แม่นเหมือนตาเห็น The New Abnormal ชื่ออัลบั้มใหม่ของ The Strokes ที่ไปพ้องกับภูมิทัศน์โลกหลังโควิด

Highlights

  • The New Abnormal คือสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 6 ของ The Strokes แม้ฟังดูเหมือนไม่เคยหายไปไหนจากวงการดนตรี แต่อัลบั้มนี้ก็ห่างจากอัลบั้มก่อนหน้าถึง 7 ปี เป็นการกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรีเพราะพวกเขากำลังพาเรากลับไปสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง
  • ชื่ออัลบั้ม The New Abnormal ถูกคิดขึ้นก่อนจะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่หลายเดือน โดยที่พวกเขาก็ไม่คาดคิดว่ามันจะไปพ้องกับ ‘new normal’ ที่จะเป็นภูมิทัศน์ที่เกิดขึ้นในโลกยุคหลังโควิด-19
  • The Strokes ได้ร่วมงานเป็นครั้งแรกกับ ‘Rick Rubin’ โปรดิวเซอร์มือฉมังผู้ปลุกปั้นศิลปินอย่าง Linkin Park, Adele, System of A Down, Kanye West ฯลฯ ทำให้ The New Abnormal นั้นครบเครื่องกว่าอัลบั้มก่อนหน้าหลายเท่าตัว
 

ในช่วงเวลาที่ความฟุ้งเฟ้อของวงการดนตรีอัลเทอร์เนทีฟโลกปลายศตวรรษที่ 20 คลาคล่ำไปด้วยดนตรีโมเดิร์นร็อกเท่ๆ หรือไม่ก็เพลงป๊อป Y2K ที่มีภาพลักษณ์ที่อู้ฟู่ เพ้อฝัน อเมริกันดรีม คล้อยไหลไปกับกระแสเศรษฐกิจที่ติดลมบน ได้เกิดแนวดนตรีร็อกรูปแบบใหม่ขึ้นมา

วงร็อกรูปแบบใหม่ที่ว่ามีรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างจากสองแนวทางข้างต้น คือเน้นความเรียบง่ายของดนตรีและปฏิเสธฉากการโซโล่กีตาร์ที่แสดงความเทพผ่านความเร็วของนิ้วมือ หรือแม้กระทั่งการปฏิเสธจริตที่คล้ายกับการเสแสร้งต่อหน้ามหาชนของดนตรีอเมริกันป๊อป คล้ายกับการปฏิวัติของดนตรีพังก์ร็อก (punk rock) ที่มีต่อดนตรีฮาร์ดร็อก (hard rock) ยุคแฮร์แบนด์ของร็อกสตาร์หัวฟูในอังกฤษ อย่างไรอย่างนั้น

ดนตรีแนวที่ว่านี้ถูกตั้งชื่อในหมู่สื่อมวลชนฝั่งอเมริกาว่า การาจร็อกรีไววัล (garage rock revival) ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับยุคเฟื่องฟูของโพสต์-พังก์รีไววัล (post-punk Revival) ที่ The Strokes ยืนยันมาโดยตลอดว่ามันคือสิ่งเดียวกัน

 

ย้อนรอยผู้สร้าง การาจร็อก’ ยุคใหม่ ที่เปลี่ยนโฉมหน้าเพลงอินดี้ไปตลอดกาล

ช่วงแรกเริ่มของดนตรีการาจร็อกในอเมริกาและแคนาดา ในช่วงทศวรรษที่ 70 หลายต่อหลายวงดนตรีในภูมิภาคดังกล่าวพยายามลอกเลียนวงดนตรีพังก์จากฝั่งอังกฤษที่พวกเขาชื่นชอบ และนำมาผสมกับดนตรีร็อกแอนด์โรลในสไตล์อเมริกัน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะจุดเริ่มต้นของยุคการาจร็อกจริงๆ คือการเล่นและฝึกซ้อมดนตรีอยู่ในโรงรถที่บ้านของตัวเอง

