Solitude Is Bliss, Migrate to the Ocean, สภาพสุภาพ, อินธนูและพู่ถุงเท้า รายชื่อศิลปินจากเชียงใหม่ที่เราเอ่ยมานี้ ถ้าคุณเป็นคอเพลงอินดี้ เราเชื่อสุดใจเลยว่าคุณต้องเคยฟังเพลงของศิลปินเหล่านี้ และแน่นอนว่าคุณต้องคุ้นหูกับชื่อ Minimal Records ค่ายเพลงอินดี้สายเลือดเชียงใหม่ สังกัดของพวกเขา
ในฤดูกาลที่เป็นใจให้เราขึ้นเหนือไปเยือนฐานทัพของ Minimal Records เพื่อพบกับ เมธ-สุเมธ ยอดแก้ว อาจารย์สอนแอนิเมชั่น วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชายที่มีอีกร่างหนึ่งเป็นมือกีตาร์วง Migrate to the Ocean และเป็นหัวเรือใหญ่ของค่ายเพลงอินดี้ที่แต่ละก้าวเดินมีเป้าหมายเพื่อซัพพอร์ตศิลปินท้องถิ่นและต่อสู้กับความไม่จีรังของอาชีพนักดนตรีในเชียงใหม่
ในวันที่คนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเลือกฟังเพลงอินดี้จากศิลปินเชียงใหม่มากขึ้น คนเหนืออย่างเราก็แอบรู้สึกภาคภูมิใจไปกับพวกเขาด้วย เราจึงอยากชวนคุณฟังเรื่องเล่าจากชายผู้ก่อตั้งที่จะทำให้คุณรู้จักค่ายเพลงเล็กๆ ค่ายนี้มากขึ้น
ก้าวแรกจากกลุ่มก้อนนักดนตรี
“ย้อนไปปี 2549 ตอนนั้นเราทำงานออฟฟิศด้านออกแบบ พลบค่ำก็อยากหาที่แฮงเอาต์กัน แต่ช่วงนั้นนิมมานฯ ไม่ค่อยมีอะไรเลยตัดสินใจเปิดร้านและบาร์เล็กๆ ให้คนทำงานศิลปะมานั่งคุยกันชื่อ minimal gallery ก็ได้เจอศิลปิน เจอนักดนตรีเยอะ สองปีจากนั้นมีงานแฟตเฟสที่เชียงใหม่พอดี ด้วยความที่เราเคยอกหักจากแฟตที่กรุงเทพฯ มาก่อน รอบนี้เขามาถึงบ้านเราก็เลยชวนเพื่อนทำซีดีอัลบั้ม No Signal Input 2 (No Signal Input 1 เป็นโปรเจกต์รวมนักดนตรีที่เกิดขึ้นสมัยอาจารย์เมธเรียนมหาวิทยาลัย และหลังจากนี้เราจะขอเรียกพวกเขาย่อๆ ว่า NSI) รวมเพลงจากวงเพื่อนๆ เรา 7 วงไปขาย ปรากฏว่าขายดีมาก”
“หลังจากนั้นมีร้านชื่อ ขันอาสา ชวนไปเล่นสด พวกเราตื่นเต้นกันมากเพราะแต่ละคนไม่เคยเล่นเพลงตัวเอง คิดแค่อยากทำซีดีขายแค่นั้น พอเล่นเสร็จทุกคนแฮปปี้มากเลยกลับมาคิดกันว่าเราต้องหาที่เล่นดนตรีกันแล้วล่ะ จะได้เอาซีดีที่เหลือไปขายด้วย เราก็ไปหาเล่นตามร้าน ฟรีบ้างไม่ฟรีบ้าง เล่นไปสักพักก็มีไอเดียอยากทำเพลงใหม่เพราะกลัวคนฟังเบื่อ ทีนี้แต่ละวงก็ทำเพลงมาแข่งกัน เล่นโชว์แข่งกันเองก็มี จำได้ว่ามีคนดูราวๆ 30 – 40 คน บางงานมีมาร้อยคนถือว่าเต็มที่แล้วนะ”
ก้าวสองที่สำคัญ เปิดค่ายเพลงเพื่อแก้ปัญหา
“ยุคนั้นแวดวงดนตรีเชียงใหม่ค่อนข้างตกเหมือนกันนะ เพราะวงที่ดังๆ อย่าง A Cappella 7, ETC. เขาก็เข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ หมด กลายเป็นว่าเชียงใหม่ไม่มีวงในพื้นที่ของตัวเองจนมีคนกลุ่มนี้เกิดขึ้นมา สองปีต่อมาเพื่อนๆ ใน NSI 2 บางวงอย่าง เด๋อด๋า, Harmonica Sunrise เริ่มทำอัลบั้มของตัวเองโดยการไปขอสปอนเซอร์”
