“เราทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้ เป็นหน้าที่ของอภิสิทธิ์ชนไง” 5 ซีรีส์เกาหลีเสียดสีโลกนายทุน

Highlights

  • ในภาวะที่โรคระบาดทำให้เรามองเห็นการเอาเปรียบของนายทุนชัดกว่าที่เคย เราจึงอยากชวนดูซีรีส์เกาหลี 5 เรื่องที่ซ่อนแนวคิดวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ และสอดส่องนายทุนเอาไว้

นายทุนเกาหลี

ถ้าให้นึกถึงประเทศไหนที่ทั้งชีวิตต้องขึ้นอยู่กับนายทุนใหญ่มากที่สุด เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในนั้น (นอกจากนึกถึงประเทศตัวเองแล้วน่ะนะ) 

เคยมีกระแสหนึ่งในปี 2015 คนรุ่นใหม่เกาหลีใต้เรียกยุคที่ตัวเองอยู่ว่า ‘นรกโชซอน (Hell Joseon)’ หมายความว่าพวกเขาเติบโตมาด้วยความคาดหวังจากคนรุ่นก่อนๆ เยอะมาก อยากให้พร่ำเพียรเรียนหนังสือ ได้เข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัยลำดับต้นๆ ของประเทศ (ที่ต้องใช้ต้นทุนสูงมากทั้งทางจิตใจและการเงิน) เพื่อให้มีการงานมั่นคง แต่พอเรียนจบชีวิตกลับไม่ราบรื่นอย่างที่คิด ทั้งการแข่งขันในตลาดแรงงานหรือการถูกนายทุนกดขี่ ไม่แปลกที่พวกเขาจะอยากหนีออกจาก ‘นรกโชซอน’ ไปอยู่ที่อื่น  

แต่คนที่ดูจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับคนรุ่นใหม่ในเกาหลี น่าจะเป็นกลุ่มทุนอย่าง ‘แชโบล’ ที่เป็นธุรกิจกงสีในครอบครัว มีอำนาจทางการเมืองพอๆ กับรัฐ ทั้งสองอุปถัมภ์ค้ำจุนกันมาตลอด ในเกาหลีจึงมีข่าวประเภทการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ รับสินบนจากกลุ่มแชโบล หรือการหนีภาษีของกลุ่มแชโบลโดยอาศัยช่องวางทางกฎหมายออกมาเยอะมาก   

ใช่ว่าคนเกาหลีจะนิ่งเฉย ในยามที่ข่าวแบบนี้ขึ้นอันดับในเสิร์ชเอนจิ้น บอกได้เลยว่าชาวเน็ตพร้อมถล่มไม่เหลือชิ้นดี แถมยังใช้ข่าวนั้นเป็นต้นทุนในการผลิตซีรีส์ที่ผู้ชมถูกอกถูกใจกันมากๆ บางเรื่องคนติดตามดูจนเรตติ้งพุ่งสูง ได้รับรางวัลบทยอดเยี่ยมจากเวทีประจำปี และขายให้เน็ตฟลิกซ์ได้ถึงตอนละ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

เห็นเกาหลีใต้มีซีรีส์น้ำดีที่หล่อหลอมสำนึกของการสอดส่องนายทุนอย่างนี้ เราก็อดไม่ได้ที่จะชวนให้ทุกคนไปดูกัน เผื่อฉากไหนมีเหตุการณ์ที่ทำให้นึกถึงนายทุนแถวๆ นี้บ้าง หรือหากบทพูดของตัวเอกถูกใจจะได้ตบเข่าสะใจสักฉาด ทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการบอกว่าโลกเศรษฐกิจเสรีหรือการมีนายทุนไม่ใช่เรื่องดีไปทั้งหมด แต่เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันตรวจสอบ จะได้เท่าทันคำโฆษณาบางอย่างซึ่งอาจเอารัดเอาเปรียบคนอื่นได้ 

 

นายทุนเกาหลี

Stranger ซีซั่น 1 (2017)

การสืบสวนคดีฆาตกรรมที่เปิดโปงเครือข่ายทุจริตของนายทุนและรัฐ

“ถ้าเราล้ม ประเทศนี้ก็จะล่มสลายไปด้วย” อียุนบอม เจ้าของบริษัทฮันโจกรุ๊ปพูดกับฮวังชีมก อัยการประจำสำนักงานอัยการโซลตะวันตก ในฉากหนึ่งของซีรีส์สืบสวนสอบสวน Stranger   

ด้วยเนื้อเรื่องเข้มข้นที่เริ่มต้นจากการสืบสวนคดีฆาตกรรมนายทุนคนหนึ่ง ทำให้อัยการฮวัง (แสดงโดย โจซึงอู) ต้องร่วมมือกับตำรวจแผนกอาชญากรรมอย่างหมวดฮันยอจิน (แสดงโดย เบดูนา) เพื่อสืบสาวหาตัวคนกระทำผิด แต่เรื่องไม่ได้จบแค่นั้น เพราะยิ่งสืบค้นก็ยิ่งเจอเบื้องหลังการทุจริตโยงใยระหว่างข้าราชการกับนายทุนใหญ่ ทั้งการหนีภาษีโดยยัดเงินใต้โต๊ะ การฮั้วประมูลจัดซื้ออาวุธจากต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งคดีเล็กๆ อย่างเมาแล้วขับ นายทุนต่างก็มีเครือข่ายข้าราชการคอยช่วยเหลือให้รอดพ้นคดีได้ง่ายๆ 

นายทุนเกาหลี

นอกจากคดีที่ซับซ้อนและการผลัดกันโจมตีฟาดกันไป-มาระหว่างฝั่งนายทุนและคนสืบคดีแล้ว กิมมิกของเรื่องคือการวางคาแร็กเตอร์อัยการฮวังให้แตกต่างจากคนอื่นๆ หลังจากต้องผ่าตัดเพราะโรค hyperacusis ซึ่งส่งผลต่อต่อมความรู้สึกในสมอง อัยการฮวังจึงเป็นคนนิสัยเย็นชา นิ่งเงียบ และไร้ความรู้สึกในสายตาคนอื่น แต่สำหรับการทำงาน การหาข้อเท็จจริงและสืบคดีของเขาจึงยึดความถูกต้องเป็นหลัก ไม่รับเอาการอุปถัมภ์ทุกรูปแบบ (มีฉากที่เขาปฏิเสธรับเงินจากนายทุนด้วย) 

ความพอดิบพอดีของเรื่องนี้คือ ซีซั่นแรกฉายในปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมเกาหลีให้ความสนใจกับคดีใช้อำนาจในทางที่ผิด และการรับสินบนของประธานาธิบดีหญิงพักกึนฮเย ทำให้ Stranger กวาดเรตติ้งไปได้ถึง 6.6 เปอร์เซ็นต์ในซีซั่นแรก กลายเป็นซีรีส์ที่มียอดคนดูสูงสุดในบรรดาช่องเคเบิ้ลเกาหลีในช่วงต้นปี แถมยังได้รับรางวัล Grand Prize in TV, Best Leading Actor in TV และ Best TV Script ในงาน Baeksang Arts Awards ปี 2018 ไปครอง

ที่สำคัญคือราคาที่ขายให้เน็ตฟลิกซ์ยังสูงถึงตอนละ 200,000 ดอลล่าสหรัฐด้วย จนนำมาสู่การสร้างซีซั่น 2 ซึ่งฉายไปในกลางปี 2020 แม้ว่าจะมีเรื่องนายทุนเป็นประเด็นรอง แต่ความเข้มข้นของการตรวจสอบการทำงานข้าราชการก็ทำให้เรตติ้งตอนสุดท้ายพุ่งสูงถึง 9.4 เปอร์เซ็นต์

 

นายทุนเกาหลี

Revolutionary Love (2017)

ความรักหนุ่มสาวที่พลิกให้บริษัทนายทุนล้มคว่ำคะมำหงาย

ถ้าซีรีส์ที่ผ่านมาดูเครียดเกินไป นายทุนในชีวิตจริงก็ต้องวิจารณ์อยู่แล้ว ยังต้องเอาเวลาพักผ่อนมาเครียดอีกเหรอ เราขอผลัดมาแนะนำแนวรอมคอม อย่าง Revolutionary Love ซีรีส์ที่ว่าด้วยชีวิตของหนุ่มสาวในยุค ‘นรกโชซอน’ ที่ต้องต่อสู้กับการทำงานและการทุจริตของนายทุน

เรื่องมีอยู่ว่า แบ็กจุน (แสดงโดย คังโซรา) หญิงสาวผู้เก่งกล้าและตั้งปณิธานกับตัวเองว่าจะทำงานพาร์ตไทม์ไปตลอดชีวิต ถูกคนรวยเอาเปรียบระหว่างทำงานทำความสะอาดในโรงแรม เธอจึงสำแดงความพิโรธใส่แขกคนนั้น จนบยอนฮยอก (แสดงโดย ชเวซีวอน) ทายาทลำดับ 2 ของคังซูกรุ๊ป บริษัทอาหารรายใหญ่ในเกาหลีใต้ มาเห็นเข้าก็ถูกอกถูกใจ และตามเธอไปทำงานพาร์ตไทม์ด้วยทุกที่จนทำให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตที่แตกต่างจากการเป็นพริวิเลจชน

ฟังเผินๆ เหมือนเป็นเรื่องความรักซะส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วตลอดการตามจีบผู้หญิงคนหนึ่งของบยอนฮยอกกลับไปพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินบริษัทครอบครัวใหม่หมด ทั้งยังแฉการหนีภาษีจนแทบทำให้พ่อตัวเองต้องเข้าคุก

“เราสามารถสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้นะครับ เราใช้สิทธิพิเศษไปในทางนั้นไม่ใช่เหรอ มันก็คือหน้าที่ของอภิสิทธิ์ชนไง” บยอนฮยอกบอกกับพี่ชายตัวเอง

นอกจากนี้ซีรีส์ยังสะท้อนให้เห็นทัศนคติของคนรุ่นใหม่ต่อหน้าที่การงานและชีวิต อย่างแบ็กจุนที่ไม่อยากเอาชีวิตไปผูกรักภักดีกับบริษัทไหนๆ เพราะพ่อเป็นพนักงานที่ซื่อสัตย์ต่อบริษัทมากแต่ถูกไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรมมาก่อน

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรื่องนี้ออกจะเนือยไปหน่อย แถมบทพระเอกก็ล้นๆ เกิน แต่ถ้าดูจนจบจะเข้าใจที่มาที่ไปของตัวละคร และเมสเซจที่ต้องการสร้างโลกการทำงานที่อยากให้คนเข้าถึงโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานอย่างเสมอภาค ที่สำคัญคงอดเอ่ยปากชมคนคัดเลือกนักแสดงไม่ได้ เพราะการเลือกลูกนายทุนตัวจริงอย่างชเวซีวอนมาเล่นบทนี้ยิ่งทำให้ตัวละครสมบทบาทมากขึ้นด้วย

 

Search: WWW (2019)

เมื่ออำนาจของอินเทอร์เน็ตและข้อมูลคะคานอำนาจนายทุน

Search: WWW คือซีรีส์ที่เกิดจากความเชื่อที่ว่า ‘อินเทอร์เน็ตคือดินแดนแห่งความอิสระและเท่าเทียม’ เพราะอินเทอร์เน็ตคือหนทางเดียวที่คนธรรมดาจะสามารถลุกขึ้นมาต่อกร หรือวิพากษ์วิจารณ์เหล่านายทุนในธุรกิจแชโบลได้

ด้วยหน้าที่การงานของแบทามี (แสดงโดย อิมซูจอง) หัวหน้าผู้จัดการบริษัท Web Portal ยักษ์ใหญ่ของเกาหลี ทำให้เราเห็นภาพความสำคัญของ “อันดับคำค้นหายอดนิยม” หรือท็อปเสิร์ชคำสั้นๆ ไม่กี่คำที่สะท้อนความสนใจของคนทั้งประเทศชนิดเรียลไทม์และสามารถสั่นคลอนไปถึงธุรกิจยักษ์ใหญ่ หรือแม้กระทั่งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

เมื่อข่าวฉาวของว่าที่ประธานาธิบดีซึ่งกำลังติดอันดับคำค้นหายอดนิยมได้ถูกลบออกไปอย่างกะทันหัน โดยมีเบื้องหลังคือแรงกดดันจากนายทุนที่สนับสนุนพรรคการเมืองดังกล่าว เหตุการณ์นี้บีบบังคับให้แบทามีตกเป็นแพะรับบาปและโดนบีบให้ออกจากงาน แม้ว่าเธอจะสามารถแก้ต่างให้บริษัทพ้นผิดไปได้อย่างสวยงามก็ตามที

การบิดเบือนอันดับคำค้นหาจึงกลายเป็นปมสำคัญซึ่งทำให้เราได้เห็นถึงพลังอำนาจของอินเทอร์เน็ตที่เหล่านายทุนและนักการเมืองต่างหวาดกลัว จนทำให้แบทามีต้องคอยคัดง้างกับแรงกดดันของนายทุน เช่นกันกับชาฮยอน (แสดงโดย อีดาฮี) และซงกาคยอง (แสดงโดย จอนฮเยจิน) สองตัวละครหญิงที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน 

นอกเหนือจากปมประเด็นที่แปลกใหม่และทันสมัยแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้ Search: WWW ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลายในช่วงที่ซีรีส์ออนแอร์ คือการเลือกใช้ตัวละครหญิงในการดำเนินเรื่อง แถมยังเป็นคาแร็กเตอร์ผู้บริหารหญิงที่แข็งแกร่งและเด็ดเดี่ยว อีกทั้งยังมีเคมีโรแมนติกระหว่างตัวละครหญิงสามคนอยู่เนืองๆ ทั้งหมดที่ว่ามานี้ล้วนแล้วแต่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงซีรีส์เกาหลีที่เราแทบไม่มีโอกาสได้เห็นมาก่อน

 

Private Life (2020)

เดิมพันของนักต้มตุ๋นที่ลุกขึ้นเปิดโปงทั้งนายทุนและรัฐบาล

ว่ากันว่า Private Lives คือซีรีส์ที่สร้างขึ้นโดยมีเค้าโครงจากเรื่องจริง คือคดีการทุจริตระหว่างอดีตประธานาธิบดีพักกึนฮเย และบริษัท Samsung การทุจริตครั้งนั้นดำเนินไปได้โดยมี Future Strategy Office (หรือก็คือ Innovative Vision Office ในซีรีส์) หน่วยงานที่สร้างขึ้นเพื่อสะสางเรื่องราวสีเทาระหว่างเหล่านายทุนและนักการเมืองแบบลับๆ

ก่อนที่จะไปถึงขบวนการทุจริตระดับชาติ Private Lives เริ่มเล่าจากขบวนการต้มตุ๋นขนาดจิ๋ว นั่นคือครอบครัวของชาจูฮยอน (แสดงโดย ซอฮยอน) อดีตนักโทษหญิงที่เติบโตมากับพ่อแม่สิบแปดมงกุฎ และได้มีโอกาสพบรักกับพนักงานหนุ่มในองค์กรระดับประเทศอย่างอีจองฮวัน (แสดงโดย โกคยองพโย) เจ้าบ่าวผู้หายตัวไปในวันแต่งงาน จนทำให้ชาจูฮยอนได้รู้ความจริงที่ว่าเขาคนนี้ทำงานให้กับ Innovative Vision Office

หากว่ากันด้วยสถานะทางสังคมแล้ว ตัวละครทั้งสองเป็นเพียงคนธรรมดาที่เกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางล่าง แต่เมื่อความทะเยอทะยานพาพวกเขาเข้าไปพัวพันกับเครือข่ายทุจริตระดับชาติ การกลับมามีชีวิตเรียบง่ายสงบสุขจึงเป็นได้เพียงความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง

จากคดีต้มตุ๋นเล็กๆ อย่างการปลอมตัวเป็นขอทานพิการ หรือการหลอกเอาค่าทำขวัญในคดีรถชน ไปสู่การสร้างลัทธิคลั่งศาสนาเพื่อเชิดเงินบริจาค หรือแม้กระทั่งเกมการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ทั้งหมดคือคดีที่ช่วยตอกย้ำความบิดเบี้ยวในสังคม และช่องว่างทางชนชั้นที่ไม่มีวันถมเต็มได้ไม่ว่าจะพยายามสักแค่ไหนก็ตาม

 

Hyena (2020)

ทนายความ อาชีพที่ต้องตามล้างตามเช็ดอดีตของนายทุน

1 เปอร์เซ็นต์ คือสัดส่วนประชากรเกาหลีใต้ที่มีรายได้เกิน 120 ล้านวอน (ประมาณ 3.4 ล้านบาท) ต่อปี และนั่นคือกลุ่มลูกค้าของสองทนายความที่มีพื้นเพและบุคลิกลักษณะต่างกันอย่างสุดขั้วอย่างจองกึมจา (แสดงโดย คิมฮเยซู) ทนายความสาวที่อาศัยเล่ห์กลสารพัดในการทำคดี และยุนฮีแจ (แสดงโดย จูจีฮุน) ทนายความหนุ่มสุดเพียบพร้อมผู้เติบโตมาในครอบครัวนักกฎหมาย

หลังจับพลัดจับผลูได้ไปร่วมงานกับยุนฮีแจในสำนักทนายความไฮคลาสอย่าง Song & Kim จองกึมจาจึงได้รู้ว่าเบื้องหลังคดีฟ้องหย่าและแบ่งมรดกของบรรดาคนรวยที่เราเห็นเป็นฉากหน้านั้น เบื้องหลังมีทั้งคดีกักขังหน่วงเหนี่ยว ฆาตกรรม หรือแม้กระทั่งการฮั้วกับทนายความเพื่อวางแผนใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการทำเรื่องผิดกฎหมายเสียเอง

นายทุนเกาหลี

แต่ที่ร้ายที่สุดเห็นจะเป็นการผลักดันร่างกฎหมายภาษีมรดกที่สำนักทนายความนี้ร่วมมือกับนักการเมืองและนายทุน เพื่ออำนวยความสะดวกให้พวกเขาไม่ต้องเจียดมรดกหลายร้อยล้านของตัวเองให้แก่ประเทศ ซึ่งเกิดจากแนวคิดของประธานซงพิลจุงที่ว่า “เพราะรากฐานขององค์กรใหญ่ๆ ก็คือรากฐานของเศรษฐกิจประเทศ เราจึงต้องชี้ชัดไปเลยว่าทำไมประชาชนถึงต้องใส่ใจหัวหอกของประเทศให้มากกว่านี้”

Hyena อาจแตกต่างจากซีรีส์เกาหลีสายกฎหมายเรื่องอื่นๆ ที่มักบอกเล่าแง่มุมอันสวยงามของอาชีพทนายความ แต่ในทางกลับกัน ท่ามกลางเกมธุรกิจและการเมืองแสนรุนแรง ซีรีส์เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า ความมั่นคงของผู้รักษากฎหมายนั้นสำคัญมากเพียงใดในโลกที่ทุนนิยมกำลังกัดกินความยุติธรรมอยู่ทุกชั่วขณะ


อ้างอิง

abc.net.au
npr.com
kdramapal.com
koreatimes.co.kr
npr.org
aday

AUTHOR