Of Monster and Men : แม้ไม่เด่นไม่ดังในอัลบั้มใหม่แต่ไม่หันหลังกลับไปเพราะได้ปอกเปลือกตัวตน

Highlights

  • Fever Dream คือสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 3 ของ Of Monster and Men เป็นอัลบั้มแรกที่ Nanna Bryndís Hilmarsdóttir ฟรอนต์แมนของวง เขียนเพลงทั้งอัลบั้มจากคอมพิวเตอร์ หลังจากที่แทบทุกเพลงในสองอัลบั้มแรกเกิดขึ้นจากปากกาและกีตาร์โปร่งของเธอ เป็นคำตอบต่อข้อสงสัยที่ว่าทำไมอัลบั้มนี้จึงมีเสียงสังเคราะห์จำนวนมากปะปนอยู่
  • Fever Dream ถูกวิจารณ์อย่างหนักหลังการออกตัวของแนนน่าว่าเป็นอัลบั้มที่ทั้ง ‘ป๊อปและสว่าง’ ขึ้นกว่าสองอัลบั้มแรก และแน่นอนว่าไม่เป็นที่ถูกใจแฟนเพลงในยุคแรก
  • เมื่อเดือนที่ผ่านมาวงประกาศตาราง Fever Dream Tour ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีเพียงสิงคโปร์และกรุงเทพฯ เท่านั้น แม้จะเคยทัวร์เอเชียหลายครั้ง แต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ที่มาภาพ: Billboard

“ในโลกของศิลปะและในหัวใจศิลปิน ไม่แปลกหากจะพูดถึงความทะเยอทะยานที่จะประสบความสำเร็จ ทั้งชื่อเสียง รายได้ และที่สำคัญที่สุดคือ ‘รางวัล’ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่อยู่ในหัวขณะที่กำลังผลิตผลงาน เพราะหากมัวแต่คิดว่าจะผลิตงานยังไงให้ได้รางวัล ผลงานเหล่านั้นในระยะยาวอาจไม่สามารถบ่งบอกและเชื่อมโยงอะไรกับตัวเองได้เลย

นี่เป็นสิ่งที่น่าพูดถึงที่สุดก่อนฟัง ‘Fever Dream’ สตูดิโออัลบั้มชุดที่สามของ Of Monster and Men (OMAM) ที่นอกจากจะไม่ ‘คัมแบ็ก’ ในวงการดนตรีแล้ว ทั้งยอดขายและทิศทางการโปรโมตก็เป็นปัญหามากเช่นเดียวกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ OMAM ไม่ได้คาดคิดมาก่อน

 

ทั่วโลกต่างรู้จัก OMAM ในฐานะวงดนตรีไอซ์แลนด์ที่มีกลิ่นอายโฟล์ก ร็อก ป๊อป เมโลดี้สวยงาม ฟังง่าย สบายหู นักข่าวสายดนตรียกให้เป็นวง orchestral folk ของทศวรรษ ด้วยเนื้อหาที่ไม่สลับซับซ้อนถึงขนาดต้องปีนบันไดฟัง สอดแทรกไปด้วยเรื่องราวคติชนท้องถิ่นในไอซ์แลนด์ ที่สมาชิกปัจจุบันทั้งห้าโดยเฉพาะฟรอนต์แมน Nanna Bryndís Hilmarsdóttir เติบโตมาในวัยเด็ก เหล่านี้ต่างส่งให้ ‘My Head Is an Animal’ (2011) สตูดิโออัลบั้มแรก นำพาให้ OMAM โด่งดังจนฉุดไม่อยู่ เพียงชั่วข้ามคืนอัลบั้มขึ้นสูงถึงอันดับที่ 6 ใน Billboard สัปดาห์แรก และเป็นอันดับที่สูงที่สุดของวงจากไอซ์แลนด์ที่ทำได้ในชาร์ตอเมริกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ยอดดาวน์โหลดของสองซิงเกิลแรกของวงก็มีจำนวนมหาศาล ทั้ง ‘Dirty Paws’ และ ‘Little Talks’ กลายเป็นแทร็กสามัญประจำเครื่องของคนฟังเพลงอินดี้หลายคนในช่วงนั้น โดยเฉพาะเพลงหลังที่มียอดการเข้าถึงเฉพาะในยูทูบมากถึง 270 ล้านวิวเข้าไปแล้ว ไม่บ่อยนักที่วงอินดี้โฟล์กป๊อปจะสร้างความนิยมได้มากขนาดนี้ เช่นเดียวกับแทร็กอื่นๆ ในอัลบั้มแรกมันได้เปล่งรัศมีให้ OMAM เป็นที่จับตามองของเหล่านักวิจารณ์จนกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการอินดี้โฟล์กทั้งในยุโรปและอเมริกาทันที

