พราว-พลิ้ว-พราย : ศิลปะแสงไฟชั่วคราวที่ปูทางสู่การพัฒนาแสงไฟในเมืองอย่างยั่งยืน

Highlights

  • งานศิลป์ในซอย ครั้งที่ 6 EAT IN SOI เป็นเทศกาลประจำปีของย่านกะดีจีน-คลองสาน จัดขึ้นในวันที่ 18 - 20 มกราคม 2019
  • อาจารย์ยุ้ย–ผศ.ดร.จรรยาพร จุลตามระ และทีม LRIC จากบางมด เป็นหนึ่งในทีมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากแสงไฟที่จัดแสดงภายในงาน ได้แก่ ผลงาน พราว พลิ้ว พราย
  • เป้าหมายระยะไกลของอาจารย์ยุ้ย คือการพัฒนามาสเตอร์แปลนการให้แสงสว่างภายในเมืองกรุงเทพฯ โดยมีความสนใจบริเวณพื้นที่ริมน้ำเป็นพิเศษ

“ที่มาทำงานศิลปะตรงนี้ เราไม่ได้ทำเพราะอยากเป็นศิลปินนะ”

คำพูดของอาจารย์สาวผมสั้นตรงหน้าชวนให้เราฉงนอยู่ไม่น้อย เพราะในงาน ‘ศิลป์ในซอย’ เทศกาลประจำปีของย่านประวัติศาตร์ริมน้ำ กะดีจีน-คลองสาน ที่มีดนตรี ศิลปะ แสงไฟเป็นไฮไลต์หลักนั้น อาจารย์ยุ้ย–ผศ.ดร.จรรยาพร จุลตามระ ผู้อำนวยการศูนย์ Lighting Research and Innovation Centre (LRIC) และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รับหน้าที่เป็นหนึ่งในหัวหอกหลักของการจัดแสดงงานศิลปะแสงไฟ ซึ่งมีทั้งงานที่เธอออกแบบเอง รวมทั้งงานที่เธอคัดเลือกจากผลงานนักศึกษาปริญญาโทและเป็นที่ปรึกษาดูแลในการจัดแสดงครั้งนี้

คงเพราะเห็นเครื่องหมายคำถามในดวงตาของเรา อาจารย์จึงอธิบายต่อ

“ศิลปะเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่จะพัฒนาระยะยาวของพื้นที่ เราต้องการให้ภาครัฐเห็นความสำคัญของแสงไฟภาพรวมของเมือง ไม่ใช่แค่ไฟเทศกาล ประเด็นที่เราสนใจและทำวิจัยอยู่แล้วคือการให้แสงสว่างบริเวณพื้นที่ริมน้ำ เพราะตอนนี้บ้านเรามีอยู่แค่เป็นจุดๆ และไม่มีการบำรุงรักษา ไม่เป็นเรื่องราวเดียวกัน ยังขาดความเข้าใจ ไม่ได้พูดถึงการท่องเที่ยวอย่างเดียวนะ เราพูดถึงคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วย”

ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวในระดับที่อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยคุ้นเคยกับศาสตร์การออกแบบแสงสว่างระดับเมือง หรือ Urban Lighting มากนัก งานออกแบบประเภทนี้จะเป็นการวางแผนภาพรวมของเมืองว่าควรจะมีการให้แสงสว่างอย่างไร โดยพิจารณาจากหลายแง่มุมประกอบกัน เช่น ประวัติศาสตร์และสถานที่สำคัญของเมือง, โครงสร้างพื้นฐานของเมือง, ความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย, บริบทแวดล้อม แล้วผลิตออกมาเป็นมาสเตอร์แปลนแสงสว่างของเมืองที่จะระบุว่าบริเวณใดควรติดตั้งไฟอย่างไร ใช้ไฟสีอะไร ให้แสงสว่างมากน้อยแค่ไหน ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพฯ ยังไม่เคยมีการทำมาสเตอร์แปลนประเภทนี้มาก่อน

อาจารย์ยุ้ยเล่าให้เราฟังว่า เมือง Lyón ในประเทศฝรั่งเศส คือต้นแบบของการออกแบบแสงสว่างระดับเมือง เพราะมีการทำมาสเตอร์แปลนแสงสว่างของเมืองมาตั้งแต่ 20 ปีก่อน ทำให้ถูกกล่าวขานว่าเป็นเมืองที่มีช่วงกลางคืนงดงามกว่ากลางวัน และเทศกาลแสงไฟ (Light Festival) ของ Lyón ก็นับเป็นแห่งแรกๆ ของโลก โดยมีการตระเตรียมงานกันตลอดทั้งปีเพื่อความอลังการ

แล้วอย่างงานศิลป์ในซอยของเรา ถือว่าเป็นเทศกาลแสงไฟกับเขาได้บ้างไหม เพราะในงานก็มีการจัดแสดงศิลปะแสงไฟกระจายอยู่ทั่วย่านกะดีจีน-คลองสาน โดยเฉพาะแลนด์มาร์กสำคัญในชุมชน คำถามนี้ทำให้อาจารย์ยุ้ยหัวเราะ

“ไม่ถึงขนาดนั้น ศิลป์ในซอยเป็นสเกลย่อๆ และคนที่มาทำงาน อย่างทีมจากบางมดเองก็ไม่ได้เป็นศิลปินอาชีพ แต่อย่างไลต์เฟสติวัลตามเมืองใหญ่จะมีอาสาสมัครเป็นร้อยคน มีทุนเยอะ ถ้าบ้านเราจะทำบ้างก็ต้องเตรียมความพร้อมอีกมาก แต่ตอนนี้เราก็มีงานเล็กๆ ที่น่าสนใจมากเยอะขึ้น อย่างปีที่แล้วก็มีกลุ่มนักออกแบบแสงไทยที่ทำงานออกแบบแสงบริเวณตลาดน้อย ซึ่งมีสเกลใกล้เคียงกับงานนี้”

