Oh Wonder กับเพลงรักเพื่อมูฟออนในอัลบั้ม No One Else Can Wear Your Crown

Highlights

  • No One Else Can Wear Your Crown คือสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 3 ของลอนดอนดูโอ้ป๊อป Oh Wonder ใช้เวลาเพียง 3 ปีหลังจากอัลบั้มที่แล้ว ก่อนจะกลับมาพร้อมกับความชัดเจนทั้งดนตรีและความสัมพันธ์ ส่งให้อัลบั้มนี้ทะยานขึ้น Top 10 ในประเทศอังกฤษช่วงเดือนกุมภาพันธ์อย่างไม่ยากเย็นนัก
  • มิวสิกวิดีโอของซิงเกิลล่าสุด How It Goes ถ่ายทำที่ถนนเยาวราชในช่วงที่ทั้งคู่เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อแสดง BKK Chinatown Pop Up! รวม 3 โชว์ในวันเดียวกันที่บาร์ย่านเยาวราช
  • 10 แทร็กในอัลบั้ม มีเวอร์ชั่นอะคูสติกถูกบรรจุไว้ถึง 6 แทร็ก นั่นหมายความว่า เราจะได้ฟัง 6 เพลงนี้ในทั้งสองเวอร์ชั่น ซึ่งพิเศษมากเพราะไม่ใช่แค่การ unplugged และเอาเสียงสังเคราะห์ออกไปเท่านั้น แต่เป็นการเรียบเรียงใหม่ ทั้งจังหวะ รวมไปถึงมู้ดแอนด์โทนของเพลงด้วย

วันที่ 1 สิงหาคมเมื่อ 3 ปีที่แล้วลอนดอนดูโอ้ป๊อป’ Oh Wonder (OW) Josephine Vander Gucht และ Anthony West มาเยือนเมืองไทยเป็นครั้งแรก ในทัวร์สนับสนุนอัลบั้มที่สองที่ชื่อว่า Ultralife Asia Tour ซึ่งกรุงเทพฯ คือหมุดหมายสุดท้ายในการทัวร์ครั้งนั้น ก่อนที่บัตรจะถูกขายหมดอย่างรวดเร็ว จนวงดูโอ้นี้ต้องเพิ่มโชว์ในวันที่ 31 กรกฎาคม สร้างความประทับใจให้กับแฟนเพลงชาวไทยหลายต่อหลายคน

และเช่นเดียวกันกับ OW ที่ทั้งคู่สารภาพว่าตกหลุมรัก ‘Bangkok Scene’ เข้าไปเต็มๆ จนกระทั่งสามปีให้หลัง OW กลับมาเยือนกรุงเทพฯ ในฐานะศิลปินเป็นครั้งที่สอง และมากกว่าสามครั้งที่ดูโอ้ป๊อปคู่นี้มาใช้เวลาในประเทศไทยในฐานะนักท่องเที่ยว

 

ความประทับใจที่เยาวราช Vibe’

How It Goes คือซิงเกิลที่ 6 ของอัลบั้มใหม่ที่ชื่อว่า No One Else Can Wear Your Crown (ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นวงที่ประหลาดอีกหนึ่งวง เพราะมีซิงเกิลโปรโมตอัลบั้มถึง 6 ซิงเกิล ทั้งที่อัลบั้มเต็มเพิ่งถูกปล่อยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์เท่านั้น) มิวสิกวิดีโอของซิงเกิลดังกล่าวถูกเผยแพร่กลางเดือนมีนาคม ในบรรยากาศที่เราคุ้นเคยกับยามราตรีของถนนเยาวราช ทั้งคู่กระโดดขึ้นสามล้อที่ถนนเจริญกรุงพร้อมกับดนตรีที่เริ่มบรรเลง เสียงของโจเซฟีนดังขึ้นพร้อมกับรถตุ๊กๆ ขับไปในถนนที่ไร้ผู้คน ท่ามกลางความเงียบแต่จังหวะของเพลงเคล้ากับแสงไฟบนถนนเยาวราชนำมาซึ่งความลงตัวอย่างประหลาด

 

 

ทั้งคู่ถ่ายทำเอ็มวีซิงเกิลที่ 6 ในช่วงกลางเดือนมกราคม ที่ OW มีโชว์ 3 ครั้งในวันเดียว ย่านเยาวราช 3 แห่งได้แก่ Baan Rim Nam, Ba Hao และ FooJohn Building ชื่องานว่า BKK Chinatown Pop Up! ซึ่งนอกจากแฟนเพลงไทยจะได้เห็นโชว์ที่ประทับใจแบบใกล้ชิดติดขอบเวทีแล้ว (แม้หลายคนจะบอกว่าไม่เต็มอิ่มเท่าไหร่ เพราะเล่นแค่ที่ละ 30 นาทีเท่านั้น คล้ายเป็น Gig เล็กๆ มาพบปะแฟนเพลงเสียมากกว่า) ยังทำให้ OW ยังติดใจกับความเป็นเยาวราชจนบรรจุมันเอาไว้ในเอ็มวีอีกด้วย

Universal Music Thailand

ไม่แน่ใจว่านี่จะเป็นซิงเกิลสุดท้ายของอัลบั้มนี้หรือเปล่า เพราะดูจากทิศทางการโปรโมตอัลบั้มแล้ว ก็นับว่าประสบความสำเร็จมากทั้งฝั่งยุโรปและเอเชีย ในความเป็นจริงแล้ว OW มีตารางทัวร์ยาวเหยียดนับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ฝั่งอเมริกา ตามมาด้วยฝั่งยุโรปในช่วงฤดูร้อน และช่วงสิ้นปีที่ฝั่งเอเชีย ก่อนที่หลายๆ คอนเสิร์ตจะถูกยกเลิกไปจนถึงปลายเดือนเมษายนเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แต่แน่นอนว่า OW กลับมีโชว์อย่างเต็มรูปแบบในกรุงเทพฯ อีกครั้งในวันที่ 4 กันยายนปีนี้ หากสถานการณ์ต่างๆ ในโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งทุกคนก็หวังให้เป็นแบบนั้น

ในแง่นี้นับว่าในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา นับจากอัลบั้มที่ 2 อย่าง Ultralife OW มีฐานแฟนเพลงชาวไทยอยู่ไม่น้อย เพราะนับตั้งแต่การทัวร์เอเชียครั้งแรก OW เคยให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขารู้สึกอบอุ่น ที่แฟนเพลงชาวไทยร้องตามได้เกือบทุกเพลง ไม่แน่ว่าในปลายปีเราอาจจะได้เห็นเยาวราช Vibe’ ในเพลงหรือไลฟ์วิดีโอของ OW อีกก็เป็นไปได้นะ

 

ความสัมพันธ์และตัวตนของ OW ใน Oh Wonder (2015) และ Ultralife (2017)

ก่อนจะพูดถึงความดีงามของอัลบั้มใหม่ อาจต้องย้อนกลับไปให้บริบทของ OW เพิ่มสักนิด เพราะหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าทั้งสองคนเพิ่งจะเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่าทั้งคู่คบกันมานานแล้ว ก่อนทำอัลบั้มแรกร่วมกันเสียด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่า ทั้ง Oh Wonder (2015) และ Ultralife (2017) เป็นอัลบั้มที่ถูกผลิตขึ้นจากคู่รักดูโอ้ป๊อป ไม่ใช่เพื่อนศิลปินอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันในช่วงแรก

เราเพิ่งจะบอกกับแฟนเพลงว่าเราเป็นคู่รักกันก็เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ในความเป็นจริงเราคบกันมานานถึง 7 ปีแล้วโจเซฟีนให้สัมภาษณ์ทางวิทยุแห่งหนึ่งในมหานครลอนดอน ช่วงที่อัลบั้มใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว

เอาเข้าจริงถามว่าแฟนเพลงช็อกไหม ก็น่าจะไม่ ทั้งคู่ออกจะเป็นคู่จิ้นที่ลงตัวสำหรับแฟนเพลงเสียด้วยซ้ำ มากไปกว่านั้น การได้รู้เรื่องราวชีวิตคู่ของทั้งคู่เพิ่มขึ้น และได้ลองกลับไปย้อนฟังสองอัลบั้มแรก เลยเหมือนได้ฟังทุกแทร็กในมุมมองใหม่อีกครั้ง

เรามีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างประหลาดโจเซฟีนนิยามชีวิตคู่ของเธอไว้แบบนั้น

ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะดนตรีหรือเปล่า แต่สารภาพเลยว่าตอนที่ชวนเธอทำเพลง ไม่ได้ตั้งใจว่าจะคบกันในฐานะของคู่รัก แค่อยากทำเพลงด้วยกันแอนโธนีเสริมถึงช่วงแรกที่ทั้งคู่รู้จักกัน

นอกจากนี้ เกือบตลอดระยะเวลาการเป็นศิลปินของทั้งคู่ บ่อยครั้งที่ OW มักจะให้สัมภาษณ์ในทำนองที่ว่า เพลงของเขาต่างออกไปจากวงอัลเทอร์เนทีฟป๊อป หรือ ซินธ์ป็อป วงอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายในทศวรรษนี้ยังไงบ้าง ซึ่งสิ่งที่ OW ย้ำชัดเจนเสมอมาคือ

Oh Wonder is a vehicle to comfort people

OW เห็นว่าเพลงของเขาเป็นเหมือนบทเพลงที่คอยปลอบโยนหัวใจในยามที่อ่อนล้า และในทั้งสองอัลบั้มแรกมันก็เป็นอย่างนั้นเสมอมา แต่ก็ทำให้ทั้งโจเซฟีนและแอนโธนีที่ผ่านชีวิตคู่มาด้วยกันหลายต่อหลายปี แม้มีดนตรีที่พวกเขารัก แต่ความเหนื่อยหน่ายจากการทัวร์คอนเสิร์ตและการทำเพลงก็เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราไม่คิดว่าสองอัลบั้มแรกมันเป็นเรื่องส่วนตัวสักเท่าไหร่ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตคนหนุ่มสาว และเราก็พูดถึงมันอย่างตรงไปตรงมา ผมไม่ชอบที่นักวิจารณ์มักยกเราให้เป็นคนแต่งเพลงที่เก่ง มีคลังคำเยอะ อะไรทำนองนั้น แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือคนฟังได้รับการเยียวยาทั้งในเรื่องความรักและชีวิตจากการฟังเพลงของเรา แต่สิ่งที่เรากำลังจะทำในอนาคตคือการเยียวยาตัวเราเองบ้างแอนโธนีให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Face Culture เอาไว้เมื่อสองปีก่อน

Wikimedia

 

No One Else Can Wear Your Crown คือท่วงทำนองเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์

ใน No One Else Can Wear Your Crown ก็เช่นเดียวกัน เนื้อหายังคงพูดถึงการเยียวยาตัวเองผ่านประสบการณ์ชีวิต โดยเฉพาะในมุมมองของความรัก แต่ที่พิเศษกว่านั้น ดูเหมือนว่าทั้งโจเซฟีนและแอนโธนี เหมือนจะยอมรับกลายๆ ว่า อัลบั้มนี้พวกเขาเขียนเนื้อเพลงขึ้นจากประสบการณ์ในชีวิต ก่อนที่ทั้งคู่จะมาเจอกัน และคิดว่าน่าจะเป็นดังที่แอนโธนีเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่ากระบวนการผลิตอัลบั้มนี้มันคือการเยียวยาตัวเองอย่างแท้จริง แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมากกว่านั้น

The Gryphon หนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยลีดส์ (ซึ่งเป็นเมืองที่บัตรของ OW ขายหมดไวที่สุดในสหราชอณาจักร) พูดถึงอัลบั้มนี้เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า No One Else Can Wear Your Crown เป็นอีกหนึ่งไดอารี ที่ OW ตกลงกันไว้ว่า เราจะเอาเรื่องของพวกเราเอง ก่อนที่เราจะมูฟออนและเดินหน้าต่อมาเล่าสู่กันฟัง เนื้อหาเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของอัลบั้มมักพูดถึงความรักที่ไม่สมหวัง แต่มันสดใส และอยากทำให้ใช้ชีวิตต่อ นับเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ชาญฉลาดมากของ OW ที่ในแง่หนึ่งก็ฟื้นฟูความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ของตัวเองไปพร้อมๆ กับใช้มันเป็นวัตถุดิบในการทำเพลง

พอมาดูที่เนื้อเพลงก็เป็นอย่างที่ The Gryphon บอกเอาไว้จริงๆ ทั้ง  “Yeah, I hope you’re feeling better now, better now. And they’ve lifted the dark clouds.” และ “I wish I never met you but it’s a little too late.”

หรือท่อนที่น่าจะร้องตามกันได้ทุกคอนเสิร์ต

“I never thought I’d be happy to see you with somebody new.”

เหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงชีวิตบัดซบเมื่อครั้งอดีต แต่เมื่อถูกนำมาเล่าในช่วงชีวิตปัจจุบัน มันกลับกลายเป็นสิ่งที่ทั้งหวาน ทั้งขม และตลกขบขันในเวลาเดียวกัน ไม่มีกลิ่นอายของความเศร้าเลยสักนิด ส่วนหนึ่งคงเพราะลายเซ็นของ OW ที่ชัดเจน สามารถกลบเนื้อหาของการมูฟออนเหล่านี้ด้วยเมโลดี้ที่สนุกและเย้ายวน เหมือนได้นอนฟังเพลงในทุ่งหญ้าสีเขียว พร้อมกับแสงแดดอ่อนๆ นั่งคุยกับเพื่อนเก่าถึงเรื่องระยำตำบอนของความสัมพันธ์กับคนรักในอดีต

อัลบั้ม No One Else Can Wear Your Crown เริ่มปล่อยซิงเกิลแรก Hallelujah กับอีก 3 ซิงเกิลในเวลาไล่เลี่ยกันคือ Better Now, I Wish I Never Met You และ Happy ซึ่งเป็นช่วงที่ OW กำลังเดินทางโปรโมตก่อนที่อัลบั้มเต็มจะถูกปล่อย ทั้งคู่เดินทางไปทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา แต่ไม่ได้เป็นโชว์เต็มรูปแบบ คล้ายกับว่า OW อยากกระซิบบอกกลายๆ ว่า พวกเรากลับมาแล้วนะ ตื่นเต้นกันบ้างไหม และพร้อมจะฟังอัลบั้มเต็มของพวกเรากันหรือยัง

หลังการวางแผงอัลบั้มในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ OW ปล่อยอีกสองซิงเกิลตามออกมาหลังการปล่อยอัลบั้มเต็มคือ In And Out Of Love และ How It Goes นับเป็นวิธีการโปรโมตที่น่าสนใจ ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นวงดนตรีจากค่ายใหญ่อย่าง Universal Music ปล่อยซิงเกิลรัวๆ ถึง 6 เพลงในเวลาไล่เลี่ยกันเพียง 3-4 เดือน นั่นหมายความว่า OW ได้รับอิสระค่อนข้างมาก

มากกว่านั้น No One Else Can Wear Your Crown ถูกบันทึกในโฮมสตูดิโอของทั้งคู่ ไม่ใช่ทั้งสตูดิโอใหญ่ในลอนดอน และไม่ใช่สตูดิโอหลักของค่ายในแคลิฟอร์เนียเช่นเดียวกัน ทั้ง 16 แทร็กถูกผลิตและบันทึกที่บ้านของทั้งคู่ แน่นอนว่ามันเกินความคาดหมายมากๆ สำหรับการบันทึกให้ได้คุณภาพเสียงในระดับนี้ แต่ OW ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขาทำได้ และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ค่ายให้อิสระมากมายกับพวกเขาเป็นการตอบแทน

ไฮไลต์ของอัลบั้มที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ Hallelujah ซิงเกิลแรกและเป็นแทร็กที่ผมชอบที่สุดในอัลบั้ม แต่ไม่ใช่เวอร์ชั่นออริจินัล เพราะเวอร์ชั่นอะคูสติกมันเหนือชั้นกว่ามาก Hallelujah พูดถึงการยอมรับตัวเองในปัจจุบัน และไม่ปล่อยให้คนอื่นทำให้คุณมีชีวิตที่แย่ลง หรือทำให้คุณไม่เป็นตัวของตัวเอง สอดรับกับไอเดียทั้งหมดของอัลบั้มที่พูดถึงมงกุฎของคุณ ที่ไม่มีใครจะมาสวมมันได้ ในแง่นี้ หากจะต้องอุปมามงกุฎในอัลบั้ม ก็คงจะหนีไม่พ้นชีวิตที่เป็นของคุณเอง ไม่มีใครมาใช้และแย่งมันจากคุณไปได้

OW เปลี่ยนแทร็กที่มีความเป็นซินท์ป๊อปในเวอร์ชั่นปกติ ไปเป็นเพลงบัลลาดเศร้าๆ ที่ใช้เปียโนเป็นตัวนำ จนเรียกได้ว่าแทบจะเปลี่ยนโครงสร้างของเพลงเลย ทั้งดนตรีและวิธีการร้อง ยกเว้นเนื้อหาของเพลงที่ยังคงไว้แบบเดิม มากไปกว่านั้น Hallelujah เป็นแทร็กเดียวในอัลบั้มที่มีเวอร์ชั่น unplugged เพิ่มมาอีกหนึ่ง เท่ากับว่าแทร็กนี้มีอยู่ทั้งหมดถึง 3 เวอร์ชั่น ไปพิสูจน์ด้วยตัวเองได้เลย

จุดนี้เป็นสิ่งที่น่าประทับใจที่สุดของอัลบั้ม เพราะไม่ว่า OW จะใส่เวอร์ชั่นอะคูสติกของทั้ง 6 จาก 10 เพลงมาเพราะเสียดาย หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็นับว่าคุ้มค่ามากๆ ที่จะได้ฟัง และเห็นไอเดียที่หลากหลายแต่กระจัดกระจาย ทว่าน่าสนใจแบบนี้ แน่นอนว่ามีอีกหลายแทร็กที่ควรค่าแก่การฟังมากๆ

No One Else Can Wear Your Crown เริ่มแทร็กแรกด้วย Dust ที่ OW เขียนเสร็จเป็นเพลงแรก (พูดถึงความเห็นอกเห็นใจและอยู่เคียงข้างกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง) OW พาเราเริ่มด้วยอิเล็กทรอนิกป๊อป ก่อนจะกระโจนเข้าสู่ Better Now ซึ่งเป็นแทร็กที่มีลายเซ็นของ OW ชัดเจนที่สุด ซินธ์ป๊อปที่ใส่เสียงสังเคราะห์ไม่อึดอัดจนเกินไป เสียงของโจเซฟีน คลอไปกับเสียงโทนต่ำของแอนโธนี ทำให้ติดหูได้ไม่ยาก เนื้อหาที่ให้กำลังใจคนใกล้ตัวสักคนหนึ่งด้วยการชงกาแฟร้อนๆ ให้ดื่มพร้อมกับตบบ่าเพื่อให้กำลังใจ

 

ไปจนครึ่งทางของอัลบั้ม แทร็กที่ห้า In And Out Of Love เป็นเพลงรักว่าด้วยความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับทั้งคู่ เราต่างเจอใครสักคนที่ใช่ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุดคุณก็เลือกจะรอคนที่คุณอยากจะอยู่ด้วยไปทั้งชีวิต นี่อาจเป็นแทร็กเดียวในอัลบั้มที่ฟังครั้งแรกไม่นึกถึง OW เลย เพราะเสียงเปียโนที่หม่นหมอง ตัดกับเสียงของโจเซฟีนที่แหบแห้งกว่าปกติ ดึงเราสู่ความเศร้าที่แม้ดูผิดที่ผิดทางไปพอสมควร แต่ก็ได้เครื่องสายฟูลแบนด์ในช่วงท้ายสร้างความอลังการให้กับแทร็กคั่นกลางอัลบั้มนี้ นับว่าเป็นความท้าทายใหม่ของ OW เลยทีเดียว

ต่อด้วย How It Goes ในซีนเยาวราช เป็นอีกเพลงเพื่อเป็นกำลังใจให้คนอย่างเราๆ ได้ตระหนักว่า ชีวิตมันโอเคที่จะมีทั้งวันที่ดี และพร้อมรับมือกับวันที่แย่ๆ อย่างปกติ ดนตรีสังเคราะห์เนิบๆ ชิลล์ๆ สไตล์ OW ฟังได้ทุกวันไม่มีเบื่อ ตามมาด้วย Drunk On You ที่หลอกให้เราเข้าใจว่าจะเป็นเพลงบัลลาดเปียโนหวานๆ ก่อนกระโจนเข้าท่อนฮุกด้วยเสียงสังเคราะห์และบีตที่ชวนขยับตัว ว่าด้วยใครสักคนที่มักติดอยู่ในหัวของคุณตั้งแต่กลางดึก หลังจากที่คุณดื่มอย่างหนักหน่วง และพบว่าตื่นขึ้นมาเขาคนนั้นก็ยังไม่หายไปจากความคิดคุณ

