“คิดถึงคนอ่าน” วิธีเปลี่ยนสถิติธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหนังสือน่าหยิบโดย Rabbithood Studio

Highlights

  • The New Travelsumer คือเซตหนังสือเกี่ยวกับแนวโน้มและพฤติกรรมผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มเฉพาะของการท่องเที่ยวประเทศไทย ที่ออกแบบ จัดรูปเล่ม และทำอินโฟกราฟิกโดย Rabbithood Studio ผู้ทำให้ข้อมูลที่เยอะและยากเป็นมิตรต่อการทำความเข้าใจมากขึ้น

  • เราจึงไปคุยกับพวกเขาถึงกระบวนการการคิดงานและแปลงข้อมูลเป็นอินโฟกราฟิก ซึ่งมีความเฉพาะตัว แตกต่างจากการทำงานกราฟิกประเภทอื่นๆ ที่ทางสตูดิโอคุ้นเคย

  • ความละเอียดของงานชิ้นนี้ทำให้ใช้ระยะเวลาทำงานค่อนข้างยาวนาน แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างกระบวนการคือสิ่งที่ โจ้–วชิรา รุธิรกนก ผู้นำทีม Rabbithood Studio ถือว่าสำคัญมากสำหรับทีม

เวลาที่เราเจอหนังสือที่เต็มไปด้วยข้อมูลเชิงสถิติ ตัวเลขลายตา และครอบคลุมประเด็นลึกๆ จนอาจยากเกินหยั่งถึง หนังสือเล่มนั้นอาจไม่ใช่เล่มแรกๆ ที่เราจะเลือกหยิบขึ้นมาดู

แต่ Rabbithood Studio สตูดิโอที่รับออกแบบกราฟิกทั้งงานหนังสือ โปสเตอร์ ไปจนถึงโลโก้ คือหนึ่งในสตูดิโอที่สร้างภาพให้ข้อมูลจนน่าหยิบอ่าน จนเรากล้าเข้าใกล้หนังสือนั้นโดยไม่ยอมแพ้ก่อนลองทำความเข้าใจ

เซต The New Travelsumer ว่าด้วยแนวโน้มและพฤติกรรมผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มเฉพาะ หนังสือ 4 เล่ม พร้อมอินโฟกราฟิกสรุปใจความ 4 แผ่นของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ออกแบบและจัดทำรูปเล่มโดย Rabbithood Studio คือตัวอย่างของงานที่ทำให้เราสะดุดตาจนเหลียวมองหนังสือกลุ่มนั้นด้วยความหลงใหลในรูปโฉม ตื่นตากับอินโฟกราฟิกที่เป็นมิตรต่อการทำความเข้าใจ

พอเปิดดูหนังสือในเซตครบทั้ง 4 เล่มแล้ว เราไม่ลืมที่จะเปิดเบื้องหลังวิธีแปลงข้อมูลให้ดูเพลินกับดีไซน์สตูดิโอแห่งนี้ ที่นำทีมโดย โจ้–วชิรา รุธิรกนก และมี บิว–วิสาชล แตงโต, แป๋ว–พิมพ์รำไพ สังข์ทอง, แทน–แทนใจ เปี่ยมยศศักดิ์ และ เกด–เปมิกา อ่องประกฤษ ทีมที่อยู่เบื้องหลังหนังสืองามเซตนี้

คิดเป็นขั้น

“ตอนรับงานมาเราคิดว่าไม่มีอะไรมาก เลย์เอาต์หนังสือธรรมดาๆ เราก็ทำอยู่แล้ว แต่พอเริ่มทำจริงๆ โคตรยากเลย” โจ้เล่าถึงการทำงานเซตนี้ที่กระตุ้นความอยากรู้ของเรามากขึ้นไปอีก

“เราว่ามันยากที่การจัดการข้อมูล ข้อมูลมันเยอะมาก และที่สำคัญคือมันผิดไม่ได้” โจ้บอก ความเยอะความยากของเล่มนี้การันตีด้วยเสียงของแป๋ว เลขาของ Rabbithood ที่บอกว่า “ปรู๊ฟกันไปแปดล้านรอบ” เพราะทั้งสัดส่วน ความยาว สเกลของกราฟทุกอย่างต้องถูก และส่วนประกอบในอินโฟกราฟิกก็ต้องได้

งานเซตนี้มีข้อมูลทั้งหมด 4 ชุดที่ทำออกมาสำหรับแจกให้กับผู้กำหนดนโยบายและผู้ประกอบการในธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการในงานเสวนาหรืองานประชุม ซึ่งประกอบไปด้วย ภาพรวมตลาดการท่องเที่ยวมุสลิม (Global Muslim Travel), ข้อมูลท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของนักท่องเที่ยวจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน และคูเวต (Outbound Medical Tourism In UAE Oman and Kuwait), ข้อมูลเชิงลึกตลาดกลุ่มความสนใจเฉพาะของสุขภาพและความงาม (Spa and Wellness), และ การบริโภคที่อิงอยู่บนความจริง (Truthful Consumerism)

ทุกเล่มล้วนเต็มไปด้วยข้อมูล ตัวเลข และสถิติ โดยแต่ละหัวข้อทางสตูดิโอต้องผลิตออกมาเป็นรูปเล่ม e-Book และอินโฟกราฟิกที่ดึงข้อมูลมาจากในเล่ม เล่มละ 1 แผ่น

“เขาให้ต้นฉบับมาอย่างเดียว เราต้องวางเลย์เอาต์ ต้องทำอินโฟกราฟิกกันเอง โดยถอดข้อมูลจากในเล่ม” โจ้เล่าย้อนกลับไปถึงวันรับโจทย์แรกจากกองวิจัยการตลาด ททท. ผู้ผลิตเนื้อหาและผู้ว่าจ้าง เมื่อบรีฟเป็นแบบนี้ นักออกแบบจึงต้องเริ่มตั้งแต่การไล่อ่านต้นฉบับทั้ง 4 ด้วยตัวเอง โดยมีบิวรับหน้าที่หลักในการจัดวางเนื้อหาภายในเล่ม ส่วนแทนใจคือผู้ออกแบบอินโฟกราฟิกและภาพปก

“เราคิดจากตัวเล่มพ็อกเก็ตบุ๊กก่อนว่าทำยังไงให้ดูเป็นชุดเดียวกัน ถึงค่อยมาทำปกให้ไม่เหมือนกันจนเกินไป เพราะก็จะดูน่าเบื่ออีก เราใช้ฟอร์แมตกรอบกับไทป์ให้มันเข้ากับเรื่อง ทำให้ไทป์ชื่อเรื่องค่อนข้างเด่น ทำภาพปกให้เข้ากับเรื่องนั้นๆ” โจ้อธิบายภาพรวมของวิธีคิดงานให้ฟัง “ข้อมูลต้นฉบับมันเป็นข้อมูลที่ตรงไปตรงมา ไม่ต้องตีความ เราเลยเลือกดีไซน์ให้มันเป็นเรขาคณิตหน่อย”

 

คิดอ่านคล่อง

ในส่วนตัวเล่มเนื้อหา บิวผู้จัดวางหน้าหนังสือบอกว่า เมื่อเนื้อหาเยอะ ข้อมูลแน่น การจัดวางให้เข้าใจง่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ

“เราเริ่มจากการคิดระบบการอ่าน กำหนดย่อหน้าให้อ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย เพราะเนื้อหาค่อนข้างยาก มีหัวข้อย่อยเยอะ ส่วนพวกกราฟก็ทำใหม่ให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย รวดเร็วมากที่สุด” เธอบอก สอดคล้องกับโจ้ ที่เห็นว่าความอ่านง่ายสบายตาคือหัวใจของการจัดวางหน้าหนังสือ

“เราว่าเลย์เอาต์ข้างในสำคัญที่สุด คือทำไงให้คนอ่านได้ไม่สะดุด ความเก๋ไก๋เป็นเรื่องที่มาทีหลัง หลังจากที่พวกเราเทสต์อยู่หลายแบบ เราก็เริ่มมีฟอนต์ที่ใช้ประจำ ส่วนตัวเราไม่ค่อยเลือกฟอนต์ที่หักคมๆ เราว่ามันบาดตา อยากให้การอ่านมันไหลลื่น สบายตา ความอ่านง่ายเป็นเรื่องของการเลือกฟอนต์และการจัดวางระยะห่างต่างๆ

“margin (ระยะขอบหนังสือ) ก็ขึ้นอยู่กับความหนาบางของหนังสือ เพื่อให้คนอ่านไม่ต้องเอียงตาตามเวลาเปิดอ่านไปกลางเล่มแล้วหน้ากระดาษมันจะมีความโค้งจากการเข้าเล่ม ตอนนี้มีค่ามาตรฐานที่เราพบว่าอ่านสบายอยู่ แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆ เราอาจจะเจอการตั้งค่าที่ดีกว่านี้ก็ได้

“หนังสือที่ทำเพื่ออ่าน มันต้องอ่านสบายตาเป็นอันดับหนึ่ง ที่เหลือจะพลิกแพลงยังไงค่อยว่ากัน”

คิดละเอียด

สำหรับงานเซต The New Travelsumer ส่วนที่กินระยะเวลาทำยาวนานที่สุด กลับเป็นกระดาษเพียง 4 แผ่น ที่น้อยด้วยจำนวน แต่ละเอียดด้วยเนื้อหาและวิธีการคิด

