‘สถานการณ์ยังเป็นปกติ’ 8 เรื่องสั้นไม่ปกติ ที่ชวนตั้งคำถามถึงสภาวการณ์ปกติ

Highlights

  • สถานการณ์ยังเป็นปกติคือหนังสือรวมเรื่องสั้น 8 เรื่องของสมุด ทีทรรศน์ซึ่งแต่ละเรื่องนั้นเชื่อมโยง หรืออ้างถึงเมืองธรรมดาอยู่เสมอ
  • จุดหนึ่งที่ต้องชื่นชมคือ สมุด ทีทรรศน์สร้างเมืองธรรมดาแห่งนี้ขึ้นมาได้อย่างมีมิติ ซับซ้อน และมีชีวิตชีวา 
  • สมุด ทีทรรศน์ไม่เพียงจะสร้างเมืองๆ นี้ให้รับรู้ได้ถึงความใหญ่โตของมัน หากยังรวมถึงความหนาแน่นของตึกรามอาคาร ยานพาหนะ และความปะปนหลากหลายของประชากรในเมืองธรรมดา
  • ความน่าสนใจอีกจุดหนึ่งของ สถานการณ์ยังเป็นปกติ คือการที่ตัวละครต่างๆ ในเรื่องมีภาพของเมืองธรรมดาแตกต่างกันออกไป ภายใต้ความหลากหลาย

เมื่อพูดถึงเมืองคุณผู้อ่านนึกถึงอะไรกันครับ?

บ้างอาจบอกว่าตึกสูงเสียดฟ้า บ้างอาจเห็นภาพท้องถนนที่แน่นขนัดไปด้วยรถยนต์ หรือบ้างอาจตอบว่าพื้นที่ที่อัดแน่นไปด้วยคนแปลกหน้าที่เดินทางมาจากจากสารพัดที่ ไม่ว่านิยามความเป็นเมืองของคุณจะคืออะไร แต่ถ้าถาม Louis Wirth นักสังคมวิทยาเมืองรุ่นคลาสสิก คำตอบของเวิร์ทคือ เมืองจะประกอบไปด้วยสามปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ ขนาด (size) ความหนาแน่น (density) และความหลากหลาย (heterogeneity)

น่าสนใจว่า ระหว่างที่ผมอ่านสถานการณ์ยังเป็นปกติรวมเรื่องสั้น 8 เรื่องของสมุด ทีทรรศน์ คำตอบของเวิร์ทดูจะสอดคล้องกันเป็นอย่างดีกับเมืองธรรมดาองค์ประกอบสำคัญของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้

ที่ผมบอกว่าองค์ประกอบสำคัญ นั่นเพราะเรื่องสั้นทั้ง 8 เรื่องของ สถานการณ์ยังเป็นปกติ ต่างเกิดขึ้น เชื่อมโยง หรืออ้างถึงเมืองธรรมดาแห่งนี้อยู่เสมอ กล่าวคือ ต่อเรื่องสั้นหนึ่ง เรื่องราวอาจเกิดขึ้นและดำเนินไปภายในเมืองธรรมดา ทว่ากับอีกเรื่องสั้น ฉากหลังของมันอาจเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกล พ้นจากเมืองธรรมดาออกไป หากตัวละครในเรื่องก็มักจะอ้างถึงเมืองเมืองนี้อยู่เสมอ พูดอีกอย่างคือ เมืองธรรมดาเป็นจุดเชื่อมที่คอยโยงใยเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกัน ที่แม้สุดท้ายเรื่องราวนั้นๆ อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ทว่าเรื่องสั้นทั้ง 8 ล้วนเกาะเกี่ยวอยู่กับเมืองธรรมดาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

จุดหนึ่งที่ต้องชื่นชมคือ สมุด ทีทรรศน์ สร้างเมืองธรรมดาแห่งนี้ขึ้นมาได้อย่างมีมิติ ซับซ้อน และมีชีวิตชีวา อย่างที่ผมบอกไปว่า เมืองธรรมดาทำให้ผมนึกถึงเงื่อนไขความเป็นเมืองของเวิร์ทเพราะสมุด ทีทรรศน์ไม่เพียงจะสร้างเมืองเมืองนี้ให้รับรู้ได้ถึงความใหญ่โตของมัน หากยังรวมถึงความหนาแน่นของตึกราม อาคาร ยานพาหนะ และความปะปนหลากหลายของประชากรในเมืองธรรมดา

