“อย่างน้อยหนังสือก็ไม่ทำให้เราเคว้งคว้าง” สอง PARADOX กับหนังสือที่เป็นเพื่อนตอบคำถามในชีวิต

Highlights

  • สอง PARADOX หยิบหนังสือของ Stephen King และวินทร์ เลียววาริณ มาเล่าให้ฟังว่า ทำไมสองเล่มนี้จึงเปิดโลกของเขา โดยเฉพาะช่วงที่ยังเป็นนิสิตครุศาสตร์ จุฬาฯ
  • เพราะระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัย สองเริ่มตั้งคำถามกับความมีอยู่ของตัวเอง เช่น ชีวิตเกิดมาทำไม ชีวิตนี้ต้องทำอะไร สิ่งที่ทำอยู่ดีหรือเปล่า 
  • เมื่อไม่รู้ว่าคำตอบของคำถามคืออะไร เขาจึงค่อยๆ มองหามันไปพร้อมกับการเสพสื่อหลายๆ อย่าง ทั้งภาพยนตร์ เพลง และหนังสือ
  • โดยเฉพาะการอ่านผลงานของสองนักเขียนต่างสไตล์นี้ ทำให้เขารู้สึกได้ว่าหนังสือช่วยปลอบประโลมข้างในของเขา และอย่างน้อยยังมีคนที่คิดตั้งคำถามเรื่องมนุษย์คล้ายกับเขาอยู่

“หนังสือที่เลือกมาคุยคือหนังสือที่เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนโลกสำหรับเรา ต้องเล่าก่อนว่ามีช่วงหนึ่งในชีวิตที่เป็นจุดเปลี่ยน คือช่วงเรียนมหา’ลัย น่าจะเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านอารมณ์วัยรุ่นจากเด็กไปโต เราไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นหรือเปล่า พอเจอโลกใหม่ เจอสังคมใหม่ เจอเพื่อน เจอรุ่นพี่ มันก็เป็นช่วงที่ตั้งคำถามกับตัวเองว่าอยากทำอะไร ชอบอะไร อยากเป็นอะไร ควรจะทำยังไงดี ต้องรู้สึกยังไงดี เป็นช่วงวัยที่ไม่รู้จะไปไหน ไม่รู้จะทำอะไร เป็นช่วงวัยที่หาคำตอบ หาความหมายให้ชีวิต

“แต่ตอนนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไรนะ ชีวิตก็สนุกด้วยซ้ำ ไปเรียนศิลปะ ได้วาดรูป ได้เจอเพื่อน เจอรุ่นพี่ที่สนุก คือทุกอย่างดูไม่มีอะไรเลย เราก็พยายามหาสาเหตุ ย้อนกลับไปคิดว่าที่บ้านมีปัญหาหรือเปล่า ก็ไม่มี หรือเราแปลกแยกจากสังคมเหรอ ก็ไม่ เรามีวงดนตรีกับต้า ออกไปทัวร์คอนเสิร์ตกันแล้วด้วย มีเพื่อน คบกับแฟน มีคนรอบข้างเต็มเลย แต่เวลาอยู่ว่างๆ คนเดียวเรารู้สึกโล่ง ว่างเปล่า รู้สึกขาดหาย รู้สึกเคว้ง คือมันอธิบายไม่ถูก

PARADOX

“ถ้าถามว่าทำไมรู้สึกอย่างนี้วะ เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันคืออะไร มันคงรู้สึกขาดหายจนต้องการอะไรบางอย่างที่จะมาตอบหรือเติมเต็มตัวเอง

“ช่วงนั้นก็ไม่ได้เล่าให้ใครฟังนะ เพราะไม่รู้จะมีคนรู้สึกเหมือนเราไหม เลยหาอะไรก็ได้มาเติมให้ตัวเองเรื่อยๆ เราเลยไปดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ เติมเข้าไปให้ตัวเองไม่รู้สึกว่าง ไปขอคำแนะนำจากเพื่อนที่ชอบอ่านหนังสือ เขาบอกว่างานของ Stephen King ดี ก็เลยเอามาให้ยืม ผลัดกันอ่าน ตอนนั้นเลยได้รู้จักกับงานของคิงก่อน

“เล่มแรกที่ยืมเพื่อนมาอ่านคือ ‘Gerald’s Game’ เป็นงานที่ตกใจมากเหมือนกัน เนื้อหาคือคู่รักไปป่า แล้วผู้ชายล็อกผู้หญิงไว้ พอจะมีเซ็กซ์ ผู้หญิงตกใจ ถีบโดนกล่องดวงใจผู้ชายแล้วเขาก็ตาย เรื่องเริ่มแค่นี้เลย แล้วอีก 700 กว่าหน้าคือผู้หญิงนั่งคิดถึงชีวิตที่ผ่านมาว่าจะเอาตัวรอดให้ได้ยังไง เราก็นั่งอ่านไปเลย 700 หน้า 

