“ณ ช่วงเวลานั้น หนังสือเป็นดั่งไกด์บุ๊กของชีวิต“ The Reader’s Secret จากทางบ้าน

“ณ ช่วงเวลานั้น หนังสือเป็นดั่งไกด์บุ๊กของชีวิต“ The Reader’s Secret จากทางบ้าน

หลังจาก a day ฉบับ 224 The Reader’s Secret วางแผง พวกเราชาว a team ได้จัดกิจกรรมให้ผู้อ่านแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือที่มีอิทธิพลต่อความคิดและตัวตนของพวกเขาในวัยหนุ่มสาว และส่งเข้ามาเพื่อรับโปสเตอร์ฝีมือ TUNA Dunn ตอนนี้หมดเขตร่วมสนุกกิจกรรมแล้ว แต่หลายเรื่องราวที่ส่งเข้ามาก็ทำให้เราประทับใจ

ด้วยความเสียดาย เราขอนำเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าต่อ และนี่คือเรื่องราวของหนังสือ 5 เล่ม จากนักอ่าน 5 คน ที่ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากหยดหมึกและหน้ากระดาษ บางคนเปลี่ยนมาก บางคนเปลี่ยนน้อย และบางคน ชีวิตของเขาและเธอก็หักเหไปตลอดกาล

ต่อไปนี้ คือเรื่องราวที่หน้ากระดาษทำให้พวกเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

Dandelion

เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด

ผู้เขียน : คิม รันโด

ผู้แปล : วิทิยา จันทร์พันธ์

ภูมิใจนำเสนอเล่มนี้มากๆ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ เป็นหนังสือที่บอกเล่าการเปลี่ยนผ่านชีวิตเด็กมัธยมเข้าสู่ช่วงมหา’ลัยได้ดีที่สุดเล่มหนึ่งสำหรับเรา เรามีโอกาสได้อ่านครั้งแรกในจังหวะชีวิตที่เหมาะมาก คือช่วงที่คิดจะซิ่ว

ในหัวตอนนั้นคิดว่าจะพอแค่นี้ หรือจะลองสู้กันอีกสักตั้งเพื่อความฝันของเรา เป็นช่วงที่ทั้งท้อทั้งเหนื่อยปะปนกันไป เพราะทั้งอ่านหนังสือเตรียมซิ่ว และอ่านหนังสือสอบของคณะที่เรียนอยู่  

ถึงแม้สุดท้ายผลลัพธ์มันไม่ได้ออกมาตามที่คาดหวังไว้  แต่มันคือสิ่งที่เราพยายามเเละเต็มที่ที่สุดในตอนนั้นเเล้ว หนังสือเล่มนี้ช่วยปลอบประโลมจิตใจเราได้มากจริงๆ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนั้น มันเหมือนเป็นเพื่อนปรับทุกข์ยามยากคนหนึ่งเลย

Teerachot Jivorasetkul

สิ่งที่ค้นพบระหว่างนั่งเฉยๆ (อุนนุนหมายเลข 1)

ผู้เขียน : นิ้วกลม

เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ผมอยู่ในช่วงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต

ผมกำลังจะเปลี่ยนสถานะจากนักเรียนเป็นนักศึกษา โดยช่วงปีนั้น ผมเห่อนักเขียนอยู่สองราย คือ นิ้วกลม กับ วินทร์ เลียววาริณ เรียกว่าผลงานใหม่ของทั้งคู่ออกมาเมื่อไหร่ ผมไม่มีพลาดเลยสักเล่ม

“สิ่งที่ค้นพบระหว่างนั่งเฉยเฉย” ก็เป็นหนึ่งในผลงานเหล่านั้น

หนังสือเล่มเล็ก กะทัดรัด พกพาสะดวก ผลงานที่มีคำโปรยบนปกว่าอุนนุนหมายเลข 1 กลุ่มคำสั้นๆ ที่อาจสะกิดความทรงจำของคุณให้ฟุ้งกระจาย