“เราเริ่มเห็นปัญหาแล้วว่าพวกเราไม่มีเงินทำอัลบั้มกันเลยทั้งๆ ที่เราก็ขายแผ่นได้ หลังจากนั้นก็มี NSI 3 ถือว่าวงการดนตรีเชียงใหม่มีสีสันมาก เรามี The Rooster, Ska Rangers (Polycat ในปัจจุบัน), สภาพสุภาพ คือน้องๆ ดังมาก มีสื่อต่างๆ มาขอสัมภาษณ์ Ska Rangers ก็ได้ไปอยู่ Smallroom ส่วนวงรอยต่อใน No Signal Input 2 ก็เงินจมกับการทำอัลบั้มไปเรื่อยๆ เราคิดว่าไม่ได้การแล้ว ต้องเซ็ตโมเดลใหม่ขึ้นมาคือการทำค่ายเพลง”
ค่ายเพลงความหมายเล็กแต่ความตั้งใจไม่เล็กตาม
“ความรู้สึกตอนนั้นคือ NSI จะเป็นชื่อค่ายไม่ได้ เพราะ NSI ไม่ได้เป็นของใครเพียงคนเดียว เราเป็นเหมือนกลุ่มคนที่พากันไปเล่นดนตรีและไม่ได้มีเป้าหมายอะไรเยอะ การเป็นค่ายจะไม่มีคำว่ามิตรภาพ ไม่มีคำว่าเพื่อน แต่เราอยากเก็บเสน่ห์ของ NSI ตรงนั้นไว้เลยตั้งชื่อค่ายว่า Minimal Records คำว่า minimal จริงๆ คือลัทธิศิลปะ แต่ความหมายของเราคืออะไรก็ได้ง่ายๆ เป็นกันเองและไม่ต้องยิ่งใหญ่มากแค่นั้นเอง พี่จั้ง ย้อนแยง (ศีลวัตก์ รมยานนท์) ให้นิยามกับพวกเราคือ ‘น้อย นิ่ง งาม’ ไม่ต้องเยอะ นิ่งๆ ไว้เดี๋ยวก็สวยเอง สำหรับเราเป็นความหมายที่ดีนะ”
“ความตั้งใจของ Minimal Records คือเราจะให้เงินกองกลางซัพพอร์ตวงจาก NSI ที่อยากทำอัลบั้ม พอพวกเขาขายซีดีได้ก็เอาเงินก้อนนั้นมาคืนเรา พอเราได้เงินคืนก็เอาเงินก้อนนี้แหละไปให้อีกวงทำอัลบั้มต่อ กำไรจากการขายก็แบ่งกัน เงินกองกลางก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จริงๆ ก็มีคืนบ้างไม่คืนบ้างนะ (หัวเราะ) ต้องเข้าใจนะว่าไม่ใช่ว่าทุกวงจะขายแผ่นได้ เราก็ใช้วิธีถัวเฉลี่ยจากแผ่นที่ขายดีเอา”
“เราไม่ได้อยากให้ค่ายเป็นธุรกิจอะไรมาก เราแค่อยากให้เพื่อนมีอัลบั้มและก็ไม่ได้หวังด้วยว่าเพลงจะต้องดัง สมมติทำมา 500 แผ่น หลอกเพื่อนมาช่วยซื้อสักสองร้อยคนก็ได้ทุนคืนแล้ว แต่สุดท้ายเพื่อนไม่ซื้อ (หัวเราะ) ตอนแรกเราคิดแบบนี้จริงๆ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ใช่ เราต้องหาคนข้างนอกมาซื้อด้วย เอาไปขายตามงานที่วงไปเล่น ฝากขายตามร้านต่างๆ ค่ายเราก็รันมาได้เรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันก็ 5 ปีแล้ว”
ค่ายเพลงที่อ้าแขนรับนักดนตรีในท้องถิ่น
“ค่ายเราทำที่เชียงใหม่เพราะงั้นเราขอรับเฉพาะคนที่คิดจะอยู่ที่นี่ เราไม่ได้แคร์เรื่องความเก่งกาจของการเล่นดนตรี เพลงคุณดี อยู่กับเราเถอะ หรือว่าเพลงคุณดี คุณไปกรุงเทพฯ เลย ถ้าศิลปินแฮปปี้ที่จะทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ก็ถือว่าโอเค เราคุยกันได้ จริงๆ มีหลายคนส่งเดโมมาจากจังหวัดอื่น เพลงเขาดีมากนะ แต่เรารับเข้ามาไม่ได้จริงๆ ถ้าอยู่กันคนละที่เราอาจจะคุยงานกันยาก”
