โลกการอ่านที่ไม่มีหนังสือเล่มไหนมา inspire ชีวิตของ ‘ธเนศ วงศ์ยานนาวา’

จากการมองเห็น ผมคิดว่าบริเวณชั้นหนึ่งของบ้าน อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา มีหนังสือวางอยู่หลายร้อยเล่ม ตั้งแต่บนชั้นบันไดทุกขั้น บนชั้นวางข้าวของสัพเพเหระ บนโต๊ะหนังสือ ในลังใบใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางบ้าน หรือแม้แต่บนโต๊ะกินข้าวขนาดใหญ่ของครอบครัว

เมื่อได้เห็นภาพแบบนี้ ใครๆ ก็คงคิดว่าไม่ใช่เรื่องยากเย็น ถ้าหากจะยื่นโจทย์ให้อาจารย์เลือกหนังสือในดวงใจสักเล่ม

แต่ผิดถนัด และตรงกันข้ามสุดขีด เพราะอาจารย์บอกผมตรงๆ ว่า “เลือกยาก”

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อผมส่งโจทย์นี้ให้อาจารย์ผ่านสายโทรศัพท์ เขาตอบกลับมาทันทีว่า

“ผมไม่ใช่จีเนียสนะ จะได้นึกออกตอนนี้ว่าหนังสือเล่มไหนที่ inspire ผม”

จากนั้นอาจารย์จึงขอเวลาอีกหนึ่งเดือนเต็ม เพื่อเลือกหนังสือสักเล่มมาพูดคุยกัน และผมก็รอคอยอาจารย์อย่างใจจดใจจ่อ

เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ครบหนึ่งเดือนเต็ม ผมโทรไปถามอาจารย์ธเนศด้วยคำถามเดิมอีกครั้ง แกตอบรวดเร็วว่า “ไม่มีหรอก”

เพราะไม่มี ผมจึงตัดสินใจหักเลี้ยวจากเส้นทางเดิมที่เคยมุ่งหน้าเพื่อหาหนทางการพูดคุยในประเด็นข้างเคียง แล้วเดินทางมาถึงบ้านอาจารย์ด้วยจุดมุ่งหมายใหม่

ทำไมคนที่เขียนหนังสือหลายสิบเล่ม หรือคนที่ขึ้นชื่อว่าอ่านหนังสือมามาก และอ่านอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างธเนศถึงไม่มีหนังสือเล่มโปรด ไม่มีหนังสือบันดาลใจ ไม่มีหนังสือที่ผลักดันให้เขาเติบโต และแน่นอน เขาไม่มีหนังสือเปลี่ยนชีวิตอย่างที่ a day ฉบับ The Reader’s Secret เล่มที่ 224 ตั้งโจทย์ไว้ให้นักอ่านหลายๆ คนเลือกมาเล่าขาน ใช่ครับ ‘ไม่มีแม้สักเล่มเดียว’

ในเมื่อไม่มีเลยสักเล่ม อาจารย์จึงใช้เวลา 1 ชั่วโมงต่อจากนี้ เพื่อตอบคำถาม และอธิบายว่าทำไมจึงไม่มีหนังสือเล่มไหนมาบันดาลใจและเป็นเบื้องหลังการขับเคลื่อนชีวิต และเล่าละเอียดยิบว่าทำไมวิธีคิดที่ว่าคนเราต้องมีวัตถุดิบอะไรสักอย่างมาบันดาลใจขับเคลื่อนชีวิตแบบนี้จึงเกิดขึ้นมาในสังคม

คำตอบของอาจารย์ธเนศจากนี้ไม่ใกล้เคียงคำว่าโรแมนติก แต่โคตรเรียลิสติกและซีเรียสจริงๆ

ชีวิตที่ไม่มีหนังสือเล่มไหนมามีอิทธิพล

“คุณเริ่มต้นถามว่ามีหนังสืออะไรในดวงใจใช่ไหม หรืองานเขียนที่มาเปลี่ยนวิธีคิดผมใช่ไหม” เขาเริ่มบทสนทนาแรกหลังจากผมนั่งลงบนเก้าอี้ตรงกันข้าม