OW ใช้แทร็กสุดท้ายปิดทั้ง 9 เพลงก่อนหน้าด้วย Nebraska ด้วยความตั้งใจแรกของทั้งคู่ว่าอยากเขียนเพลงที่ว่าด้วยการเป็นคู่รักกันมานานถึง 7 ปี พร้อมๆ กับการทำเพลงไปด้วยกัน ซึ่งมันยากมากๆ แม้แต่การจะใช้เวลาเพียงสองสามชั่วโมงเพื่อแยกจากกัน จึงเป็นที่มาของเพลง ที่ไม่ว่าจะอยู่ไกลถึง Nebraska แต่คนที่เรารักก็ยังรออยู่ที่บ้าน แม้ในความเป็นจริงทั้งคู่จะยังไม่เคยไป Nebraska ก็ตาม

นับเป็นแทร็กปิดท้ายที่สมน้ำสมเนื้อกับอัลบั้มอย่างยิ่ง ด้วยความเป็นอัลเทอร์เนทีฟป็อป ผสมกับกีตาร์แบนด์ เป็นอีกแทร็กของอัลบั้มที่หมดจดมากๆ

 

ส่วนในแง่ของจำนวนเพลง ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เป็นเพราะวงตกผลึกทั้งทางความคิดและวิธีการทำดนตรี หรืออาจจะขี้เกียจมากขึ้นจนมีแทร็กในภาคปกติของอัลบั้มนี้เพียง 10 แทร็กทั้งอัลบั้ม จากอัลบั้มแรกทั้งหมด 15 แทร็ก และอัลบั้มที่สองจำนวน 12 แทร็ก คำตอบของคำถามนี้จะไปอยู่ตอนที่ได้ฟังอย่างตั้งใจตั้งแต่แทร็กแรกจนจบแทร็กสุดท้ายก็จะเข้าใจว่า มันต้องเท่านี้ มันได้เท่านี้จริงๆ มากกว่านี้มันเยิ่นเย้อ และน่าจะสร้างความเบื่อหน่ายพอสมควรที่จะย้อนกลับไปฟังใหม่ตั้งแต่แทร็กแรก (เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอัลบั้มหนึ่งและสอง) OW จัดการกับความสะเปะสะปะได้ดีมากถึงมากที่สุด เพราะการเขียนเพลงเอง โปรดิวซ์เพลงเอง ดีไซน์คอนเปต์อัลบั้ม ไปจนถึงเล่นสดกันเองสองคนไม่ใช่เรื่องง่าย 

อาจกล่าวได้ว่าความน่าสนใจของอัลบั้มนี้คือการที่ OW ตั้งใจใส่อะคูสติกเข้ามา เพื่อที่จะให้คนฟังเพลงสายลึกที่ซีเรียสกับภาคดนตรีก็ยังฟังได้ และจะมอง OW เป็นวง easy listening ก็ได้เหมือนกัน นั่นเพราะเราเห็นความละเอียดในท่วงทำนอง ในตัวโน้ตของแต่ละอินโทรไปจนจบเพลง เราเห็นคุณภาพของการบันทึกเสียงที่มันถูกพัฒนามาเรื่อยๆ นับจากอัลบั้มแรก ซึ่งหากจะให้ลองจินตนาการถึงสตูดิโออัลบั้มชุดถัดไปของ OW ก็คงเดาได้ไม่ยากเท่าไหร่ แม้ในใจจะอยากให้ OW ลองก้าวออกไปจากคอมฟอร์ตโซนก็ตาม

 

ป.ล. นอกเหนือไปจากอัลบั้มที่คู่ควรแก่การฟังในช่วงเก็บตัวแบบนี้แล้ว OW ก็ประกาศว่าพวกเขาจะแสดงสดในบ้านผ่านทางอินสตาแกรม ในเวลาสองทุ่มของลอนดอน ซึ่งจะตรงกับเวลาตีสามในประเทศไทย OW จะเล่นทุกวัน วันละหนึ่งเพลง เป็นเวลา 37 วัน นับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม สำหรับแฟนๆ ของ OW คงไม่น่าพลาด แต่สำหรับเพื่อนๆ ที่กำลัง work from home การปั่นงานโต้รุ่งหรือตื่นกลางดึกอย่างงัวเงียมาฟังเพลงบรรเลงสดจากดูโอ้ป๊อปลอนดอนคู่นี้ก็เป็นไอเดียที่ไม่เลวนะ

 

อ้างอิง

Lippymag

Pitchfork

The Gryphon

The Sun Flower

AUTHOR