ข้อเขียนในเล่มได้รวบรวมมาจากทวิตเตอร์ของนิ้วกลม ช่วงปี พ.ศ. 2552-2553 ภายใต้กรอบจำกัดของ 140 ตัวอักษร ทำให้เกิดข้อความสั้นๆ ความยาว 2-5 บรรทัด ซึ่งเนื้อหาล้วนเป็นเรื่องที่เบาสบาย อ่านง่าย อย่างเรื่องความรัก การจากลา ความเปลี่ยนแปลง ครอบครัว ความเศร้า ความสัมพันธ์ ความอ้างว้าง

ขณะอ่าน ผมรู้สึกว่า พวกนักกวีนี่ขี้เกียจจริงๆ ชอบทำอะไรแบบ less is more คือเขียนน้อยๆ เน้นไปที่การเล่นคำ เรียงร้อยถ้อยคำ จัดจังหวะจะโคนด้วยการขึ้นบรรทัดใหม่ แล้วปล่อยพื้นที่ว่างเยอะๆ (ถ้าอยู่ในตำราวิชาเลข ก็เอาไว้ใช้ทดเลขได้สบาย หรือหากใครพลิกอ่านผ่านๆ ก็คงรู้สึกเสียดายเงิน ไม่ซื้อเพราะกลัวไม่คุ้ม) เหมือนกวีจะพยายามไม่บอกเราทุกอย่าง แต่เหลือที่ว่างให้เราได้หยุดหายใจ ได้เปิดประตูจินตนาการของตัวเอง และได้เติมเต็มความนามธรรมต่างๆ ในห้วงอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดบ้าง

บางช่วงบางตอนในเล่ม มีการเขียนสิ่งที่แลดูเป็นสัจธรรม

“ถ้าไม่มีเวลารดน้ำดอกไม้

ไม่ควรปลูก”

หากประโยคเช่นนี้ไปอยู่ในหนังสือเรียนวิชาเกษตร หรือบทสนทนาขณะพ่อแม่กำลังสอนลูก มันคงเป็นเพียงประโยคธรรมดาๆ ประโยคหนึ่งที่ให้ความรู้เรื่องการปลูกต้นไม้ ประมาณว่าหากเราไม่มีเวลาดูแลต้นไม้ ก็ไม่ควรปลูกมัน ง่ายๆ แค่นั้น

แต่พอมาอยู่ในหนังสือเล่มนี้ มันทำให้ผมจินตนาการในเชิงโรแมนติกต่อไปได้ว่าดอกไม้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความรัก หากเราไม่มีเวลารดน้ำดอกไม้ ก็แสดงว่าเราไม่มีเวลาดูแลความรัก และเราอาจไม่สมควรมีความรักตั้งแต่แรกแล้ว

จำได้ว่าครั้งแรกที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ เสพไปก็เขินไป รู้สึกเหมือนถูกจั๊กจี้ที่หัวใจอยู่เป็นระยะๆ น่าจะเพราะตอนนั้นกำลังมีความรักด้วย และผมก็รู้สึกว่า “ถ้าหนังสือเป็นสิ่งมีชีวิต หนังสือเล่มนี้ต้องเป็นกูแน่ๆ” คือเป็นคนไม่ชัดเจน ชอบความคลุมเครือ รู้สึกว่าสิ่งที่ตรงไปตรงมาไม่ค่อยมีเสน่ห์ กระทั่งผู้หญิงคนที่ผมแอบชอบอยู่นาน ยังไม่เคยรู้เลยว่าผมชอบ เพราะผมไม่เคยบอกเธอตรงๆ จนสุดท้ายเธอก็ไปคบกับผู้ชายอีกคน คนที่เธอคบมาจนถึงทุกวันนี้

ผมเป็นคนแบบนั้น คนที่ไม่ค่อยแสดงออกว่าคิดอย่างไรต่อคนอื่น โดยมีหนังสือเล่มนี้เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ เพราะผมเข้าใจว่า

หน้า 162

“ความพร่ามัว

มีเสน่ห์กว่า

ความชัดเจน”

(แต่หากมีเสน่ห์แล้วเธอไม่รู้ว่าผมชอบ ก็ไม่รู้จะมีเสน่ห์ไปเพื่ออะไร ตราบใดที่ผมยังคงเลือกจะเก็บความรู้สึกไว้ในใจ ไม่บอกเธอออกไปตรงๆ)

หน้า 153

“ความในใจ

เหมือนจดหมายที่ไร้แสตมป์

เขียนเสร็จแต่ไม่ได้ส่ง”

(บทสรุปจึงกลายเป็นว่า)

หน้า 28

“หมดเวลาแล้ว

ที่เหลือ

คือทดเวลาเจ็บ”

อ่านจบแล้วไม่แปลกใจที่พบว่านิ้วกลมเคยทำงานเป็นครีเอทีฟ นอกจากการเป็นนักสร้างสรรค์แล้ว เขายังมีความเป็น ‘ช่าง’ ด้วย ไม่ใช่ช่างประปา หรือช่างไฟฟ้า แต่เป็นพวก ‘ช่างคิด’ ‘ช่างรู้สึก’ คือถ้าชาวอารมณ์อ่อนไหวได้มาอ่านเล่มนี้ ก็น่าจะมีหลายเรื่องที่กระทบจิตใจมากถึงมากที่สุด จนบ่อน้ำตาแตกเอาได้ง่ายๆ

ปกติผมเป็นคนชอบอ่านนู่นนี่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์หรือสื่อออฟไลน์ แต่ส่วนใหญ่เนื้อหาที่อ่านจะถูกเขียนออกมาเป็นบทความเนื้อหาหนักหน่วง จริงจัง ไม่ค่อยได้อ่านบทกวี หรือข้อความสั้นๆ ที่มาแนวคำคม (ความจริงก็คล้ายกับสเตตัสของเพื่อนบางคนในเฟซบุ๊ก) ซึ่งทำให้รู้สึกว่าเล่มนี้ได้มาช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ

อีกทั้งตอนอ่านเล่มนี้ครั้งแรกยังทำให้ผมชอบการเขียนมากกว่าเดิม จากเดิมที่ชอบเขียนไดอารีแต่ละวันแบบยาวๆ เนื้อหาละเอียดมาก ทุกวันนี้ก็มีเขียนสั้นๆ บ้าง โดยหาข้ออ้างให้ตัวเองได้ว่า ไม่มีเวลาบ้าง ขี้เกียจบ้าง รวมถึง…อยากเท่บ้าง!

และนี่คือตัวอย่างผลงานเขียนของผมในสมัยเรียนมหา’ลัย ซึ่งคลอดออกมาโดยมี ‘สิ่งที่ค้นพบระหว่างนั่งเฉยเฉย’ เป็นแรงบันดาลใจ

“เขาน่ารัก

แต่เราไม่รัก

น่าจะดีกว่า”

ถึงตอนนี้ เมื่อลองหยิบเล่มนี้ขึ้นมาอ่านอีกครั้งก็รู้สึกอินน้อยลงในหลายช่วงหลายตอน จนถึงขั้นไม่อินแล้วก็มี พอเวลาผ่าน จากวัยนักศึกษาสู่วัยทำงาน ทำให้ผมอยู่กับความจริงมากขึ้น ความจริงอันโหดร้ายของชีวิต

อีกสาเหตุน่าจะเพราะว่า

“ห้วงยามนี้ผมไม่มีความรักเลย

ไม่มีจริงๆ

แม้กระทั่งการแอบรักใครสักคน”

Buncha Tangyim

แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

ผู้เขียน : Erich Maria Remarque

ผู้แปล : หม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิติยากร

ตอนเด็กๆ ล่วงเข้าสู่วัยรุ่น เราเติบโตมากับหนังสือห้องสมุด ร้านเช่าหนังสือ อ่านทุกอย่างที่อยู่ในความสนใจ กระทั่งมาเจอหนังสือเล่มนี้ เล่มที่ทำให้โลกการอ่านรวมทั้งมุมมองในการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป

เด็กหนุ่มชาวเยอรมันหลายคนต้องเข้าสู่สนามรบ แทนที่จะได้เรียนหนังสือหรือทำงาน มีชีวิตอยู่กับครอบครัว คนรัก สงครามถีบพวกเขาเข้าสู่วังวนของการเข่นฆ่า โดยไม่รู้ว่าฝ่ายตรงข้ามมีความผิดอะไร และฝ่ายตรงข้ามก็คงคิดเช่นเดียวกัน

คนที่สั่งพวกเขาให้ไปรบ ไม่ได้ออกรบด้วยตัวเอง

เราอ่านพล นิกร กิมหงวน, ล่องไพร หรือเพชรพระอุมา เราได้กินได้เล่นแบบเด็กธรรมดาทั่วไป ทว่าเด็กหนุ่มที่อยู่ในสงครามอย่างในหนังสือเล่มนี้ช่างน่าเศร้าแท้ อากาศหนาวเย็น อาหารการกินไม่เพียงพอ นอนไม่สุด ตื่นก็สะดุ้งกับเสียงปืน เสียงระเบิด สิ่งที่พวกเขารอคอยคือการสงบศึกและเลิกรบ ความตายคือการพักผ่อน หมดภาระหน้าที่

แม้สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงเกือบจะ 100 ปีแล้ว ทว่าสงครามไม่มีวันสิ้นสุด จนกระทั่งทุกวันนี้

เราอ่าน ‘แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง’ หลายรอบหลายช่วงวัย และคิดว่าหนังสือเล่มนี้ไม่มีวันตกยุคตกสมัย เพราะโลกไม่เคยว่างเว้นสงคราม

เรามักได้ยินคำพูดประเภทว่าชีวิตนี้อยากทำโน่นทำนี่ อยากเป็นไอ้โน่นอยากเป็นไอ้นี่ แต่ไม่มีเวลาทำ ไม่มีโอกาส ไม่มีเงิน จนกระทั่งหมดแรงไม่ได้ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำสักอย่าง หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราตัดสินใจลงมือใช้ชีวิตแบบที่อยากทำ เราไม่จำเป็นจะต้องเป็นในสิ่งที่ใครอยากให้เป็น

เพราะหนังสือเล่มนี้สอนเราว่าต้องทำสิ่งที่อยากทำ

ก่อนวันสุดท้ายของชีวิตเดินทางมาถึง

opal.nawapat

BEANSPROUT & FIREHEAD in the infinity madness : ถั่วงอกและหัวไฟ ในความบ้าคลั่งอันมิรู้สิ้นสุด

ผู้เขียน : ทรงศีล ทิวสมบุญ

ผมไม่เคยรู้จักนิยายภาพมาก่อน

ถึงจะคุ้นชินกับการอ่านหนังสือมาตั้งแต่จำความได้ แต่โลกใบน้อยของผมมีหนังสืออยู่เพียง 2 ประเภทเท่านั้น หนึ่งคือการ์ตูนที่ฉูดฉาดเข้าถึงง่าย สองคือนิยายเล่มหนาไร้ภาพประกอบที่ผมเข้าไม่ถึง จนกระทั่งได้พบกับถั่วงอกและหัวไฟ ของพี่อัพ–ทรงศีล ทิวสมบุญ นิยายภาพเก่าๆ บนชั้นหนังสือของพี่ชายเปิดโลกการอ่านให้ผมในวัยมัธยมต้นรู้จักกับการอ่านนิยายที่มีภาพประกอบเป็นครั้งแรก

นอกจากอ่านหนังสือ งานอดิเรกที่ผมทำเป็นประจำจนเป็นที่คุ้นตาของทุกคนคือการเขียนการ์ตูน และปฏิเสธไม่ได้ว่าลายเส้นดิบใหญ่รุนแรงของถั่วงอกและหัวไฟยุคแรกๆ มีผลต่อการพัฒนาลายเส้นการ์ตูนของผมเองอย่างมาก ลายเส้นที่โลดแล่นในกระดาษเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ยึดโยงสายสัมพันธ์ระหว่างผมกับเพื่อนๆ มากหน้าหลายตาในเวลาต่อมา

ผมมักสร้างมิตรภาพจากการเขียนการ์ตูน แต่ผมในวัยมัธยมต้นกลับเป็นเด็กที่ไม่กล้าออกจากกรอบของตัวเองนัก ตัวละครถั่วงอกที่ขี้กลัวและอ่อนต่อโลกเป็นภาพสะท้อนตัวตนของผมอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยความที่ผมอาศัยอยู่ในกรอบของตนเองทำให้ภายในใจโหยหาการออกจากพื้นที่ปลอดภัยนี้อย่างรุนแรง เหมือนตัวละครหัวไฟที่มีความคิดสุดโต่ง ท้าทายโลกทั้งใบอย่างไม่สนกำลังตนเอง หัวไฟทำให้ผมฉุกคิดถึงการทำสิ่งบ้าบอคอแตก และการกำหนดทางเดินชีวิตของตนเองเสมอ จนกระทั่งเส้นทางนั้นค่อยๆ เด่นชัดเมื่อผมเรียนจบคณะภาพยนตร์ และเริ่มทำงานในฐานะมือตัดต่อวิดีโอ หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้กว่า 7 ปี

ตัวตนของถั่วงอกและหัวไฟสะท้อนจิตใจทั้งสองด้านของผมได้พอเหมาะพอเจาะ ไม่แปลกที่ผมจะรู้สึกผูกพันและติดตามการเดินทางของพวกเขามาถึงทุกวันนี้ เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่ทำให้ผมมีนักเขียนในดวงใจคนแรก เป็นหนังสือที่เปิดโลกนิยายภาพอีกหลายเล่มตามมา ความบิดเบี้ยวในโลกบ้าคลั่งของถั่วงอกและหัวไฟมีประกายแปลกประหลาดบางอย่างที่ทำให้ผมเริ่มกล้าคิดต่าง กล้าวาดลายเส้นรุงรังไม่สนโลก กล้าที่จะเลือกทางเดิน

กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง

หากจะพูดว่า หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้ผมเป็นผมในวันนี้ได้ คงไม่เกินจริงนัก

thisisabook_th

Dead Poets Society : ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝัน

ผู้เขียน : N.H. Kleinbaum (ดัดแปลงจากบทภาพยนตร์โดย Tom Schulman)

ผู้แปล : Zeze’

ครูคีติ้งในเรื่องนี้ คือครูผู้แสดงศักยภาพความเป็นครูท่ามกลางอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้หัวใจแห่งความเป็นครูเดินทางไปสู่หัวใจของนักเรียนหลายคนที่ถูกปิดตาย

ท้ายที่สุดครูคีติ้งไม่อาจเอาชนะสายธารแห่งค่านิยม การแข่งขัน การตีกรอบ ครูสูญเสียอาชีพ สูญเสียนักเรียนที่กำลังจะเปิดหัวใจให้โลกเห็น แต่สิ่งที่ครูคีติ้งทิ้งไว้เบื้องหลังคือหัวใจแห่งครูผู้อยากให้ศิษย์ได้ดี มีชีวิตดังฝันใฝ่ ไร้ผู้ใดปิดกั้น และนักเรียนทั้งหลายได้รับเอาหัวใจครูไปแล้ว สายป่านแห่งความดีงามจึงถือกำเนิดได้สำเร็จ

ความฝันคนเราเกิดขึ้นมากมายและเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ใช่ แต่มีเพียงไม่กี่ฝันที่เราจะจริงใจกับมัน

ครูคีติ้งสร้างสิ่งนั้นให้กับหญิงสาวคนหนึ่ง เธออยากเป็นอย่างที่ครูคีติ้งเป็น สิ่งที่เธอเห็นในเด็กทุกวันนี้ช่างเหมือนกับนักเรียนของครูคีติ้ง

แล้วเธอก็สมใจ เธอได้สอนอย่างที่เธออยากจะสอน เด็กบางคนได้อะไรไปจากเธอ ซึ่งเธอได้รับรู้จากปากลูกศิษย์ของเธอเอง และไม่คาดคิดว่าในที่สุดเธอก็มีจุดจบในอาชีพอย่างครูคีติ้ง เธอมิอาจต้านทานโลกทุนนิยม

ถึงอาชีพคนสอนหนังสือของเธอจะจบลง แต่เธอสามารถหันหลังกลับไปมองพร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้ม และมั่นใจว่าลูกศิษย์หลายคนของเธอเปิดหัวใจตนเองได้แล้วอย่างช้าๆ

เธอคนนั้นคือใครคนนี้ ที่กำลังบอกเล่าเรื่องราว

“Carpe Diem! Seize the day. Make your lives extraordinary”

And miss you, Robin Williams

AUTHOR