ในท่อนหนึ่งของเรื่องสั้นวันพักร้อนของพนักงานคนหนึ่งเขียนไว้ว่า

“…ในตอนแรกเขาเข้าใจว่า การที่พวกมันมาตั้งถิ่นฐานรอบเมืองก็เพราะจะมาหางานทำ เนื่องจากความยากลำบากในบ้านเกิด แต่สุดท้ายเขาก็ตระหนักว่าการเดินทางของพวกมันมีจุดประสงค์เพื่อจะบ่อนทำลายบ้านเมืองอันเงียบสงบและสภาพจิตใจอันดีงามของชาวเมืองธรรมดาอย่างเขา ตั้งแต่พวกมันอพยพมาที่นี่วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป ชาวเมืองอยู่ด้วยความหวาดระแวง เนื่องจากแมลงปีกแข็งบินออกมาจากท่อระบายน้ำ บางทีก็แทรกออกมาตามดิน ยิ่งเมื่อผ่านไปแถวชานเมืองเป็นต้องหวาดผวากันทุกครั้ง เมื่อเห็นแมลงปีกแข็งจำนวนมากปะปนอยู่ร่วมในชุมชนของพวกมัน เจ้าหน้าที่จึงพยายามกำจัดพวกมันให้อยู่ในขอบเขตเพื่อลดการแพร่กระจายของแมลงปีกแข็ง” (หน้า 24)

ผมคิดว่าเนื้อหาที่ยกมานี้อธิบายธรรมชาติของความเป็นเมืองได้หลายประการด้วยกัน หากลองถอดบางประโยคมาพิจารณาจะเห็นว่าการที่พวกมันมาตั้งถิ่นฐานรอบเมืองก็เพราะจะมาหางานทำ เนื่องจากความยากลำบากในบ้านเกิดสะท้อนให้เห็นเงื่อนไขของการเกิดเมืองที่หากพูดให้เฉพาะเจาะจงขึ้น คือเมืองสมัยใหม่หลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม นั่นเพราะเมืองไม่ได้อยู่ๆ ก็เติบโตของมันเอง แต่เมืองเป็นพื้นที่ที่ดึงดูดคนในชนบทให้หลั่งไหลเข้ามาเพื่อหางานทำ ในแง่นี้เมืองจึงเต็มไปด้วยชีวิตที่หลากหลาย เพราะมันปะปนกันอยู่ระหว่างผู้ที่อาศัยอยู่เดิม และผู้ที่ย้ายเข้ามาใหม่ กระบวนการเลื่อนไหลของประชากรที่เกิดขึ้นตลอดเวลานี้ ในแง่หนึ่งจึงทำให้ระบุได้ยากว่า ใครคือประชากรของเมืองเมืองนี้ พร้อมๆ กับที่ขอบเขตของเมืองเองก็ขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ

ตั้งแต่พวกมันอพยพมาที่นี่วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป ชาวเมืองอยู่ด้วยความหวาดระแวงเมื่อเมืองเต็มไปด้วยคนแปลกหน้า วิถีชีวิตของคนเมืองจึงเปลี่ยนไปสู่ความหวาดระแวง ธรรมชาติของเมืองที่ผู้คนต้องเผชิญหน้าในทุกๆ วัน คือการพบพานกับคนแปลกหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ภายใต้ความแปลกหน้าที่คนเมืองไม่อาจรู้ได้ว่า คนที่เดินสวนกันไปเมื่อครู่เป็นใคร มันจึงไม่แปลกที่เขาจะไม่ใส่ใจ มันจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าทำไมชาวเมืองธรรมดาถึงรู้สึกหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา

เมื่อเห็นแมลงปีกแข็งจำนวนมากปะปนอยู่ร่วมในชุมชนของพวกมัน เจ้าหน้าที่จึงพยายามกำจัดพวกมันให้อยู่ในขอบเขตเพื่อลดการแพร่กระจายของแมลงปีกแข็งสำหรับผม ประโยคนี้อธิบายถึงเมืองธรรมดาได้อย่างชัดเจนที่สุด นั่นเพราะหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เมืองแห่งนี้มีลักษณะอันเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น คือการทำงานของอำนาจในเมืองเมืองนี้

จากประโยคที่ยกมา เราพอจะอนุมานได้ถึงปฏิบัติการของรัฐบาลที่ต้องการจะควบคุมคนอื่น’ (ในที่นี้คือแมลงปีกแข็ง) ให้อยู่ในพื้นที่อันแน่นิ่ง ตายตัว และจัดระเบียบได้ พูดอีกอย่างคือ หากเรามองว่าแมลงปีกแข็งคืออุปมาของชาวชนบทที่อพยพเข้ามาในเมือง การเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลันของประชากรเมืองจึงสร้างความหวาดกลัวให้กับรัฐบาลในแง่ที่ว่า ประชากรที่เพิ่มขึ้นใหม่นี้ คือประชากรที่พวกเขายังไม่อาจตรวจสอบและระบุตัวตนได้

เพราะฉะนั้นการจำกัดขอบเขตเพื่อลดการแพร่กระจายจึงคือความพยายามของรัฐบาลเมืองธรรมดาที่จะเปลี่ยนประชากรที่เคยตรวจสอบไม่ได้นี้ ไปสู่ประชากรที่ไม่เพียงแต่จะถูกตรวจสอบซ้ำๆ หากยังระบุที่อยู่อาศัยได้อย่างแน่นอน ภายใต้ดวงตาแห่งอำนาจของรัฐบาล

