที่ไฟดับแล้วก็ลืมชาร์จโทรศัพท์และต้องไม่มีพาวเวอร์แบงก์ด้วย เราถึงจะได้อดเล่นโซเชียลแล้วได้อยู่กับตัวเองจริงๆ สักที นั่งมองแสงเทียน นึกถึงอดีตของตัวเองอะไรแบบนั้น จริงๆ เพลงนี้เนื้อหาน้อยมากเลยนะ แต่เน้นการดีไซน์ดนตรีมากกว่า
05
ทุน
เด๋อ : จริงๆ เพลงนี้ความหมายไม่เหมือนเอ็มวีเลย ตอนเขียนเราจะนึกถึงเพื่อนที่ชอบคุยประมาณว่า มึงต้องมีความตั้งใจ มึงต้องมีความมุ่งมั่นแล้วมึงจะประสบความสำเร็จ ถ้ามึงมีแพสชั่นมันต้องมีที่ตรงนั้นสำหรับมึงอยู่แน่ๆ เลย เรารู้สึกว่าคนที่จะพูดอย่างนั้นได้ต้องไม่มีแม่ที่กำลังนอนป่วย ต้องไม่มีภาระอะไรที่ต้องดูแล
อย่างเราเปิดออฟฟิศเล็กๆ ของตัวเองได้ เราว่าเราได้เปรียบคนอื่นมากมายเลย เพราะอย่างตอนเรียนจบ แม่เราบอกว่าไม่ต้องส่งเงินมาให้แม่นะ ดูแลตัวเองให้ได้พอ นี่คือทุนของเรา แต่ทีนี้เพื่อนเราบางคนที่เรียนจบปุ๊บ หันหลังไป เขามีน้อง แม่ พ่อ ทุกคนรออยู่หมดเลย ไม่มีเวลาแม้แต่จะตั้งสติคิดว่าอยากทำอะไร เขาต้องกระโจนเข้าระบบเงินเดือนในทันที คือมันอาจจะไม่ชิคไม่คูลเท่ากับคนที่เรียนจบปุ๊บแล้วได้ลงมือทำตามฝัน เพลงนี้เลยเหมือนทำความเข้าใจว่า โอเค เพราะต้นทุนของเรามีไม่เท่ากัน