“ถามว่ามีเล่มไหนไหม ผมจะไปจำได้ไหมวะ อายุผมปาเข้าไป 60 กว่า แม่งอ่านไปเท่าไหร่แล้ววะ คุณต้องเข้าใจว่าเทคนิคหนึ่งที่เราชอบสัมภาษณ์คนกัน อย่างการถามว่าชอบอ่านหนังสือเล่มไหนมากที่สุด หรืออะไรคือสิ่งที่ทรงอิทธิพลต่อตัวคุณมากที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้วการที่คุณถามคนคนหนึ่งขึ้นมาแบบนี้ เราต้องนึกถึงความทรงจำซึ่งเป็นสิ่งที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ถ้าคุณถามผม ผมไม่สามารถบอกได้หรอกว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คงมีนะ แต่หมายความว่าไอ้สิ่งพวกนี้จะส่งอิทธิพลมากขนาดไหน ผมไม่รู้ เพราะในชีวิตประจำวันที่คุณมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ เยอะแยะเต็มไปหมด ถ้าคุณบอกว่ามัน inspire นะ ไอ้ห่า! ผมเห็นแมลงวันบิน อาจจะ inspire ผมก็ได้ ถูกไหม ทำไมต้องเป็นหนังสือล่ะ ทำไมไม่เป็นอาแปะขายเฉาก๊วยอยู่ที่หน้าตลาดแห่งหนึ่ง แล้วแกพูดประโยคออกมาแล้ว inspire คุณ ทำไมมันถึงต้องเป็น object นี้ ซึ่งผมใช้คำว่าวัตถุเรียกหนังสือนะ เพียงแต่หนังสือเป็นวัตถุที่มีไอเดียอยู่ในนั้น

“โอ้โห! หนังสือเล่มหนึ่งมันจะส่งอิทธิพลคุณถึงขนาดนั้น ถ้าเราพูดให้แรงๆ ก็คือว่า อู้หู! หนังสือเล่มเดียวนี่มันทรงอิทธิพลกับคุณขนาดนั้นเลยเรอะ ฮะ! คุณเคยถามตัวเองไหมว่ามันเล่มเดียวเนี่ยนะ อู้หู นี่โคตรยูเรก้าเลยนะเนี่ย เออ แล้วเล่มเดียวจริงเหรอ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว โครงสร้างของระบบ marketing มันต้องให้คุณเลือกว่า yes or no เลือกมาเพียงเล่มเดียว เพราะถ้าผมบอกคุณว่าผมมีหนังสือพันเล่มลิสต์ให้คุณ คุณพิมพ์ไม่ไหวหรอก ตายห่าเลยค่ากระดาษ แม้กระทั่งลงออนไลน์พันเล่ม ใครจะมานั่งอ่านมึง ถ้าสมมติคนอ่านพันเล่มคุณจะจำได้ไหมว่าเล่มไหนทรงอิทธิพลที่สุด ถ้าจะให้คนลิสต์อย่างน้อยอาจต้องมี 10-100 เล่ม เพราะฉะนั้นเวลาคุณถามผมแค่เล่มเดียว ผมนึกไม่ออก

“ผมคิดว่าเราต้องเริ่มต้นตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงคิดว่าหนังสือสำคัญหรือเข้ามาเปลี่ยนชีวิตได้ ผมไม่ได้ถามหรือบอกว่าหนังสือไม่มีความสำคัญนะ แต่ผมคิดว่าถ้าเราเอาหนังสือมาเป็นสรณะ แล้วบอกว่าเล่มใดเล่มหนึ่งมีอิทธิพลต่อเรา คุณกำลังพูดราวกับว่าโลกนี้มี object อะไรบางอย่างที่ทรงอิทธิพลต่อชีวิตเรา

“ทั้งที่ตามจริงสิ่งที่มันมีอิทธิพลต่อคุณคือเพื่อนคุณ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือสิ่งต่างๆ ที่เป็นสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตคุณ หรือทุกสิ่งมันก็ inspire คุณได้ไม่ใช่เหรอ แล้วทำไมหนังสือถึงกลายเป็นสิ่งสำคัญล่ะ อย่างในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเนี่ย คุณเริ่มอ่านหนังสือกันตั้งแต่เมื่อไหร่ ใครกันเป็นคนที่อ่านหนังสือได้ หนังสือเป็นของที่เกิดมาทีหลัง แต่ทำไมถึงเกิดการให้คุณค่าแบบนี้ แล้วพอพูดถึงหนังสือปุ๊บมันก็ต้องไปเชื่อมโยงกับธุรกิจทำหนังสือ อย่างน้อยๆ ที่สุดสำหรับนิตยสาร คุณก็มีเรื่องให้เขียนและสำนักพิมพ์ก็แฮปปี้ที่จะตีพิมพ์หรือเผยแพร่มัน

“นั่นเป็นเพราะ mass literacy หรือการศึกษาภาคบังคับ คือสิ่งที่ทำให้ทุกคนอ่านออกเขียนได้ ซึ่งมาพร้อมกับความเป็นรัฐประชาชาติ การอ่านออกเขียนได้ของคนในประเทศไทยหรือคนในประเทศไหนก็ตาม แม้กระทั่งในโลกตะวันตก ต่างเริ่มต้นมาพร้อมกับอุตสาหกรรมสิ่งตีพิมพ์ และเป็นที่มาของระบบทุนนิยมสิ่งตีพิมพ์”

การจัดอันดับหนังสือเป็นเรื่องของโครงสร้างทางสังคมและชนชั้น

“การจัดอันดับหนังสือที่ชอบหรือการจัดอันดับหนังสือขายดี การจัดลำดับความสำคัญพวกนี้ สำหรับผมมันแยกไม่ออกจากโครงสร้าง 2 ส่วนนี้ หนึ่งคือการศึกษาภาคบังคับเป็นการทำให้มวลชนอ่านออกเขียนได้ และสองคือระบบทุนนิยม พูดง่ายๆ นี่คือกลไกสำคัญของการตลาด เพราะหนังสือที่คุณอ่านกันในปัจจุบัน ไม่ใช่หนังสือที่คุณถูกบังคับให้อ่านแต่เพราะคุณอยากจะอ่านมันเอง

“คุณต้องเข้าใจว่าทำไมเวลาคนจัดอันดับหนังสือ 1 ใน 100 เล่มที่ควรอ่าน หรือเลือก 1 เล่มในดวงใจถึงเป็นเรื่องสำคัญ ทำไมฝรั่งถึงมีระบบการจัดระเบียบหรือข้อบัญญัติว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรจะอ่าน และถ้าคุณไปดูรายชื่อหนังสือพวกนี้นะ แน่นอนว่าจะต้องมีเล่มคลาสสิกที่ต้องอ่านให้ได้ คำว่า classic มีรากศัพท์ในภาษาละตินว่า classicus ซึ่งเป็นเรื่องของชนชั้น คำว่า class มันบอกอยู่แล้วว่ามีระดับ ดังนั้น classicus มันคือสำนึกทางชนชั้น คุณไปดูเลยว่าคลาสสิกมันเป็นวิธีคิดที่เป็นฝรั่งมากๆ คือ Eurocentric ฝั่งนั้นก็ใช้ยึดสิ่งนี้เป็นแกนกลาง ซึ่งเป็นธรรมดาที่ทุกคนอยู่ในกรอบความคิดอะไรบางอย่าง มันยากที่จะหลุดออกมา สำหรับผมนี่คือชุด mentality ของคนสมัยนี้ที่เข้าไปอยู่ในโลกแบบนี้ทั้งสิ้น