ในแง่นี้ เมืองธรรมดาจึงอาจคือภาพแทนของเมืองใดๆ ก็ได้ในโลก พอๆ กับที่มันอาจเป็นภาพสะท้อนของกรุงเทพฯ อย่างยากที่จะปฏิเสธ เมืองที่ไม่เพียงแต่จะขับเคลื่อนด้วยอำนาจอันล้นพ้นของรัฐบาลที่พร้อมจะยึดบัตรประชาชน หรือเรียกคนที่ต้องสงสัยมาตรวจตราได้ทุกเมื่อ เมืองที่ไม่เพียงแต่จะเต็มไปด้วยคนจน หากยังลิดรอนอำนาจของประชาชนจนเชื่องเชื่อ เมืองที่พร้อมจะกำจัดใครใดๆ ที่แสดงทีท่าว่าไม่เชื่อ ดีดนิ้วให้หายวับ ก่อนจะตีหน้าซื่อทำทีว่าสถานการณ์ยังคงเป็นปกติ พูดอีกอย่างคือ สถานการณ์ยังเป็นปกติจึงเป็นเพียงวาทกรรมหนึ่งของรัฐเท่านั้น

เมืองธรรมดาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงฉากหลัง แต่สมุด ทีทรรศน์ได้สร้างเมืองเมืองนี้ให้สำคัญพอๆ หรืออาจมากกว่าตัวละครที่เป็นมนุษย์ในเรื่องด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าเรื่องราวของเรื่องสั้นหนึ่งๆ จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นในเมืองธรรมดา ทว่าเรากลับรับรู้ถึงตัวตนของเมืองเมืองนี้ได้อย่างชัดเจนอยู่เสมอ สมุด ทีทรรศน์จัดวางบทบาทของเมืองธรรมดาในแต่ละเรื่องสั้นได้อย่างชาญฉลาด ตัวอย่างเช่น ในเรื่องหนึ่ง เมืองธรรมดาถูกพูดถึงในฐานะเมืองที่เจริญอย่างถึงขีดสุด หากกับอีกเรื่องสั้น เมืองเมืองนี้กลับถูกพูดถึงผ่านอดีตของตัวละครหนึ่งๆ ที่มองย้อนกลับไปยังเมืองธรรมดาด้วยสายตาอันเจ็บปวด

ผมคิดว่าความน่าสนใจอีกจุดหนึ่งของ สถานการณ์ยังเป็นปกติ คือการที่ตัวละครต่างๆ ในเรื่องมีภาพของเมืองธรรมดาแตกต่างกันออกไป การที่ประชากรในเมืองจะมีมุมมองหรือความทรงจำต่อเมืองเมืองหนึ่งแตกต่างกันไปนี้ เมื่อเมืองเมืองหนึ่งประกอบขึ้นจากผู้คนที่หลากหลาย มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนทุกคนในเมืองจะมองเมืองเมืองนั้นอย่างเข้าใจตรงกัน

และซึ่งเงื่อนไขที่สร้างมุมมองอันแตกต่างจากกันนี้ สมุด ทีทรรศน์ก็ชี้ให้เห็นว่า มันอาจเป็นผลผลิตจากความต่างกันของฐานะ ชนชั้น ศาสนา เพศภาวะ หรือกระทั่งภูมิคุ้มกันต่อประวัติศาสตร์กระแสหลัก เมืองยังคงเป็นเมืองเมืองเดิม เพียงแต่ภายใต้ความหลากหลายของผู้คนในเมือง ที่เมืองธรรมดาก็คล้ายจะผลิตสร้างความหมายของเมืองที่สลับซับซ้อน และล้วนแตกต่างกันไป

ลองนึกถึงกรุงเทพฯ ในทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่เราจะไม่รู้อีกต่อไปแล้วว่าขอบเขตของกรุงเทพฯ เริ่มต้นและสิ้นสุดลงที่ตรงไหน แต่ภายใต้พลวัตทางสังคม และวัฒนธรรมที่มีแต่จะสลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะมองหานิยามอันรัดกุมว่ากรุงเทพฯ คืออะไร แน่นอนว่ากรุงเทพฯ ของผม กับกรุงเทพฯ ของคุณผู้อ่านย่อมไม่เหมือนกัน และแน่นอนอีกว่า มันก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรเลยที่จะต้องมาหาคำจำกัดความที่แน่นอนของเมืองเมืองนี้

กล่าวได้ว่า อำนาจหนึ่งของประชาชนจึงคืออำนาจที่เขาจะนิยาม หรือพูดถึงเมืองเมืองหนึ่งอย่างที่เขาต้องการ กลับกันด้วยซ้ำ สมมติว่าถ้ารัฐบาลเผด็จประสบความสำเร็จในการทำให้มองเห็น รับรู้ และพูดถึงเมืองเมืองหนึ่งเหมือนๆ กันอย่างที่รัฐบาลอยากได้ยิน นั่นหรือเปล่าครับถึงจะเรียกว่า ความน่ากลัวที่แท้จริง

ขออย่าให้เมืองธรรมดาๆ อย่างกรุงเทพฯ ต้องเดินทางถึงวันนั้นเลย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฎฐณิชา สะอิ

เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่รักในการแต่งตัว และหลงใหลการท่องเที่ยวผจญภัยและกล้องฟิล์ม