อธิบายแบบกระชับที่สุด การาจร็อกนั้นเปี่ยมไปด้วยเสียงกีตาร์ที่สาดกระจายเหมือนแซ่ แต่มีท่วงทำนองที่คลุมเครือและแปร่งๆ บ้างในบางจังหวะ มีริฟกีตาร์ที่ชวนโยก บ้างก็มีเสียงของคีย์บอร์ดหรือออร์แกนไฟฟ้าช่วยคุมเมโลดี้ บวกกับเสียงร้องที่แหบเสน่ห์ อธิบายให้เห็นภาพมากกว่านี้อีกก็คงจะเป็นเสียงร้องของชายหนุ่มซึ่งกำลังเมาได้ที่ในร้านคาราโอเกะสักแห่งย่านสีลมหลังเที่ยงคืน ซึ่งจริงๆ หลายๆ คนก็สงสัยว่ามันกลายมาเป็นเสน่ห์ของดนตรีแนวนี้ได้ยังไง

และเมื่อเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียล วงดนตรีคลื่นลูกใหม่อย่างสโตรกส์ ที่เป็นวงอินดี้หน้าใหม่ ชัดเจนในแนวทางของการาจร็อก จึงถูกจัดประเภทอยู่ในกลุ่มวงดนตรีโพสต์-พังก์รีไววัล หรือการาจร็อกรีไววัลในฝั่งอเมริกานั่นเอง

สมาชิก The Strokes ไล่จากซ้ายไปขวา Nikolai Fraiture, Albert Hammond Jr., Nick Valensi, Fabrizio Moretti และ Julian Casablancas

Julian Casablancas เด็กน้อยวัย 6 ขวบ ลูกชายของ John Casablancas นักธุรกิจชื่อดังด้านโมเดลลิ่ง เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมฝรั่งเศสในนิวยอร์ก ที่นั่นทำให้เขาได้รู้จักกับ Nikolai Fraiture ที่ปัจจุบันเป็นมือเบสของวง แม้จะยังไม่ประสีประสาเรื่องดนตรีมากนัก แต่จูเลียนเองก็เคยพูดถึงนิโคไลเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นเพื่อนวัยเด็กที่เขาจะชวนออกไปเที่ยวเป็นคนแรก แม้ว่าจะไม่ได้เป็นนักดนตรีก็ตาม เพราะเขาเป็นคนที่มีเสน่ห์ ใครอยู่ใกล้ก็พลอยได้รับอานิสงส์ความเท่ไปด้วย

ต่อมาในวัย 13 ปี จูเลียนถูกส่งตัวไปยังโรงเรียนประจำที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาได้พบกับ Albert Hammond Jr. ผู้ซึ่งกลายมาเป็นมือกีตาร์ของสโตรกส์ ก่อนที่จูเลียนจะย้ายกลับมายังนิวยอร์กเพื่อเข้าเรียนที่ Dwight School ย่านแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สร้างความพร้อมต่อการเข้าเรียนในระดับมหา’ลัย  ที่นี่เขาได้พบกับสมาชิกของสโตรกส์สองคนที่เหลือ ทั้ง Nick Valensi และ Fabrizio Moretti และเป็นครั้งแรกที่จูเลียนคิดจะทำวงดนตรีอย่างจริงจัง ทั้งสามเริ่มเล่นดนตรีด้วยกัน ถึงอย่างนั้นจูเลียนก็เป็นคนเดียวที่เรียนไม่จบ แต่เขาเลือกจะเข้าเรียนที่ Five Towns College เพื่อศึกษาต่อเรื่องดนตรีอย่างจริงจัง

ในช่วงเวลาเดียวกัน Albert Hammond Jr. ย้ายจากสวิตเซอร์แลนด์กลับมายังสหรัฐอเมริกาบ้านเกิด และตั้งใจปักหลักในนิวยอร์กสักพัก จูเลียนสบโอกาสจึงชวนอัลเบิร์ตเข้าร่วมวง และแน่นอนว่าเขาไม่ลืมที่จะชักชวนเพื่อนในวัยเด็กอย่างนิโคไล เป็นอันว่าครบองค์ประชุม ก่อนจะเริ่มทำเดโม่ 14 แทร็ก (เป็นดราฟต์แรกของอัลบั้ม Is This It) ที่มี Last Nite เพลงชาติของการาจร็อกรีไววัลรวมอยู่ในนั้น

 

 

