ย้อนดู The Shining และอาการ cabin fever ที่เราควรระวังในช่วง COVID-19

Highlights

  • The Shining คือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของ Jack Torrance นักเขียนนวนิยายผู้เคยติดเหล้า เขาพาภรรยาและลูกชายวัย 5 ขวบมาอาศัยอยู่ในโรงแรมที่ปิดตายชั่วคราว 5 เดือนจากหิมะฤดูหนาว นี่เองคือสาเหตุที่นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมที่เกิดกับครอบครัวทอร์แรนซ์ในที่สุด
  • หนึ่งในประเด็นที่หลายคนมักพูดถึงเมื่อชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบคืออาการ cabin fever อาการทางจิตที่เกิดขึ้นกับบุคคลหรือกลุ่มคนเมื่อถูกแยกออกมาให้อยู่โดดเดี่ยวจากสภาวการณ์เดิม และนั่นตรงกับสถานการณ์ตอนนี้ที่คนต้องกักตัวอยู่ในบ้านจากการระบาดของโควิด-19
  • คำแนะนำในการรักษาอาการนี้เท่าที่เราพอรวบรวมได้คือ การรักษาวินัยชีวิตให้เหมือนเดิม ไม่ปล่อยปละละเลย หมั่นออกกำลังกาย และฝึกสมอง ที่สำคัญคือการรู้เท่าทันตัวเองและพยายามหลีกเลี่ยงอาการนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ

The Shining หยุดอยู่บ้านติดกันยาวขนาดนี้ คงจะดีไม่น้อยถ้าเราหยิบหนังเก่าขึ้นมาเปิดดูอีกสักครั้ง

เมื่อคิดได้ดังนั้น เราหยิบแท็บเล็ตข้างตัวขึ้นมากดเข้าแอพฯ สตรีมมิงโดยพลัน หลังจากไถนิ้วดูลิสต์หนังร่วมครึ่งชั่วโมง สุดท้ายเราตัดสินใจเลือกหนังที่ภาพปกเป็นรูปดาราดังอย่าง Jack Nicholson แสยะยิ้ม

หนังเรื่องนั้นคือ The Shining หรือในชื่อไทยคือ โรงแรมผีนรก

***หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์***

The Shining

เท้าความกันก่อนถึงเรื่องราวในหนัง The Shining คือภาพยนตร์ของผู้กำกับระดับตำนานอย่าง Stanley Kubrick และมีต้นทางจากหนังสือชื่อเดียวกันโดยปลายปากกาของ Stephen King หนังว่าด้วยเรื่องของ Jack Torrance นักเขียนนวนิยายผู้เคยติดเหล้า เขาพาภรรยาและลูกชายวัย 5 ขวบมาอาศัยอยู่ในโรงแรมที่ปิดตายชั่วคราวจากหิมะฤดูหนาวเพราะอยากหาที่เขียนหนังสือเงียบๆ ตามหลักแล้วภายใน 5 เดือนที่อยู่ที่นี่ แจ็กมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของโรงแรมและคอยปรับหม้อต้มความดันภายในโรงแรม ฟังดูเหมือนเป็นงานง่าย แต่เพราะเหตุการณ์บางอย่างสุดท้ายงานที่เหมือนง่ายนี้ได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดกับครอบครัวทอร์แรนซ์ในที่สุด

The Shining

ว่ากันถึงผลตอบรับที่ตามมาของ The Shining ต้องบอกว่านี่เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ในตำนานของวงการภาพยนตร์โลกอย่างแท้จริง ถ้าพูดถึงหนังแนว psychological horror ไม่มีทางที่ The Shinnig จะไม่ถูกพูดถึง แม้ตัวหนังมีเนื้อหาไม่ตรงกับนิยายต้นฉบับทั้งหมด แต่สิ่งที่คูบริกสร้างขึ้นนั้นเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวให้กับโลกภาพยนตร์ การสร้างบรรยากาศที่ไม่ต้องใช้ผีตุ้งแช่เลยสักนิดแต่ทำให้เรากลัวจนขนหัวลุกได้ ดนตรีประกอบที่เล่นโน้ตไม่กี่ตัวแต่ทำให้เราวังเวงจับใจ หรือการผลักดันให้นักแสดงแสดงออกมาอย่างบ้าคลั่งจนห่างไกลคำว่ามนุษย์ ทั้งหมดนี้กลายเป็นต้นแบบให้กับหนังอีกหลายเรื่องจนถึงปัจจุบัน

