Nomadland เมื่อรถคือบ้าน และความสูญเสียคือการออกเดินทาง

คำว่า Nomad (คำนาม) มาจากภาษากรีกที่มีความหมายว่า กลุ่มคนหรือชนเผ่าที่เดินทางระหกระเหเร่ร่อนเพื่อหาอาหาร ล่าสัตว์ และตั้งถิ่นฐานชั่วคราว ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปยังอีกที่อย่างไม่มีจุดหมาย ต่อมาคำนี้ได้ถูกเอามาใช้เรียกเสรีชนที่เลือกจะใช้ชีวิตอย่างไร้ข้อยึดติด หาเช้ากินค่ำ ค่ำไหนนอนนั่น 

จากข้อมูลปัจจุบัน บ่งชี้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีคนร่อนเร่พเนจรหรือชาว Nomad ราวๆ 3 ล้านคน โดย 1 ล้านคนอาศัยอยู่บนรถ RV 

ก่อนจะมากำกับหนังฮีโร่แมสๆ ที่รสชาติแปลกใหม่อย่าง Eternals หนังเรื่อง ‘Nomadland’ เป็นหนังที่ทำให้โลกได้รู้จักชื่อของผู้กำกับ Chloe Zhao อย่างชั่วพริบตาด้วย 3 รางวัลออสการ์ ได้แก่ สาขากำกับยอดเยี่ยม ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม หนังเรื่องนี้สร้างมาจากหนังสือ Nomadland: Surviving America in the Twenty-First Century ของ Jessica Bruder ที่บอกเล่าเรื่องราวของคนร่อนเร่หรือชาว Nomad ในอเมริกาที่ออกเดินทางและอาศัยอยู่ในรถ RV (รถบ้าน) ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา

เธอได้นำหนังสือเล่มดังกล่าว มาถ่ายทอดหนังเรื่องนี้แบบไฮบริด ที่เล่าเรื่องเชิงรูปแบบนิยมกึ่งสารคดีให้เราได้รู้สึกและซึมซับเรื่องราวความรู้สึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผ่านการตามติดชีวิตตัวละคร Fern (รับบทโดย Frances McDormand) ที่สูญเสียทั้งสามีและหน้าที่การงาน จึงตัดสินใจออกเร่ร่อนด้วยรถ RV 

(เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ Nomadland)
Nomadland

ถึงแม้ Chloe Zhao จะบอกว่าไม่ต้องการให้หนังเรื่องนี้ของตัวเองมีเนื้อหาที่สื่อไปถึงประเด็นการเมืองเพื่อที่จะโฟกัสไปที่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในหนังมากกว่าก็ตาม ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าหนังมีประเด็นการเมืองแทรกอยู่ในทุกอณู ในเมื่อการเมือง = ชีวิตและคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงความเป็น Nomad กับความเป็นคนไร้บ้าน (Homeless) ที่ค่อนข้างจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

หลังจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยนำมาสู่การปิดตัวลงของโรงงานเหมืองยิปซั่ม US Gypsum ในรัฐ Nevada ที่ที่ Fern กับสามีเคยทำงาน และเมือง Empire ที่มีโรงงานเป็นเจ้าของ หายไปในแผนที่ รหัสไปรษณีย์ถูกยกเลิก วิถีชีวิตแบบ Nomad ของเธอก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อเธอไม่อยากอยู่บ้านอีกต่อไป และเลือกที่จะทำงานจิปาถะเพื่อหาเช้ากินค่ำ มีอะไรทำหมดไม่ว่าจะเป็นงานล้างห้องน้ำ ล้างจาน งานครัว หรือทำงานไซต์ก่อสร้าง

ในบรรดาชาว Nomad สายรถ RV ที่ Fern เจอ บางคนเลือกจะใช้ชีวิตบั้นปลายที่มาพร้อมกับโรคร้ายบนรถและท้องถนน บางคนไม่มีห่วงเพราะลูกหลานเติบโตมีครอบครัวแล้ว และบางคนเป็นเหยื่อของวิกฤตเศรษฐกิจอันผุพังจนยากจะลงหลักปักฐาน ณ แห่งไหนอย่างเฉพาะเจาะจง ทุกคนมีเหตุผลที่จะเร่ร่อน สำหรับ Fern เหตุผลของเธอคืออย่างสุดท้าย คอมโบด้วยวิกฤตทางใจ ที่เปลี่ยวเหงาและโดดเดี่ยวในช่วงบั้นปลายอย่างไม่ทันตั้งตัว ทั้งที่เธอมีบ้านเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่มันดูจะใหญ่เกินไปสำหรับเธอคนเดียว

แม้เหตุผลที่คนกลายมาเป็น Nomad จะแตกต่างกัน สิ่งนึงที่ทุกคนมีจุดร่วมคือ Nomad เป็น ‘ทางเลือก’ ที่จะใช้ชีวิตผูกโยงกับการเดินทางมากกว่าอยู่เฉพาะที่ทั้งๆ ที่สามารถเลือกได้ หรือพึงมี ในขณะที่ Homeless เป็นสถานะที่แสดงถึงความ ‘ไร้ทางเลือก’ ที่ต้องพึ่งพาสวัสดิการรัฐเป็นอย่างยิ่ง

Nomadland

การเป็น Nomad หรืออิสรชนบ่งบอกอะไรและเกี่ยวข้องกับรัฐและการเมืองยังไง? สรุปสั้นๆ เป็นคำเดียวได้ว่า ‘ค่าครองชีพ’ และ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’

สองสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐและฝีมือการบริหารประเทศกับคุณภาพของระบบเศรษฐกิจประเทศนั้นๆ การเป็น Nomad ไม่ใช่ประชากรในประเทศอะไรก็เป็นได้ มันจึงเป็นตัวชี้วัดด้วยว่าอะไรทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำ ขาดความมั่นคง และมีที่อยู่อาศัยที่แน่นอนได้ ซึ่งยิ่งค่าครองชีพกับค่าแรงขั้นต่ำไปด้วยกันได้เท่าไหร่ คนคนนั้นก็สามารถที่จะเป็น Nomad ได้นานเท่านั้น 

ทำให้เมื่อลองนึกเล่นๆ ว่าถ้าหากค่าแรงขั้นต่ำน้อย แต่ค่าน้ำมันแพงเกินเบอร์ และค่าอาหารค่าเดินทางปาเข้าไปวันละ 50-75% ของรายได้วันนั้น ก็คงจะเป็นอะไรที่น่ากลัวไม่น้อยสำหรับการเป็น Nomad 

กลับมาที่เรื่องของทางเลือก คำว่า Nomad มีชื่อเรียกอีกชื่อก็คือ ‘เสรีชน’ ผู้หนีห่างจากระบบโลกทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นการหนีมาเองและเลือกได้ หรือถูกตัวระบบบีบให้หลีกหนี เลือกไม่ได้ การเป็นอิสรชนเองก็แสดงถึงความเป็นพลเมืองของประเทศนั้นและขอบเขตของความเป็นประชากรเช่นกัน

Fern ที่อายุมากแล้ว เป็นแม่หม้าย ไม่มีสามี เธอไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าที่ซุกหัวนอน

อาจจะมีหลายฉากที่ Fern จอดรถแล้วโดนไล่ที่ แต่ก็มีหลายฉากที่ปรากฏให้เห็นว่า Fern สามารถจอดรถและพักอาศัยตรงนั้นได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะที่ยังไม่ได้มีการจับจองหรือถูกผูกขาด ป่าคอนกรีตยังไม่ได้รุกล้ำทุกอณูของป่าธรรมชาติ และทุกคนสามารถใช้ปักหลักพักอาศัยทำกิจกรรมร่วมกัน การเป็น Nomad อีกนัยหนึ่งจึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความกว้างขวางและการที่ทุนนิยมยังสามารถเป็นสิ่งที่หลีกหนีได้ในพื้นที่ห่างไกล

อีกทั้งมันยังแสดงให้เห็นถึงการที่ประชาชนต่างก็เป็นเจ้าของประเทศ และขอบเขต ‘บ้าน’ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่พื้นที่กี่ตารางเมตรหรือตารางวา แต่พื้นที่หลายตารางกิโลเมตรของประเทศที่พวกเขาเป็นประชากร ทั้งหมดคือบ้านของพวกเขา

Nomadland

เมสเสจนึงที่ค่อนข้างชัดมากๆ ของหนัง Nomadland คือการให้ความหมายคำว่า ‘บ้าน’

House และ Home แตกต่างกันในแง่ความรู้สึก House จะให้ความรู้สึกในเชิงพาณิชย์ ในเชิงวัตถุสิ่งของนอกกาย สิ่งที่ซื้อมาขายไป ในขณะที่ Home จะให้ความรู้สึกที่อบอุ่น เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เชื่อมโยงกัน ผูกพันทางจิตใจและความรู้สึกมากกว่า 

ตั้งแต่ต้นเรื่องการจะเห็นข้อความปรากฏชัด ผ่านตัวละครหนึ่งที่ร่วมโต๊ะอาหารกับ Fern ที่สักบนแขนด้วยข้อความว่า ‘บ้านเป็นแค่คำพูดหรือสิ่งที่ติดตัวเราไป?’

“คุณเป็นคนไร้บ้านเหรอคะ?” เด็กหญิงที่เธอรู้จักถามอย่างตรงไปตรงมาเมื่อบังเอิญเจอกันที่ซูเปอร์มาร์เก็ต Fern ตอบเธอไปว่า “ฉันไม่ได้เป็นคนไร้บ้าน (Homeless) นะ ฉันแค่ไม่ต้องการบ้านต่างหาก (House-less)”

“Bo ไม่เคยรู้จักพ่อแม่ของเขา เราไม่เคยมีลูก ถ้าฉันไม่อยู่ ถ้าฉันไป เขาจะไม่เคยมีตัวตนอยู่ที่นี่ ฉันไม่สามารถเก็บกระเป๋าแล้วไปจากที่นี่ได้จริงๆ เขารัก Empire มาก เขาชอบอยู่ที่นั่นและทุกคนรักเขา ฉันจึงอยู่ที่นี่ เมืองเดิม บ้านหลังเดิม เหมือนที่พ่อฉันเคยพูดว่า ‘อะไรที่ถูกจำจด สิ่งนั้นจะยังคงมีชีวิตอยู่’ บางทีฉันอาจใช้เวลามากไปเพื่อที่จะจดจำเรื่องบางเรื่อง” 

สุดท้ายแล้วไม่สำคัญว่าที่ที่เราอยู่คือที่ไหน สำคัญคือเราอยู่กับใคร และใครต่างหากที่นิยามความหมายของคำว่าบ้านแบบ ‘home’ ให้กับเราได้ บ้านอยู่ที่ใจ และ Bo สามีของเธอที่จากไป ก็ดูจะเป็นบ้านที่แท้จริงของเธอ ไม่ใช่แค่บ้านที่มีหลังคาและกำแพงรอบด้าน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของการมูฟออน มีคำพูดเล่นๆ ขำๆ ว่า “มูฟออนจากเธอได้แล้ว แต่เป็นวงกลมนะ” ช่างเป็นมุขตลกที่ตลกร้าย ตัวละคร Fern มูฟออนเป็นวงกลมไม่ต่างจากแหวนแต่งงานที่เธอใส่ ประโยคพูดอันคมคายระหว่างเธอกับตัวละคร Carol คือการชี้อย่างกระจ่างชัด ว่าเหตุใดคนเราถึงมูฟออนยาก

Fern: ฉันจะไม่มีวันถอดมันออก

Carol: แหวนแต่งงานวงนั้นเป็นวงกลม และมันไม่เคยสิ้นสุด นั่นความหมายว่าความรักของเธอไม่มีวันจบสิ้นและเธออาจจะไม่มีวันที่จะถอดมันออกได้อีก แม้ว่าเธอขอลองดูก็ตาม

Fern: ฉันก็ไม่คิดว่าฉันถอดมันได้นะ

Nomadland

ตัวละคร Fern จะเดินทางไปให้ไกลที่สุดจาก Empire สถานที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำนี้ก็ได้ แต่เธอไม่ทำเพราะอย่างน้อยๆ เธอจะเป็นเหมือนเครื่องบันทึกหรือเก็บความทรงจำเดินได้ที่จะทำให้พอผู้คนเห็นเธอก็จะนึกถึงสามีของเธอด้วยเสมอ โดยที่ไม่สนใจว่าตอนคนเห็นเธอ คนเห็นอะไร และการใช้ชีวิตเพื่อผู้อื่นนั้น (โดยเฉพาะการอุทิศให้ผู้ที่จากไปแล้ว) ถูกต้องหรือแฟร์กับเราหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน

อิสระบางอย่างใช้เวลา และมันไม่เคยเป็นเรื่องสายไปที่คนคนนึงจะมีอิสระ เพียงแต่บางคนมีโซ่ล่ามไว้ แต่บางคนกลับล่ามโซ่มัดตัวเองกับเสา

ความเป็นนักผจญภัยของ Fern แสดงให้เห็นตั้งแต่ยังเด็กผ่านการบอกเล่าของตัวละครพี่สาว ซึ่งใน America ‘Land of Freedom’ เธอมีทางเลือกเสมอ เมื่อเธอเป็นอิสระจากสามี เป็นอิสระจากสิ่งรอบข้าง จากเมือง จากใจตัวเองแล้ว เมื่อนั้นวิถีเสรีชนที่แท้จริงถึงจะเริ่มต้นขึ้น ทำให้ถึงจะดูขัดแย้งพอสมควร แต่จากทั้งหมดทั้งเรื่องที่ดูมา กลายเป็นว่าชีวิต on the road ของเธอเริ่มต้นเข้าจริงก็ปาเข้าไปตอนจบของหนังแล้ว

หลายฉากหลายช่วงของหนังยังมีนัยที่สื่อสารถึง ‘การพบพาน’ และ ‘การจากลา’ ผ่านสหาย Nomad ของ Fern ซึ่งอันที่จริง Chloe Zhao ถือว่ามีจุดร่วมกับสองอย่างนี้อยู่ไม่น้อย เธอเป็นผู้กำกับเชื้อสายจีนที่เติบโตที่อังกฤษ ก่อนจะมาเรียนจบฟิล์มที่อเมริกา และมีชื่อเสียงในเวทีหนังอินดี้มาพักใหญ่ 

ฉะนั้นเรื่องของการเดินทางและย้ายถิ่นฐานที่ Chloe พบเจอมา กับการทำหนังกับทีมงาน จึงผูกโยงกับคอนเซปต์ของการพบการจากอย่างตรงไปตรงมา และได้นำมาถ่ายทอดอย่างน่าเชื่อถือ และความน่าทึ่งของ Nomadland คือนอกจาก Frances กับนักแสดงหลักอีกคนอย่าง David Strathairn แล้ว นักแสดงที่เหลือที่แสดงเป็น Nomad คือ Nomad ตัวจริงที่มาเล่นเป็นบทตัวเองด้วย

จากที่เคยคิดมาตลอดว่าชีวิตคือการขับรถไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พักกินโน่นนี่ หรือนอนโรงแรมข้างทาง พอดูเรื่องนี้กลายเป็นปิ๊งขึ้นมาได้ว่า จริงๆ ชีวิตคนเราไม่ต่างไปจากการเป็น Nomad และการขับรถ RV ที่เป็นเสรีชน individual ผู้เดินทางไปในหนทางที่ชีวิตนำพาไป เหนื่อยก็พัก รักก็หยุดปักหลัก และหากจบแล้วหรือไม่มีเหตุผลให้อยู่ที่เดิม ก็ต้องเติมน้ำมันขับต่อไปข้างหน้าเพื่อตามหาสิ่งใหม่