ไม่รู้ว่าอะไรดลใจพวกเขา สโตรกส์ตัดสินใจส่งเดโมทั้งหมดไปยังค่าย Rough Trade ในลอนดอน แทนที่จะส่งค่ายสักแห่งในอเมริกา แต่ผลปรากฏว่าพวกเขาได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากๆ มากกว่าที่จูเลียนคิดเอาไว้ จากการที่ไฟล์ mp3 ของเพลง Last Nite ถูกปล่อยให้ดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ของนิตยสารชื่อดัง NME จนในที่สุดพวกเขาได้ออก EP (Extended Play–อัลบั้มที่มีเพลงมากกว่าซิงเกิล แต่น้อยกว่าสตูดิโออัลบั้ม) สมใจในชื่อ The Modern Age (2001) ประกอบไปด้วย 3 ซิงเกิล และถูกพัฒนาต่อมาจนกลายเป็นอัลบั้ม Is This it ในปีเดียวกัน

 

กว่า 2ปีในวงการดนตรีกับความซวยซ้ำซ้อน จาก ‘9/11’ มาจนถึง ไวรัสโควิด-19

โดยปกติแล้วหากเราจะพูดถึงคุณูปการของศิลปิน อาจต้องพูดถึงหมุดหมายสำคัญ เช่นการแต่งเพลงที่กลายมาเป็นเพลงอมตะ อย่างกรณีของบีเทิลส์ หรือโชว์ระดับตำนาน ที่บันทึกการแสดงสดถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน อย่างกรณีของควีนส์ แต่สำหรับสโตรกส์ ภาพจำของพวกเขาโดยเฉพาะต่อชาวอเมริกัน เป็นอะไรที่ทั้งหวานทั้งขมพอสมควร

สโตรกส์ปล่อยอัลบั้มแรกในปี 2001 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน ในนิวยอร์ก ส่งผลให้พวกเขาต้องเลื่อนการปล่อยอัลบั้มแรก ที่กำหนดชะตาชีวิตทั้งหมดในอนาคตเอาไว้ รวมถึงทัวร์เพื่อโปรโมตก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย

อัลบั้มแรกในฐานะนักดนตรีที่ไม่มีการทัวร์คอนเสิร์ตคงเจ็บปวดอยู่ไม่น้อย และถึงแม้จะสามารถปล่อยอัลบั้มให้ฟังผ่านทางวิทยุและทางออนไลน์ได้ แต่ก็ไม่สามารถขายฟอร์แมตทั้งเทปและซีดีที่สร้างกำไรให้กับค่ายเพลงในช่วงนั้นได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น แทร็กสำคัญในอัลบั้มอย่าง New York City Cops ถูกตัดออกไปเนื่องจากมีเนื้อหาและสถานที่ไปสัมพันธ์กับกับการก่อวินาศกรรม และที่เจ็บปวดที่สุดคือการถูกเปลี่ยนปกอัลบั้ม จากภาพถุงมือสีดำบนบั้นท้ายสาว กลายมาเป็นภาพถ่ายสไตล์ไซคีเดลิกของอนุภาคย่อยอะตอม เพื่อให้วางจำหน่ายได้ในอเมริกา ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่สโตรกส์พบเจอในช่วงของการเทิร์นโปร

 

20 ปีผ่านไป แม้จะไม่มีเหตุการณ์วินาศกรรม แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ส่งผลกระทบกับพวกเขาเต็มๆ อีกครั้ง ที่น่าประหลาดใจมากๆ คือชื่ออัลบั้มที่ถูกคิดเอาไว้ราวกับว่าพวกเขาทำนายอนาคตของมนุษยชาติได้ ‘The New Abnormal’ ถูกคิดขึ้นก่อนจะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่หลายเดือน และพวกเขาก็ไม่คาดคิดว่ามันจะไปพ้องกับ ‘new normal’ ที่จะกลายเป็นภูมิทัศน์ที่เกิดขึ้นในโลกยุคหลังโควิด-19 แต่ก็นับว่าโชคยังเข้าข้างพวกเขาอยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากที่อัลบั้มจะไม่ถูกเลื่อนแล้ว ยอดการจองแผ่นเสียง ซีดี และเทป ก็อยู่ในจำนวนที่น่าพอใจ และพวกเขาก็มีสติพอที่จะรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างมืออาชีพ

เกือบๆ 21 ปีในวงการดนตรีของสโตรกส์ ก่อนที่อัลบั้มใหม่ (ที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นอัลบั้มสุดท้าย) จะถูกผลิตนั้น สโตรกส์สร้างบรรทัดฐานของดนตรีอินดี้ในยุคตั้งไข่เอาไว้มากมาย สิ่งที่พวกเขาได้บุกเบิกเอาไว้ คือการผสมผสานเสียงกีตาร์ที่ดิบกร้าน ทว่าติดหูในเวลาเดียวกัน เสียงร้องที่หยาบแห้ง และเปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายของวัยรุ่นที่คึกคะนอง มั่นใจ และพร้อมจะเสียทุกอย่างที่มี เพื่อดนตรีในแบบที่พวกเขาเชื่อ

จังหวะที่ไหลลื่นของดนตรีในแบบสโตรกส์ได้ทลายกำแพงที่กั้นระหว่างสองแนวทางดนตรี ทั้งความเนี้ยบและเท่อย่างอัลเทอร์เนทีฟและร็อกแอนด์โรลที่มีจังหวะจะโคนได้อย่างหมดจด โดยที่อัตลักษณ์ของสโตรกส์นั้นได้ถูกหลอมรวมเอาไว้ในอัลบั้มชุดแรกของวง Is This It

ปกอัลบั้ม Is This It ทั้งสองเวอร์ชั่น ปกซ้ายเวอร์ชั่นอเมริกา ปกขวาเวอร์ชั่นยุโรป

Is This It มีความหมายกับวัยรุ่นยุค 90s ไปจนถึงมิลเลนเนียลอย่างไม่ต้องสงสัย พวกเขาเป็นทั้งเพื่อนเล่นโลดโผนพร้อมเสี่ยงในทุกจังหวะชีวิต และก็เป็นเพื่อนยามเหงาที่เรามักนั่งเกากีตาร์อยู่ที่บ้าน จนถึงวันนี้ก็ได้กลายเป็นอัลบั้มสามัญประจำบ้านไปเป็นที่เรียบร้อย

ถึงกระนั้น แม้คุณูปการที่สโตรกส์ได้สร้างสรรค์เอาไว้ให้กับวงการดนตรีนั้นไม่อาจปฏิเสธ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าความยิ่งใหญ่เดียวกันนี้เอง ท้ายที่สุดมันกลับมาทิ่มแทงพวกเขาอย่างเจ็บปวด เพราะปรากฏการณ์ความสำเร็จใน 3 อัลบั้มแรกที่สูงสุดจนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมการาจร็อกที่แข็งแรง ทำให้ผู้บุกเบิกนั้นต้องออกไปแผ้วถางหนทางใหม่เสียเอง

 

หากเรายก 3 อัลบั้มแรกของสโตรกส์ ทั้ง Is This It (2001) Room on Fire (2003) และ First Impressions of Earth (2005) เป็นเหมือนคัมภีร์ของดนตรีสไตล์การาจร็อกรีไวรัล ในยุคที่เพลงอินดี้ครองเมืองแล้วละก็ สองอัลบั้มล่าสุดก่อนการมาถึงของอัลบั้มใหม่ ทั้ง Angles (2011) และ Comedown Machine (2013) ก็เป็นผลงานที่ล้มคว่ำแบบไม่เป็นกระบวนเลยจริงๆ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยอดขายหรือเสียงวิจารณ์ที่แทบทุกสำนักต่างก็ยกนิ้ว (กลาง) ให้อย่างพร้อมเพียงถ้วนทั่วกัน และหลังจากที่พวกเขาใช้เวลาอีกหนึ่งปีเพื่อทัวร์สนับสนุนอัลบั้มในปลายปี 2013 ไปจนถึงกลางปี 2014 บวกลบคูณหารอนาคตดูแล้ว คงเข้าใจตรงกันว่า ขืนทู่ซี้อยู่อย่างนี้ มีหวังสักวันคงกลายเป็นวงนิวยอร์กดาดๆ วงหนึ่งเป็นแน่

การพักวง (อย่างไม่เป็นทางการ) เพื่อไปพักผ่อนหาแรงบันดาลใจก็ฟังดูไม่เลว ถึงแม้ในความหมายของร็อกสตาร์มันคือการไปสํามะเลเทเมาและใช้เงินที่หามาได้อย่างบ้าคลั่งก็เถอะ จะดีหน่อยก็ตรงที่พวกเขาแทบจะไม่มีข่าวเสียๆ หายๆ ออกมา และแน่นอนว่าเรายังไม่เห็นการเสียดสี ด่าทอ ไม่แม้กระทั่งความขี้แซะ ออกมาจากช่องทางการสื่อสารส่วนตัวของพวกเขาเลย