“การที่คุณอ่านอะไรต่างๆ พวกนี้ สมมตินะ ไม่เห็นมีใครบอกผมว่าหนังสือที่ทรงอิทธิพลต่อผมคือ ‘คู่สร้างคู่สม’ ทำไม คู่สร้างคู่สม ไม่บันดาลใจเหรอ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการสะท้อนทางชนชั้นในตัวมันเอง ทั้งสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของคุณ ผมถามคุณสักคำว่าใครอ่าน a day อาแปะขายเฉาก๊วยเหรอ ดังนั้นประเด็นที่คุณจะหยิบยกขึ้นมาจึงเป็นกลไกสำคัญในการที่คุณเลือกคนที่จะมาสัมภาษณ์อยู่แล้ว เนี่ย กรรมกรที่ก่อสร้างตึกไม่ได้ถูกสัมภาษณ์เลย เพราะในท้ายที่สุดแล้วคุณต้องเลือกคนที่เป็นที่รู้จักพอสมควร หรือที่คุณชอบพูดกันว่าคุณต้องการอินฟลูเอนเซอร์

“แล้วต้องมาดูอีกว่าใครเป็นคนอธิบายความหมาย ฉะนั้นมันจึงเป็นกลไกการจัดระเบียบของพวกชนชั้นสูงหรือชนชั้นนำที่มีการศึกษา สัมพันธ์อยู่กับโครงสร้างการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเมื่อก่อนนี้มีบางคนเท่านั้นที่อ่านออกเขียนได้ อย่างการขยายตัวของการเก็บสะสมหนังสือต่างๆ เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า bibliomania เริ่มขยายตัวอย่างมากในศตวรรษที่ 19 หนังสือจึงสัมพันธ์อยู่กับโครงสร้างของชนชั้น วิถีชีวิตของพวกคุณที่ทำให้คุณมีเวลามากพอที่จะต้องการการปลีกวิเวกเพื่ออ่านหนังสืออยู่คนเดียว ดังนั้นคุณก็จะโกรธมากถ้ามีคนมาขัดจังหวะตอนอ่านหนังสือ ถึงต้องมีห้องอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดมาใหม่ทั้งสิ้น

ความทรงพลังของหนังสือมีที่มาจากคริสต์ศาสนา

“เวลาคุณถามถึงการเลือกหนังสือที่บันดาลใจชีวิตมาสักเล่ม สำหรับผมมันเป็นกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์อย่างหนึ่ง เราแยกไม่ออกจากเรื่องการตลาด ที่สำคัญประการต่อมาอย่างหนึ่งคือ ทำไมเราถึงเอาหนังสือมาเป็นสิ่งที่ทรงพลัง สำหรับผม ที่มาของมันคือการเชื่อมโยงกับคริสต์ศาสนา เพราะเป็นศาสนาที่วางอยู่บนพื้นฐานของพระคัมภีร์ ทุกคนต้องอ่านพระคัมภีร์ และยิ่งหนักข้อที่สุดเมื่อโปรเตสแตนท์เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1517 เมื่อมาร์ติน ลูเทอร์ ประกาศ The Ninety-five Theses ประเด็นที่สำคัญของโปรเตสแตนท์คือพระคัมภีร์เท่านั้น ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่จะนำคุณไปเข้าใจความจริงหรือคำพูดของพระผู้เป็นเจ้า เพราะฉะนั้นโลกของโปรเตสแตนท์คือโลกที่ rely on text หรือตัวบทอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่พิธีกรรมหรือเรื่องอื่นๆ ฉะนั้นคุณต้องอ่านหนังสือเพื่อเข้าถึง หนังสือจึงกลายมาเป็นสิ่งสำคัญมากในชุดวิธีคิดนี้

“เวลาคุณมาถามผม โอ๊ะ อาจารย์ หนังสืออะไรที่ inspire เรา เห็นไหมว่าคุณใช้คำว่า inspire ถ้าแปลเป็นไทยคือแรงบันดาลใจ คำว่า inspire ในวิธีคิดของคนตะวันตก ถ้ารากศัพท์ในละตินคือ inspirare คือการที่คุณเป่าลมเข้าไปในบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งอาจหมายรวมถึงการที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้น เพราะคุณกำลังห่อเหี่ยว พระผู้เป็นเจ้าจึงมาดลบันดาลและผลักดันให้คุณมีชีวิตต่อไป ถ้าคุณกลับไปสู่กรีกโบราณ การที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ต้องมีเทพธิดา (muse) มากระซิบข้างหูคุณ เพราะเชื่อว่าคุณคิดเองไม่ได้

