Don’t Look Up ความโง่เขลาอันตรายยิ่งกว่าอุกกาบาต

พอจะพูดถึงหนังเรื่องนี้ที่ปะหน้าว่าเป็นหนังตลกร้าย ทำให้คิดขึ้นได้ว่า จะว่าไปแล้วในชีวิตทุกคนล้วนแต่ต้องเคยผ่านประสบการณ์อันย้อนแย้งที่เรียกว่า ‘หัวเราะทั้งน้ำตา’ หรือสภาวะที่เลยขีดจำกัดของการขำไม่ออกที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งสิ้นหวัง บ้าบอชนิดสุดจะเหลือเชื่อ หรือทำเอาใจเรารู้สึกเจ็บจี๊ดจนปลงแล้ว

มีอีกความรู้สึกนึงที่สอดคล้องกับการหัวเราะทั้งน้ำตา คือการ ‘เจ็บใจ’ ที่เหมารวมทั้งการเจ็บใจแบบตั้งคำถามเชิง what if? ว่าทำไมตัวเองไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือทำไมสิ่งนี้เกิดขึ้นและไม่เกิดขึ้นทั้งที่เราสามารถยับยั้งให้เกิดหรือทำให้มันเกิดขึ้นได้  แต่ไม่มีอะไรเจ็บใจไปกว่าการรู้แล้วว่าต้องทำยังไง แต่ไม่ทำ หรือทำไม่ได้

Don’t Look Up หนังเสียดสีตลกร้าย (satire & sarcasm) ที่ฉุดกระชากลากถูคนดูตัวเปล่าไปตามพื้นถนนและอุดมไปด้วยดาราดังอย่างคับคั่งของผู้กำกับและคนเขียนบทเจ้าประชดประชันอย่าง Adam McKay เรื่องนี้ ถ่ายทอดสถานการณ์สิ้นหวังออกมาได้กวนโอ๊ย เซอร์เรียล จนไม่รู้ว่าจะขำ น้ำตาไหล หรือรู้สึกยังไงกับสิ่งที่เกิดขึ้นดี

เป็นหนังส่งท้ายปีของ Netflix ที่แค่ดูนักแสดงก็ถือว่าคุ้มค่ามากแล้ว เพราะนักแสดงเรื่องนี้มีทั้ง Leonardo DiCaprio, Jennifer Lawrence, Cate Blanchett, Meryl Streep, Jonah Hill, Mark Rylance, Tyler Perry, Timothée Chalamet, Ron Perlman, Ariana Grande และ Kid Cudi 

แต่ถึงกระนั้น Don’t Look Up ก็ไม่ใช่แค่หนังขายดารา เพราะเมื่อได้ดูก็พบว่าหนังขับเน้นประเด็นกับตัวละครให้โดดเด่นด้วยนักแสดงดัง โดยเนื้อความจริงๆ ของหนังอยู่ที่การเสียดสีผู้มีอำนาจกับทุนนิยม การตัดสินใจของผู้นำผู้แสนโง่เขลา ไดอะล็อกจิกกัดประชดประชัน เสียดแทงเหมือนในซีรีส์ Succession (ที่ McKay ร่วมโปรดิวซ์และกำกับด้วย) ไปจนถึงเรื่องราวของการที่มนุษย์กลุ่มหนึ่ง ทั้งอนุญาตและไม่อนุญาตให้มนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งมีสิทธิ์มีเสียงในชะตากรรมของตัวเอง 

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อ Dr. Randall (Leonardo DiCaprio) กับ Kate Dibiasky ศาสตราจารย์และนักศึกษาปริญญาเอก Michigan State University ได้เป็นพยานและผู้ค้นพบอุกกาบาตที่ตั้งชื่อสดๆ ร้อนๆ ว่า ‘Dibiasky’ ที่มีขนาดใหญ่ถึง 5-10 กิโลเมตร กำลังจะพุ่งชนโลกภายในอีก 6 เดือน ซึ่งนี่คือภัยพิบัติระดับที่สามารถทำมนุษย์สูญพันธ์ุได้เลย

หลังจากค้นพบเรื่องนี้แล้วเกิดอะไรขึ้นต่อไปและท่าทีของรัฐบาลประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาเป็นยังไงน่ะเหรอ?

นั่นคือสาเหตุที่เรื่องนี้ต้องเป็นหนังตลกร้ายแบบเหนือจริง เพราะความเป็นจริงเกี่ยวกับการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติ โรคระบาด และการจัดการในวงกว้างของหลายๆ รัฐบาลทั่วโลก เมื่อถอดฟิลเตอร์ ‘dark comedy’ ของหนังออกไปก็จะเห็นว่ามันตลกร้ายและไม่เมกเซนส์ไม่แพ้กัน ไหนๆ ก็จะมาทางนี้แล้ว การเล่าเรื่องแบบนี้จึงขับเน้นประเด็นที่หนังต้องการจะสื่อได้อย่างเข้าท่าเลยทีเดียว

หลังจากการค้นพบดาวหาง เวลาส่วนใหญ่ของเรื่องจะถูกเล่าไปกับความพยายามของศิษย์อาจารย์ที่จริงจังกับเรื่องนี้เพียงสองคน

ในขณะที่ตัวแปรที่สามารถทำอะไรกับเรื่องนี้ได้อย่างรัฐบาลกลับอุบเรื่องนี้ไว้เป็นความลับเพราะไม่ดีต่อตำแหน่งทางการเมืองของประธานาธิบดีหญิง Janie Orlean หรือตัวแปรที่สามารถเผยแพร่ข้อมูลให้คนตระหนักถึงเรื่องนี้แบบซีเรียสอย่างสำนักข่าว กลับให้ความสำคัญกับเรื่องข่าวดาราเลิกกันดีกัน และเน้นขายแอร์ไทม์เพื่อเรตติ้ง สองอย่างนี้คือการเสียดสีถึง ‘อำนาจการคัดกรอง’ ที่ทั้งคัดกรองโอกาสในการรับรู้และโอกาสในการเตรียมการ ที่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาต้องการให้รู้ หรืออนุญาตให้รู้

พอมีข่าวฉาวเกี่ยวกับประธานาธิบดี เรื่องอุกกาบาตจึงกลายเป็นจุดเรียกคะแนนสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปขึ้นมาทันที หรือกล่าวได้ว่า ‘ข่าวสารคืออำนาจ (information is power)’ คือเรื่องจริงเสมอ และมันจะจำเป็นก็ต่อเมื่อผู้ที่ควบคุมและเก็บงำมันอยู่บอกว่ามันจำเป็นต้องรู้ และรู้ได้แล้วนะ จากนั้นกระบวนการยิงซากดาวเทียมกับจรวดเพื่อเบี่ยงวิถีอุกกาบาตยักษ์จึงได้เริ่มต้นขึ้น

แต่ถ้าทำได้ เรื่องนี้จะไปตลกร้ายอะไรและมันคงจบตั้งแต่ไม่ถึงครึ่งเรื่อง และสิ่งที่จะมาหยุดยั้งให้คนได้ใช้ชีวิตกันอย่างปกติสุขต่อไปคือหนึ่งในองค์ประกอบของอำนาจอย่าง ‘ทุนนิยม’ หรือนายทุน Peter Isherwell ผู้เป็น CEO เจ้าของ BASH บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนประธานาธิบดีอยู่ เขามีอำนาจแม้กระทั่งเดินเข้ามาในห้องระหว่างประชุมและเรียกตัวประธานาธิบดีไปพูดคุยราวกับเรียกลูกน้อง

นี่ยังถือว่าเบา เพราะหากให้เปรียบเปรยกับอำนาจทุนนิยมกับการเมืองที่เห็นในปัจจุบันแล้ว สามารถถ่ายทอดเป็นฉากนายทุนเดินเข้าไปปลุกผู้นำในห้องนอนหรือห้องน้ำได้ด้วยซ้ำ

กลายเป็นว่าจากภัยระดับทำเอามนุษย์สูญพันธุ์ กลายเป็นช่องทางทำเงินมหาศาลด้วยแร่อุกกาบาตจากนอกโลก ส่งผลให้ชะตากรรมคนในโลกและประเทศอยู่ใต้การชี้เป็นชี้ตายโดยนายทุนไปโดยทันที

และเมื่อครบองค์ประชุมของกลุ่มคนที่มักเกื้อหนุนกันเองอย่าง ผู้นำ สื่อ กับนายทุน พวกเขาจึงรวมตัวร่วมมือร่วมใจกันในการ ‘ไม่ทำอะไรเพื่อประชาชนเลย’ และกอบโกยทุกอย่างที่พอจะกอบโกยได้ด้วยการใช้ propaganda สารพัด เพื่อจะบอกประชาชนว่าการที่จะใช้เทคโนโลยีนาโนแยกส่วนอุกกาบาตดีต่อทุกคนจริงๆ มันจึงกลายเป็นว่าหากภารกิจสำเร็จ ก็เพียงแต่สำเร็จในฐานะผลพวงของการแสวงหาผลประโยชน์เท่านั้นเอง

เลวร้ายกว่าคือ Dr. Randall ก็เอากับเขาด้วย จากบุคคลผู้เคยเป็น someone ในวงการวิทยาศาสตร์ในระดับกลางๆ แต่เป็น no one ในโลกกว้าง ได้กลายเป็นเซเลบและโฆษกให้กับรัฐบาลและขายความดีความชอบของภารกิจนี้ไปโดยทันที อีกทั้งชื่อเสียงยังทำให้เขาหลงระเริง แล้วไประเริงรักกับผู้ประกาศข่าวจนลืมลูกลืมภรรยาอีกด้วย

มีจุดนึงที่หนังพูดถึงอำนาจได้ดี คือการที่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีใครสักคนจะพูดความจริง คนคนนั้นจะถูกนำไปคลุมหัว ปิดหูปิดตา ปรับทัศนคติ บังคับให้ยินยอมทางกฎหมาย 

กับอีกจุดนึงที่นำเสนอเรื่องจริงอย่างกวนประสาท คือการให้เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงนำขนมและน้ำมาขายให้กับคนในทำเนียบขาวทั้งที่มันเป็นของแจกฟรี วิธีการนี้ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่นายทุนและเผด็จการทำอยู่ พวกเขากว้านของที่เป็นของทุกคนได้ มาเป็นของตัวเอง จากนั้นนำมาขายต่อ เล็กๆ น้อยๆ ก็เอา รวยอยู่แล้วก็ยังไม่เลิกไม่รา ตราบใดที่สามารถขูดรีดหรือขูดเศษอาหารบนภาชนะได้

เมื่ออุกกาบาตยักษ์เริ่มใกล้เข้ามาทุกทีๆ Dr. Randall ที่กำลังสงสัยว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ได้ตบะแตกออกสื่อ และพูดดังๆ จนเส้นเลือดปูดออกไปว่า “เรากำลังจะตายกันหมด”

Randall กับตัวละคร Kate ของ Jennifer Lawrence ได้จุดกระแส ‘Just Look Up’ ด้วยการบอกให้ทุกคนมองขึ้นไปบนฟ้าสิ แล้วจะเห็นว่าความจริงมันอยู่บนนั้น โดยทั้งสองคนได้ Riley Bina (Ariana Grande) ผู้เป็นนักร้องและ influencer สนับสนุน ซึ่งหนังจะสื่อว่า เธอคือตัวแทนของผู้มีชื่อเสียงที่เลือกฝั่งทางการเมือง และชื่อเสียงมีผลต่อการตัดสินใจผู้คน

ในขณะที่ฝั่งประธานาธิบดีและลูกชายได้บอกว่า ‘Don’t Look Up’ เพื่อไม่ให้หลงกลการเคลื่อนไหวและปลุกระดมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล รวมถึงหลอกใช้ให้พวกหัวรุนแรง (ซึ่งมีแบบนี้จริงๆ ในอเมริกา เช่น กลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีน) ต้านกระแสของทั้งสองคนกลับ

ประธานาธิบดี สื่อ และนายทุนกำลังทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องเชิงอัตวิสัย (subjective) หรืออยู่ที่คนจะมองจะเชื่อ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่มีหลักฐาน (ที่พุ่งได้ และพุ่งเข้ามาใกล้ทุกขณะ) ที่เป็นเรื่องเชิงภววิสัย (objective)

อีกทั้งการเงยหน้ากับการก้มหน้า ยังบ่งบอกในเชิงสัญญะได้อีกด้วย เช่น การก้มหน้าคือการที่คนถูกบอกว่า ‘รัฐบาลบอกให้คุณก้มหน้า เชื่อฟัง คุณก็ต้องก้มสิ อย่าเงยขึ้นมา’ ในขณะที่การบอกให้เงยหน้าคือการท้าทายอำนาจและไม่ยอมจำนน หรือหากจะมองในแง่ของตำแหน่งของผู้มองและวัตถุที่มอง ก็สามารถมองได้เช่นกันว่าแค่เงยหน้าขึ้นไป ก็จะพบกับความจริง 

การก้มหน้าคือการไม่ยอมรับความจริง แต่อยู่กับความจริงที่รัฐและสื่อสร้างขึ้นให้กับระดับที่อยู่ด้านล่างกว่า ใครให้อะไรมาก็เสพก็เชื่อไปซะหมด

หลังจากหนังลง Netflix มีกระแสมากมายพูดถึงความเขลาของผู้นำหรือที่มีตัวย่อว่า ‘ผนงรจตกม’ แต่น่าคิดว่าจริงๆ แล้วพวกเขาโง่จริงๆ หรือไม่?

ในหนังสือ The Basic Laws of Human Stupidity ของ Calo M. Cipolla หรือโง่ศาสตร์ กฎที่ว่าด้วยเรื่องของความเขลา ได้แบ่งคนออกเป็น 4 ประเภท คือ คนกระจอก คนฉลาด คนโฉด และคนโง่ ซึ่งพอพิจารณาคุณสมบัติแล้ว โดยเฉพาะข้อที่ว่า ‘คนโง่ไม่เพียงแต่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ยังตัดสินใจและกระทำอะไรโดยกระทบให้ตัวเองเดือดร้อนไปด้วย’

จึงสรุปได้ว่า Janie ไม่ใช่คนโง่เขลาอย่างเดียว (แม้บุคลิกดูจะเป็นเช่นนั้น เป็นตัวละครสไตล์ Adam McKay เขาแหละ) แต่เป็น ‘คนโง่ +คนโฉด’ ที่ผสมเรื่องของผลประโยชน์เข้าไปด้วย หรือกล่าวคือประธานาธิบดีเป็นผู้ที่ไม่รู้เลยว่าการแยกส่วนอุกกาบาตตามนายทุนจะสำเร็จหรือไม่ แต่เธอรู้ตัวว่าเธอทำไปโดยที่ไม่แคร์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนอื่นๆ และหากเรื่องราวผิดพลาด ซึ่งก็ผิดพลาดและผลคือสูญเสียดาวบ้านเกิด เธอมีทางหนีทีไล่คือกระสวยยังชีพที่จะพาเหล่าคนชนชั้นอีลิท (elite) หรือชนชั้นสูงไปอยู่บนดาวดวงอื่นที่ใกล้ที่สุดที่มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้

เธอมีอำนาจอยู่ในกำมือแต่เป็นเพียงแขนขาของทุนนิยม และมันจะทำให้เธอต้องออกจากดาวโลก ลูกของเธอต้องอยู่ลำพัง กับคนทั้งโลกต้องตาย ซึ่งมันอาจไม่ใช่ความรับผิดชอบของอเมริกา เพียงแต่เมื่อ Janie เลือกที่จะเป็นผู้กำหนดเองและกุมข่าวสารทั้งที่ให้ทั่วโลกร่วมมือกันหยุดยั้งได้ ความรับผิดชอบจึงเป็นของเธอและประเทศที่เธอได้รับมอบหมายจากผู้คนให้ดูแล

มีประโยคหนึ่งที่สะท้อนถึงตรงนี้ได้อย่างเจ็บแสบ คือหลังจากที่ประธานาธิบดีเพิ่งจะเอาด้วยเพราะเรื่องอุกกาบาตมีผลประโยชน์กับเธอ ตัวละคร Kate ก็ได้พูดกับเธอว่า “อยากให้รู้ไว้ว่าฉันไม่ได้โหวตคุณ” ประโยคนี้ทำประธานาธิบดีหน้าชา 

เป็นประโยคสั้นๆ ที่กลับจุดประกายให้คิด ไม่เพียงแต่ Kate ที่ไม่ได้เลือกเธอต้องมาคอยรับผลกรรมจากการตัดสินใจและการกระทำของประธานาธิบดี แต่คนอื่นๆ ในประเทศที่ไม่ได้เลือก ไหนจะคนประเทศอื่น และเด็กทารกที่เพิ่งเกิดกับเด็กที่ยังไม่ถึงวัยเลือกตั้งได้ เมื่อมองไปถึงระดับนั้นก็จะพบว่าทำไมพวกเขาถึงต้องมาใช้ชีวิตในโลงศพอย่างไม่รู้ตัวเพราะคนที่กุมความรับผิดชอบกับกุมชะตากรรมของโลกเอาไว้แคร์แต่เรื่องของตัวเอง (น่าคิดกว่าคือใครบ้างที่เลือกคนคนนี้มาบริหารประเทศมหาอำนาจแบบนี้เนี่ย)

สิ่งหนึ่งที่หนังใส่เข้ามาตลอดเรื่องอย่างน่าสนใจและมีนัยสำคัญคือภาพของธรรมชาติ ภูเขาน้ำทะเล สิงสาราสัตว์ ผู้คน ชาติชาติพันธุ์ วัฒนธรรม อารยธรรรม สิ่งปลูกสร้าง และอีกมากมาย

เป็นการบอกตรงๆ ที่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ เหมือนเพลง Getsunova ว่า โลกของเราไม่ได้เป็นของคนคนเดียว แต่เป็นของทุกสิ่งมีชีวิตรวมถึงตัวของโลกเอง แล้วทำไมเพียงคนไม่กี่คนเท่านั้นถึงได้มีอำนาจเหนือคนอื่นๆ และสามารถกำหนดชะตากรรมของผู้คนได้ขนาดนี้จากการเลือกทำและไม่เลือกทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ตั้งตนเป็นผู้ครองอำนาจนั้นหรือผู้ที่ถูกเลือกให้ถือครองก็ตาม  

สุดท้ายกฎที่ต้องคำนึงถึงสูดสุดคือ ‘ประโยชน์และสวัสดิภาพของคนส่วนรวม’ ไม่ใช่ ‘ส่วนตน’ ไม่เช่นนั้นไม่เพียงแต่มนุษย์ แต่สิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับความสูญเสียที่มีคนได้รับผลตอบแทนก็จะพานได้รับผลกระทบไปด้วย ถ้าพูดได้พวกมันก็คงพูดว่า “แล้วฉันเลือกอะไรได้”

ประเภทคนในหนังเรื่องนี้ ก็เหมือนกับความเป็นจริงที่ว่าโลกของเรามีคนหลายรูปแบบ บางคนรู้และสามารถทำอะไรได้ แต่ไม่ทำ, บางคนรู้แล้ว พยายามทำแล้ว แต่ทำไม่สำเร็จเพราะเกินความสามารถ, บางคนรู้แต่แม้แต่พยายามทำยังไม่ได้เพราะถูกตีกรอบไว้, บางคนที่ไม่รู้อะไรเลย กับบางคนที่รู้แต่แสร้งทำเป็นไม่รู้และแสร้งหลอกตัวเองว่าสิ่งที่ออกจากปากคนที่พวกเขานับถือหรือเชื่อใจเป็นสิ่งที่ถูกต้องและความจริงสูงสุดแล้ว

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ Randall ทำให้คือชวน Kate กับ Yule (Timothée Chalamet) เด็กหนุ่มที่ Kate เพิ่งเจอ ไปช้อปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ตและกินข้าวมื้ออาหารราวกับภาพ The Last Supper กันพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นครั้งสุดท้าย นี่คือการยอมรับชะตากรรมโดยสมบูรณ์ พวกเขาได้พยายามแล้ว แต่ทำอะไรไม่ได้นอกจากรอความตายและใช้ช่วงเวลาสุดท้ายให้คุ้มค่าและมีความหมายที่สุด

Don’t Look Up ไม่ใช่เรื่องราวความน่ากลัวของอุกกาบาต แต่เป็นความน่ากลัวของสามสิ่งที่หนักเสนอให้เราเห็นตลอดเวลาและเน้นย้ำตลอดบทความนี้คือ อำนาจของผู้นำ สื่อ และนายทุน กับความเขลาและความหยิ่งผยองของกลุ่มคนที่เชื่อว่าตัวเองสามารถ take advantage จากสถานการณ์และเอาอยู่กับทุกสิ่งทุกอย่าง

มันก็จริงที่ว่าอุกกาบาตเป็นมหันตภัยและภัยคุกคามที่คร่าชีวิตคนบนโลกในหนังเรื่องนี้ แต่อุกกาบาตก็ไม่ต่างอะไรไปกับไวรัสโรคระบาด น้ำท่วม ไฟไหม้ พายุ แผ่นดินไหว มลภาวะ ภัยแล้ง ยันสภาวะเศรษฐกิจที่มนุษย์ต่างก็ได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่มนุษย์ป้องกันได้หรือสามารถฟื้นตัวจากมันได้ นี่จึงเป็นการวัดประสิทธิภาพของรัฐล้วนๆ ว่าในช่วงเวลาเหล่านั้นรัฐหรือตัวแทนประชาชนจัดการปัญหาได้ดีแค่ไหน และขจัดมันออกไปได้เร็วที่สุดด้วยระยะเวลาเท่าไหร่

ถ้าสามารถละเว้นได้ ป้องกันได้ จัดการได้ แต่ไม่ป้องกัน นั่นไม่ต่างอะไรไปกับการร่วมมือกับภัยและปัญหานั้นเพื่อตัวเองแต่เพียงผู้เดียว หรือก็คือภัยจากอุกกาบาต (meteor) ในหนังเรื่องนี้ เปรียบเปรย (metaphor) ได้เป็นความเห็นแก่ตัวของอำนาจสามกลุ่มนั้นที่กระแทกกระทั้นเหมือนอุกกาบาตก้อนใหญ่เข้าใส่ประชาชน ในยามวิกฤต 

AUTHOR