แต่นอกจากจะเป็นผลงานขึ้นหิ้งอย่างที่กล่าวมา อีกหนึ่งสิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำได้คือการถกเถียงถึงเหตุผลและที่มาที่ไปในการตัดสินใจของตัวละครในหนัง

เราเห็นความเป็นไปของแจ็กตั้งแต่ตอนที่มาอยู่โรงแรมใหม่ๆ และยังมีสติสัมปชัญญะ ไปจนถึงช่วงไคลแมกซ์ที่เขากลายเป็นคนวิปริตที่ถือขวานไล่ฆ่าครอบครัวตัวเอง จุดนี้เองที่ทำให้หลายคนสงสัยเมื่อดูหนังจบ สาเหตุที่แจ็กกลายเป็นแบบนี้คืออะไรกันแน่ นี่เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยเพราะ The Shining ไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา

บ้างบอกว่าเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ แจ็กถูกผีเข้าจนทำให้คลุ้มคลั่ง แต่บ้างก็บอกว่าเกิดจากอาการทางจิต และเหตุผลหลังนี้เองที่ทำให้คำว่า cabin fever ถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบาย

The Shining

cabin fever คือสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่ปกติซึ่งเกิดขึ้นกับบุคคลหรือกลุ่มคนเมื่อถูกแยกหรือกักขังให้อยู่โดดเดี่ยวจากสภาวการณ์เดิม ความผิดปกติจากอาการ ‘ไข้กระท่อม’ มีได้หลากหลาย ตั้งแต่รู้สึกกระสับกระส่าย เซื่องซึม สิ้นหวัง ซึมเศร้า อยากอาหารมากกว่าปกติ นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ ขาดความอดทน ไปจนถึงอารมณ์ที่เริ่มแปรปรวน การรับรู้ผิดปกติ และอาจร้ายแรงถึงขนาดคิดทำร้ายคนอื่นและตัวเอง

ในมุมหนึ่ง cabin fever มักถูกวินิจฉัยในทางการแพทย์ว่าเป็น seasonal affective disorder (SAD) เพราะในโมงยามที่โลกปกติอาการนี้มักเกิดขึ้นในฤดูหนาวที่หลายคนต้องจำกัดตัวอยู่ในบ้านนานๆ ตรงกับภาพยนตร์เรื่อง The Shining ที่เซตฉากขึ้นมาตามนั้น ดังนั้นเมื่ออาการของแจ็กในเรื่องไล่เรียงจากเบาไปหนักตรงกับอาการของ cabin fever นั่นทำให้เรื่องนี้ถูกพูดถึงอย่างช่วยไม่ได้หลังจากที่หลายคนชมภาพยนตร์จบ 

และอาการเหล่านี้ช่างตรงกับสภาพสังคมในปัจจุบันเสียเหลือเกิน

The Shining

จากการกักตัวเพราะวิกฤตโควิด-19 ทำให้ในปัจจุบันเราเริ่มเห็นหลายๆ คนออกมาสื่อสารถึงสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคง การจับเจ่าอยู่กับบ้านโดยออกไปไหนไม่ได้ทำให้หลายคนเริ่มรู้สึกแย่ บางคนถึงขนาดเริ่มมีอาการซึมเศร้า ทั้งหมดนี้ถ้ายิ่งสะสมไว้นาน ความรู้สึกไม่ดีก็จะยิ่งพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ 