ทุกๆ ครั้งที่ Fern ทำความรู้จักกับใคร ผูกพันกับใคร ไม่ว่าบอกล่วงหน้าหรือไม่ก็อดใจหายไม่ได้ เริ่มจากสามีเธอ จนถึง Nomad ที่หายเรียบหลังมีตติ้งจบลง จากนั้นสำหรับเพื่อนที่ยังหลงเหลืออยู่ เธอมองดูพวกเขาขับรถจากไปแบบ one by one เพื่อเส้นทางของแต่ละคน บ้างก็ไปสร้างบ้านให้ลูกหลาน บ้างก็ไปเที่ยวครั้งสุดท้ายก่อนตาย บ้างก็กลับไปช่วยเลี้ยงหลานและอยู่กับลูก โดยเฉพาะเคสสุดท้ายที่น่าเศร้าสุดโดยที่ยังไม่ได้มีโอกาสบอกลา แต่ก็ยังดีที่เธอเลือกจะไปเยือนถึงที่เอง

Nomadland

ชีวิตสาย Nomad ยังสะท้อนด้วยว่าการเป็นเสรีชนนั้นสามารถทำได้ในดินแดนที่เสรี และในช่วงระยะเวลาหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะถึงเมื่อไหร่ นานแค่ไหน

ในกรณีของ Fern ท้ายที่สุดจะเห็นได้ว่าเธอต้องโทรยืมเงินคนอื่น ไปหาพี่สาวเพื่อยืมเงินมาใช้ชีวิต ในท้ายที่สุดเธอก็เลี่ยงไม่ได้และต้องกลับเข้าสู่ระบบทุนนิยมด้วยการทำงานที่ Amazon เพื่อคืนเงินและเพื่อให้ตัวเองไปสู่จุดที่เป็นอิสระอีกครั้ง พอยต์ตรงนี้มีมาเพื่อบอกเราว่าเงินหรือระบบทุนมีมาช้านานและเราต้องพึ่งพามัน คลุกคลีกับมันมากเกินไปก็ขาดอิสระและตกเป็นทาส ส่วนจะน้อยเกินไปก็ไม่ไหว 

จึงเป็นเรื่องดีที่คนคนหนึ่งรู้ความต้องการของตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร และอะไรคือสิ่งที่สำคัญกับเราที่สุดจริงๆ แล้วต้องทำอะไรเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา

Nomadland

“หนึ่งในสิ่งที่ผมชอบที่สุดเกี่ยวกับชีวิตคือมันไม่เคยมีการบอกลาครั้งสุดท้าย คุณรู้นะ ผมอยู่นี่เจอคนเป็นร้อยๆ แต่เชื่อมั้ยว่าไม่เคยบอกลาใครเลย ผมมักจะพูดว่า ‘ไว้เจอกันใหม่นะ’ เสมอ และผมเจอพวกเขาจริงๆ ไม่ว่าจะเดือน จะปี หรือเป็นปีๆ ผมจะเจอพวกเขา” ตัวละคร Bob เล่าให้ Fern ฟังหลังจากเล่าเรื่องลูกชายฆ่าตัวตายไป

หลังจาก Fern ได้ยินประโยคที่ Bob พูด เธอจึงตัดสินใจไปเยี่ยมบ้านที่เคยอาศัยอยู่เป็นครั้งสุดท้าย หรือทำตามลักษณะของแหวนแต่งงานก่อนที่จะถอดมันออก

ที่น่าประทับใจคือก่อนที่มันจะเริ่มต้น (หมายถึงในตอนจบนั่นแหละ) เธอก็ได้ยินประโยคที่ว่า “ไว้เจอกันใหม่นะ” และไม่พูดอะไรกลับ ได้แต่ยิ้ม และขึ้นรถ ออกเดินทางไปไม่หวนกลับมาอีก มูฟออนพร้อมเผชิญกับความไม่แน่นอนด้วยรถบ้านเพียงลำพังโดยไม่รู้หนทางข้างหน้า ตามวิถีเสรีชนบนรถ RV สู่ความไม่แน่นอนที่เราคุ้นเคยกันดี ความไม่แน่นอนที่เรียกว่า ชีวิต

AUTHOR