ที่มาภาพ: DIY

7 ปีที่สโตรกส์หยุดทำสตูดิโออัลบั้ม แม้จะมีทัวร์คอนเสิร์ตบ้างประปราย พร้อมกับใช้เวลาพักผ่อน แต่สมาชิกทั้ง 5 คน ต่างก็มีไซด์โปรเจกต์เป็นของตัวเอง อย่าง The Voidz วงเอกซ์เพอริเมนทัลร็อกของจูเลียน หรือโซโล่อัลบั้มในฐานะศิลปินเดี่ยวของอัลเบิร์ต และของสมาชิกอีก 3 รายก็เช่นกัน ล้วนเผยให้เห็นตัวตนอีกด้านที่ยังหลงใหลในการทำเพลง โดยไม่ได้สนใจว่าพวกเขาจะยังอยู่ในสปอตไลต์ของวงการเพลงหรือเปล่า อย่างที่ไซด์โปรเจกต์ของแต่ละคนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มันทั้งแป้กและขายไม่ได้

นับจากเหตุการณ์ 9/11 ในช่วงอัลบั้มแรกของพวกเขา มาจนถึงช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ถูกประกาศให้เป็นโรคระบาดใหญ่ สโตรกส์มีซีนของตัวเองที่น่าภาคภูมิใจอยู่มากมายนับไม่ถ้วน การเป็นวงดนตรีมีอายุอีกหนึ่งวงที่ผู้คนยังคงรอคอยที่จะชื่นชมการแสดงสดก็นับว่ายิ่งใหญ่มากๆ แล้ว และทั้งหมดที่ว่ามานี้ ก่อนจะชวนคุยถึงอัลบั้มใหม่ของพวกเขา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สโตรกส์’คือ ‘พระเจ้า’ ในยุคเฟื่องฟูของการาจร็อกรีไววัลอย่างแท้จริง

‘The New Abnormal’ เหล้าใหม่ในขวดเก่า ตามคำเรียกร้องของแฟนๆ

The New Abnormal เป็นสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 6 ของสโตรกส์ แม้ฟังดูเหมือนพวกเขาไม่เคยหายไปไหนจากวงการดนตรี แต่อัลบั้มนี้ก็ห่างจากอัลบั้มก่อนหน้าถึง 7 ปี เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน หากเทียบกับวงร็อกรุ่นราวคราวเดียวกันอย่าง Interpol หรือ Franz Ferdinand ที่ความถี่การออกอัลบั้มนั้นสูงกว่ามาก แต่ภาพรวมของอัลบั้มหลังจากตั้งใจฟังจนจบ เหมือนสโตรกส์กำลังพาเรากลับไปสู่ยุครุ่งเรืองของพวกเขาอีกครั้ง ด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่มันช่างเพลิดเพลินจริงๆ

ต้องบอกว่าที่น่าประหลาดใจมากๆ คือการที่ Pitchfork แพลตฟอร์มของคนรักดนตรี ทั้งออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ และออฟไลน์ผ่านเทศกาลดนตรี ให้คะแนนอัลบั้มนี้ไว้เพียงแค่ 5.7 สวนทางกับการโหวตของแฟนเพลงที่ได้คะแนนไปถึง 9.0 แน่นอนว่าผู้โหวตทั้งหมดเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ ไม่ใช่ anonymous น่าสนใจมากกว่าอัลบั้มนี้ได้สนทนากับแฟนๆ ของสโตรกส์อย่างตรงไปตรงมา อย่างน้อยๆ ก็มากกว่าสองอัลบั้มก่อนหน้า

สโตรกส์ปล่อยซิงเกิลแรก At The Door ในช่วงต้นปี ที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าไม่รักมาก ก็จะเกลียดเข้าไส้เลยทีเดียว ทั้งการปล่อยเพลงช้าเป็นซิงเกิลแรกก็สร้างความผิดหวังให้กับแฟนคลับขาแดนซ์ของสโตรกส์แล้ว หนำซ้ำยังมีเพียงเสียงคีย์บอร์ดที่พลุ่งพล่านอยู่เกือบครึ่งเพลง บวกกับเสียงกีตาร์ที่ไม่ค่อยฉูดฉาด กลบด้วยเสียงสังเคราะห์จำนวนมาก แต่ยิ่งฟังมากเท่าไหร่ผมก็ยิ่งหลงรักมันมากเท่านั้น โดยเฉพาะมิวสิกวิดีโอที่เป็นแอนิเมชั่น แม้จะไม่เข้าใจสิ่งที่สโตรกส์ต้องการจะพูดมากนัก แต่การกลับมาครั้งนี้ กับซิงเกิลแรกแบบนี้ มันช่างสุขุมนุ่มลึกเหลือเกิน

 

 

I can’t escape it

Never gonna make it

Out of this in time

I guess that’s just fine.

 

สโตรกส์ให้ภาพแรกกับเราด้วยแทร็กที่พูดถึงความแปลกแยกจากสังคม ความเปราะบางโดยเฉพาะกับมิติในครอบครัว ไม่น่าแปลกใจที่จูเลียนในวัย 41 ปี ที่เป็นทั้งสามีและพ่อ จะถ่ายทอดเรื่องราวที่ว่านี้ผ่านเสียงร้องที่บาดลึกน่าค้นหาของเขา

ถึงตรงนี้ ต้องบอกอีกครั้งหว่าหากคุณรู้สึกชิงชังในซิงเกิลแรก ช่วงเวลาที่เหลือของทั้งอัลบั้ม จะเป็นความท้าทายที่จะพาคุณไปผจญภัยในเส้นเสียงที่เลี้ยวลดและคดเคี้ยว แต่ถ้าคุณรักเพลงนี้ อีกทั้ง 8 บทเพลงหลังจากนี้จะเป็นความหฤหรรษ์อย่างแท้จริง

ไม่รอช้า เพียงหนึ่งสัปดาห์ให้หลัง พวกเขาเลือก Bad Decisions เป็นซิงเกิลที่สอง ด้วยความเร็วของจังหวะเพลง บวกกับไลน์กีตาร์ที่พาเรากลับไปในยุครุ่งเรืองของสโตรกส์ แทร็กนี้ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก

 

 

Bad Decisions คงทำให้ใครหลายคนนึกถึงหนุ่มๆ สโตรกส์บนเวที จังหวะแบบนี้ ริฟกีตาร์ประมาณนี้ เสียงมึนๆ ของจูเลียนที่เคล้าไปกับเมโลดี้แบบออริจินัลของสโตรกส์ มันคุ้มค่ากับการรอคอยจริงๆ

สถานการณ์ของโควิด-19 ส่งผลไม่มากก็น้อย ทำให้ซิงเกิลที่สามของพวกเขา Brooklyn Bridge To Chorus ไม่สามารถถ่ายทำมิวสิกวิดีโอได้ และแน่นอนว่าโรคเลื่อนเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ จากที่ตั้งใจจะปล่อยซิงเกิลนี้ในช่วงกลางเดือนมีนาคม กลับกลายว่าต้องล่วงเลยไปปล่อยในต้นเดือนเมษายน ก่อนปล่อยอัลบั้มเต็มเพียงไม่กี่วัน

 

 

Brooklyn Bridge To Chorus เป็นอีกแทร็กที่ครบเครื่อง และไม่แปลกใจที่ถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับที่สาม ซาวด์ดนตรีในยุคปลายปี 80s ผสมกับโน้ตกีตาร์ที่ชวนโยก คู่ขนานไปกับเสียงคีย์บอร์ดที่มีกลิ่นอายของเพลงป๊อปยุค 60s-70s หน่อยๆ และท่อนยียวนชวนหาเรื่อง “And the 80s song, yeah how did it go?… And the 80s bands, where did they go?” เป็นอีกแทร็กที่คงไม่ทำให้แฟนสโตรกส์ผิดหวังแน่ๆ

หลังอัลบั้มเต็มถูกปล่อย ผมฟังทั้ง 9 แทร็กในอัลบั้มอย่างเพลิดเพลิน และแทบจะพูดได้เต็มปากว่าเกินความคาดหมายไปมาก อะไรที่ทำให้สโตรกส์คัมแบ็กได้อย่างงดงามขนาดนี้

 

คำตอบนั้นแสนง่าย เมื่อเหลือบไปเห็นชื่อของโปรดิวเซอร์ในอัลบั้ม คีย์แมนคนสำคัญอย่าง ริก รูบิ้น ในตำนาน ผู้ปลุกปั้นมาแล้วทั้ง Linkin Park, Adele, Metallica, Slayer, System of A Down, Rage Against The Machine, Kanye West, Kendrick Lamar และอีกมากมายนับไม่ถ้วน การได้ร่วมงานกับโปรดิวเซอร์มือฉมังระดับนี้เป็นครั้งแรก ก็เหมือนได้การันตีคุณภาพไประดับหนึ่งแล้ว