และเหตุนี้เองนำมาซึ่งการพูดถึง cabin fever ในหน้าสื่ออีกครั้ง

ตัวอย่างหนึ่งที่อาการทางจิตเวชนี้ถูกพูดถึงมากที่สุดครั้งหนึ่งคือเหตุการณ์กักตัวผู้โดยสารบนเรือสำราญเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ในครั้งนั้นสำนักข่าว BBC ได้สัมภาษณ์ผู้โดยสารหลายคนในเรือสำราญ Diamond Princess ที่จอดเทียบท่าอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมาตรการกักตัวทำให้พวกเขาแต่ละคนต้องอยู่แต่ในห้องพักตัวเองที่มีขนาดเพียงแค่ 15-30 ตารางเมตรอยู่หลายวัน ยิ่งเวลาผ่านไปหลายคนก็เริ่มมีอาการซึมเศร้าและหดหู่ โชคดีที่สุดท้ายวิกฤตนี้ผ่านพ้นไปได้ภายในเวลาที่ไม่นานนัก แต่นั่นก็เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่า ถ้าเกิดปัญหาแบบนี้กับตัวเราเองจะแก้ยังไง

เว็บไซต์ Verywell Mind ได้อธิบายสาเหตุของอาการ cabin fever และแนะนำวิธีแก้ไขไว้เช่นกัน ในขั้นต้นเนื่องจากอาการนี้มีสาเหตุจากสภาวะทางจิต คำแนะนำแรกจึงเป็นการปรึกษานักจิตเวชหรือจิตแพทย์ แต่สำหรับสิ่งที่พอทำได้ด้วยตัวเองก่อน พวกเขาแนะนำ 5 ขั้นตอนในการหลีกหนีจาก cabin fever ไว้ดังนี้

1. ออกจากบ้าน–อาจฟังดูขัดกับสภาวการณ์ในตอนนี้ แต่เมื่อสาเหตุของอาการคือการอยู่ในที่หนึ่งนานเกินไป การแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดจึงเป็นการออกจากบ้าน แม้เราอาจทำตามคำแนะนำไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ยังมาประยุกต์ใช้ได้บ้าง เช่น พาตัวเองออกนอกห้องบ้าง จัดสรรเวลาในแต่ละวันให้ตัวเราเดินออกไปหน้าบ้านหรือสวนของบ้านบ้าง อย่างน้อยการได้รับแสงอาทิตย์ตรงๆ ก็ช่วยเราได้ไม่มากก็น้อย 

2. รักษาวินัยการกินให้เหมือนเดิม–เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากการทำงานมาเป็นการอยู่บ้านที่ไม่ได้เรียกร้องการขยับตัวเท่าเดิม สิ่งหนึ่งที่อาจเปลี่ยนไปคือการกินอาหาร อาจเพราะระบบเผาผลาญร่างกายทำงานน้อยลงนั่นทำให้หลายคนมักมีอาการหิวไม่ตรงเวลา ถ้าปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสภาวะนี้เรื่อยๆ สุดท้ายระบบการกินของเราจะรวนไปจากเดิมและส่งผลเสียในระยะยาว ดังนั้นถ้าเป็นไปได้แนะนำให้รักษากิจวัตรการกินที่ถูกต้องไว้ รวมถึงกินอาหารที่มีประโยชน์ในทุกๆ มื้อด้วย

3. ตั้งเป้าหมาย–ไม่ว่าจะอยู่บ้านแบบที่ต้องทำงานหรือไม่ แต่เมื่อเราต้องรับผิดชอบตารางงานในชีวิตด้วยตัวเองทำให้บางคนอาจควบคุมจุดนี้ไม่ได้ ชีวิตจึงดำเนินไปวันต่อวันอย่างไร้จุดหมาย ราวกับแต่ละวันไม่ได้บรรลุเป้าหมายในชีวิตสักข้อ ยิ่งนานวันเข้าสภาวะนี้จะทำให้จิตใจห่อเหี่ยว ดังนั้นทางแก้คือการป้องกันสิ่งนี้ด้วยการตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง อาจเป็นเป้าหมายเล็กๆ ที่ต้องทำให้สำเร็จในแต่ละวันก่อนก็ได้ เพื่อให้ใจเรายังคงรับรู้ว่าตัวเองทำอะไรสำเร็จไปบ้าง

