สยมภู มุกดีพร้อม : ผู้กำกับภาพชาวไทยที่หลงใหลธรรมชาติและความจริง

“มีคนสร้างสิ่งที่ดีตรงหน้ากล้องแล้ว เรามีหน้าที่ไปจับมัน เพราะเราไม่ใช่ผู้กำกับหรือนักแสดง”

จากกระแสของภาพยนตร์เรื่อง Call Me by Your Name ทั้งในต่างประเทศและในไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่านาทีนี้ชื่อของ สอง-สยมภู มุกดีพร้อม เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการเป็นผู้กำกับภาพชาวไทยให้กับหนังเรื่องนี้ กับฝีมือการถ่ายทำด้วยฟิล์มที่ดึงเอาบรรยากาศและเสน่ห์ของเมืองเครมา เมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของอิตาลี มาถ่ายทอดด้วย เลนส์ 35 มม. ตัวเดียวตลอดการถ่ายทำ ซึ่งสยมภูบอกว่าเป็นงานยากและท้าทายที่มัดมือตัวเองด้วยข้อจำกัดนี้ แต่รางวัลผู้กำกับภาพยอดเยี่ยม (Best Cinematography) ที่ได้รับจากงานประกาศรางวัลภาพยนตร์อินดี้ของสหรัฐอเมริกา (Independent Spirit Awards) คงเป็นตัวการันตีที่ดีในความสำเร็จครั้งนี้ของเขา

ก่อนจะมาเป็นผู้กำกับภาพให้หนังรักที่ดังที่สุดในปี 2017 สยมภูเคยทำงานร่วมกับผู้กำกับไทยชื่อดังมากหน้าหลายตา แต่คนที่พาให้งานภาพของสยมภูไปสู่สายตานานาชาติคือ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กับผลงานเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ ซึ่งเป็นใบเบิกทางให้สยมภูเริ่มต้นเส้นทางของการทำงานในกองถ่ายต่างประเทศ

ด้วยประสบการณ์การทำงานอันน่าสนใจตลอด 20 ปีของสยมภู วันนี้เราได้โอกาสมาพูดคุยกับเขาในเรื่องการทำงานและเบื้องหลังกระบวนการคิด ซึ่งตลอดการสนทนา สยมภูนิยามตัวเองว่าเขาเป็นช่างเทคนิคที่ทำงานกับภาพตรงหน้าที่เขารู้สึก และยืนยันที่จะถ่ายภาพยนตร์ด้วยฟิล์มเท่านั้นเพราะเป็นสิ่งที่เขารู้สึกกับมันมากที่สุด

คุณติดใจการถ่ายหนังด้วยฟิล์มตั้งแต่เมื่อไหร่
โลกมันเริ่มเปลี่ยนช่วงที่กล้องดิจิทัล Red ออกมาใหม่ๆ เราเป็นคนแรกๆ ที่สนใจเรื่องดิจิทัลแล้วกระโดดไปศึกษามัน หลังจากนั้นก็ได้ถ่ายหนังไทยด้วยดิจิทัลอีก 2 – 3 เรื่อง แล้วเราค้นพบว่าเราไม่พอใจ

ตอนที่เฟอร์ดินันโด (Ferdinando Cito Filomarino โปรดิวเซอร์ร่วมจาก ลุงบุญมีระลึกชาติ) ติดต่อให้เราถ่ายเรื่อง Antonia คราวนี้มันต้องมีกระบวนการทดลองถ่ายในโลเคชันจริง เราก็สั่งกล้องอเล็กซ่ามาถ่ายด้วยเลนส์ชุดนึง และขอเอากล้องฟิล์มมาด้วยและถ่ายด้วยเลนส์ชุดเดียวกันนี่แหละ ตอนถ่ายก็ตั้งกล้องคู่กัน เฟรมเดียวกัน ถ่ายด้วยกล้องอเล็กซ่าทีนึง ถ่ายด้วยฟิล์มทีนึงด้วยแสงเดียวกัน ด้วยวิวแบบเดียวกัน พอกระบวนการทุกอย่างเสร็จส่งให้เฟอร์ดินันโดดู เขาก็ไปฉายดูกันที่โรงหนังในมิลานแล้วแจ้งกลับมาว่าเขาจะถ่ายฟิล์มนะ เราก็ดีใจ หลังจากนั้นเราก็ถามว่าทำไมถึงเลือกฟิล์ม เขาตอบว่าดูปุ๊บก็เป็นเอกฉันท์โดยที่ไม่ต้องถกเถียงกันเลยว่าเพราะอะไร หลังจากนั้นผมตัดสินใจเลยว่าผมไม่ถ่ายดิจิทัลแล้ว จะถ่ายแต่ฟิล์ม สำหรับภาพยนตร์นะ แต่ถ้าโฆษณาก็ถ่ายหมด คนเราก็ต้องเลี้ยงชีพ