ในภาพรวมของทั้งอัลบั้ม The Adults Are Talking เป็นแทร็กหนึ่งที่เริ่มต้นได้สวย บีตกลองที่น่ารักกำลังดี อุ่นเครื่องเราก่อนจะเข้าสู่แทร็กสองอย่าง Selfless ที่ดึงจังหวะชวนดราม่าเล็กน้อย จูเลียนจากที่เป็นตัวประกอบในแทร็กแรก เสียงของเขาถูกเผยให้เห็นความหวาน พร้อมๆ กับอัลเบิร์ตที่ใช้เวลาในท่อนโซโล่ได้หมดจดสมเป็นสโตรกส์จริงๆ

แทร็กที่ห้า Eternal Summer ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในกลุ่มแฟนคลับสโตรกส์ หลายคนบอกว่าพวกเขาพยายามจะทำให้ตัวเองดูชิลล์ เพื่อกลบเกลื่อนความแก่ของตัวเอง ด้วยการใส่สไตล์ของดนตรีที่หลากหลายเข้ามาในเพลงเดียว ไล่มาตั้งแต่การาจร็อก เฮาส์ ไปจนถึงฟังก์ในบางพาร์ต เสียงประสานของสมาชิกและเสียงหลบสูงของจูเลียน เห็นชัดว่าฝีไม้ลายมือยังไม่หายไปไหน และก็ยังสามารถปล่อยของได้เรื่อยๆ ซึ่งเข้ากันมากกับแทร็กถัดไปที่เป็นซิงเกิลแรก At The Door ถูกบรรเลงขึ้นมา

 

Why Are Sundays So Depressing เป็นแทร็กลำดับที่เจ็ด มาพร้อมซาวด์กีตาร์น่าหลงใหลอีกหนึ่งเพลง เอฟเฟกต์ที่อัลเบิร์ตเลือกใช้ ส่งให้เพลงมีมิติเพิ่มขึ้นมากๆ เสียงกีตาร์ริทึมที่ถูกสาด สลับกับตัวโน้ตกีตาร์ใส่เอฟเฟกต์ ก่อนจะส่งต่อไปยังแทร็กที่แปด Not the Same Anymore ที่เปลี่ยนบรรยากาศกันดื้อๆ กลับมาดึงดราม่ากันอีกครั้ง

Ode to the Mets เป็นแทร็กสุดท้ายของอัลบั้ม และกลายมาเป็นแทร็กที่ผมชอบที่สุด มันเหมือนว่าจะไม่เศร้า ตั้งใจจะไม่ฟูมฟาย แต่กลับกลายเป็นว่ามันแฝงความหม่นไว้เต็มอัตรา มากกว่าแทร็กที่แล้วที่ตั้งใจจะดราม่าเสียอีก

 

Gone now are the old times

Forgotten, time to hold on the railing

The Rubix cube isn’t solving for us

 

เนื้อหาที่หม่นหมองถูกนำเสนอผ่านเสียงที่คุ้นเคยของจูเลียน พร้อมกับริฟกีตาร์ที่เท่ที่สุดในอัลบั้มนี้

สโตรกส์ปิดฉาก The New Abnormal ได้งดงามกว่าที่คิด

แม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดายที่อัลบั้มใหม่ของสโตรกส์ถูกปล่อยมาในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของมนุษยชาติอีกครั้ง สถานการณ์ที่เลวร้ายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลให้พวกเขามีการแสดงสดก่อนเปิดตัวอัลบั้มเพียง 7 ครั้งเท่านั้น นับตั้งแต่ต้นปี

ไลฟ์ของ The Strokes ณ กรุงลอนดอนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่มาภาพ : DIY

“ไลฟ์ทั้ง 90 นาทีของสโตรกส์ ทำให้เราระลึกได้ว่าทำไมชายทั้ง 5 คนนี้ ถึงเปลี่ยนโฉมวงการดนตรีในช่วงต้นศตวรรษที่ 21” บรรณาธิการนิตยสาร DIY สรุปความถึงโชว์ของสโตรกส์ที่กรุงลอนดอนเอาไว้

 

7 ปีที่สโตรกส์ไม่มีอัลบั้มใหม่ การกลับมาคราวนี้ส่งผลให้บัตรถูกขายหมดภายในระยะเวลาครึ่งนาที

ใช่ครับ ครึ่งนาทีจริงๆ เพราะผมเองก็พยายามจะจองบัตรเพื่อเข้าชมคอนเสิร์ตเหมือนกัน และถึงแม้ว่าจะมีทั้งโน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และโทรศัพท์มือถือ รอเวลาคลิกผ่านความเร็วอินเทอร์เน็ตมหาวิทยาลัยที่เพียงพอจะโหลดหนังบลูเรย์ดีๆ สักเรื่องภายในระยะเวลาไม่กี่นาที แต่บุญบารมีที่สั่งสมไว้ก็ไม่เพียงพอ เป็นอีกโชว์ที่น่าเสียดายมาก

แม้จะผิดหวัง แต่เชื่อว่าแฟนๆ ของสโตรกส์ในยุโรปคงจะช้ำใจยิ่งกว่า เพราะในช่วงปลายเดือนมีนาคม พวกเขามีทัวร์โปรโมตอัลบั้มใหม่หลายประเทศในยุโรป ซึ่งแน่นอนว่าทัวร์ทั้งหมดถูกยกเลิก และไลฟ์คอนเสิร์ตของพวกเขาก็จบลงในวันที่ 9 มีนาคม ที่ซีแอตเทิล ประเทศบ้านเกิด ทำให้การปล่อยอัลบั้มในวันที่ 10 เมษายนนั้นเงียบเชียบแบบไม่ต้องสืบ ยังดีที่พวกเขาทั้ง 5 คน ร่วมกันไลฟ์พูดคุยเปิดตัวอัลบั้มจากบ้านของแต่ละคน ก็นับเป็นภาพที่แปลกตาสำหรับร็อกสตาร์ที่ควรจะเปิดอัลบั้มแบบไฟลุกโชนอยู่ในไลฟ์เฮาส์สักแห่ง แต่ภาพแบบนี้ก็อบอุ่นไปอีกแบบ

สโตรกส์ไลฟ์ตอบคำถามแฟนๆ จากที่บ้านของตัวเองในช่วง Quarantine หลังจากที่โปรแกรมทัวร์ถูกยกเลิกทั้งหมด

สำหรับสโตรกส์ พูดให้ถึงที่สุด มันเป็นความเฟื่องฟูของดนตรีอินดี้ในช่วงเวลาหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ จุดหนึ่งที่ทำให้ vibe ต่างๆ ในโลกที่เกี่ยวข้องกับวงการดนตรีมันน่าหลงใหลและไม่จำเจได้ถึงขนาดนี้ ทั้งความมันในการเล่นสดที่ไม่สนใจความถูกต้องในแง่ของตัวโน้ตและคุณภาพของเสียง แฟชั่นที่ไม่สนใจบริบท รวมถึงเนื้อหาที่พูดถึงตั้งแต่เรื่องใต้สะดือไปจนถึงการเมืองระหว่างประเทศ เหล่านี้ช่วยให้สโตรกส์เข้าไปอยู่ในใจของใครหลายๆ คน

กระนั้นก็ตามผมคงมิบังอาจไปบอกใครต่อใครว่าหากไม่ฟังวงนี้แล้วจะเสียใจ เสียดาย หรือเกิดความสูญเสียใดๆ เพียงแต่อยากแนะนำรสชาติของดนตรีประเภทหนึ่งที่อาจยังไม่คุ้นหูใครหลายๆ คน ไม่ต้องกลับไปเริ่มที่อัลบั้มแรกๆ ก็ได้ เพราะ The New Abnormal เป็นอีกอัลบั้มหนึ่งที่ควรค่าแก่การฟังในยามที่ชีวิตต้องการสีสันแบบนี้ และแม้จะไม่มีอะไรที่อยู่ในระดับที่ยอดเยี่ยมและเหนือความคาดหมายอย่างที่พวกเขาเคยทำเอาไว้

แต่ทุกๆ ส่วนของอัลบั้มก็วางอยู่บนพื้นฐานของคำว่า ‘คุณภาพ’ ที่วงดนตรีมีอายุวงหนึ่งจะมอบให้เราในช่วงที่ยากลำบากเช่นนี้ได้

 

อ้างอิง

DIY Magazine

NME

Pichfork

The Guardian

The New Yorker

AUTHOR