4. ฝึกคิดฝึกสมอง–พอชีวิตดำเนินไปแบบเดิมทุกวันในที่แคบๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สมองเราจะเคยชินและไม่ถูกใช้ ร่างกายจะดำเนินไปอย่างอัตโนมัติ ทางแก้ของเรื่องนี้จึงเป็นการค่อยๆ ฝึกสมอง อาจเป็นการอ่านหนังสือ เล่นเกม หรือสนทนากับใครสักคนก็ได้ เพื่อไม่ให้สมองอยู่นิ่งจนเกินไป

5. ออกกำลังกาย–แม้ออกจากบ้านไม่ได้แต่การออกกำลังยังคงจำเป็นเสมอไม่ว่ากับใครก็ตาม ปัจจุบันการออกกำลังกายในตัวบ้านนั้นทำได้ง่ายและมีคลิปวิดีโอสอนมากมายในโลกอินเทอร์เน็ต ขอเพียงแค่เราบริหารให้ในแต่ละวันมีเวลาออกกำลังกายบ้าง ผลที่ได้นั้นล้วนดีกับตัวเรามากทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจ

นอกจาก 5 ข้อนี้แล้ว ในเว็บไซต์อื่นๆ ยังแนะนำวิธีหลีกหนีจาก cabin fever เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมากมาย ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เพิ่มเติมอย่างการจัดบ้านใหม่ การหากิจกรรมยามว่าง การอ่านหนังสือ ไปจนถึงการวางแผนกิจกรรมหลังหมดช่วงกักตัว ทั้งหมดนี้ล้วนช่วยให้ร่างกายและจิตใจไม่ห่อเหี่ยวจนเกินไปนักในช่วงที่ต้องกักตัวสู้กับไวรัส

เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาย้อนมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นใน The Shining จะเห็นว่าสิ่งที่แจ็กเจอล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ cabin fever ทั้งนั้น ดังนั้นนี่จึงเป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่าอาการนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่อย่างใด ถ้าปล่อยไว้อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่แก้ไขยาก แต่ในขณะเดียวกันคูบริกก็เคยออกมาพูดเชิงเฉลยข้อสงสัยนี้เช่นกัน ว่าสิ่งที่แจ็กเป็นคืออาการทางจิตหรือไสยศาสตร์กันแน่ โดยเขาบอกว่าฉากหนึ่งในหนังเป็นคำตอบแล้วว่าเรื่องทั้งหมดนี้มีที่มาจากอะไร (ถ้าอยากรู้ต้องลองไปดูเอง)

สำหรับในวงการภาพยนตร์หลังจากนั้น ประเด็นเรื่อง cabin fever ถูกหยิบยกมาใส่ในหนังอีกหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง Cabin Fever ในปี 2016 หรือเรื่อง The Lighthouse ในปี 2019 แต่ละเรื่องล้วนกล่าวถึงอาการนี้ในแง่มุมที่อาจต่างกันเล็กน้อย แต่เหนืออื่นใดคือยังคงความเป็นภาพยนตร์แนว psychological horror เหมือนเดิม

ดังนั้นสำหรับใครที่ปัจจุบันต้องกักตัวอยู่บ้านและเริ่มมีอาการคล้ายๆ กับที่บอกข้างต้น เราอยากให้ทุกคนรู้เท่าทันตัวเองให้ดี ลองหาทางแก้แบบที่ในหลายเว็บไซต์แนะนำ หรือปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาแบบออนไลน์ก็ได้เช่นกัน 

เข้มแข็งเอาไว้นะ เราจะไม่เป็นแบบแจ็ก

และเราจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน

“Hereeeeee’s Johnny!”

AUTHOR