 

 

ควบคู่ไปกับการที่วงถูกโปรโมตอย่างหนักในอเมริกา OMAM มีผลผลิตที่ไปเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือแม้กระทั่งโฆษณาไอโฟน ทำให้เป็นที่จับตามองตลอดการทัวร์มากขึ้นไปอีก แต่หากย้อนกลับไปดูชื่อเสียงของพวกเขาในบ้านเกิดที่ไอซ์แลนด์ นับว่ายังห่างไกลจากไอคอนของวงการไอซ์แลนดิกร็อกอย่าง Sigur Rós รวมถึง Björk ราชินีในวงการเพลงทดลองของยุโรปอยู่มากมายนัก

 

My Head Is an Animal และ Beneath the Skin

“วงไอซ์แลนดิกโฟล์กร็อกได้ยืนยันเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะหันมาเอาดีทางด้านดนตรีป๊อปกระแสหลักอย่างเต็มตัว”

นักวิจารณ์หลายคนพูดเอาไว้แบบนี้เมื่อครั้งที่ได้ฟัง ‘Fever Dream’ เต็มอัลบั้มเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หากย้อนกลับไปดูความสำเร็จในอัลบั้มแรกและผลพวงที่ตามมา ทำให้พวกเขาออกอีพีในปีเดียวกันนั้น ตามมาด้วยอัลบั้มแสดงสดของตัวเองทันที โดยไม่ต้องรอให้มีสตูดิโออัลบั้มชุดที่สองและสามเหมือนอย่างศิลปินทั่วๆ ไป เมื่อเป็นแบบนี้เราจะพูดได้ไหมว่า ท่าทีของอัลบั้มแรกนั้นแม้จะมีกลิ่นอายของความเป็นโฟล์กไอซ์แลนด์อยู่บางๆ แต่ความป๊อปของมัน ทำให้ตีตลาดทั้งอเมริกาและยุโรปได้อย่างไม่มีคู่แข่งในช่วงหลังของปี 2011

‘My Head Is an Animal’ มีเนื้อหาหลักพูดถึงคติชนหรือเรื่องเล่าอย่างนิทาน นิยายปรัมปรา ของไอซ์แลนด์ค่อนข้างมาก ซึ่งสร้างความแตกต่างและโดดเด่นออกมาจากตลาดเพลงในช่วงนั้นมากพอสมควร

“อัลบั้มแรกมีสัตว์เยอะ เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ พวกเราชอบเรื่องสัตว์ สัตว์ประหลาด และผี ของไอซ์แลนด์มาก เรื่องแบบนี้มีเยอะและน่าสนใจ บวกกับที่ไอซ์แลนด์อากาศหนาวและค่ำคืนจะยาวนานมาก หากได้ลองใช้ชีวิตที่นั่นคุณจะกลัวสัตว์และผีอย่างแน่นอน” แนนน่าเล่าถึงภาพรวมของเนื้อหาในอัลบั้มแรก ที่คงหายคาใจกับโทนมืดดำและหนาวเหน็บที่อยู่ในแทบจะทุกวิดีโอของอัลบั้ม