เสน่ห์ของการถ่ายด้วยฟิล์มคืออะไร
มันเป็นเครื่องมือที่เราเลือกเท่านั้นเอง เพราะว่าถ้าเป็นกล้องดิจิทัล ผมจะจัดการกับสิ่งที่เกิดหน้ากล้องได้ไม่ดีพอ เวลาดูเฟรมดิจิทัลเรารู้สึกเป็นแค่ภาพ (image) ไม่รู้สึกตอบสนองกับมันในระดับที่ละเอียดได้ มันถีบเราออกจากตัวภาพยนตร์ แม้บางทีถ่ายเฟรมนิ่งๆ เราก็อิน เอาตัวเองเข้าไป แต่สักพักนึงอะไรสักอย่างก็เด้งเราออกมาจากหนัง มันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ว่าเราควบคุมไม่ได้

อีกอย่างนึงคืองานที่เราต้องถ่ายเป็นธรรมชาติเสียส่วนใหญ่ เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องเลือกถ่ายฟิล์มเลยนะ ใช้เลนส์กว้างเพื่อถ่ายเก็บรายละเอียด ใบไม้ที่มีเต็มไปหมดเลย ซึ่งดิจิทัลมันเจ๊ง hold ไม่ได้ มันไม่ได้รายละเอียดขนาดนั้น ถ้าใบไม้นิ่งๆ คงโอเค แต่พอเริ่มไหวนิดนึง โห พิกเซลมันไม่ทันแล้วเนื่องจากรายละเอียดของต้นไม้แต่ละใบมีสีไม่เหมือนกัน ก็เป็นเรื่องของเทคนิค

พอคุณตั้งเงื่อนไขว่าต้องถ่ายด้วยฟิล์มแล้ว จัดการตัวเองยังไงบ้าง เพราะหนังส่วนใหญ่ก็ถ่ายด้วยดิจิทัลเป็นส่วนใหญ่ และเหมือนฟิล์มจะแพงกว่าด้วย
ไม่ได้แพงกว่า แต่กระบวนการอาจจะเยอะกว่า นายทุน ผู้กำกับหนังเลยชอบดิจิทัลเพราะแก้ง่ายกว่า จริงๆ จะถ่ายฟิล์มหรือดิจิทัลมันควรเหมือนกันตรงที่เราต้องทำให้โปรดิวเซอร์หรือคนที่ทำงานต่อจากเรารู้สึก comfortable กับการจัดการสิ่งนี้ เพราะไม่งั้นเขาจะไม่เลือกไง ถูกมั้ย เราก็เลยใช้วิธีการต่างๆ นานาที่จะทำให้งานเขาโฟลวที่สุด อย่าง Call Me by Your Name มันโฟลวมากในแง่ของฟิล์มโลจิสติกส์ ทีมงานก็เลยมีทักษะและความเข้าใจในการทำงานกับฟิล์มมาก เพราะฉะนั้นเรื่อง Call Me by Your Name ก็เลยไม่ต้องคุยอะไรมากเพราะเขาเข้าใจว่าเราจะทำอะไร

งานกำกับภาพของคุณมีจุดร่วมคือการถ่ายซีนธรรมชาติ ใช้ระยะภาพให้ดูเหมือนสายตาจริงๆ
เราคิดว่า fact ในโลกนี้ที่สุดจริงๆ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องที่คนคิดขึ้น ไม่ว่าเราจะพูดถึงอะไรก็ตาม สุดท้ายมันจะกลับไปที่รากของมันจริงๆ ที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ เราไม่ได้จำกัดงานตัวเองว่าเป็นสไตล์ไหนเพราะคิดว่า genre ไม่มีจริง genre อาจเป็นเรื่องหลังจากนั้นมากกว่า อาจมีจริงในแง่ของโลกการตลาดแต่เนื้อหาต่างหากที่สำคัญที่สุด

การทำหนังไม่ได้เริ่มจากกล้อง มันเริ่มจากมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ กล้องไม่ได้อยู่ในนั้นจริง แต่กล้องต้องพาคนเข้าไปตรงนั้น อาจจะมีบางเรื่องที่เริ่มจากกล้องเพราะมันเป็นองค์ประกอบทางเทคนิคก็ว่ากันไป แต่ภาพยนตร์เริ่มจากความเป็นจริงของเรื่องราว มันแปลว่ามนุษย์คนหนึ่งมีความสัมพันธ์อย่างไรกับสถานที่แห่งนั้น แล้วมันจะพาเราไปเห็นเองว่าเราต้องตั้งกล้องตรงนี้ ต้องทำตรงนี้ มันอาจไม่ได้ใช้ทั้งหมดหรอกเพราะมันมีการตัดต่อด้วยไง เพราะฉะนั้นจุดเริ่มไม่ได้มาจากกล้อง กล้องมันมาเพื่อบันทึกตรงนั้นเพื่อเอาไปทำซ้ำเผยแพร่เท่านั้น

คุณวางแผนก่อนถ่ายทำไว้แค่ไหน เห็นภาพในหัวทั้งหมดก่อนจะถ่ายหรือเปล่า
ตั้งแต่ตอนเตรียมโปรเจกต์ เราจะคิดเป็นภาพรวมว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไร เช่น เราอยากได้หนังสไตล์ 70s เราก็ต้องใช้อุปกรณ์ที่เป็นของยุค 70s เพื่อให้ได้วิญญาณแบบนั้น เราก็ต้องต่อสู้ภายใต้กรอบข้อจำกัด แต่บางอย่างก็ต้องเปลี่ยนตอนอยู่หน้างาน บางอย่างก็ดื้อไม่เปลี่ยน ผ่อนหรือไม่ก็ผ่อนผันมันขึ้นอยู่กับสไตล์ที่หน้างาน แต่ถ้าถามผมโดยทั่วไป 50-50 ครับ เราขอเวลาบ่าย 2 โมงครึ่ง เพราะเวลานี้ตรงนี้มันสวย แต่เป็นไปไม่ได้เสมอที่มันจะ 2 โมงครึ่ง 4 โมงอาจจะยังไม่มาเลย

หน้าที่ของผู้กำกับภาพที่ดีสำหรับคุณคืออะไร
เราต้องแปลความคิดในหัวของผู้กำกับออกมาเป็นเชิงเทคนิคให้ได้ เพราะสุดท้ายไม่ว่าผู้กำกับจะพูดอะไรมา เราต้องแปลงมันเป็นวิธีที่จะถ่าย ถึงจะพูดอะไรมาไม่รู้ แต่เราต้องรู้ล่ะว่าฉากนี้จะใช้ดอลลี่สามราง จบ แล้วก็ต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมขอย้ำว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ หมายความว่าทุกอย่างถ้าเป็นงานด้านนี้เมื่อมันมาถึงเรา เราก็ต้องจัดการมันให้ได้ ถ้าไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไรก็ต้องตอบได้ ไม่เอางานของตัวเองให้เป็นอุปสรรคกับงานของคนอื่นหรือฝ่ายอื่น เช่น คุณจะตั้งไฟไว้ทำไมวะ นักแสดงจะเดินผ่าน

โอกาสที่คนไทยจะได้ไปทำงานในระดับฮอลลีวูดมีมากน้อยแค่ไหน
ต้องยอมรับว่าโอกาสที่คนไทยจะได้กำกับหนังต่างประเทศมันมีไม่เยอะ แต่ช่างเทคนิคที่มีฝีมือต่างหากถึงจะได้ไป สุดท้ายแล้วไม่มีใครปิดโอกาสใครหรอกในโลกนี้ เพียงแต่ว่าก็เป็นทั้งเรื่องดวง ทั้งเรื่องตัวตนของเรา โอกาสที่เราได้ไปทำงานต่างประเทศเนี่ยมีหลักการเดียวคือเราไม่ได้พยายามจะเป็นอะไร เราเป็นตัวเรา สิ่งนี้ต่างหากที่วงการภาพยนตร์ในโลกนี้ต้องการ ความเป็นตัวตนของตัวเรา คุณทำงานทุกครั้งคุณจะเอาแต่เรเฟอเรนซ์มาวางแล้วทำตาม มันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไปเหรอ แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรผิดอะไรถูกหรอก แล้วแต่วิธีการของใครของมัน

แล้วคุณเองมีคนที่เป็นต้นแบบหรือเปล่า
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จริงๆ นะไม่ได้พูดเล่น เราคิดว่านั่นคือข้อเท็จจริง คือความจริง คือทุกอย่าง ส่วนอื่นเป็นแค่องค์ประกอบในโลกเท่านั้นเอง แต่ถ้าให้ตอบเฉพาะเรื่องภาพยนตร์ เราชอบงานเก่าๆ ของ อังเดร คอนชาคอฟสกี้ สัตยาจิต เรย์ วิลเลี่ยม ไวเลอร์ ชอบหนังเก่าๆ ซึ่งเราก็ตอบไม่ได้ว่าทำไมเราค่อยๆ หนีจากหนังร่วมสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ

ในสายตาของคุณ คิดอย่างไรกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน
ร่อแร่มากๆ ครับ มันเกิดจากว่าพวกเราอาจจะยอมให้ภาพยนตร์เป็นพาณิชยศิลป์จนไม่เปิดโอกาสให้มีแบบอื่นเกิดขึ้นมา ทุนที่เป็นพาณิชยศิลป์ธรรมชาติมันเป็นแบบนั้นผิดมั้ย ก็ไม่ผิด แต่ประเด็นคือเรามองภาพยนตร์เป็นอะไรล่ะ เป็นสินค้าหรือวัฒนธรรม

สำหรับผม ภาพยนตร์เป็นวัฒนธรรม การที่เรามีศิลปะภาพยนตร์ที่พูดภาษาไทย โอ้โห สำหรับผมคือเรื่องยิ่งใหญ่มากเลยนะ มันจะมีกี่ภาษากันในโลกภาพยนตร์ซึ่งไม่ได้เยอะเท่าจำนวนภาษาที่มีจริงๆ แล้วหนังเราเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่พูดภาษาไทย นี่ไม่ใช่วัฒนธรรมเหรอ ถ้าเราปล่อยให้ภาพยนตร์เป็นไปตามกระบวนการของตลาดจนมันไม่เปิดโอกาสให้อย่างอื่นเกิดขึ้น ทุกอย่างมันก็จะถูกคิดอยู่ในกรอบนั้นเสมอ กลายเป็นสินค้า ถ้าเราเปิดโอกาส มันก็จะมีงานประเภทอื่นเกิดขึ้น

ความหลากหลายที่อยากเห็นในวงการภาพยนตร์ไทยคือแบบไหน
หลากหลายเท่าที่มันจะเป็น ถ้าถามเรานะ คนดูก็มีส่วนกับคนทำ คนทำก็มีส่วนกับคนดู แลกกลับมาซึ่งกันและกัน เราคาดหวังให้มันมีที่ทางสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการผลิตงาน มีช่องทางเพียงพอที่จะทำขึ้นมาได้โดยเฉพาะเด็กๆ เนื่องจากพลังนี้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ แต่ถ้าไม่มีช่องให้เขา มันก็เหี่ยวแห้งลงแล้ววันหนึ่งมันก็ตายไปกับเขา

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR