Once Upon a Time in…Hollywood : ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของ เควนติน ทารันติโน

Highlights

  • ภาพยนตร์เรื่องนี้คือผลงานล่าสุดของ Quentin Tarantino ผู้กำกับที่เป็นเซียนด้านการเล่นกับเวลาครั้งนี้เขาเข้าไปแตะต้องเหตุอื้อฉาวอย่างคดีฆาตกรรม Sharon Tate
  • หนังเล่าถึงกลุ่มหนุ่มสาวฮิปปี้ที่เดินร่อนไปมาตามท้องถนน แต่หากรู้ภูมิหลังมาบ้างจะอดขนลุกไม่ได้ เพราะพวกเขาและเธอคือสาวกของ Charles Manson ที่ก่อเหตุฆ่าคนไปมากมายในช่วงยุค 60s
  • ไตเติลเรื่องที่ขึ้นว่า 'Once Upon a Time in...Hollywood' มันเป็นการย้ำเตือนว่านี่คือเรื่องแต่ง นี่คือนิทานจำพวกที่เปิดเรื่องด้วยประโยค 'กาลครั้งหนึ่ง...' ที่มีฉากจบสวยงาม ตรงข้ามกับโลกความเป็นจริงอันโหดร้ายสุดกู่

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาในหนัง*

Quentin Tarantino เป็นผู้กำกับหนังที่เป็นเซียนด้านการเล่นกับเวลาอย่างไม่ต้องสงสัย ในคลาสวิชาภาพยนตร์เมื่อพูดถึงการเล่าเรื่องแบบไม่ลำดับเวลา (หรือที่เรียกว่าการเล่าแบบ jigsaw) หนึ่งในหนังที่นักศึกษาฟิล์มพร้อมใจกันนึกถึงก็คือ Pulp Fiction (1994) หรือหนังหลายเรื่องของเขาก็มักจะมีฉากที่เล่าถึงตัวละครหรือสถานการณ์ใดๆ อย่างยาวนาน ทั้งที่มันอาจจะไม่ได้มีความสลักสำคัญต่อเนื้อเรื่องหลัก เรียกได้ว่าเป็นความยียวนอย่างหนึ่งของทารันติโน

ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 00 เป็นต้นมา ทารันติโนยกระดับการเล่นกับเวลาไปสู่การยั่วล้อทางประวัติศาสตร์ เขาบิดดัดและแต่งเติมเหตุการณ์เข้าไปจนกลายเป็นการสรรค์สร้างประวัติศาสตร์ทางเลือก’ (alternate history) ไม่ว่าจะการที่เหล่านาซีถูกเผาตายคาโรงหนังใน Inglourious Basterds (2009) หรือการที่คนผิวสีกลายร่างเป็นคาวบอยออกแก้แค้นพวกเหยียดผิวใน Django Unchained (2012) ส่วนผลงานล่าสุด Once Upon a Time in…Hollywood (2019) ทารันติโนก็เข้าไปแตะต้องเหตุอื้อฉาวอย่างคดีฆาตกรรม Sharon Tate

เรื่องราวของ Once Upon a Time in…Hollywood ว่าด้วย Rick (Leonardo DiCaprio) กับ Cliff (Brad Pitt) นักแสดงหนุ่มและสตันท์แมนคู่ใจกับชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ในฮอลลีวูด ขณะเดียวกันหนังก็เล่าถึงกลุ่มหนุ่มสาวฮิปปี้เดินร่อนไปมาตามท้องถนน ดูเผินๆ อาจรู้สึกงงงวยว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้โผล่มาในหนังทำไม แต่หากรู้ภูมิหลังมาบ้างจะอดขนลุกไม่ได้ เพราะพวกเขาและเธอคือสาวกของ Charles Manson (หรือManson Family’) ที่ก่อเหตุฆ่าคนไปมากมายในช่วงยุค 60s

ตัวละครริกและคลิฟฟ์ที่เป็นเรื่องแต่งถูกโยงใยเข้ากับโลกความเป็นจริง เมื่อเพื่อนบ้านข้างๆ ของเขาคือ นักแสดงสาว ชารอน เทต และ Roman Polański (ผู้กำกับเรื่อง Rosemary’s Baby) โดยในค่ำคืนของวันที่ 8 สิงหาคม 1969 กลุ่มแมนสันแฟมิลี่ 3 คนได้บุกเข้าไปก่อเหตุฆาตกรรมหมู่ในบ้านของเทตอย่างโหดเหี้ยม ส่งผลให้เทต ลูกในท้องของเธอ และมิตรสหายอีก 3 คนเสียชีวิต (ส่วนโปลันสกีช่วงนั้นเดินทางไปหาข้อมูลที่ยุโรป)

หลายคนแสดงข้อกังขาที่ตัวละคร ชารอน เทต (รับบทโดย Margot Robbie) เป็นแค่หญิงสาวที่เดินสวยๆ ไปมาทั้งเรื่อง แต่นั่นน่าจะเป็นความจงใจของทารันติโน เพราะเมื่อพูดถึงชื่อของเทตทีไร ข่าวฆาตกรรมอันโหดเหี้ยมก็จะตามติดมาทันที ทารันติโนคงอยากให้เราเห็นภาพเธอในฐานะดาราสาวที่มีความสุข ฉากที่ผู้เขียนรู้สึกว่าซาบซึ้งมากคือตอนที่เธอเข้าโรงภาพยนตร์ไปดูหนังของตัวเอง ซึ่งทำให้เทตดูมีชีวิตชีวาอย่างเหลือเชื่อ ดังนั้นผู้เขียนจึงทึกทักเอาเองว่าโปลันสกีน่าจะชอบหนังเรื่องนี้ แม้ว่ามันจะมีฉากที่พูดถึงตัวเขาในทางที่ไม่ดีนัก แต่ข้อสำคัญคือทารันติโนนำเสนอภาพของเทตอย่างเคารพและงดงาม

ส่วนช่วงไคลแมกซ์ของเรื่อง ทารันติโนก็ปรุงแต่งประวัติศาสตร์เสียใหม่อย่างสนุกมือ พวกแมนสันแฟมิลี่เปลี่ยนแผนไปบุกบ้านของริกและคลิฟฟ์ จนทำให้ถูกทั้งสองอัดเละเทะ และตอนจบของเรื่องเทตและเพื่อนๆ ก็ไม่ตาย แถมยังมาเชิญริกไปปาร์ตี้ที่บ้านด้วย อย่างไรก็ดี ผู้เขียนกลับรู้สึกว่าฉากจบของหนังมันเศร้าเอามากๆ เมื่อไตเติลขึ้นเรื่องว่า ‘Once Upon a Time in…Hollywood’ มันเป็นการย้ำเตือนว่านี่คือเรื่องแต่ง นี่คือนิทานจำพวกที่เปิดเรื่องด้วยประโยค กาลครั้งหนึ่ง…’ ที่มีฉากจบสวยงาม ตรงข้ามกับโลกความเป็นจริงอันโหดร้ายอย่างสุดกู่

ถึงกระนั้น Once Upon a Time in…Hollywood ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี อาจเพราะทารันติโนให้สิ่งที่คนดูต้องการ ในความคิดของคนส่วนใหญ่แมนสันและพวกเป็นคนเลวทราม สมควรแล้วที่จะถูกทารุณแบบในหนัง (เพื่อนของผู้เขียนเล่าว่า ที่อเมริกาผู้ชมโห่ร้องยินดีอย่างรุนแรงกับฉากไคลแมกซ์) ซึ่งนี่เป็นกลยุทธ์เดียวกับเรื่อง Inglourious Basterds ที่ทารันติโนกำหนดให้พวกนาซีถูกลงทัณฑ์อย่างเจ็บแสบ

ในทางกลับกัน หนังเรื่องใดที่บอกเล่า alternate history ในแบบที่ผู้ชมไม่คุ้นชินหรือขัดใจคนดูก็มีสิทธิถูกด่าเละได้ ตัวอย่างเช่น Downfall (2004) ที่พยายามทำให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ดูมีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เพียงคนบ้าที่สั่งฆ่าล้างยิว หรือ Jojo Rabbit (2019) หนังตลกที่ฮิตเลอร์กลายเป็นเพื่อนในจินตนาการของพระเอกและมีคาแร็กเตอร์บ้าๆ บอๆ ถูกแบ่งเสียงตอบรับของผู้ชมเป็นสองฝั่ง

หนังแนว alternate history ที่ผู้เขียนชื่นชอบ (และถูกด่าเช่นกัน) คือ Marie Antoinette (2006) ของ Sofia Coppola ความผิดยุคผิดสมัย (anachronism) คือคอนเซปต์หลักของหนังเรื่องนี้ เราจึงได้ยินเพลงของวง New Order ในหนังที่มีฉากหลังเป็นฝรั่งเศสยุคศตวรรษที่ 18 และแทนที่จะทำหนังพีเรียดเคร่งขรึม คอปโปลากลับทำให้หนังมีโทนวี้ดว้ายแบบหนังไฮสกูลอเมริกัน และที่สำคัญคือตอนจบของเรื่อง มารี อองตัวเนตต์ กลับไม่ถูกกิโยตินบั่นคอ สร้างความโกรธแค้นกับผู้คน (โดยเฉพาะชาวฝรั่งเศส) อย่างมาก แต่ในอีกแง่หนึ่ง มองได้ว่านี่คือความกล้าหาญและบ้าบิ่น

ส่วนคำถามว่าหนังไทยมีแนว alternate history หรือไม่ เราอาจต้องย้อนถามก่อนว่าเรามีหนังประวัติศาสตร์ที่นอกเหนือจากการเล่าประวัติศาสตร์ชาตินิยมบ้างหรือยัง เดือนก่อนหน้าผู้เขียนได้ดูละครเวทีเรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกบฏบวรเดช จึงเกิดสงสัยว่ามีหนังไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้หรือไม่ หลังจากลองค้นดูก็พบว่าแทบไม่มี หรือเป็นฉากเล็กๆ ที่ถูกตัดออกจากหนังบางเรื่อง หรือถ้าว่าด้วยเหตุการณ์ที่มีดราม่าวนมาทุกปีอย่าง 6 ตุลาฯ 2519 ก็ยังไม่มีหนังที่เล่าถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา

เช่นนั้นแล้ว มีประวัติศาสตร์มากมายที่ยังไม่ได้สร้างในหนังไทย แต่เวลาที่จะมาถึงคือเมื่อไร คำตอบก็เหมือนจะอยู่แสนไกล

AUTHOR