‘แด่ความผิดพลาด และพังทลาย’ ปีแสง บันทึกชีวิตของดุจดาวในวันที่ร่างกายไม่อยู่ใต้บงการ

Highlights

  • 'ปีแสง' คือบทบันทึกการย้อนกลับไปทบทวนชีวิตที่ผ่านมาของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้านการเคลื่อนไหว เริ่มตั้งแต่วัยเยาว์กระทั่งเติบใหญ่
  • ดุจดาวเปิดเปลือยตัวตนอย่างถึงที่สุด เพื่อเชื้อเชิญผู้อ่านให้จ้องมองไปยังความเป็นไปของชีวิตที่เวียนซ้ำอยู่ภายใต้วัฏจักรของการเกิดใหม่และการแตกสลาย
  • 'แด่ความผิดพลาด และพังทลาย' ดุจดาวเลือกเปิดคำนำผู้เขียนด้วยคำสารภาพประหนึ่งจะบอกกับเราว่า เรื่องราวที่คุณจะได้อ่านต่อจากนี้คือความผิดพลาด แต่นี่แหละคือสรรพส่ิงที่ประกอบสร้างเธอขึ้นมา

ปีแสง สู่วันที่ร่างกายไม่อยู่ใต้บงการ

ความคิดแรกที่ปรากฏขึ้นในหัวเมื่อผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบคือไม่มีวันที่ผมจะมีความกล้าได้เท่าดุจดาว

เราเคยเจอกันครั้งหนึ่ง เป็นการนัดสัมภาษณ์สั้นๆ ว่าด้วยบทบาทของเธอในฐานะนักจิตบำบัดด้านการเคลื่อนไหวก่อนหน้าที่จะพูดคุยกัน สารภาพตรงๆ ว่าผมไม่รู้หรอกว่านักจิตบำบัดด้านการเคลื่อนไหวคืออะไร แต่แม้คำอธิบายของดุจดาวในวันนั้นจะช่วยให้ความกระจ่างชัดขึ้นมาบ้าง ทว่าการสนทนาเพียงสั้นๆ ก็ไม่เพียงพอต่อการจะเข้าใจตัวตนของผู้ถูกสัมภาษณ์ได้ละเอียดลออนัก

ผมได้ทำความรู้จักตัวตนของดุจดาวอย่างลึกซึ้งจริงๆ ก็ผ่านหนังสือเล่มนี้

ปีแสงคือบทบันทึกการย้อนกลับไปทบทวนชีวิตที่ผ่านมาของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้านการเคลื่อนไหว เริ่มตั้งแต่วัยเยาว์กระทั่งถึงเติบใหญ่ ดุจดาวเปิดเปลือยตัวตนอย่างถึงที่สุด เพื่อเชื้อเชิญผู้อ่านให้จ้องมองไปยังความเป็นไปของชีวิตที่เวียนซ้ำอยู่ภายใต้วัฏจักรของการเกิดใหม่และการแตกสลายแด่ความผิดพลาด และพังทลายดุจดาวเลือกเปิดคำนำผู้เขียนด้วยคำสารภาพประหนึ่งจะบอกกับเราว่าใช่ เรื่องราวที่คุณจะได้อ่านต่อจากนี้คือความผิดพลาด และพังทลาย แต่นี่แหละคือสรรพส่ิงที่ประกอบสร้างฉันขึ้นมา

ในวัยเด็ก ดุจดาวเติบโตในครอบครัวที่จังหวะชีวิตขับเคลื่อนไปอย่างเร่งรีบ และคุณย่าที่เคร่งครัดเรื่องระเบียบที่คอยกำกับชีวิตและการเคลื่อนไหวของเธอ ดุจดาวมีความสัมพันธ์อย่างลุ่มๆ ดอนๆ กับแม่ ซ้ำร้ายพ่อมนุษย์เพียงคนเดียวในบ้านที่เด็กหญิงเชื่อมโยงและวางใจ ก็ต้องจากครอบครัวไปทำงานที่ต่างประเทศ ดุจดาวเติบใหญ่ขึ้นท่ามกลางความโดดเดี่ยว

เมื่อครอบครัวไม่อาจเป็นที่พักพิง เราอาจเผลอคิดไปว่าอย่างน้อยๆ เด็กสาวก็คงจะมีเพื่อน มีครู และมีโรงเรียน เป็นพื้นที่ปลอดภัย ทว่าความโชคดีนี้ก็ไม่ได้ปรากฏชัดนักในชีวิตของดุจดาว เพราะแม้ว่าเธอจะเป็นที่รักของเพื่อนๆ ทว่ากับคุณครูและระบบการศึกษาไทยน่ะ เด็กสาวเปรียบประหนึ่งคู่ปรับตัวฉกาจ

ผมต้องสั้น ถามว่าสั้นแค่ไหน ก็สั้นเท่าที่ครูพอใจ ไม่รู้ว่ามันจะมีปัญหาอะไรกับผมที่ยาวกว่าหูมา 2-3 เซนติเมตร ถ้าวันไหนไม่ใส่เสื้อทับจะโดนดีดสายเสื้อใน คุยกันในห้องก็โดนทำโทษ ให้ยืนบนเก้าอี้บ้าง ยืนหน้าห้องบ้าง นักเรียนไทยมีชีวิตอยู่ใต้อำนาจของครูบ้าอำนาจที่ใช้อารมณ์ตัวเองเป็นที่ตั้ง แน่นอน ครูคงไม่ได้เป็นแบบนี้ทุกคนหรอก แต่ฉันคงโชคไม่ดีที่เจอแบบนี้ซะเยอะ

ย่อหน้านี้ไม่เพียงจะอธิบายลักษณะความสัมพันธ์ที่ดุจดาวมีต่อสถานศึกษา หากยังสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างของสังคมที่หล่อเลี้ยงเธอขึ้นมา ใช่ โครงสร้างของสังคมที่ว่าคือโครงสร้างของอำนาจ

เมื่อเกิดเป็นผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงไทย การถูกจัดระเบียบร่างกายคือกระบวนการหนึ่งของการเติบโตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมต้องสั้นเสมอติ่งหู ต้องสวมเสื้อผ้ามิดชิด กิริยามารยาทต้องนอบน้อม เรือนร่างของผู้หญิงถูกกำหนดให้อยู่ในกรอบอันเคร่งครัด แต่เมื่อมีใครสักคนหวังจะทลายกรอบ ครูกับกฎระเบียบของโรงเรียนก็พร้อมที่จะทำทุกวิธีเพื่อจะกดให้นักเรียนคนนั้นๆ หุบปากและสยบยอม เพียงแต่ดุจดาวกลับไม่ใช่นักเรียนที่พร้อมจะยอมอะไรง่ายๆ

ชีวิตวัยรุ่นของดุจดาวคือช่วงเวลาแห่งการต่อต้าน ทั้งต่อครูที่บ้าอำนาจและต่อระบบการศึกษาที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะเบื่อหน่ายเหลือเกินแล้วกับการต้องก้มหัวเพื่อแลกกับความสงบ หญิงสาวจึงเลือกที่จะเชิดหน้าเพื่อสูดดมสายลมแห่งอิสรภาพที่หอมหวานกว่าเป็นไหนๆ หากแม้ในสายตาคนอื่น ดุจดาวจะดูแข็งแกร่งและไม่ยอมใคร ทว่าลึกไปในเรือนกายมันกลับมีก้อนความเจ็บปวดมากมายที่ซุกซ่อนรอการระเบิดอยู่อย่างเงียบๆ

ตั้งแต่เล็กจนโต ฉันมีความรู้สึกลึกๆ แผ่กว้างเป็นพื้นในใจอยู่ตลอดว่า ‘ไม่มีใครเข้าใจฉันดุจดาวเขียนเล่าความอ้างว้างในชีวิต

โลกที่ไม่มีใครเข้าใจให้ความรู้สึกเดียวดาย เหงาโหวงเหวง แล้วไม่ใช่แค่แม่ที่ไม่สามารถเข้าใจ ฉันรู้สึกว่าทุกคนไม่เข้าใจฉันซะเลย คนในครอบครัว คนที่โรงเรียน ความรู้สึกว้าเหว่ไม่มีใครเคียงข้างเป็นความรู้สึกประจำตัวที่แบกมาจนเป็นนิสัย น่าจะเป็นเหตุที่ทำให้อินกับการเรียนวิชาจิตวิญญาตอนปริญญา เพราะมีโอกาสได้ทำความเข้าใจตัวเอง ตอบสนองความว้าเหว่ด้วยความรู้ที่มอบให้ตัวเอง

ด้วยชื่นชอบวิชาจิตวิทยาที่ได้เรียนในมหาวิทยาลัย แม้ว่าดุจดาวจะเรียนจบปริญญาตรีด้านวารสารศาสตร์ แต่เธอก็ตัดสินใจบินไปเรียนปริญญาโทด้าน dance movement psychotherapy ที่ประเทศอังกฤษ เพื่อศึกษาศาสตร์ที่มีหัวใจอยู่ที่การบำบัดเพียงแต่ว่าศาสตร์ของการบำบัดที่ดุจดาวไปเรียนนี้ไม่ได้มีลักษณะของกระบวนการบำบัดอย่างที่เราคุ้นเคยกัน กล่าวคือในขณะที่การบำบัดทั่วไปจะให้ความสำคัญกับภาษาพูดผ่านการนั่งคุยเป็นหลัก หากนักจิตบำบัดด้านการเคลื่อนไหวจะสนใจ ‘ภาษากายซึ่งสื่อสารผ่านร่างกายของมนุษย์

การเรียน dance movement psychotherapy เหมือนกับละครอีกฉากของชีวิตที่ค่อนข้างหนักหน่วง เพราะอุปกรณ์การเรียนที่ต้องใช้ทุกวันคือร่างกายของเราเอง ปีแรกของการเรียนฉันป่วยทุกเดือน เพราะร่างกายถูกใช้ทำหลายอย่างในกระบวนการเรียนรู้ ที่สำคัญคือร่างกายที่สอนให้จูนตรงกับจิตใจอย่างแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มดีกรีความเซนซิทีฟขึ้นเรื่อยๆใจตัวเองก็ถูกสำรวจ ทดลอง เปิดออก และทบทวน ใจและกายต้องเป็นพื้นที่ที่คุ้นเคยกัน

ตั้งแต่เด็กร่างกายของดุจดาวถูกจัดระเบียบให้อยู่ภายใต้วินัย แต่ภายใต้วัฏจักรของการแตกสลายและการเกิดใหม่ไม่ได้มีเพียงแต่จิตใจที่ได้รับการบำบัดรักษา หากร่างกายของดุจดาวที่ครั้งหนึ่งเคยแข็งขืนต่อโซ่ตรวนหนาก็ค่อยๆ ถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ กระทั่งวันหนึ่งร่างกายนี้จึงไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจใดๆ อีกต่อไป

หญิงสาวได้โบยบินสู่เสรีภาพอีกครั้ง และครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อการต่อต้านอะไร หากคือการเคลื่อนไหวร่างกายได้โดยไม่ถูกคาดหวัง เคลื่อนไหวเพื่อให้ร่างกายและจิตใจเชื่อมถึงกัน เคลื่อนไหวอย่างที่ตัวเองจะรู้สึกสบายใจ

‘…ที่ผ่านมาฉันเคยอธิษฐานให้ได้เจอคนรักที่สามารถโอบกอดฉันได้ในวันที่ฉันสวยที่สุดและน่าเกลียดที่สุด และถ้าวันนี้ฉันยังไม่สามารถโอบกอดชิ้นส่วนที่ผุพังที่สุดของตัวได้ คนอื่นจะรู้วิธีโอบกอดมันได้อย่างไร…’

ปีแสง จึงไม่ได้เป็นเพียงหนังสือที่เปิดเปลือยชีวิตของดุจดาวอย่างละเอียด ชนิดที่ผมเองก็อดทึ่งในความกล้าหาญนี้ไม่ได้ หากหนังสือเล่มนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดุจดาวมีต่อร่างกาย จากเรือนกายที่เคยเชื่องเชื่อต่ออำนาจ สู่ร่างกายที่แข็งขืนต่อต้าน หากแล้วก็พังทลาย จวบจนกระทั่งวันหนึ่งหญิงสาวจึงได้ฟื้นคืนขึ้นใหม่ มีอำนาจที่จะควบคุม เข้าใจ และตระกองกอดเรือนร่างของตัวเองได้อย่างเต็มสองแขน

สำหรับผม ปีแสง จึงเป็นบันทึกการเดินทางอันยาวไกลของดุจดาว จากวันแรกที่ร่างกายไม่อาจเป็นของเธอได้ สู่ปัจจุบันที่ร่างกายของเธอไม่อาจเป็นของใครอื่น เว้นแต่เพียงตัวดุจดาวเอง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่