ในแง่ของผลผลิต อีพีชื่อ ‘Into the Woods’ ถูกผลิตขึ้นเพื่อตีตลาดในอเมริกา เพราะก่อนหน้านั้น ‘My Head Is an Animal’ ยังไม่มีเวอร์ชั่นที่ผลิตในต่างประเทศ อีพีนี้จึงเป็นใบเบิกทางให้กับวง แน่นอนว่าทั้ง 4 บทเพลงในอีพีนี้หาฟังได้ในอัลบั้มแรก แต่ฮาร์ดก๊อบปี้ทั้งหลาย ทั้งซีดีและแผ่นเสียงไวนิล แม้มีเงินก็คงไม่สามารถหาได้ง่ายๆ ราคาในปัจจุบันพุ่งสูงขึ้นเป็น 3-4 เท่าตัว ประกอบกับจำนวนการผลิตที่น้อยมากๆ ทำให้ OMAM สร้างแรร์ไอเทมของวงได้ โดยที่ยังไม่ได้แม้แต่วางแผงอัลบั้มแรกอย่างเป็นทางการในต่างประเทศเสียด้วยซ้ำ

เช่นเดียวกับอัลบั้มพิเศษ ‘Live from Vatnagarðar’ ที่ปล่อยในปี 2013 หลังจากอัลบั้มแรกไม่ถึงสองปี หลังจากทัวร์และโปรโมตอัลบั้มอย่างหนักหน่วง จนสมาชิกของวงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าแทบจะไม่ได้พัก พวกเขาให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าสมองตีบตันถึงขั้นเขียนอะไรไม่ออก แม้แต่จะกล่าวขอบคุณแฟนเพลงในโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ ก็ยังเขียนไม่ได้

แต่เมื่อก้าวมาเป็นศิลปินค่ายใหญ่ของโลกอย่าง Universal ตารางทัวร์ก็ต้องมี และความถี่ของการปล่อยงานก็ต้องตามมา วงออกอัลบั้มใหม่ ‘Beneath the Skin’ ในช่วงกลางปี 2015 แม้จะให้หลังจากอัลบั้มแรกนานถึง 4 ปี แต่หากไม่นับรวมเวลาการทัวร์รอบโลก รวมถึงการผลิตอีพีและอัลบั้มแสดงสด เวลาของพวกเขาก็มีไม่มากนักในการตกตะกอนเพื่อผลิตผลงานชิ้นที่สอง ซึ่งเป็นชิ้นสำคัญและเป็นชิ้นที่ศิลปินหลายต่อหลายคนมักเอาชื่อเสียงที่เคยโด่งดังมาทิ้งไว้ก่อนหันหลังให้กับวงการดนตรีไป

เสียงวิจารณ์ ‘Beneath the Skin’ ค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งคนชอบและคิดว่าเป็นการเติบโตที่เหมาะสมกับ OMAM ขณะเดียวกันความเคร่งขรึมและเนื้อหาที่หนักแน่นกว่าเดิมก็สร้างตำหนิรอยใหม่ให้กับโฟล์กไอซ์แลนด์วงนี้ไม่น้อย ทั้งอัลบั้มขับเคลื่อนด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิต ความเหงา ตัวตน และจิตวิญญาณ พร้อมด้วยเสียงดนตรีที่อัดแน่น แต่เสียงร้องของทั้งแนนน่าและ Ragnar Þórhallsson ยังคงเปี่ยมด้วยอารมณ์ การได้โปรดิวเซอร์อย่าง Rich Costey ที่ฝากผลงานไว้กับวงระดับโลกมาแล้วอย่าง Muse, Death Cab for Cutie และ Foster the People ทำให้สมาชิก OMAM ที่อาศัยอยู่ในสตูดิโอทั้งในไอซ์แลนด์และลอสแอนเจลิสจำเป็นต้องรีดเค้นความคิดสร้างสรรค์ออกมาจนหมดเพื่อผลิตอัลบั้มดังกล่าว

 

Beneath the Skin เปิดตัวด้วย ‘Crystals’ เป็นซิงเกิลแรก แต่สร้างความฮือฮาด้วยการปล่อย lyric video ที่มีนักแสดงตลกชื่อดังของไอซ์แลนด์ Siggi Sigurjóns มาเป็นแขกรับเชิญในบทเพลงที่จริงจังและไม่ตลกเลยสักนิด แม้จะเป็น lyric video แต่ราวกับว่าเขาร้องทุกท่อนออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ ทำให้เราเชื่อสนิทตั้งแต่ฟังจบครั้งแรกและไม่คิดว่ามันเป็นเพียงแค่ lyric video ด้วยซ้ำ ตามด้วย ‘I of the Storm’ ที่ยังคงใช้วิธีการเล่าแบบเดิมคือ lyric video แต่เชิญนักแสดงละครชื่อดังชาวเดนมาร์ก Atli Freyr Demantur มาร่วมแสดงพลังในวิดีโอชิ้นนี้ ซึ่งแน่นอนว่าแม้อัลบั้มจะผลิตในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่ในแง่ของยอดขายก็ไม่ได้สร้างความผิดหวังเลยแม้แต่น้อย อัลบั้มขึ้นอันดับหนึ่งใน iTunes Chart ทั้งอเมริกาและแคนาดา

และหากเคยชมภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games: Catching Fire มาแล้ว ก็ต้องขอบคุณใครก็ตามที่เลือก OMAM ให้มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำซาวนด์แทร็กภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะวงเองก็คงค้นพบว่าพวกเขาเหมาะกับภาพยนตร์สไตล์นี้มากแค่ไหน และก็เป็นเรื่องน่าเสียดายอีกเช่นเดียวกันที่ซิงเกิล ‘Silhouettes’ ไม่ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้มที่สองของวง ทั้งที่เป็นช่วงคาบเกี่ยวกันและน่าจะเป็นช่วงเดียวกับที่แนนน่าเขียนเพลงในอัลบั้มที่สอง และอาจเป็นเพลงที่เธออาจ (เคย) เลือกที่จะบรรจุรวมอยู่ใน ‘Beneath the Skin’ เสียด้วยซ้ำ แต่คงเป็นเหตุผลด้านลิขสิทธิ์

อย่างที่บอกว่าทุกคนคงเคยได้ยินเพลง Little Talks มาแล้วเป็นร้อยๆ รอบ แม้จะชอบหรือไม่ก็ตาม ต้องยอมรับว่า OMAM ได้ผลิตเพลงอินดี้ป๊อปที่ติดหูมากๆ ซึ่งวิธีการใช้ vocal harmony สร้างอัตลักษณ์ให้กับวงได้อย่างชัดเจน รวมถึงการใช้เครื่องเป่าและเสียงประสานที่หนักแน่นของสมาชิก แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ความสำเร็จของ OMAM อาจจะทำให้ถูกจัดประเภทไปเป็นอินดี้ป๊อปอย่างไม่ค่อยแฟร์นักหากจะพูดถึง genre อย่างละเอียด เพราะวงที่แนวเพลงใกล้เคียงอย่าง The Lumineers และ Mumford & Sons ที่เริ่มโด่งดังขึ้นมา ก็ถูกจัดอยู่ในประเภทนี้แทบทั้งสิ้น พูดง่ายๆ ว่าอินดี้โฟล์กหรือโฟล์กร็อกก็ยังไม่ใช่ genre หลักที่เรียกว่าเป็นตำแหน่งแห่งที่ของ OMAM

 

จุกพลิกผันทางความคิดของ OMAM

อาจจะบอกไม่ได้ OMAM เป็นวงที่ดังสุดจากไอซ์แลนด์ เพราะมีศิลปินอย่าง Björk และ Sigur Rós แต่ยังไงก็ตามสถิติที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่า OMAM ขายเพลงได้เยอะกว่า และ ‘Little Talks’ ก็ถูกเล่นในวิทยุช่วงซัมเมอร์นับล้านครั้ง อีกทั้งเป็นเพลงแรกจากไอซ์แลนด์ที่มีคนฟังมากกว่า 1 พันล้านครั้งบน Spotify และยังส่งผลให้อัลบั้มชุดที่สองของวงมียอดการเข้าถึงที่สูงไม่แพ้กัน