“ทีนี้ไอ้ inspire ตัวนี้ inspirare หมายถึงการหายใจ เป็นรากศัพท์ที่จะใช้กับคำว่า species หรือ spirit ดังนั้นการหายใจ ต้องเข้าใจว่าในพระคัมภีร์ไบเบิล พระเจ้าคือคนเป่าลมหายใจเข้าไป มนุษย์จึงมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นความหมายของคำว่า inspirare ในปัจจุบันนี้ เราจะไม่มีเซนส์แบบนี้แล้ว เพราะพัฒนาการของภาษาและฝรั่งเองก็พยายามอย่างมากที่จะตัดบทบาทของศาสนาลง

“ฉะนั้น inspire หรือ inspirare เมื่อก่อนต้องผูกอยู่กับพระเจ้า ในอดีตโปรเตสแตนท์เน้นเรื่องการอ่านพระคัมภีร์ไบเบิล ไอ้ห่า! ชาวนาที่ไหนจะมาอ่านหนังสือได้ คุณลองย้อนกลับไปว่า 100 ปีเนี่ย ประเทศไทยมีคนอ่านหนังสือได้กี่คน แค่ 50 ปีก็ได้ พ.ศ. 2490 เนี่ย คุณคิดว่าถ้าคุณนั่งเกวียนหรือขี่ม้าเข้าไปสักที่หนึ่ง ใครอ่านหนังสือได้บ้าง? สังคมแถบเราวางอยู่บนพื้นฐานมุขปาฐะ หรือการพูดคุยกัน แม้แต่หมู่ชาวนาหรือชาวบ้านปกติในโลกตะวันตก มีไม่กี่คนหรอกที่อ่านออกเขียนได้ ผมถามคุณคำหนึ่ง คุณลองนับขึ้นไปสามเจเนอเรชั่น บรรพบุรุษคุณสามเจเนอเรชั่นน่ะ รุ่นทวดคุณอ่านหนังสือได้ไหม แค่นั้นแหละพอแล้ว วัฒนธรรมการอ่านมันใหม่มาก”

หนังสือคือธุรกิจและส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม

ถ้าจะเชื่อมโยงเรื่องนี้ต้องคิดเรื่อง mass literacy การขยายตัวของการอ่านออกเขียนได้ เมื่ออ่านเขียนได้มาก การอ่านก็มาก ธุรกิจสิ่งพิมพ์ก็เติบโต ระบบทุนนิยมก็ต้องการเทคโนโลยีการพิมพ์ อย่างน้อยๆ ก็เพื่อการสื่อสาร จนกลายเป็นธุรกิจส่ิงพิมพ์ หนังสือก็ขายได้ ระบบก็ต้องมีการโปรโมตหนังสือ ต้องจัดอีเวนต์ book festival ต่างๆ พวกนี้เป็นเรื่องปกติ

“วิธีคิดเรื่องคัมภีร์ในปัจจุบัน เมื่อคุณตัดพระผู้เป็นเจ้าออกไปก็จะเหลือแต่หนังสือ ทำให้ตอนนี้ฉันไม่ได้อ่านคัมภีร์อย่างเดียว ฉันอ่านหนังสือหลายแบบ เยอะแยะไปหมด แล้วมันมีหนังสือเล่มไหนล่ะที่มันจะ inspire ฉัน ซึ่งทั้งคัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์เต้าเต๋อจิง หรือคัมภีร์พระเวทต่างๆ กลายมาเป็นหนังสือใหม่ๆ เล่มนั้นเล่มนี้ของคนสมัยใหม่ทั้งสิ้น