เราขอให้อาจารย์ยุ้ยแนะนำผลงานจากกลุ่ม LRIC จำนวน 3 ผลงานที่จัดแสดงภายในงานให้ฟัง เธอจึงค่อยๆ ไล่เรียงมาทีละชื่อ

พราว งานที่อาจารย์ยุ้ยลงมือออกแบบด้วยตัวเอง ตั้งอยู่บริเวณซุ้มประตูโค้งหน้าโกดังเซ่งกี่ โดยบริเวณกำแพงจะเป็นสีโทนอุ่นเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ได้แนวคิดจากประวัติศาสตร์การใช้งานพื้นที่ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จากเดิมที่เคยใช้เก็บหนังสัตว์ จนกลายมาเป็นโกดังเก็บเครื่องเทศในปัจจุบัน ส่วนด้านหน้ามีการยิงโปรเจกเตอร์เป็นลายน้ำเพื่อสื่อถึงแม่น้ำที่ยังคงอยู่ที่เดิมเสมอ

พลิ้ว จุดเริ่มต้นไอเดียของงานพลิ้ว มาจากการทดลองในคลาสเรียน Art and Science of Light ที่เน้นการออกแบบแสงสว่างแบบ interactive ทำจากถุงพลาสติกตัดชิ้น ห้อยลงมาจากระนาบเหนือศีรษะ เมื่อผู้มาชมงานโบกไม้โบกมือหรือสัมผัสถุงพลาสติก สีสันของถุงก็จะเปลี่ยนไป ผลงานชิ้นนี้เป็นการทำงานที่มีส่วนร่วมกับชุมชนโดยมีการเรี่ยไรถุงพลาสติกใช้แล้วจากผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ถ้าอยากชมงานนี้ก็ไปที่ทางเดินริมน้ำสวนสมเด็จย่า (อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ได้เลย

พราย ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือท่าดินแดง และเช่นเดียวกับพลิ้ว งานชิ้นนี้เป็นงานที่ interactive เช่นกัน แต่ต่างไปอยู่สักหน่อย เพราะสิ่งที่จะทำให้งานเคลื่อนไหวและเปลี่ยนสีนั้น ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวของคน แต่มาจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำผ่านเซนเซอร์วัดออกซิเจน และวัดความขุ่นของน้ำ โดยมีทีมสนับสนุนอย่างจาก Edutainment & Socio-Interaction Computing Research Group (ESIC Lab) ช่วยทำให้ผลงานเกิดขึ้นได้จริง

“สำหรับงานพราย เราอยากให้คนเห็นความสำคัญของคุณภาพน้ำในแม่น้ำลำคลองมากขึ้น ส่วนพลิ้วเป็นเรื่องการลดการใช้ขยะพลาสติก เพราะเมื่อใช้ไปแล้ว มันก็จะว่อนอยู่ในทะเล” เธอบอก

หลังงานศิลป์ในซอย อาจารย์ยุ้ยเชื่อว่าชาวชุมชนและภาครัฐจะเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำและการให้แสงสว่างมากขึ้น แต่การพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงนั้นยังต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดขึ้นจริง จึงเป็นแผนระยะยาวที่ต้องให้เวลาและค่อยเป็นค่อยไป

ถ้าวันนั้นมาถึง มาสเตอร์แปลนแสงสว่างกรุงเทพฯ น่าจะเป็นอย่างไร เราถาม

“แล้วแต่ย่าน ถ้าให้ยกตัวอย่างย่านที่มีการใช้งานเยอะในเวลากลางคืนก็จะเป็นตั้งแต่สะพานพระรามแปดถึงสาทร ช่วงพระรามแปดลงมาจะก็เป็นไฮไลต์ทางประวัติศาสตร์ พอไปถึงสาทรจะมีความร่วมสมัย และมีแนวโน้มเป็นย่านสร้างสรรค์ การให้แสงสว่างสองช่วงนี้ก็ควรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง จากภาพรวมจะเห็นพวกแลนด์มาร์กสำคัญ อาคารทางศาสนา ในมาสเตอร์แปลนก็ต้องมีเทคนิคการให้แสงแต่ละที่ และอีกหมวดคือสะพาน ทางเดินริมน้ำ ท่าเรือ และอีกปัญหาที่เจอคือในเวลาตอนกลางคืน แยกเข้าคลองก็จะหายไปหมด มองไม่เห็น โจทย์คือทำอย่างไรให้แสงสว่างตอนกลางคืนบอกเรื่องราวของเมืองเราที่ไม่ได้มีแต่แม่น้ำ มันมีวิถีชีวิตที่อยู่กับคลองด้วย ต้องทำให้คนลงเรือตอนกลางคืนเข้าใจ”

แววตาของอาจารย์เปล่งประกายขณะพูด ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและหวังจะได้เห็นมาสเตอร์แปลนแสงสว่างของกรุงเทพฯ สักวันเช่นกัน


เที่ยวชมเทศกาลศิลป์ในซอย ครั้งที่ 6 EAT IN SOI ได้ที่บริเวณชุมชนกะดีจีน-คลองสาน ตั้งแต่ 18 – 20 มกราคม 2019

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!