แต่นั่นก็เป็นช่วง 5 ปีแรกของการทำวง และอัลบั้มชุดล่าสุดถูกปล่อยออกมาในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เป็นปีที่ 9 ของการทำวงดนตรีวงนี้

บ่อยครั้งที่แนนน่ามักสะท้อนเรื่องราวผ่านการเดินทางรอบโลก การพบปะแฟนเพลงจากทั่วสารทิศ ผ่านบทสัมภาษณ์และคลื่นวิทยุตามที่ต่างๆ ประเด็นที่น่าสนใจที่เธอมักพูดอยู่เสมอคือ ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ที่ส่งผลกับความคิดในการเขียนเพลง

“เราแทบไม่มีเวลาจะตกตะกอนเรื่องราวของชีวิตเลยเพราะทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก เสมือนอยู่ใจกลางพายุ ทุกอย่างรอบตัวหมุนไวมาก แต่ตัวคุณกลับอยู่นิ่ง พวกเราทัวร์เยอะมากนะ มากจนไม่มีเวลามานั่งคิดว่าทุกอย่างมันมหัศจรรย์มากๆ สถานที่ไปเล่นก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ คนก็เริ่มเยอะขึ้น ความสำเร็จโด่งดังมาไวมากๆ แล้วมันก็ผ่านไป เราเก็บเกี่ยวอะไรจากมันไม่ได้เลย” แนนน่าให้สัมภาษณ์กับสื่อในไอซ์แลนด์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากความโด่งดังชั่วข้ามคืน

ที่มาภาพ : Iceland Review

แร็กนาร์ นักร้องอีกคนของวงเห็นในทางเดียวกันว่า “8 ปีก่อนเราแทบไม่มีความคิดว่าหน้าตาของ OMAM ตอนนี้จะเป็นยังไง แต่จนแล้วจนรอดเราอยู่มาถึงปีที่ 9 และปล่อยอัลบั้มใหม่ Fever Dream ออกมา ฉันดีใจมากที่เราได้ทำอัลบั้มแบบนี้ออกมา อัลบั้มที่ไม่เหมือนเดิม แปลกใหม่ สิ่งที่ฉันร้องในแทร็ก ‘Ahay’ ที่ว่า ‘You think you know me, but do you really?’ มันเป็นจริงเสียที คือในแง่หนึ่งมันก็รู้สึกดีนะที่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับแฟนเพลง”

นักวิจารณ์ของ NME พูดเอาไว้ได้น่าสนใจว่า มันอาจเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่สมบูรณ์แบบนัก แต่เขามักนึกถึงความสำเร็จอย่างท่วมท้นของวง MGMT ที่เริ่มด้วยชื่อเสียงที่ดังพลุแตกมาก แต่ต้องมานั่งปรับมุมมองด้านศิลปะภายในวงกันทีหลัง เช่นเดียวกับ OMAM ที่ใช้อัลบั้มใหม่นี้ปฏิเสธความคาดหวังที่ทุกคนเห็นว่าพวกเขาเป็น หลายคนชอบมองว่าวงทำเพลงเพื่อติดชาร์ตเท่านั้น แต่ว่าอัลบั้มใหม่นี้เป็นการเสนอผลงานที่แข็งแรงที่สุด เป็นการก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนของวงอย่างเห็นได้ชัด และหวังว่าวงนี้จะกล้าก้าวออกไปอีกเรื่อยๆ

 

Fever Dream อาจเป็นการออกห่างจากสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเราเป็นโดยปกติ เพลงใน ‘My Head Is an Animal’ มีเมโลดี้ที่หอมหวาน มีเสียงผิวปาก ปรบมือ และหลายอย่างที่น่าจดจำ แน่นอนมันคือตัวตนของเราในตอนนั้น ส่วน ‘Beneath the Skin’ ก็สะท้อนตัวตนของเราเหมือนกับชื่ออัลบั้มเลย มันเป็นการครุ่นคิดเรื่องภายในเพื่อประสบการณ์ที่ลึกกว่าเดิมของเรา” แร็กนาร์พยายามอธิบายความแตกต่างของทั้งสามอัลบั้ม

เช่นเดียวกันกับวง นอกเหนือไปจากการทำเพลงที่ก้าวข้ามขีดจำกัด วงก็เห็นว่าตอนนี้พวกเขาได้รับอิสรภาพที่จะสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้นกว่าเดิม แม้จะดูเป็นการโยนภาระให้กับคนฟังไปสักหน่อย แต่เราอาจต้องทำความเข้าใจและลองดูว่าเอาเข้าจริงแล้วเรารู้จักพวกเขาแล้วหรือยัง

แนนน่าเป็นศิลปินที่ให้ความสำคัญกับวิธีคิดมากๆ เธอเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นเหมือนจุดศูนย์รวมทุกอย่างที่ทำให้วงดนตรีวงหนึ่งขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้โดยไม่หยุดอยู่กับที่

“ความคิดสร้างสรรค์เป็นเหมือนแขนของคุณ ส่วนใหญ่เรามักจะไม่รู้ตัวหรอกว่าเราเป็นคนสร้างสรรค์หรือไม่ แต่เราก็ทำงานตามบทบาทของตัวเองในที่ที่แตกต่างออกไปเรื่อยๆ จนเราคุ้นชินกับมัน ความสร้างสรรค์มันอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของสิ่งเหล่านี้แหละ ก็อาจเป็นไปได้ว่าพอเห็นศิลปินอย่าง Björk และ Sigur Rós โด่งดัง สร้างผลงานมากมาย เราก็เลยมองเห็นความเป็นไปได้สำหรับตัวเอง มันสร้างความคิดที่ว่าเราก็ทำแบบนั้นได้เหมือนกัน นี่แหละมั้งที่ทำให้พวกเราอยากลองอะไรใหม่ๆ ลองอุปกรณ์ใหม่ วิธีการโปรโมตแบบใหม่ เพราะเราไม่อยากคุ้นชินกับความคิดสร้างสรรค์ของเราจนไม่กล้าใช้มันสร้างสิ่งใหม่ๆ ออกมา”

 

Fever Dream หมุดหมายใหม่ของ OMAM

‘Fever Dream’ คือชื่อสตูดิโออัลบั้มใหม่ ยากมากหากจะนิยามวงดนตรีวงนี้ว่าอยู่ใน genre ใด เพราะทุกอัลบั้มมีแกนหลักของดนตรีและเส้นเรื่องของเนื้อหาที่แตกต่างกัน แต่ก้าวที่สำคัญที่สุดของวงในอัลบั้มนี้คือการละทิ้งทั้งกลองและกีตาร์อะคูสติก

ยิ่งไปกว่านั้นการที่แนนน่า หันมาเขียนเนื้อหาและดนตรีด้วยคอมพิวเตอร์เป็นหลัก จากที่เคยใช้เพียงกระดาษและกีตาร์โปร่งในการเริ่มต้นเพลงที่ผ่านมาในสองอัลบั้มแรก ทำให้โครงสร้างของเพลงและตัวอัลบั้มแปลกตาไปอย่างไม่คาดคิด ซึ่งเธอย้ำอย่างหนักแน่นว่ามันป๊อปกว่าสองอัลบั้มแรก และที่สำคัญมันคือด้านสว่างของพวกเรา

 

ริช คอสทีย์ ยังคงเป็นโปรดิวเซอร์ต่อในอัลบั้มนี้ พวกเขาใช้เวลาเกือบหนึ่งปีผลิตเพลงออกมาราว 15-16 แทร็ก ก่อนจะคัดเลือกให้เหลือ 11 แทร็กในอัลบั้มเต็ม และความที่ OMAM ผ่านจุดสูงสุดเชิงกำไรทางธุรกิจมามากแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่อัลบั้มนี้พวกเขาจะลองนำเสียงสังเคราะห์มาใช้ในหลายๆ แทร็ก ถือเป็นเรื่องใหม่ของทั้งศิลปินและโปรดิวเซอร์ที่อยากทดลองและพร้อมจะก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนไปด้วยกัน

Fever Dream ไม่ได้มุ่งไปในทิศทางตรงข้ามกับอัลบั้มก่อนๆ แต่เป็นการเดินทางไปในทิศทางที่แตกต่าง แทนที่จะใช้แนวดนตรี orchestral folk ที่สร้างชื่อเสียงให้กับวง ตอนนี้พวกเขากลับใช้อิเล็กทรอนิกบีตและซินท์ที่นุ่มนวล ขณะเดียวกันก็เพิ่มเลเยอร์ของเพลงด้วยเสียงสังเคราะห์และเสียงคนจริงๆ ในช่วงที่ทำอัลบั้ม OMAM ได้รับอิทธิพลที่ค่อนข้างหลากหลายจากวง The National และสาวมากความสามารถอย่าง Solange ซึ่งผู้ฟังจะได้รับกลิ่นอายของเพลงร็อกที่นุ่มนวลและความสลับซับซ้อนของภาคดนตรี (sophisticate) จากอัลบั้มอยู่ไม่มากก็น้อย” คอสทีย์เล่าถึงประสบการณ์การทำงานกับ OMAMในอัลบั้มล่าสุด

อัลบั้มนี้เริ่มต้นด้วยเพลงที่เปี่ยมไปด้วยพลังงานอย่าง ‘Alligator’ ซิงเกิลแรก และจบที่เพลงช้าแต่หน่วงลึกติดหูอย่าง ‘Soothsayer’ ในภาพรวมอัลบั้มได้เรียง 11 เพลงที่งดงาม สื่อถึงอารมณ์ที่หลากหลาย ด้วยการทดลองออกจากเสียงแบบ orchestral folk ไปสู่โมเดิร์นป๊อป จึงกลายเป็นอัลบั้มแรกที่แสดงให้เห็นการเดินทางใหม่ที่หนักแน่น

 

 

ในช่วงกลางของอัลบั้ม แทร็ก ‘Waiting for the Snow’ เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของวง บัลลาดป๊อปแสนเศร้าเคล้ากับเสียงสังเคราะห์ที่ล่องลอย ฉาบด้วยเสียงเปียโนเป็นพื้นหลัง สลับกับเสียงเต้นของหัวใจที่เป็นอิเล็กทรอนิกอันเยือกเย็น ขณะเดียวกันในช่วงกลางอัลบั้มยังมีแทร็กที่สร้างพลังงานอยู่ในโฟลว์ที่แสนสวยงามอย่าง Sleepwalker ที่เอฟเฟกต์ของกีตาร์ไปด้วยกันกับเสียงของแนนน่าและแร็กนาร์อย่างลงตัว รวมถึงแทร็ก ‘Róróró’ ที่แนนน่าโชว์พลังเสียงของเธออย่างเต็มที่ การันตีว่าแม้จะหลงใหลในเสียงสังเคราะห์ แต่ก็ยังมีเพลงที่หนักหน่วงและเป็นที่รอคอยต่อการฟังสดในหลายๆ โชว์ของ OMAM

หากมองในภาพรวม อัลบั้มใหม่ได้โชว์ประสบการณ์ของมนุษย์แบบเงียบขรึมและน่าครุ่นคิดมากกว่าเดิม แม้ OMAM จะเปลี่ยนทิศทางของดนตรีไปสู่ soundscape ที่ต่างไป แต่ใจความหลักของเนื้อหาก็ยังคงวนเวียนอยู่ที่เดิมในแกนหลัก ทั้งบรรยากาศที่โรแมนติก กลิ่นของควันไฟรอบเต็นท์ที่กำลังตั้งแคมป์ และภาพของท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว

การเปิดอัลบั้มด้วย 4 แทร็กแรกค่อนไปทางโมเดิร์นเปียโนสไตล์บัลลาด พร้อมกับกลิ่นอายโฟล์กจากไอซ์แลนด์ที่เจือจางอยู่เล็กน้อย นำเราไปสู่ความละมุน เฟดอารมณ์เข้าไปในความฝัน เป็นพื้นฐานที่ดีก่อนจะเข้าสู่แทร็กที่ 5 อย่าง Vulture, Vulture ที่ทรงพลังและแฝงใจความหลักของอัลบั้มนี้เอาไว้ได้อย่างดี คือการพูดถึงการหลงอยู่ในภวังค์ผ่านท่วงทำนองที่สวยงามของชีวิต ทั้งแนนน่าและแร็กนาร์สร้างสรรค์เนื้อเพลงไว้ได้อย่างน่าทึ่ง เผยให้เห็นความสามารถและทักษะด้านเนื้อเพลงของวงนี้ได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ซิงเกิลที่ 2 อย่าง Wild Roses ที่เพิ่งปล่อยมิวสิกวิดีโอเมื่อเดือนที่ผ่านมา เริ่มด้วยจังหวะเชื่องช้าไหลควบคู่ไปกับบีต ก่อนจะกระชากเข้าสู่ท่อนฮุกที่มีพลัง รวดเร็ว บวกกับเสียงบรรเลงที่พัฒนามาอย่างลงตัว เนื้อเสียงของแนนน่ายังคงไร้ที่ติ และพาร์ตสุดท้ายของเพลงที่ค่อยๆ จางลงให้ความรู้สึกไม่เด็ดขาด เพื่อนำเข้าสู่เพลงเรียกน้ำตาอย่าง Stuck in Gravity ได้ดีมาก ทั้งสองแทร็กได้ตอกย้ำการหลงอยู่ในภวังค์ท่ามกลางจักรวาลที่แสนกว้างใหญ่

 

 

นับเป็นการปล่อยผลงานที่ละเมียดละไมที่สุดครั้งหนึ่งของวง เพราะพวกเขาได้โชว์ให้เห็นความหลากหลายด้านดนตรีและเนื้อเพลง จังหวะที่สลับไปมาอย่างลงตัว รายละเอียดในแต่ละแทร็กแฝงไว้ซึ่งประสบการณ์

แม้อาจจะเรียงเพลงอย่างสะเปะสะปะ สลับไปมาจนทำให้ความต่อเนื่องของอารมณ์ขาดหายไป แต่ในแง่นี้ OMAM พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาเป็นศิลปินเพียงไม่กี่วงที่สามารถรื้อถอนและลดทอนสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็นในบทเพลง แล้วเปลือยให้เหลือแต่ความงดงามของสิ่งที่ตกตะกอนตลอด 8 ปีในการทำเพลง เสียงเครื่องเป่าที่เคยเป็นตัวชูโรง เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็น OMAM ลดลงแม้แต่น้อย

และสำหรับแฟนของ OMAM รุ่นคลาสสิกเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ลองให้โอกาสกับ ‘Fever Dream’ ดูสักครั้งสองครั้ง ให้เวลากับมันสัก 3-4 รอบ ความไม่ลงตัวเหล่านี้อาจทำให้คุณเห็นร่องรอยความเป็นตัวเองของวง ซึ่งข้อครหาที่ว่าวงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จริงๆ แล้วพวกเขาอาจจะกำลังทำสิ่งที่เป็นตัวเองที่สุดอยู่ก็เป็นได้

 

ทำการบ้านกับ 3 แทร็กที่ควรฟังก่อนไปคอนเสิร์ต


อ้างอิง

Golden Plec

Independent

Indie is not a genre

Sputnik Music

AUTHOR