“เราอ่านเล่มนี้เพราะรู้ว่าเป็นผลงานของพี่ชมพู (อุรุดา โควินท์) คือเราเป็นเฟรนด์กับพี่เขาบนเฟซบุ๊ก แล้วช่วงหนึ่งพี่ชมพูจะคอยโพสต์โควตสั้นๆ ของเล่มนี้ เราติดตามรออยู่นานแล้วว่าเมื่อไหร่เล่มนี้จะออก เราได้เล่มนี้มาตั้งแต่หนังสือเพิ่งออกใหม่ๆ เลย
“เราชอบชีวิตพี่ชมพู ชอบที่เขาทำอาหาร เลี้ยงหมา จัดบ้าน ชงชา ถ้าตัดไปเลยโดยไม่มองว่าคนคนนี้คือใคร รู้แค่เป็นคนที่ชอบชงชา เย็บผ้า ทำกับข้าว คนคนนี้ต้องเป็นผู้หญิงที่อ่อนว้านอ่อนหวาน เป็นภาพตัวแทนของผู้หญิงในสังคมไทยมากๆ แต่พอเราเห็นความเป็นพี่ชมพู ความเป็นผู้หญิงที่เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต มีความหลากหลายในตัวเองสูงมาก มันเลยรู้สึกว่า ต่อให้เราบอกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงแกร่งกล้า แต่ก็ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องไม่ทำกับข้าว หรือไม่ต้องเย็บผ้านี่ เราชอบผู้หญิงที่มีความหลากหลาย ซึ่งพี่ชมพูเป็นตัวแทนของผู้หญิงแบบนี้ กล้าที่จะมั่นใจ กล้าที่จะบอกว่าตัวเองเป็นอะไร แต่ก็กล้าที่จะรัก ไม่ใช่ผู้หญิงที่บอกว่า อ๋อ เพราะฉันแกร่งไง ฉันถึงไม่ต้องมีความรัก
“ก่อนหน้าที่จะมาอ่านเล่มนี้ เราชอบงานเขียนที่ภาษาสวย สวิงสวาย จะรู้สึกว่า โอ้โห นักเขียนเขาทำได้ยังไง มันโลดโผน พาเราเหาะขึ้นเหาะลง ดึงเราเข้า ผลักเราออก แต่พอได้มาอ่านเล่มนี้เรากลับพบว่า การเขียนให้ง่ายขนาดนี้ เล่าให้ธรรมดาขนาดนี้ แต่กลับออกมาสวยงาม และกระแทกเข้าไปในใจเราขนาดนี้ได้ยังไง การเขียนแบบนี้มหัศจรรย์มากๆ นะ มันไม่ง่ายเลยที่จะเขียนให้ง่ายแล้วกระแทกใจ
“หนังสือเล่มนี้ทำให้เรากล้ามากขึ้น เมื่อก่อนเราจะชอบคิดว่าในเรื่องเล่าต้องมีปม มีประเด็น แต่พออ่านเล่มนี้ปุ๊บ เราก็ตั้งอัลบั้มภาพในเฟซบุ๊กขึ้นมาชื่อ ‘เรื่องจริงมันเศร้า เรื่องเล่ามันโรแมนติก’ คือปกติเราจะไม่พูดเรื่องแบบนี้ลงเฟซบุ๊กตัวเอง เพราะรู้สึกว่ามันส่วนตัว ธรรมดา ไม่น่าสนใจ ไม่คูลเลย แต่เล่มนี้ทำให้เราอยากเล่า อยากบอก อยากบันทึกทุกๆ อย่างที่รู้สึก มันทำให้เรากล้าที่จะเขียนจนรวมเล่มเป็น Black Cherry ขึ้นมาได้
“หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา ทำให้เราเชื่อว่า เรื่องเล่าธรรมดาของผู้หญิงคนหนึ่ง เรื่องเล่าธรรมดาของมนุษย์คนหนึ่ง มันก็เป็นเรื่องเล่าที่ดีได้ แต่หรือต่อให้ไม่ดีก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยขอแค่ได้บันทึกออกมา ได้เยียวยาผ่านการเขียน เราว่ามันสำคัญที่ตรงนี้
“กับงานเขียนของเราเอง เราเคยคิดว่า ถ้าเรารู้สึกมากไป โรแมนติกมากไป หวานมากไป แต่ขณะเดียวกันก็พูดเรื่องเซ็กซ์อย่างดุเดือด มันจะขัดกันหรือเปล่าวะ แต่พี่ชมพูมอบความกล้าให้กับเรา ว่าเราสามารถเล่าเรื่องเซ็กซ์ได้นะ แต่เราก็เล่าเรื่องธรรมดาได้ด้วย เล่าเรื่องขณะมีความรักได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงเท่กล้าแกร่งอยู่ตลอดเวลา มันมีวันที่เราแพ้ มีวันที่เราไม่สมหวัง มีวันที่เราตามผู้ชายได้ แต่ก็มีวันที่ผู้ชายตามเราด้วยเหมือนกัน ความเป็นผู้หญิงมันก็หลากหลายแบบนี้
“จริงๆ เราเริ่มอ่านเล่มนี้ช่วงปี 2560 แต่เราอ่านไม่จบ มาอ่านจบจริงๆ ในช่วงที่ชีวิตมีมรสุม คือเราโดนแฟนเก่าฟ้องแล้วต้องไปอยู่ในศาล วันนั้นเราพกหนังสือไปด้วยเล่มเดียวคือเล่มนี้ ในช่วงระหว่างรอการประกันตัว ซึ่งต้องไปอยู่ใต้ถุนศาล คือถ้าเป็นในกรุงเทพฯ ด้วยกระบวนการมันก็จะเร็ว แต่ศาลที่เราไปมันอยู่ต่างจังหวัด กระบวนการดำเนินงานก็จะช้ากว่าหน่อย เราไปนั่งรออยู่ในนั้นตั้งแต่เก้าโมงเช้าจนเกือบเย็น แล้วใต้ถุนศาลก็เหมือนห้องขังน่ะ มีนักโทษหญิง นักโทษชาย ห้ามใช้มือถือ แต่เขาอนุญาตให้เราเอาหนังสือเข้าไปอ่านได้
“ระหว่างรออยู่ที่นั่นเราคิดว่า ความรักพากูมาไกลมากเลยนะ ยิ่งพอได้อ่านเล่มนี้เราก็ร้องไห้เลย
“คือ ณ ขณะนั้นเรายังรู้สึกกับแฟนเก่ามากๆ ยังรู้สึกว่ารัก และไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเกิดอะไรแบบนี้ขึ้น แต่เล่มนี้กลับบอกกับเราว่า แม้กนกพงศ์ (กนกพงศ์ สงสมพันธุ์) จะได้ตายไปจากชีวิตของพี่ชมพูแล้ว แต่พี่ชมพูก็สามารถมีบ้านหลังใหม่ มีชีวิตใหม่ด้วยงานเขียนได้ ตอนนั้นเราร้องไห้เพราะรู้สึกว่า หลังจากวันนี้ไป ผู้ชายคนนี้จะตายไปจากชีวิตเรา เขาจะยังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้แหละ แต่จากนี้ไปเขาจะไม่มีความหมายอะไรกับเราแล้ว
“แต่ก่อนเราจะเป็นคนรักแฟนมาก เห็นแฟนเป็นบ้านของหัวใจ ถ้าอกหักเมื่อไหร่คือพัง สลาย ต้องหาแฟนใหม่เพื่อหาบ้านใหม่ แต่เล่มนี้ทำให้คิดได้ว่า อ๋อ บ้านใหม่ของเราน่ะมันไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เรารัก ไม่จำเป็นต้องเป็นคนอื่น บ้านใหม่ของเราเป็นตัวเราได้ เป็นเรื่องเล่าของเราได้ เป็นการเขียนของเราได้ ช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้เรารู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปจากคนที่เราเคยเป็นเยอะมาก แล้วเล่มนี้ก็มีส่วนทำให้เราเปลี่ยน ในวันที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเราจริงๆ
“กับการก้าวเข้าไปอยู่ในโลกของกนกพงศ์ ของพี่ชมพูในเล่มนี้ เรารู้สึกว่าเขาเก่งมาก ผู้หญิงบางแบบคงไม่คิดเข้าไปในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่เยอะขนาดนั้นแน่ๆ แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเล่มนี้กลับเป็นการท้าทายขนบมากๆ รู้ทั้งรู้ว่าตัวเองเป็นยังไง คิดอะไร แต่ก็สามารถจะก้าวเข้าไปในโลกใบนั้นได้ ทั้งยังพยายามต่อรองกับการให้ความหมายในโลกใบนั้นอีก เช่น ความคิดว่านักเขียนหญิงไม่มีคุณค่า หรือมึงเพิ่งเขียนได้ไม่กี่เรื่อง ยังไม่นับว่าเป็นนักเขียนหรอก เรารู้สึกว่านี่เป็นการต่อสู้ที่น่าเคารพ ยิ่งพอพื้นที่แห่งนั้นไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่เป็นการเข้าไปในพื้นที่ของเขา ไม่ใช่แค่ในแง่ของอำนาจ แต่เป็นพื้นที่จริงๆ มีภูเขาจริงๆ เรารู้สึกว่าความแกร่ง ความกล้า การต่อรองทางอำนาจของผู้หญิงต่อผู้ชาย หรือความชายเป็นใหญ่มันมีหลายมิติมาก ซึ่งมันก็อาจถ่ายทอดออกมาผ่านเรื่องเล่าที่ไม่จำเป็นต้องแข็งกร้าวเลย แต่กลับมีพลัง
“การอ่านเล่มนี้ในห้องขังวันนั้น แม้ว่าเราจะยังเจ็บ ยังรัก ยังรู้สึกกับแฟนเก่าอยู่ แต่มันไม่ได้ทุรนทุราย ไม่ได้ฟูมฟายแล้ว มันเป็นช่วงที่เราพยายามหาบ้านใหม่ให้ตัวเองอยู่ด้วย แต่ตอนนั้นเราก็ยังคิดว่าบ้านใหม่ควรเป็นผู้ชายคนใหม่ไหมวะ แฟนคนใหม่ไหมวะ แต่เล่มนี้บอกว่า ไม่ มันต้องเป็นการงาน ต้องเป็นการเขียน ต้องเป็นเรื่องเล่า ต้องเป็นหนังสือ เราได้พบว่า เออ เราก็เจอบ้านหลังใหม่ของเรา ที่ไม่ต้องเป็นผู้ชายได้นี่หว่า
“สำหรับเราความรักคือชีวิต จริงๆ ก่อนหน้านี้เราก็รู้สึกว่าความรักคือชีวิตนะ แต่คือชีวิตที่พร้อมจะเป็นพร้อมจะตายกับมัน แต่เล่มนี้บอกเราว่า ความรักคือชีวิตธรรมดานี่แหละ มันอาจมีเช้าที่ตื่นมาทำกับข้าวกินกัน บางวันทำงานได้ บางวันทำงานไม่ได้ วันนี้ทะเลาะกัน มันเป็นชีวิตปกติที่จะมีทั้งดีและไม่ดี เราจะคาดหวังให้มันดีหรือให้เขามาสนใจตลอดเวลา ตลอดไป ตลอดกาลไม่ได้ แต่มันคือชีวิตที่เราก็ใช้อยู่กับเขา มีวันที่ดีและไม่ดี และถ้าวันหนึ่งใครสักคนจะต้องจากไป ไม่ว่าจะจากเป็นหรือจากตาย ความรักก็จะกลายเป็นเรื่องเล่าของเรา อยู่ในตัวเรา
“เราเคยหวังกับความรักมาตลอด ไม่ว่าจะตอนมีแฟนหรือไม่มีแฟน หวังว่าจะต้องมีคนที่รักเรามากๆ เจอคนที่ใช่จริงๆ สักที แต่ตอนนี้เราไม่หวังเลย เหมือนเรารักตัวเองแล้ว มีบ้านของตัวเองแล้ว มีเรื่องเล่าเป็นของตัวเองแล้ว ถ้าวันหนึ่งเจอคนที่เรารักเขา หรือเขารักเรา มันก็โอเค เพียงแต่เราจะไม่คาดหวังอย่างที่ตัวเราก่อนหน้านี้เคยคาดหวัง ไม่วิ่งหา ไม่กระเสือกกระสน ไม่ทุรนทุราย
“เราเคยเป็นคนที่ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง จะเห็นก็ต่อเมื่อมีคนอื่นมาเห็นคุณค่าของเรา ซึ่งต้องเป็นแฟนด้วยนะ เป็นคนที่เรารัก คนที่เราให้ค่า สมมติเขียนอะไรออกมา เราจะไม่สามารถบอกได้ว่า เราชอบมัน เรารักมัน ดีเพราะอะไร ไม่ดีเพราะอะไร เราต้องรอให้แฟนมาบอกว่า เขียนเก่งจังเลย เราถึงจะดีใจ ภูมิใจได้ ช่วงที่เลิกกับแฟนเก่าใหม่ๆ เราไม่มั่นใจอะไรสักอย่างในชีวิตไปพักใหญ่ๆ ไม่รู้ว่าแต่งตัวแบบนี้สวยไหม เพราะไม่มีใครมาชม ก็ค่อยๆ เรียนรู้มา เรารู้สึกว่าการไปรัก ไปหวัง ไปหาบ้านจากคนอื่นมันทำร้ายตัวเราที่สุด เพราะมันคงไม่มีใครที่จะเป็นบ้านให้เราไปได้ตลอดชีวิต แม้แต่พ่อแม่เราก็ตาม
“เมื่อก่อนเราอาจกล้าพูดว่า เราเป็นผู้หญิงแรงๆ แรดๆ แต่ตอนนี้ถ้าจะให้นิยาม เราก็เป็นผู้หญิงที่เป็นมนุษย์น่ะ มันก็หลากหลาย มีวันที่เงี่ยน มีวันที่แรด แต่ในขณะเดียวกันก็มีวันที่โรแมนติกเหลือเกิน มีวันที่วิ่งตามผู้ชาย ชีวิตนี้เราไม่เคยคิดทำกับข้าวนะ แต่พออ่านเล่มนี้ก็เลยเริ่มหัดทำกับข้าว ให้แม่มาสอนตำน้ำพริก อย่างเมื่อก่อนเราจะคิดว่า การทำกับข้าวน่ะ เพราะแม่หรือยายอยากให้ทำหรือเปล่า เพราะเราเป็นผู้หญิงหรือเปล่า เราเลยต้องทำกับข้าว แต่หนังสือเล่มนี้บอกกับเราว่า ไม่ ถ้าอยากจะทำกับข้าว เราก็ทำได้ ไม่ต้องคิดว่าการทำกับข้าวแปลว่าเป็นผู้หญิงตามขนบหรือแม่ศรีเรือน แต่เราแค่อยากทำเพราะอยากทำ เราสามารถเป็นผู้หญิงแบบไหนก็ได้ กล้าได้ แรดได้ แล้วก็ทำกับข้าวได้ด้วย
หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา
ผู้เขียน : อุรุดา โควินท์