“เมื่อคุณตัดศาสนาออกไปแล้ว ตอนนี้คุณอ่านอะไรก็ได้ แต่โครงสร้างชุดความคิดอันนี้ยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน รูปแบบการนำเสนอของมันยังคงอยู่ เหมือนกับการที่คุณเอาพระคัมภีร์ไบเบิลออก แล้วเอาหนังสือเล่ม X โดยคนเขียน มิสเตอร์ X เข้ามาแทนที่ อย่างเช่น คุณเอา Umberto Eco มาวางแทนที่ หรือถ้าคุณเป็นผู้หญิงคุณอาจจะบอกว่าฉันชอบ Margaret Atwood มาแทนที่ แล้วการอ่านก็ inspire เป็นการได้รับการจูงใจ inspirare คือการที่คุณได้รับอิทธิพลจากพระผู้เป็นเจ้าแล้วกระทบใจทันทีที่อ่าน เปรี้ยงปุ๊บคุณรู้สึกเลย สำหรับผม วิธีการต่างๆ เป็นสิ่งหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ เราจะต้องมาจัดหนังสือเหล่านี้ เหมือนที่คุณมาถามผมน่ะว่าทำไมมันถึงต้องชอบเล่มนั้นเล่มนี้ แล้วผมก็ถามว่า เฮ้ย! อะไรวะชีวิตคุณจะต้องมีคนมา inspire คุณขนาดนั้นเหรอ ซึ่งในขณะเดียวกันคุณก็มีความขัดแย้งกับวิธีคิดที่ว่าคนต้องคิดอะไรเองให้เป็น

“ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นการโปรโมตหนังสือไปในตัว และคำถามพวกนี้ที่คุณถามผม ผมเข้าใจดี แต่ผมอยากให้คุณมองว่า ทำไมคนถึงคิดแบบนี้ อะไรทำให้คุณเข้าไปในระบบแบบนี้ เราทำหนังสือที่หลุดออกจากโครงสร้างนี้ได้ไหม ชุดความคิดแบบนี้ใช้ได้หรือเปล่า แต่ก็ยากเพราะหนังสือมันคือธุรกิจ มันก็ต้องการคนอ่าน มันคือส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม ไม่ว่าคุณจะเป็นยังไงก็ตาม มันเป็นแบบนี้แหละ หนีไม่พ้น ฉะนั้นฉันต้องการคนมากระตุ้น เพื่อทำให้ระบบการทำงานของระบบเศรษฐกิจดำรงต่อไปได้ ธุรกิจ motivation คือธุรกิจที่กระตุ้นให้คุณอยากมี เพราะฉะนั้นสำหรับผม สิ่งพวกนี้มันก็ดำเนินไปในโครงสร้างชุดอันใหญ่ ชุดเดียวกันที่ขนานไปกับ motivational business

“หนังสือเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะทำให้คุณรู้สึกอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิกชั่นมันสัมพันธ์อยู่กับโลกของจินตนาการ คุณต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวละคร เพราะฉะนั้นมันจะทำให้คนเกิดความสามารถในการเข้าอกเข้าใจคนอื่น และในโลกปัจจุบันนี้ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก นวนิยายทำให้คุณมีจินตนาการ ทำให้คุณมีความคิดที่เสรีได้ เช่น คุณเห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา ขี่รุ้ง โยคีที่ไหนมันขี่รุ้งพุ่งออกมาวะ อะไรต่างๆ พวกนี้แปลงร่างกลายมาเป็นพวกสัจนิยมมหัศจรรย์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์

“ผมคิดว่าความเชื่อของคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจะไม่มาเถียงกันเรื่องพวกนี้ ความเชื่อนั้นมันสำคัญสำหรับเขาในช่วงเวลาหนึ่ง สมมติถ้าผมเปลี่ยนโจทย์ว่าหนังสือเล่มไหน inspire ให้คุณเป็นแบบในทางตรงกันข้าม เป็นคนเลวได้ไหม คุณลองทำลิสต์สิ หนังสือ 100 เล่ม ที่ทำให้คุณเป็นคนเลว ทีนี้พอพูดถึงเลวหรือดีมันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางสังคม ช่วงเวลาของสังคม ว่าคุณมองว่าอะไรดีอะไรเลว

“ทีนี้มันก็ต้องมาถามตัวเองอีกครั้งว่าทำไมถึงมีโลกแบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งผมไม่ได้บอกว่ามันถูกหรือผิดนะ ผมขอย้ำตรงนี้”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย