ไกลกะลา : บทบันทึกชีวิตที่ก้าวพ้นไปจากกะลาของเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน

Highlights

  • 'คาลิล พิศสุวรรณ' ชวนอ่านหนังสือ ‘A Life Beyond Boundaries’ ที่แปลไทยในชื่อไกลกะลาบทบันทึกชีวิตและความทรงจำในเส้นทางวิชาการของ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน นักวิชาการคนสำคัญของโลก
  • ตั้งแต่เด็กๆ ชีวิตของเบเนดิกท์อยู่บนการก้าวข้ามพรมแดนอันหลากหลาย เขาเกิดที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน และสอบชิงทุนเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จนได้เป็นอาจารย์
  • เส้นสายวิชาการของเบเนดิกท์มีเรื่องหนึ่งที่น่ายกย่องเป็นพิเศษ นั่นคือการให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและการเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ

น่าจะเป็นสมัยเรียนอยู่ปีสามในมหาลัยที่ผมได้รู้จักหนังสือชุมชนจินตกรรมหรือ ‘Imagined Communities’ เป็นครั้งแรก ถ้าจำไม่ผิด ชื่อหนังสือเล่มนี้น่าจะแฝงตัวอยู่ในรายชื่อหนังสืออ่านเพิ่มเติมของสักวิชาหนึ่ง ในช่วงเวลาที่ปีการศึกษาใหม่เพิ่งจะเริ่มต้น บริเวณหน้าห้องสมุดมหาลัยจะมีร้านขายหนังสือวิชาการมาเปิดบูทกันอย่างครึกครื้น ซึ่งก็บังเอิญว่ามีหนังสือ ชุมชนจินตกรรม ฉบับแปลภาษาไทยวางขายอยู่พอดี

ตามประสานักศึกษาที่พยายามจะหลอกตัวเองว่าเทอมใหม่คนใหม่ผมซื้อหนังสือเล่มนี้กลับห้องมาโดยไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลยแม้แต่น้อย แต่ความขยันก็อยู่กับผมไม่นานนัก เพราะไม่กี่วันให้หลัง เมื่อความเกียจคร้านวนกลับมาอีกครั้ง ผมก็หลงลืมหนังสือชุมชนจินตกรรม ปล่อยให้หนังสือเล่มนั้นแฝงฝังอยู่ในตู้หนังสืออันไม่เป็นระเบียบ

เป็นเวลาหลายปีหลังจากที่ผมเรียนจบ ที่อยู่ๆ ก็มีเหตุจำเป็นให้ต้องหยิบ ชุมชนจินตกรรม (ที่เคยอ่านไปไม่ถึงสิบหน้า) กลับมาอ่านอีกครั้ง ประจวบกับช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สำนักพิมพ์ Verso ของอังกฤษ (ซึ่งตีพิมพ์ ชุมชนจินตกรรม ฉบับภาษาอังกฤษ) ก็ได้พิมพ์หนังสือ ‘A Life Beyond Boundaries’ ซึ่งเป็นบทบันทึกชีวิตและความทรงจำในเส้นทางวิชาการของ Benedict Anderson ผู้เขียนหนังสือ ชุมชนจินตกรรม เล่มนี้พอดี ผมไม่มีโอกาสได้อ่าน A Life Beyond Boundaries ฉบับภาษาอังกฤษ ทว่าเพียงไม่กี่ปีต่อมา หนังสือเล่มสำคัญนี้ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้วในชื่อไกลกะลา

 

อย่างที่ได้กล่าวไป ไกลกะลา คือเรื่องราวของเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน (จากนี้ผมขอถือวิสาสะเรียกท่านว่า อาจารย์เบน) ในฐานะหนึ่งในนักวิชาการคนสำคัญของโลก และแม้ว่าในขณะที่ท่านยังมีชีวิต (อาจารย์เบนเสียชีวิตในปี 2015) และยังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น จะสังกัดคณะรัฐศาสตร์ หากการจะให้ระบุว่าท่านเป็นนักรัฐศาสตร์อย่างเดียวก็เห็นจะไม่ถูกต้องนัก เพราะจริงๆ แล้วความสนใจและความเชี่ยวชาญของอาจารย์เบนกว้างไกลเกินกว่าจะถูกจำกัดอยู่แค่ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง เราอาจเรียกท่านว่าเป็นนักอาณาบริเวณศึกษา นักประวัติศาสตร์ หรือกระทั่งนักมานุษยวิทยา

ตั้งแต่เด็กๆ ชีวิตของอาจารย์เบนอยู่บนการก้าวข้ามพรมแดน (boundary) อันหลากหลาย ท่านเกิดที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน มีพ่อเป็นชาวไอริช และแม่เป็นชาวอังกฤษ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่กองทัพญี่ปุ่นกำลังเคลื่อนทัพเตรียมจะบุกจีนทางตอนเหนือ พออายุ 5 ขวบ ท่านก็ต้องเดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ที่แคลิฟอร์เนียกับโคโลราโด ก่อนที่ในที่สุด ครอบครัวแอนเดอร์สันจะตัดสินใจเดินทางไปปักหลักที่ไอร์แลนด์เมื่อนาซีแพ้สงคราม

 

ผมนึกประทับใจเนื้อหาในบทแรกของหนังสือเล่มนี้อยู่ไม่น้อย (ภายใต้ชื่อบทที่ถูกแปลอย่างงดงามว่าลิ่วล่องวัยดรุณ’) เพราะไม่เพียงแค่การก้าวข้ามพรมแดนของอาจารย์เบนจะสะท้อนผ่านการต้องย้ายถิ่นฐานหลายๆ ครั้งในวัยเด็กเท่านั้น หากยังมีอีกสองชีวิตสำคัญ ที่ส่งเสริมให้ท่านได้คุ้นเคยกับการข้ามพ้นพรมแดนความรู้ตั้งแต่เยาว์วัย สองชีวิตที่ว่าคือพ่อกับแม่

ถ้าจะบอกว่าพ่อแม่ของผมเป็นปัญญาชนขนานแท้ก็คงไม่ถูกนัก แต่พวกเขาก็พร้อมใจกันทำให้ลูกๆ ได้มีห้องสมุดประจำบ้านซึ่งที่ไหนในเมืองที่เราอยู่ก็สู้ไม่ได้ พ่อกับแม่ยังส่งเสริมให้เราคุ้นเคยกับการอ่านเรื่องชีวิต ประสบการณ์ และความคิด ของผู้คนซึ่งพูดภาษาอื่น ใช้ชีวิตอยู่ในชนชั้นและภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งจากยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ที่ต่างไป…”

แล้วอาจารย์เบนก็สอบชิงทุนเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ (ท่านศึกษาด้านคลาสสิก คือวรรณกรรมและภาษา) จากนั้นก็ได้รับโอกาสให้ไปเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา ความจับพลัดจับผลูที่อยู่ๆ นักเรียนวรรณกรรมอย่างอาจารย์ ต้องไปสอนวิชาการเมืองที่ ตอนนั้นก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเชี่ยวชาญ อาจเรียกได้ว่าเป็นการก้าวข้ามพรมแดนอีกครั้งของอาจารย์เบน ซึ่งต่อมาก็ส่งผลให้เกิดความสนใจในอินโดนีเซีย ศึกษาภาษาอินโดนีเซียอย่างจริงจัง เพื่อจะสามารถเดินทางไปลงพื้นที่วิจัย สัมภาษณ์ เก็บข้อมูล ที่อินโดนีเซีย ในฐานะหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก

 

ทว่าเรื่องเศร้าก็คือ แม้ว่าการลงพื้นที่ภาคสนามในอินโดนีเซียจะยิ่งทำให้อาจารย์เบนตกหลุมรักดินแดนนี้ แต่แล้วเมื่อเผด็จการซูฮาร์โตเถลิงอำนาจ อาจารย์เบนก็ถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าอินโดนีเซียกว่า 30 ปี กระทั่งซูฮาร์โตลงจากอำนาจ แต่อะไรคือสาเหตุกันล่ะ?

อาจารย์เบนเล่าว่า จริงๆ แล้วเป็นเพราะท่านและเพื่อนๆ ในคอร์เนลอีกสามคนได้ร่วมกันตีแผ่ความจริงที่เผด็จการซูฮาร์โตพยายามปกปิดไว้ นั่นคือต้นเหตุของการจลาจลในปี 1965 ซึ่งเป็นเหตุให้ซูการ์โนถูกยึดอำนาจนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) อย่างที่ซูฮาร์โตยืนยัน แต่เป็นความขัดแย้งกันเองในกองทัพต่างหาก และการป้ายสีให้พรรคคอมมิวนิสต์ฯ ครั้งนี้ก็นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย นั่นคือการสังหารหมู่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ฝ่ายซ้าย และประชาชนที่รัฐบาลสงสัยนับล้านคนในระหว่างปี 1965-1966

เมื่อถูกสั่งห้ามเข้าอินโดนีเซีย อาจารย์เบนจึงจำเป็นต้องเบนความสนใจมายังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน ได้แก่ ไทยกับฟิลิปปินส์ นับเป็นอีกครั้งที่ชีวิตของท่านได้กระโดดข้ามจากพรมแดนหนึ่งไปสู่พรมแดนอื่นๆ สำหรับประเทศไทย อาจเรียกได้ว่าอาจารย์เบนหันมาให้ความสนใจดินแดนแห่งนี้ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญพอดี นั่นคือในปี 1973 (.. 2516) เป็นจังหวะที่การปกครองด้วยรัฐบาลทหารอันยาวนานสิ้นสุดลง ภายใต้การลงจากอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจร

 

ถึงตรงนี้ผมพบว่า บนเส้นทางชีวิตในเส้นสายวิชาการของอาจารย์เบนมีเรื่องหนึ่งที่น่ายกย่องเป็นพิเศษ นั่นคือการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษาเพราะไม่เพียงแต่อาจารย์เบนจะเชี่ยวชาญภาษาอินโดนีเซียเท่านั้น แต่เมื่อหันมาศึกษาไทยกับฟิลิปปินส์ ท่านก็กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ (อาจารย์เบนพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว) อย่างไม่อิดออด ไม่สนใจเลยว่าตัวเองจะเป็นอาจารย์ที่งานยุ่ง หรือมีอายุเกือบจะสี่สิบอยู่แล้ว อย่างที่ท่านได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า

สิ่งสำคัญที่พึงระลึกไว้ก็คือ การเรียนภาษานั้นไม่ใช่เป็นแค่การเรียนรู้เครื่องมือทางภาษาศาสตร์เพื่อการสื่อสาร แต่ยังเป็นการเรียนรู้ถึงวิถีความคิด และความรู้สึกของผู้คนที่พูดและเขียนภาษาหนึ่งซึ่งต่างไปจากภาษาของเรา มันคือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานของความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขา และดังนั้นจึงเป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงหัวจิตหัวใจกัน

 

สำหรับอาจารย์เบน ภาษาคือเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจมนุษย์ที่อยู่ต่างที่ ต่างวัฒนธรรม และแม้ว่าภาษาอังกฤษจะมีสถานะเป็นภาษากลาง ทว่าอาจารย์เบนก็ไม่ได้ให้คุณค่าต่อภาษาแม่ของท่านเหนือกว่าภาษาใดๆ ในแง่นี้ ความกระหายที่จะเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาของอาจารย์เบนจึงคือการไม่ยอมที่จะหยุดอยู่ใต้ข้อจำกัดหรือ ‘กะลา’ ทางภาษาใดๆ พูดอีกอย่างคือ ภาษาอังกฤษแม้จะสะดวกสบาย แต่ในขณะเดียวกันมันก็พร้อมขีดเส้นแบ่ง สร้างกำแพง และลดเลือนความเป็นไปได้ที่เราจะเข้าใจคนต่างที่ ต่างวัฒนธรรม ได้อย่างละเอียด ลึกซึ้ง

แน่นอน แง่มุมนี้ไม่ได้สะท้อนถึงแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาษาอื่นๆ พูดอีกอย่างคือ หากเรามัวแต่ยึดติดอยู่กับภาษาเกิด ปฏิเสธที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พึงพอใจอยู่ในเส้นพรมแดนของเราต่อไป มันก็ไม่ต่างอะไรกับกบที่หลงเข้าใจว่ากะลาใบเล็กๆ คือโลกอันกว้างใหญ่ของเขา อย่างที่อาจารย์เบนได้เขียนไว้ในบทแรกของหนังสือเล่มนี้ว่า

ถึงแม้ว่าภาษาไทยกับภาษาอินโดนีเซียจะไม่มีอะไรเกี่ยวพันกัน และมาจากคนละตระกูล แต่ทั้งสองภาษาต่างก็มีภาพชะตากรรมอันยาวนาน คือภาพของกบที่ตลอดชีวิตของมันอาศัยอยู่ใต้กะลามะพร้าวผ่าครึ่ง อันเป็นภาชนะที่ใช้กันทั่วไปในสองประเทศนี้ นั่งอยู่เงียบงันใต้เปลือกฝา มิช้านานเจ้ากบเริ่มรู้สึกว่ากะลานั้นแลโอบไว้สิ้นแล้วจักรวาล คติสอนใจตามภาพนี้ก็คือว่าเจ้ากบนั้นจิตใจคับแคบตามโลกไม่ทัน อยู่แต่บ้าน และพอใจกับตัวเองโดยไม่มีเหตุผล…”

‘A Life Beyond Boundaries’ หากแปลอย่างทื่อๆ จะหมายถึงชีวิตพ้นพรมแดนซึ่งอธิบายชีวิตของอาจารย์เบนได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อฉบับภาษาไทยแปลว่าไกลกะลาผมก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมความเก่งกาจของผู้แปล (ไอดา อรุณวงศ์) ที่ไม่เพียงแต่จะแหลมคมอย่างน่าอิจฉา หากมันยังสะท้อนย้อนถามกลับมาสู่ตัวผมเองว่า ทำไมชีวิตอาจารย์เบนถึงไกลออกจากกะลา แต่ทำไมชีวิตของเรากลับยังอยู่ในกะลา

AUTHOR