เมื่อพูดถึงการออกไปสำรวจนอกโลกและยานอวกาศเรามักจะนึกถึงอเมริกาและรัสเซียนำมาก่อน นี่นับว่าเป็นอีกครั้งที่เกาหลีทำให้โลกต้องหันมามอง ด้วยการทำสิ่งที่ประเทศนี้ทำแล้วประสบความสำเร็จภายในช่วงระยะเวลาหลายปีมานี้ นั่นก็คือใช้โลกของภาพยนตร์และซีรีส์ในการพูดอะไรสักอย่าง และครั้งนี้ ด้วยซีรีส์ The Silent Sea ที่มีสองนักแสดงระดับแม่เหล็กแรงสูงอย่าง กงยู และ แบดูนา เกาหลีใต้พาประเทศตัวเองออกเดินทางจากโลกไปสู่ดวงจันทร์
จนทำให้ทั้งโลกต้องพูดว่า “เกาหลีเค้าไปดวงจันทร์แล้ว”
ซึ่งอันที่จริงมีการประกาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าประเทศเกาหลีใต้มีความตั้งใจจะปล่อยยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ตั้งแต่ปี 2020 ก่อนที่จะเลื่อนมาปล่อยในปี 2022 นี้ ซีรีส์จึงทำหน้าที่เป็นเหมือนวิดีโอจำลองก่อนปฏิบัติการจริง ที่ว่าด้วยเรื่องราวของประเทศเล็กๆ อย่างเกาหลีใต้ แต่กลับมีบทบาทสำคัญระดับโลกด้วยการมีสถานีอวกาศบนดวงจันทร์ และค้นพบสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโลกที่กำลังย่ำแย่สุดขีดไปตลอดกาล
นอกจากนี้ยังพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการจัดการ และการดิ้นรนหาทางออกของมนุษย์ได้อย่างน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
*บทความเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์*
The Silent Sea ไม่เพียงแต่จะเป็นหนังไซ-ไฟที่มีกลิ่นอายลึกลับปนสยองขวัญอยู่หน่อยๆ แต่ยังเป็นหนังแนวโลกอนาคตดิสโทเปียที่กำลังพูดประเด็นเดียวกับ Mad Max (2015) และ Interstellar (2014) ที่ว่าด้วยการเพิ่มประชากรและการใช้สอยทรัพยากรของมนุษย์อย่างไม่หยุดและผลิตขยะ สร้างมลพิษ และสารเคมีมาทำลายโลกอย่างช้าๆ จนถึงจุดที่สายเกินแก้ นั่นจึงทำให้ในซีรีส์เรื่องนี้ ‘ภัยแล้ง’ คือความสยองขวัญหลักของเรื่องที่น่ากลัวยิ่งกว่าการที่มีอะไรไม่รู้อยู่บนดวงจันทร์ซะอีก
ในโลกอนาคตของซีรีส์ มนุษย์มีการก่อตั้ง ‘คณะกรรมการเพื่อนโยบายการอยู่รอดของมนุษย์’ ที่ทำหน้าที่คิดนโยบายและหาทางแบ่งสรรปันส่วนน้ำซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าทองคำซะอีก นโยบายที่ว่าคือการให้แต่ละคนมีบัตรสีต่างๆ และแบ่งระดับชนชั้นของผู้ใช้น้ำเพื่อกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงและเบิกน้ำมาใช้ในแต่ละครั้ง แต่แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องทำให้คนจำนวนมากไม่พอใจ เพราะมันเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์และความไม่เท่าเทียมจนต้องออกมาเดินขบวนประท้วง
แม้ซีรีส์จะไม่ได้ลงลึกตรงนี้สักเท่าไหร่และมีแอร์ไทม์น้อย ไปเน้นที่การดำเนินเรื่องในฟากดวงจันทร์ซะมากกว่าเพราะตัวแปรสำคัญอยู่ที่นั่น แต่ก็เป็นเหมือนเสี้ยนหนามที่ตำแล้วเจ็บจนต้องหันไปมองว่ามันแทงลงไปลึกแค่ไหน เลือดออกมั้ย และคิดหรือมองหาสาเหตุว่าเสี้ยนหนามนี้มันมาจากไหนกันแน่ เพื่อที่เราจะไม่ต้องโดนทิ่มอีก
เรามีการนิยามยุคสมัยของโลกโดยลงท้ายด้วยคำว่า ‘ซีน (cene)’ และมีคำศัพท์นึงคือคำว่า ‘แอนโทรโปซีน (Anthropocene)’ เป็นคำศัพท์ที่นิยามขึ้นเพื่อบ่งบอกยุคสมัยหรือมนุษย์สมัยที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ ว่าในยุคที่มนุษย์เป็นสปีชีส์หลักที่ปกครองและกำหนดชะตากรรมดวงดาวที่ชื่อว่า ‘โลก’ ซึ่งประกอบสร้างเป็นเราขึ้นมา เราได้สร้าง ทำลาย และทิ้งอะไรไว้ให้กับโลกใบนี้บ้าง นั่นคือสิ่งที่ The Silent Sea กำลังพูดถึง ยุคแอนโทรโปซีนที่ดูกำลังจะเข้าใกล้จุดสิ้นสุดมากขึ้นทุกทีๆ
นอกจากนี้ในซีรีส์ยังถ่ายทอดให้เราเห็นว่าโลกกำลังย่ำแย่ขนาดไหน ด้วยการแสดงให้เห็นว่านอกจากโลกร้อนและภัยแล้งสุดขีดจนต้องหันไปกลั่นน้ำทะเลมาใช้ดื่มกิน (น้ำทะเลเองก็ลดลงเรื่อยๆ) แล้ว ยังมีเรื่องของโรคระบาด การกำจัดขยะ และการปนเปื้อนกับการติดเชื้ออีก
ใช่แล้วมันฟังดูคุ้นๆ ปัญหาเหล่านี้ถือว่าอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากไทม์ไลน์ของเราสักเท่าไหร่ เรากำลังอยู่ในเส้นเรื่องนี้ราวกับว่าเรากำลังเป็นพยานและมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สถานการณ์ในโลกอนาคตของซีรีส์ ทำให้หากไม่ทำอะไรอย่างระมัดระวังกว่านี้ การที่เราข้ามผ่านช่วงเวลาแอนะล็อกมาสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็วจะไม่ใช่กระบวนการเร่งเพื่อไปข้างหน้าหรือข้างบน แต่เป็นการเร่งพร้อมกับเสื่อมสลายและพุ่งดิ่งลงสู่โลงศพเร็วขึ้นเท่านั้น
ดร.ซง ที่รับบทโดยแบดูนา นักชีวดาราศาสตร์และน้องสาวของพี่สาวผู้เป็นเฮดของศูนย์วิจัยบัลแฮบนดวงจันทร์ผู้ล่วงลับ ถูกเชื้อเชิญให้ไปทำภารกิจกู้งานทดลองบางอย่างกลับมายังโลกโดยไม่รับข้อมูลอะไรมากนัก นอกจากการบรีฟหน้าที่อย่างคร่าวๆ ว่าต้องทำอะไรบ้าง (บรีฟสั้นกว่างานครีเอทีฟและงานโฆษณาซะอีก)
ภารกิจนี้นำโดยกัปตันฮัน หรือกงยู ผู้ทำตามคำสั่งรัฐบาลโดยไม่ถามคำถามใดๆ ถูกสั่งมายังไงก็ทำเช่นนั้น ในแง่นึงกัปตันฮันดูเป็น professional แต่ในอีกแง่ การที่ถูกสั่งมาให้ซ้ายหันขวาหันก็ทำตาม ไม่ตั้งคำถาม และไม่ให้ความสำคัญกับสาเหตุของเรื่องที่ว่า ‘เกิดอะไรขึ้นที่สถานีบัลแฮเมื่อห้าปีก่อนกันแน่’ ทำให้คนดูและตัวละครทั้ง ดร.ซงกับกัปตันฮันเองต้องตั้งคำถามถึงความถูกต้องและสิ่งที่สมควรไม่สมควร
ยิ่งดูจะยิ่งพบว่ารัฐบาลและหน่วยงานรัฐกำลังปกปิดความจริงเกี่ยวกับเรื่องห้าปีก่อน ไม่ได้มีสารเคมีรั่วไหล และนั่นไม่ใช่สาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของลูกเรือ นักวิจัย กับพี่สาวของด็อกเตอร์
ไม่แน่ใจว่าจะเป็นความตั้งใจของผู้สร้างและคนเขียนบทหรือไม่ และนี่อาจจะดูเป็นการ overinterpret ไปบ้าง แต่ลองถอยออกมามองก็จะพบว่าเนื้อหาของซีรีส์กับเรื่องของดวงจันทร์และด้านมืดของดวงจันทร์นั้นมีความเกี่ยวข้องกันในเชิงสัญลักษณ์และความหมายอยู่
อย่างที่ทราบกันดีว่าดวงจันทร์เป็นดาวที่ไม่มีแสงสว่างในตนเอง แสงที่เราเห็นจากโลกเป็นแสงที่ตกกระทบจากแสงของดวงอาทิตย์ และเมื่อเราไปอยู่บนดวงจันทร์ แสงสว่างที่เราจะมองเห็นได้ก็จะเป็นแสงจากดวงอาทิตย์เช่นเดียวกัน
ส่วนเรื่องของด้านมืด ในซีรีส์พี่สาวของด็อกเตอร์ซงนิยามจุดอับหรือจุดที่มองไม่เห็นของดวงจันทร์ (ที่แสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง) ว่าเป็น ‘ทะเลแห่งความเงียบสงบ’ หรือทะเลสงัดตามชื่อเรื่อง เพราะหากใครสักคนโดดไปโดยไม่มีอะไรยึดเหนี่ยว ก็จะลอยเคว้งราวกับอยู่ในทะเลแห่งความมืด อีกทั้งเสียงยังเดินทางไม่ได้เพราะไม่มีอากาศในอวกาศ ไม่ว่าตะโกนดังแค่ไหนก็จะไม่มีใครได้ยิน
ฉะนั้นหากนำแสงดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์และทะเลสงัดไปเทียบเคียงกับเรื่องของความจริงและการปกปิดความจริงของรัฐ ก็สามารถแปลความหมายได้ว่ารัฐเป็นผู้ควบคุมแสงอาทิตย์ที่จะส่องไปยังด้านไหนของดวงจันทร์ ส่วนประชากรโลกเมื่อมองจากโลกก็จะได้รับรู้และเห็นรูปร่างและด้านต่างๆ ของดวงจันทร์เท่าที่รัฐเผยให้เห็น ไม่ต่างจากการเล่นไม้เล่นมือเพื่อให้เกิดรูปร่างของเงาบนกำแพงเหมือนที่เราเล่นกันตอนเด็กๆ ผู้ควบคุมแสง เงา และรูปร่าง เป็นผู้กำหนดว่าผู้เห็นจะเห็นอะไร หรือไม่ให้เห็นอะไรเลย
เหล่าตัวเอกคือผู้เดินทางไปค้นพบความจริงตามวิสัยมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ โดยมีหนอนบ่อนไส้แฝงตัวเข้ามาทำภารกิจชิงตัวอย่างและทำลายตัวอย่างที่เหลือพร้อมกับกำจัดทุกคนอีกที
แต่ก็เป็นเรื่องดีหน่อยที่กัปตันฮันถึงแม้จะไปทำภารกิจเพื่อลูกสาวและโฟกัสไปที่การทำตามคำสั่ง แต่กงยูย่อม/มักจะไม่เล่นเป็นตัวร้าย เขาจึงมาชั่งน้ำหนักดูและตัดสินใจว่าตัวเองจะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าจะทำยังไงกับความเป็นจริงที่ค้นพบว่า ที่ศูนย์วิจัยบัลแฮกำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับน้ำบนดวงจันทร์ และมันเป็นไวรัสหรือ ‘ตัวทำลาย’ ที่ดันไปเป็นสิ่งเดียวกับ ‘ความหวัง’ ของมนุษยชาติซะอย่างงั้น
ไวรัสนี้เป็นไวรัสที่ค้นพบในชื่อ ‘น้ำดวงจันทร์’ (มีการค้นพบธาตุประกอบของน้ำบนดวงจันทร์จริงๆ และดูเหมือนซีรีส์หยิบตรงนั้นมาคิดต่อยอด) ที่เมื่อสัมผัสกับเลือดหรือเข้าไปในร่างกายสิ่งมีชีวิตแล้ว ก็จะสูบกินร่าง โฮสต์และเพิ่มจำนวนแบบทวีคูณ ซึ่งดูจะเป็นหนทางแก้ปัญหาภัยแล้งบนโลกที่ดูจะเข้าท่าไม่น้อย หากแต่ว่าปัญหาหลักคือมนุษย์ยังไม่รู้จักมันดีพอ และไวรัสกับการเพิ่มขึ้นของน้ำจะต้องพึ่งพาชีวิตของสิ่งมีชีวิต
เท่ากับว่ามนุษย์ชาวเกาหลีใต้เล่นเกมอันตรายและกำลังเล่นบทพระเจ้าอยู่ หรือที่จริงเราเล่นมาตั้งนานแล้วและกำลังเล่นมาโดยตลอด พวกเขาควบคุมปัจจัยที่จะเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล ชะตากรรมและความเป็นอยู่ของชาวโลกขึ้นอยู่กับมัน และแน่นอนว่าใครกุมสิ่งนี้ไว้ในกำมือ คือกุมอำนาจแห่งชีวิต จึงได้เกิดการบุกแย่งชิงของพวกอาร์เอ็กซ์ (RX) กลุ่มทหารรับจ้างที่โฟกัสเรื่องผลประโยชน์และทรัพยากรพลังงานก่อนหน้าที่กลุ่มของตัวเอกจะเดินทางมาถึง และเกาหลีเองก็ไม่เปิดให้เรื่องนี้รั่วไหลเพราะเรื่องของผลประโยชน์และการผูกขาด
แต่ก็ใช่ว่าผู้อยู่เบื้องหลังการทดลองจะไม่มีวิธีรับมือ ในเมื่อใช้เวลานานแล้วยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าจะควบคุมเจ้าไวรัสนี้และใช้งานมันดั่งใจนึกได้ยังไง จึงได้ทำการทดลองอีกอย่างนั่นก็คือการ ‘โคลนนิ่ง’ เด็กขึ้นมา เพื่อทดลองว่ามนุษย์จะสามารถใช้และอยู่ร่วมกับของเหลวที่ใกล้เคียงน้ำที่สุดนี้ได้หรือไม่
โปรเจกต์ร่างโคลน ‘Luna’ จึงถือกำเนิดขึ้น โดยผู้ที่รับผิดชอบและนำทีมวิจัยคือพี่สาวของ ดร.ซง นั่นเอง มีการโคลนเด็กหญิงขึ้นมาจำนวนมากอย่างไร้มนุษยธรรมเพื่อทดสอบความเข้ากันของมนุษย์กับน้ำดวงจันทร์เผื่อกรณีนำมาใช้บนโลกแล้วควบคุมไม่ได้ เกิดวงจรหรือวัฏจักรการเกิดของน้ำที่มากเกินไป ในมุมกลับมนุษย์จะสูญพันธุ์เพราะน้ำแทนความแห้งแล้ง
มีการใช้ร่างโคลนของเด็กน้อยลูน่ามากมายก่อนที่จะมาถึงคนที่ 73 ถึงได้มีการค้นพบว่าทางที่เข้าท่าที่สุดไม่ใช่การทำให้น้ำเข้ากับมนุษย์ แต่เราเองต่างหากที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับมัน ลูน่าหมายเลข 073 เป็นเครื่องพิสูจน์นั้นว่าเมื่อถึงจุดที่มนุษย์ดำเนินมาถึงทางตัน เราต้องวิวัฒน์เพื่อความอยู่รอด เหมือนที่สิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์วิวัฒนาการและปรับตัวจนอยู่รอดมาถึงปัจจุบัน ด้วยการคงไว้ซึ่งส่วนที่จำเป็น เปลี่ยนเป็นสิ่งที่ต้องมี และตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออก
เมื่อมองกลับไปก็จะพบว่าเราหยุดวิวัฒนาการทางร่างกายกันมาพักใหญ่แล้ว (กลับไปวิวัฒน์ให้กับสายพันธุ์จักรกลแทน) การค้นพบครั้งใหม่นี้จึงผลักดันให้มนุษย์ก้าวข้ามขีดจำกัดไปอีกขั้น อย่างที่เห็นว่าเด็กหญิงลูน่า 073 มีสายตาเฉียบคม เคลื่อนที่ว่องไว รักษาตัวเองได้ และมีเหงือกเหมือนปลา นั่นเป็นสิ่งที่มนุษย์ดูจะต้องการเพื่อที่จะใช้ชีวิตอยู่กับน้ำดวงจันทร์นี้ หรือมากกว่านั้นคือมาอยู่บนดวงจันทร์แทนโลกซะเลย เพราะในตอนท้ายก็จะเห็นว่าลูน่า 073 หายใจและใช้ชีวิตบนดวงจันทร์ได้โดยไม่ต้องสวมชุด
ตอนนี้ความจริงและตัวแปรที่จะเปลี่ยนโลกอยู่ในกำมือของ ดร.ซงและกัปตันฮันแล้ว ในไม่ช้าทั้งคู่จะต้องกลับไปยังโลก ทั้งสองมีสองตัวแปรสำคัญคือน้ำดวงจันทร์ในฐานะทางแก้หรือตัวแปรเพื่อปัจจุบัน กับอีกตัวแปรคือลูน่าในฐานะตัวแปรแห่งอนาคตที่จะเป็นการชี้ให้โลกเห็นว่ามนุษย์ต้องการอะไรเพื่ออยู่รอด อยู่ที่ทั้งสองจะจัดการกับความจริงนี้ยังไง จึงเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากเหตุการณ์ตอนจบซีรีส์
The Silent Sea ถือว่าเป็นซีรีส์ที่ตรงปก ด้วยการมอบสิ่งที่สัญญาว่าจะมอบให้เมื่อคนได้อ่านเรื่องย่อและดูตัวอย่าง นั่นก็คือความลึกลับ สยองขวัญ การสืบหาต้นตอและสิ่งที่เกิดขึ้น กับการรับมือและการตั้งคำถามว่าจะทำยังไงกับมัน ในเนื้อเรื่องสไตล์ไซ-ไฟอวกาศของฝั่งเกาหลีที่มีสองนักแสดงดังเป็นตัวละครหลัก ชอบซีรีส์เรื่องนี้ตรงความค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เผยค่อยๆ ค้นพบ เราคนดูรู้อะไรไปพร้อมกับตัวละคร อาจไม่ได้หวือหวา แต่ดูได้เพลินๆ ตั้งแต่ต้นยันจบ
ที่สำคัญที่สุดคือซีรีส์บนอวกาศเรื่องแรกของเกาหลีเรื่องนี้ไม่ได้น่าดูแค่ในฐานะ ‘ซีรีส์บนอวกาศเรื่องแรกของเกาหลี’ แต่เหมือนที่ Hellbound พูดเรื่องศรัทธาความเชื่อ กับ Squid Game พูดเรื่องทุนนิยมและการดิ้นรน The Silent Sea เป็นมากกว่านั้น เนื้อหาซีรีส์เรื่องนี้พูดถึงเรื่องที่ทุกคนบนโลกเกี่ยวข้องได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการพูดประเด็นที่ควรให้ความสำคัญที่สุดในตอนนี้อย่างประเด็นสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังจะหมดไป ทั้งยังให้เหตุผลอย่างน่าเชื่อว่าเหตุใดในเรื่องนี้เกาหลีถึงมีบทบาทสำคัญ ไม่ใช่ขาประจำอย่างอเมริกา
จะพูดแบบนี้ก็ได้ว่าถึงตอนนี้ยิ่งดูยิ่งชัดว่าเกาหลีใต้ไม่เพียงแต่จะใช้ soft power ถ่ายทอดและเผยแพร่วัฒนธรรมตัวเอง แต่ที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ประเทศนี้บูมขนาดนี้ ส่วนนึงเพราะพวกเขามีอิสระที่จะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ แตะประเด็นอะไรก็ได้ (แม้กระทั่งเล่นประเทศตัวเอง) และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่อีกส่วนนึงคือเกาหลีดูจะเข้าใจและรู้ ‘how to ทำซีรีส์อย่างไรให้เป็นสากล’ ไม่ใช่แค่ขายเอกลักษณ์ พูดภาษาเกาหลี หรือแค่มีฉากรินและกระดกเหล้าโซจูบ่อยๆ
นั่นคือสาเหตุที่ทำไมเราถึงเห็นซีรีส์เกาหลีมักจะขึ้นอันดับ 1 ในประเทศไทยและหลายๆ ประเทศเสมอ นี่คืออีกเรื่องที่ควรหยิบยกเป็นกรณีศึกษาหากไทยต้องการทำหนังซีรีส์ให้สะดุดตาชาวโลก