“ตอนแรกคิดว่าผลงานของคิงจะเป็นพวกหนังสือสยองขวัญ นิยายทั่วไป เพราะหนังสือเขามักพาดปกว่าเป็นมนุษย์ต่างดาว ผี แต่ว่าพออ่านงานเขาไปเรื่อยๆ ก็เลยรู้ว่าพวกเรื่องเหนือธรรมชาติที่เขาพูดในหนังสือไม่เกี่ยวเลย ที่จริงเนื้อหาข้างในจะเล่าว่ามนุษย์คิดยังไง มนุษย์คืออะไร เราอ่านแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องน่ากลัว มันเป็นเรื่องจิตวิทยามนุษย์ ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้มนุษย์ควรจะรู้สึกยังไง เราว่าหนังสือพวกนี้แปลกจากเล่มอื่นๆ ที่เคยอ่าน  มันมีความหมายที่เขาอยากจะบอกอีกแบบหนึ่งอยู่ในนั้น 

“พอชอบเลยหางานของคิงมาอ่านเรื่อยๆ อย่างเล่ม ‘Different Seasons’ เป็นเล่มที่รวมหลายเรื่อง ยิ่งอ่านยิ่งคิดว่าคิงกำลังหาความหมายอะไรบางอย่างให้ชีวิตอยู่ เหมือนเขากำลังหาคำตอบว่ามนุษย์คืออะไร แล้วยิ่งอ่านไปลึกๆ ยิ่งรู้สึกว่าเขาถามตัวเอง พอเราไปอ่านด้วยก็เหมือนเขามาเติมอะไรให้เราได้ เออ มันมีคนตั้งคำถามว่าเกิดมาทำไม อยากทำอะไร แล้วต้องทำในสิ่งที่อยากทำเหรอ 

“อีกเล่มคือผลงานของคุณวินทร์ (วินทร์ เลียววาริณ) เรื่อง ‘สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน’ เล่มนี้ก็เป็นเล่มเปิดประเด็นให้เรา เพราะก่อนหน้านี้เราอ่านการ์ตูน หนังสือวิทยาศาสตร์ นิตยสารดนตรี แต่ไม่เคยอ่านงานแบบนี้มาก่อน พอได้อ่านแล้วเหมือนระเบิดลงตู้ม ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม เฮ้ย มันสามารถเขียนงานแบบนี้ได้ด้วยเหรอวะ 

“เหตุผลที่รู้สึกว่ามันเปลี่ยนเรา เพราะข้อแรกคือมันมาในยุคที่เราไม่เคยเจอหนังสือแบบนี้ แล้วเรื่องสั้นในเล่มมันเป็นการทดลองเขียนวิธีใหม่ๆ ในตัวด้วย เช่น ทดลองเว้นวรรค มันจะมีเรื่องหนึ่งที่เลือกใช้คำที่ไม่เกี่ยวกันเลยแต่ว่ามาเรียงกัน พออ่านก็จะเอาไปผสมเอาเอง ไปนึกภาพในหัวเอง ซึ่งนักเขียนเขาก็พูดเองด้วยว่าเขาเขียนให้คนอ่านรู้สึกถึงเรื่องระหว่างบรรทัด เออ เราก็รู้สึกได้ ระหว่างอ่านมันก็ถามตัวเองไปด้วย

“ตอนที่เขาเล่าเรื่องเช็งเม้ง เขาจะพูดว่าเราจะตามตระกูลเราได้มากที่สุดแค่ 6 ลำดับบน-ล่าง เราก็นึกตาม เออ เราก็ตามได้แค่ปู่ทวด นอกนั้นเราก็จะไม่รู้จักแล้ว สุดท้ายเราก็กลับมาคิด กลับมาตั้งคำถามว่า เพราะอะไรมนุษย์ถึงมีการสืบต่อสายพันธุ์ มนุษย์ทำอะไรอยู่ โครงสร้างเซลล์หรือโครงสร้างโลกมันทำอะไรอยู่กันแน่ มันวางโปรแกรมไว้เหรอว่าจะต้องมีทายาทเพื่อทำอะไรต่อ  

“เพราะฉะนั้นก็จะคล้ายๆ ตอนอ่านของคิง คืออ่านไปแล้วรู้สึกว่ามันมีความหมายที่เขาอยากจะบอกอีกแบบหนึ่งอยู่ในนั้น ขึ้นต้นมาก็เป็นเรื่องหลากหลาย เช่น การเมือง สังคม เรื่องสมมติ แต่ข้างในจริงๆ ก็จะเป็นการค้นหาว่า ถ้ามนุษย์คนหนึ่งมีอาชีพนี้ อยู่แบบนี้ เขาควรจะรู้สึกยังไง หรือควรจะทำยังไงดี ดังนั้นพออ่านจบแล้วเรารู้สึกว่าเขากำลังหาความหมายอะไรบางอย่างให้ชีวิต อาจจะเป็นชีวิตเขาก็ได้นะ แต่พอเราไปอ่านด้วยก็รู้สึกว่าเขามาเติมเรา

“ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คำตอบชัดเจนขนาดนั้นว่าชีวิตเกิดมาทำไม แต่อย่างน้อยหนังสือพวกนี้มันก็ทำให้เราไม่รู้สึกเคว้งคว้างหรือระเบิดออกไป ในบางวันที่เราอาจจะเครียดบ้าง เหนื่อยบ้าง มันก็ช่วยปลอบประโลมเราได้ ว่ามีคนที่ตั้งคำถามและอยากได้คำตอบเหมือนเรา จนถึงตอนนี้เราก็ยังหางานแบบนี้มาอ่าน มาเสพ อยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เพราะหาคำตอบเรื่องชีวิตอีกแล้ว แต่เราอยากหาอะไรมาเติมให้ชีวิตรู้สึกสดชื่นทุกวัน”   

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่