“การทำหนังต้องอาศัยเคมี” The Chemistry of Movie หนังสือที่ทำให้นวพลเข้าใจการทำหนัง

“เราสนใจภาพยนตร์มานานแล้ว เพียงแต่ไม่รู้ทางเข้าไป ตอนนั้นคิดไม่ออกเลยว่าถ้าไม่ได้อยู่สตูดิโอแล้วต้องทำยังไง จะไปหากล้องฟิล์มจากไหน สมัยนั้นยังไม่มีกล้อง DSLR ด้วยซ้ำ มีแต่กล้อง Handycam ซึ่งก็ทำหนังได้แค่บางประเภท เปรียบกับตอนนี้ก็เหมือนเอากล้องมือถือไปถ่ายหนัง คือพอใช้ได้ เผลอๆ กล้องมือถืออาจจะดีกว่า

“ตอนเรียนปี 3 เราทำหนังสั้นครั้งแรก เราไม่ได้เรียนมาหรอก เพื่อนในแวดวงนี้ก็ไม่มี ช่วงแรกๆ ก็ต้องเริ่มเอง โดยวิธีคิดแบบชาวบ้านมาก จะทำหนังต้องมีอะไรบ้าง อ๋อ กล้องไง นักแสดงใช่มั้ย มีบ้านเป็นโลเคชั่น แล้วต้องมีอะไรอีก นับไปเรื่อยๆ แล้วเราต้องถ่ายอะไรบ้างวะ โอเค ต้องมีภาพในใจก่อนว่าจะถ่ายอะไรบ้าง ก็วาดเอาไว้ ซึ่งเราทำไปโดยไม่รู้หรอกว่านี่คือการแตกช็อต ช่วงนั้นมันเหมือนกับว่ายิ่งอยากทำหนังแต่ไม่ได้อยู่ในวงการหนังเท่าไร เรายิ่งต้องขวนขวายมากขึ้น อย่างตอนฝึกงานที่ a day ถ้ามีโอกาสไปสัมภาษณ์ผู้กำกับก็จะไป หรือถ้าเจอหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ก็จะอ่าน

“ครั้งแรกที่เห็นหนังสือเล่มนี้เราไม่ได้ซื้อนะ นึกว่าเป็นหนังสือเบื้องหลัง พอไปลองเปิดดูแล้วเห็นเป็นบทสัมภาษณ์ เกี่ยวกับผู้คนตำแหน่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ และพูดถึงช่วงเริ่มต้นของ GTH เราก็คิดว่ากูจะอ่านได้มั้ยวะ ดูเป็นธุรกิจมากๆ แล้วโปรยคือ ‘จากกองถ่ายถึงห้องประชุมกรรมการบริษัท’ กับ ‘ไม่ได้สอนแค่ชีวิต แต่คือสูตรใหม่ธุรกิจหนังไทย’ คืออะไรวะ (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นเราก็อยากรู้ว่าธุรกิจภาพยนตร์เป็นยังไง กับอยากรู้ว่าทำไมคนเราถึงชอบดูภาพยนตร์แบบนี้ แต่ไม่ชอบดูภาพยนตร์แบบนั้น ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็เล่าทั้งเรื่องธุรกิจ พฤติกรรม และวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

“เราอ่าน The Chemistry of Movie แล้วไม่ได้รู้สึกว่าหนังสือมันเขียนมาให้เราโปร GTH แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจว่าภาพยนตร์หนึ่งเรื่องเกี่ยวข้องกับคนเยอะขนาดไหนมากกว่า เพราะสมัยก่อนเรานึกไม่ออกหรอกว่า Executive Producer, Producer หรือ Line Producer คืออะไร แล้วการที่ภาพยนตร์เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มใหญ่ขนาดนี้ คุณก็ต้องมีพฤติกรรมที่เข้ากัน และแน่นอนว่าหลายครั้งก็ต้องเกิดความขัดแย้ง พอเราอ่านอะไรพวกนี้เยอะๆ ก็จะเห็นว่าเขาไม่ได้เห็นด้วยกันทุกอย่าง ข้อดีก็คือเราได้รู้ไปด้วยว่าเขาแก้ไขปัญหายังไง หรือทางออกของแต่ละเรื่องมันคืออะไร ทั้งในเชิงของการเป็นคนทำภาพยนตร์และในเชิงของการทำธุรกิจ

“แต่ตอนที่อ่าน เราก็ไม่ได้เข้าใจทุกอย่างหรอกนะ ตอนนั้นอ่านด้วยความรู้สึกว่ารู้ไว้แล้วสนุกดี ไม่ได้อ่านจบแล้วอยากเป็นโปรดิวเซอร์ ยังอยากเป็นผู้กำกับเหมือนเดิม พอเรียนจบเลยกำหนดเวลาให้ตัวเองหนึ่งปี ไปลองทำอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์ หนังสั้นบ้าง วิดีโอพรีเซนต์บ้าง แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่พอ เลยขอไปฝึกงานเขียนบทที่ GTH ซึ่งเขาก็จะมีวันที่เปิดคอร์สสอนจริงจัง ช่วงไหนไม่มีบทให้เขียน เขาก็จะให้อ่านบทที่คนส่งเข้ามา เราก็จะเห็นว่าบทที่เวิร์กไม่เวิร์กเป็นยังไง แล้วก็ได้เจอกับคนตำแหน่งต่างๆ ที่เคยอ่านเจอในหนังสือ ซึ่งต่อให้ตอนที่อ่านเราจะไม่เข้าใจ แต่ก็เหมือนมีความรู้พื้นฐานติดตัวไปว่าคนที่ทำงานตำแหน่งนี้ เขาทำอะไร สนใจเรื่องแบบไหน เขาจะคุยเรื่องอะไรกัน

“เรามาได้ใช้ข้อมูลในหนังสือจริงๆ ก็ตอนทำภาพยนตร์ของตัวเองอย่าง 36 ที่ต่อให้เป็นภาพยนตร์คนละสเกลกับ GTH ก็สามารถเอาเรื่องที่อ่านมาประยุกต์ใช้ได้ หรือกว่าจะเข้าใจเรื่องราวในหนังสือมากขึ้นก็ช่วงหลังๆ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ได้โปรดิวซ์ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของตัวเอง คือบางอย่างก็ยังไม่เข้าใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การรู้โครงสร้างพื้นฐานทำให้เรารับมือกับสิ่งนั้นได้ดีขึ้น

“จริงๆ มาดูชื่อหนังสืออีกทีแล้วเราชอบนะ เพราะเราว่าการทำภาพยนตร์ต้องอาศัยเคมีมากๆ มันคือการทำงานกับคน ซึ่งคุณต้องหาสูตรที่ถูกต้องของตัวเอง ไม่ใช่ว่าทุกคนทำกับคนเก่งๆ คนนี้แล้วจะประสบความสำเร็จ เราอาจทำงานแล้วเข้ากันไม่ได้ก็ได้ ก็ต้องหาคนอื่นที่ซิงก์กัน เราว่ามันเหมือนกับที่เขาเรียกความรักว่า chemistry นั่นแหละ มันเรื่องเดียวกัน เพียงแต่ภาพยนตร์ไม่ใช่เรื่องของคนสองคน กองถ่ายก็ปาไปร้อยคนแล้ว ฝ่ายโปรดิวซ์กับฝ่ายออฟฟิศอีกร้อยคน คนดูอีกล้านคน แล้วสิ่งที่ใช้ได้ปีนี้ ปีหน้าอาจจะใช้ไม่ได้ หรือสิ่งที่ใช้ไม่ได้ในปีนี้ อาจใช้ได้ปีหน้าก็ได้

“กว่าจะเข้าใจแบบนี้ได้ก็ต้องอยู่กับมันประมาณหนึ่ง ต้องเปิดใจเรียนรู้ ไม่งั้นถ้าเราเอาแต่ไปโวยวาย ก็อาจจะไม่เข้าใจและหาทางออกให้มันไม่ได้ แต่ยิ่งเราเข้าใจและรู้เท่าทันมันเท่าไหร่ เราก็ยิ่งหาโมเดลใหม่ๆ ให้สิ่งที่เราทำได้มากขึ้น หมายถึงสร้างโปรเจกต์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นไปได้ อาจจะไม่ได้กำไรมหาศาล แต่ไม่เจ๊งและโอเคกับทุกคน เพราะต่อให้ทำหนังแมสหรืออินดี้ ใครจะอยากขาดทุน ลึกๆ แล้วก็อยากมีคนดูทั้งนั้นแหละ แต่เราก็ต้องดูด้วยว่าตัวเองทำอะไร คนดูคือใคร มันเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจ แล้วค่อยๆ ปรับหาความเป็นไปได้

“หนังสือเล่มนี้บอกเราว่าภาพยนตร์คือพาณิชย์ศิลป์ เราคิดว่าการรู้ทั้งเรื่องพาณิชย์กับศิลป์เป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็อยู่ที่คุณเองว่าจะเน้นหนักทางไหน งานนี้คุณอาจเน้นศิลป์มากกว่าพาณิชย์ งานหน้าคุณอาจให้น้ำหนักพาณิชย์มากกว่าศิลป์ หรือถ้าคุณทำเป็นงานอดิเรก จะอาร์ตสุดขีดแค่ไหนก็ได้ ไม่มีใครว่า เผลอๆ จะดีกว่าสิ่งที่เราทำด้วยซ้ำ แต่ถ้าคุณจะทำเป็นอาชีพ จะทำให้มันเกิดเป็นวัฏจักรที่คุณอยู่รอดได้ด้วย การรู้ทั้งสองอันก็ดีกว่า

“เราเองเป็นอย่างหลัง เพราะจะให้ไปทำธุรกิจอื่น เราทำไม่ได้เลย เราขอเลือกทำภาพยนตร์ให้เป็นอาชีพได้แล้วกัน”

 


The Chemistry of Movie : มหา’ลัยเหมืองแร่

ผู้เขียน: ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี