**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง 1917**
ไม่ต้องใช้การสังเกตมากนักก็จะพบว่าภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นมีไม่มาก ในขณะที่หนังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับมีมากมาย เหตุผลอย่างง่ายที่สุดคือสหรัฐอเมริกามีบทบาทหลักในสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นฮอลลีวูดจึงบอกเล่าเรื่องราวของสงครามนี้ได้อย่างไม่รู้จบ ไหนจะดราม่าเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่ทำเป็นหนังทีไรก็ขายได้ ดูได้จาก Steven Spielberg ที่หากินกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มาหลายที ทั้ง Schindler’s List (1993) และ Saving Private Ryan (1998)
ส่วนหนังสงครามโลกครั้งที่ 1 ถ้าให้นึกเร็วๆ คงนึกออกแค่ไม่กี่เรื่อง เช่น Paths of Glory (1957), A Very Long Engagement (2004), War Horse (2011 ซึ่งก็กำกับโดยสปีลเบิร์ก) หรือที่ฮือฮาในช่วงปีสองปีนี้ก็มี They Shall Not Grow Old (2018) สารคดีที่ Peter Jackson เอาฟุตเทจขาว-ดำจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มาทำให้เป็นหนังสี ส่วนหนังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่โด่งดังเรื่องล่าสุดคงหนีไม่พ้น 1917 ของผู้กำกับ Sam Mendes ที่เป็นหนึ่งในตัวเต็งออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
เอาเข้าจริงแล้วเรื่องราวของ 1917 เล่าจบได้ในไม่กี่ประโยค ‘นายทหาร 2 คนเดินทางไปส่งข่าวให้ยกเลิกการโจมตี ถ้าไปไม่ทันทหารจะตาย 1,600 นาย‘ จบ แค่นี้เลย แต่จุดขายและจุดแข็งของ 1917 คือการถ่ายแบบ one shot หรือการถ่ายแบบยาวๆ ไม่ตัดต่อ ถึงขั้นว่าก่อนที่จะปล่อยตัวอย่างหนัง ทีมพีอาร์ของ 1917 กลับเลือกปล่อยคลิปเบื้องหลังออกมาให้ดูก่อนว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายทำกันอลังการขนาดไหน
หนังประเภทวันช็อตนั้นมี 2 แบบด้วยกัน หนึ่ง ถ่ายวันช็อตจริงๆ กล่าวคือ ทั้งเรื่องถ่ายแบบเทคเดียวไม่มีหยุด ตัวอย่างหนังดังก็เช่น Russian Ark (2002) ที่ตัวละครเดินทอดน่องไปเรื่อยในพระราชวังฤดูหนาว เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก หรือ Utøya: July 22 (2018) หนังความยาว 90 นาที เล่าถึงเหตุการณ์สังหารหมู่บนเกาะอูโทยาแบบเรียลไทม์ แน่นอนว่าจุดสำคัญของการทำหนังแบบนี้คือ ‘ความเป๊ะ’ เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดอะไรสักอย่างขึ้นมา แปลว่าพัง ต้องถ่ายใหม่หมด
วันช็อตประเภทที่สองคือหนังที่ถ่ายทำและตัดต่อให้ดูเหมือนเป็นหนังถ่ายเทคเดียว (จะเรียกว่า ‘วันช็อตเทียม’ ก็ได้) หนังที่ทุกคนคุ้นกันดีคือ Birdman (2014) หรือลองดูคลิปนี้เขาจะเฉลยการทำวันช็อตเทียมในหนังหลายเรื่อง
ส่วน 1917 แม้ดูเผินๆ จะตัดต่อแค่ครั้งเดียวตอนที่พระเอกโดนยิงแล้วสลบไป แต่หลายฉากก็มองออกไม่ยากว่ามีการตัดต่อ เช่น ฉากที่ตัวละครเดินเข้าไปในอุโมงค์มืด หรือตอนที่พระเอกกระโดดลงน้ำ
ถึงจะเป็นวันช็อตเทียม แต่ลูกบ้าของการถ่ายทำ 1917 เป็น ‘ของแท้’ แน่นอน ด้วยความที่หนังประกอบด้วยฉาก long take (การถ่ายยาว) อันแสนซับซ้อนหลายฉากประกอบกัน เหล่านักแสดงและทีมงานจึงต้องฝึกซ้อมเรื่องตำแหน่ง การเคลื่อนไหว ลำดับคิว กันอยู่ 6 เดือน นอกจากนั้นสมรภูมิรบในหนังยังเป็นพื้นที่กว้างและผู้กำกับต้องการถ่ายโดยรอบแบบ 360 องศา ดังนั้นหนังจึงใช้การจัดไฟไม่ได้ (เพราะกล้องจะถ่ายติดพวกแผงไฟ) หนังเลยต้องพึ่งแสงธรรมชาติเกือบทั้งเรื่อง แน่นอนว่าฟ้าฝนเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ บางวันทีมงานถ่ายหนังได้เพียง 5 นาทีเท่านั้น
มีอยู่ 2 ฉากที่ผู้เขียนรู้สึกทึ่งกับการถ่ายทำมาก หนึ่งคือฉากตอนกลางคืนที่พระเอกวิ่งไปมาท่ามกลางซากปรักหักพังแล้วมีการจุดพลุสัญญาณขึ้นฟ้า เมจิคของฉากนี้คือเงาของซากตึกที่พาดผ่านตัวละครไปมา อันเกิดจากการวางแผนมาอย่างดี (ทีมงานใช้วิธีการสร้างโมเดลย่อส่วนขึ้นมาเพื่อดูทิศทางของแสงและเงา) ส่วนอีกฉากคือตอนที่พระเอกวิ่งหนีระเบิดไปตามแนวสนามเพลาะ ถึงขั้นอุทานในใจว่ามันถ่ายกันยังไง (วะ) ดูคลิปเบื้องหลังก็พบว่าต้องใช้วิธีส่งต่อกล้องจากเครนหนึ่งไปสู่อีกเครนเพื่อความต่อเนื่อง เป็นความบ้าดีเดือดแบบที่คนปกติเขาไม่ทำกัน
แต่ใช่ว่าเสียงตอบรับของ 1917 จะเป็นความชื่นชมไปเสียหมด บางส่วนตำหนิว่าหนังดูพยายามขายเทคนิคอลังการหรือ ‘โชว์ของ’ มากเกินไป ทั้งที่จริงแล้วตัวเรื่องมีเนื้อหาอยู่นิดเดียว บ้างก็แซะว่าเป็นหนังที่คลิปเบื้องหลังการถ่ายทำน่าจะมีคุณค่ามากกว่าตัวหนังเองเสียอีก และระหว่างดู 1917 ภาพที่แทรกเข้ามาในหัวอย่างช่วยไม่ได้คือภาพ Roger Deakins (ตากล้อง) เดินขึ้นไปรับรางวัลออสการ์
ผู้เขียนไม่ได้มีปัญหาสักเท่าไหร่กับเรื่องราวอันเบาบางของหนัง อาจจะชอบหนังยิ่งขึ้นไปอีกหากเน้นความดิบหรือความเรียลโดยมุ่งเน้นไปที่ภารกิจของทหารเป็นหลักไปเลย แต่นั่นอาจทำให้ดูเป็นหนังสารคดีเกินไป ผู้สร้างจึงต้องเขียนบทให้มีความดรามาติกขึ้นมา อย่างบางฉากก็เข้าท่า เช่นการหักมุมให้ตัวละครที่เหมือนจะเป็นผู้นำตายไปก่อน จนคนที่เหลือต้องแบกหนังไว้ทั้งเรื่อง ทว่าบางฉากก็ชวนกลุ้มใจ อย่างฉากที่พระเอกไปเจอแม่และเด็กอ่อนที่ทำเอาผู้เขียนหลุดขำออกมากลางโรง เพราะมันเป็นฉากคลิเช่ที่เห็นในหนังสงครามมาแล้วนับร้อยรอบ
ด้านข้อถกเถียงที่ว่าหนังเน้นสไตล์อันหวือหวามากเกินไปหรือเปล่า เราก็คงต้องมานึกย้อนกันว่าตกลงแล้ว 1917 ถ่ายทำแบบวันช็อต (เทียม) ไปทำไม เมนเดสให้สัมภาษณ์ว่าเขาต้องการให้ผู้ชม ‘มีส่วนร่วม’ กับตัวละครในเรื่องที่เผชิญความยากลำบากและเวลาที่ค่อยๆ ใกล้หมดลง นี่ยังเป็นเหตุที่หนังจงใจเลือกนักแสดงที่ไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์มารับบทนำ เพื่อให้คนดูรู้สึกว่าเขาคือ ‘ทหาร’ ไม่ใช่ ‘ดารา’
เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่ก็น่าจะ ‘รู้สึกร่วม’ ไปกับ 1917 ไม่ยาก แต่จะเป็นการรับรู้ถึงความเจ็บปวดและความโหดร้ายของสงคราม หรือเป็นความตื่นเต้นแบบนั่งรถไฟเหาะในสวนสนุก ก็คงเป็นเรื่องของคนดูแต่ละคน
ภาพประกอบ