“ศิลปินในค่ายเราส่วนมากรับมาจาก NSI อย่างเร็วๆ นี้ก็จะมีวงจาก NSI 5 เข้ามา 2 วง และ 10 เปอร์เซ็นต์จะเป็นกลุ่มศิลปินที่ไม่ได้อยู่ใน NSI หนึ่งในนั้นก็คือ Solitude Is Bliss เป็นวงที่เราฟังครั้งแรกแล้วชอบเลยชวนมาทำงานด้วย เพราะงั้นปีหน้าอาจจะมีน้องผู้หญิงอีกคนหนึ่งเข้ามาด้วย”
“สไตล์ของคนเชียงใหม่คือไม่สนใจใคร ด้วยบรรยากาศและสภาพแวดล้อมชิลล์ๆ ของที่นี่ทำให้ศิลปินเชียงใหม่เป็นตัวเองมาก ไม่ได้อยากเป็นเหมือนศิลปินกรุงเทพฯ หรือเป็นเหมือนคนอื่นเลย เอาง่ายๆ อย่างตอนทำค่าย เราไม่ได้สนใจคนรอบข้างเลยว่าเขาจะคิดยังไง เราอยากไปข้างหน้า ทำอะไรสนุกๆ กับศิลปินในค่ายเรา เวลามีคนมาบอกว่ารู้จักพวกเรา ฟังเพลงค่ายเรา ต้องขอบคุณมากๆ เลย ดีใจมากที่นึกถึงกัน”
“คนอาจจะคิดแค่ว่า Minimal Records คือ Solitude Is Bliss เพราะตอนนี้มี Solitude Is Bliss วงเดียวแหละครับที่ดังสุด (หัวเราะ) สิ่งที่ต้องทำต่อคือทำยังไงให้วงอื่นๆ ได้รับผลตอบรับที่ดี เราเลยโยงออกมาเป็นโปรเจกต์ ‘Compilation นกกระจอก’ ในอัลบั้มก็จะมีเพลงของ Solitude Is Bliss 2 เพลง และมีเพลงของอีก 6 วง (Migrate to the Ocean, สภาพสุภาพ, มัชฌิมา, อินธนูและพู่ถุงเท้า, Sustainer, The Bandit Boy) ที่เราอยากให้คนฟังได้รู้จักมากขึ้น”
ชีวิตจริงและความอยู่รอดของศิลปินเชียงใหม่
“ตอนแรกไม่ได้คิดว่าอยากให้ศิลปินในค่ายอยู่ได้ด้วยการเล่นดนตรี แต่มีวันนึงที่เราไปพูดออกรายการ เราบอกว่าเป้าหมายของค่ายเราคือ ‘ทำยังไงก็ได้ให้คนต่างจังหวัดอยากดูพวกเรา ถ้าอยากดูก็มาจ้างพวกเราไปเล่นสิ’ จริงๆ ตอนนั้นเราก็พูดไปเรื่อยนะ (หัวเราะ) แต่หลังจากนั้นกลายเป็นว่าเกิดขึ้นจริง มีคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอยากดู Solitude Is Bliss อยากดู Migrate to the Ocean จ้างพวกเราไปเล่นโดยที่ไม่ต้องเป็นศิลปินที่ประจำอยู่กรุงเทพฯ คำว่าจ้างเราในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าค่าตัวเราต้องแพงหรืออะไรนะ อย่างน้อยก็มีค่าเดินทางให้ คือไม่ว่าพวกเราจะไปเล่นที่ไหนก็ขอให้เท่าทุนไว้ก่อน เวลารับงานต่างจังหวัดก็ต้องลางานประจำจากที่นี่ไป เขาเสียรายได้ครับ เขารักที่จะเล่นดนตรีอยู่แล้ว อย่างน้อยก็ไม่อยากให้ศิลปินต้องออกเงินเอง บางวงที่เริ่มดังก็อาจจะขอค่าตัวนิดๆ หน่อยๆ เห็นเป็นรายได้เข้ามาบ้าง”
“ถ้ามองว่าจะยึดอาชีพนักดนตรีเชียงใหม่อย่างเดียว เขาอยู่ไม่ได้หรอกนะ ศิลปินบางคนเล่นดนตรีตอนกลางคืน เป็นอาจารย์ เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ บางคนช่วยพ่อแม่ทำธุรกิจที่บ้าน อาชีพหลักของศิลปินเราหลากหลายมาก สุดท้ายทุกคนต้องทำงานอื่นเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง”
สองเท้าเดินหน้า สองมือทำสตูดิโอออกแบบ
“นอกจากค่ายเพลง เราแตกไลน์ออกมาทำ Minimal Studio มีทีมงานหลักๆ คือเราเป็นโปรดิวเซอร์ดูเรื่องการดีลงานเป็นหลัก และ แมว-พงศ์กรณ์ อัครเกษมสิทธิ์ เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ และน้องอีกสองคนที่คอยดูแลเรื่องการถ่ายภาพและทำกราฟิกในสตูดิโอ รับทำปกและมิวสิกวิดีโอซัพพอร์ตค่ายแล้วก็เปิดรับงานนอกด้วย”
“อย่างในเทศกาล Chiang Mai Design Week ครั้งล่าสุด เราร่วมกับ TCDC จัดโชว์ Projection Mapping ฉายภาพแอนิเมชั่น 2 มิติภายใต้ธีม ‘DigiCrafted Life’ ที่บอกเล่าความสัมพันธ์ของผู้คน พื้นที่ และศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายในเชียงใหม่ เราเบื่อการพรีเซนต์เรื่องเก่าๆ ก็เลยพยายามนึกถึงอะไรที่เป็นปัจจุบันเลยชวน brightside นักวาดภาพประกอบคนเชียงใหม่มาวาดเพราะงานเขาคาแรกเตอร์ชัดและป๊อปมาก ช่วยให้เรื่องของเราดูวัยรุ่นมากขึ้น เราโชคดีด้วยที่ทาง EPSON เข้ามาช่วยสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือและเทคนิค ด้วยข้อจำกัดของระยะการวางโปรเจกเตอร์กับตึกและแสงรบกวนที่เราเจอ เราเลยต้องใช้โปรเจกเตอร์ความสว่างสูงมากๆ สองตัวในการแก้ปัญหานี้ ซึ่งเทคโนโลยีเลเซอร์โปรเจกเตอร์ของ EPSON ได้เข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้พอดี”
“นอกจากนี้เราทำพวก visual design, digital mapping, ถ่ายรูป ถ่ายมิวสิควิดีโอหรือโฆษณาสั้นๆ ส่วนนี้เราทำเพื่อหาเงินของจริงไม่ได้ทำเพื่ออุดมการณ์เพียงอย่างเดียวแล้ว ตอนนี้เราเปิดออฟฟิศที่ชั้นบนจะเป็นสตูดิโอทำงาน ส่วนชั้นล่างเป็นร้านขายซีดีและแผ่นเสียงให้คนมาซื้อได้ที่นี่ หรือศิลปินที่อยากขายแผ่นก็สามารถเอามาฝากเราได้”
ก้าวต่อไปของ Minimal Records
“เป้าหมายระยะสั้นตอนนี้คือทำยังไงก็ได้ให้น้องๆ วงอื่นได้ไปเล่นต่างจังหวัดมากขึ้น เป็นการบ้านที่เราต้องคิดกันต่อไป ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือจะทำยังไงให้ค่ายไม่เจ๊ง (หัวเราะ) เราไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนจากตรงนี้มาก แต่เราอยากให้ ‘งานอดิเรกที่จริงจัง’ นี้อยู่กับเราไปได้เรื่อยๆ อยากเก็บความสนุกของการทำค่ายไว้ และอยากให้น้องๆ ที่เข้ามาอยู่กับเรามีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็มีเงินกินข้าวจากการขายแผ่นซีดีและเล่นดนตรี”
facebook | MINIMAL RECORD
ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์