กระดาษ 4 แผ่นนี้คือส่วนอินโฟกราฟิก ที่ทีมต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมในจักรวาลของอินโฟกราฟิกเพื่อดูว่าอินโฟกราฟิกที่ดีคืออะไร เพราะเรียกได้ว่านี่เป็นงานอินโฟกราฟิกที่มากด้วยข้อมูลชิ้นจริงจังชิ้นแรกๆ ของสตูดิโอ

“ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับอินโฟกราฟิก เราต้องมาคิดต่อว่าทำยังไงถึงจะอ่านง่าย สิ่งที่สำคัญคือโฟลว์ในการอ่าน มันจะเป็นตัวกำหนดว่างานจะดีหรือไม่ดี อ่านแล้วเข้าใจไหม คนอ่านจะรู้ไหมว่าต้องอ่านตรงไหนก่อนตรงไหนหลัง” โจ้บอก

“งานนี้เริ่มจากการอ่านข้อมูลทั้งหมด จากนั้นก็ลิสต์ออกมาว่ามีหัวข้ออะไรสำคัญบ้าง แล้วก็มาจัดลำดับข้อมูลและสเกตช์ไว้ จากนั้นมาดูว่าข้อมูลที่มีอยู่ควรนำมาทำเป็นอินโฟกราฟิกประเภทไหน เช่น การจัดแบบ head-t0-head เหมาะกับข้อมูลของสิ่งสองสิ่งที่ต้องการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน การจัดแบบแผนที่จะแสดงให้เห็นความแตกต่างของข้อมูลของพื้นที่ทั้งหมด

“พอเราได้รูปแบบของการจัดการข้อมูลแล้ว ก็ถึงเวลาเอามาจัดวางให้มันอยู่ร่วมกันภายในหนึ่งแผ่นกระดาษ เช็กอีกครั้งว่ามันควรจะอ่านแบบไหน ซ้ายไปขวา บนลงล่าง หรืออ่านจากตรงกลางออกไปข้างนอก

แต่งานก็ไม่ได้ง่ายและปิดจบได้ทันที เมื่อข้อมูลที่สตูดิโอเลือกไม่ตรงกับสิ่งที่ลูกค้าเห็นว่าสำคัญ หรือบางอย่างก็เข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้ต้องปรับแก้กันอยู่หลายครั้ง ฟังเผินๆ ก็เหมือนเป็นเรื่องธรรมชาติที่คู่กับการทำงาน แต่เมื่อ Rabbithood ขยายความซับซ้อนของการแก้อินโฟกราฟิกเราจึงเข้าใจแจ่มแจ้ง

“การทำอินโฟกราฟิกมันไม่เหมือนการทำปกเพราะแก้ยากกว่า พอปรับหนึ่งจุดหรือมีข้อมูลงอกมาอีกหนึ่งจุด เท่ากับว่าเราอาจจะต้องปรับโฟลว์ ปรับวิธีอ่านใหม่หมดเลย”

การต้องแก้งานหลายจุดจนปิดจบไม่ได้สักทีทำให้รู้สึกอะไรบ้างไหม เราถาม

“ก็รู้สึกเหนื่อยนะ แต่ก็เป็นเรื่องปกติ เราชอบจบงานดี ในความหมายว่าแฮปปี้ทั้งสองฝ่าย เป็นงานที่ปีหน้าพูดถึงเราก็ยังแฮปปี้ หรือว่าจบผ่านมาแล้วสองสามปี ย้อนกลับมาดูเราก็รู้สึกว่าเราแฮปปี้ เราอยากจบงานแบบนั้น เพราะฉะนั้นเราก็จะทำจนมันแฮปปี้ทั้งสองฝ่าย ไม่งั้นเราจะเจอโมเมนต์แบบที่ตั้งใจทำไม่สุด เหนื่อยง่าย ไม่เอาแล้ว หลับหูหลับตาให้มันจบๆ ไป แล้วพอทำเสร็จก็ไม่กล้าบอกใครว่ากูทำอันนี้ หรือบอกก็บอกแบบอายๆ ซึ่งก็มีนะ ไม่ใช่ไม่มี แต่ไม่บ่อย

“เราไม่ค่อยชอบโมเมนต์แบบนั้น ถ้าเราทำเต็มที่แล้ว พอฟีดแบ็กมันออกมาเป็นยังไง มันจะดีหรือไม่ดีอันนั้นมันไม่เป็นไรแล้ว มันรับฟังได้ แต่ตัวเราเองต้องรู้สึกดีกับงานของเราก่อน นี่เป็นคัลเจอร์ของทีมเลย”

 

คิดความหมาย

อีกหนึ่งความยากของอินโฟกราฟิกคือการคิดหาวิธีอธิบายข้อมูลให้น่าสนใจ ในขณะเดียวกันก็ต้องเล่าเรื่องให้ครอบคลุม โจ้บอกว่าอินโฟกราฟิกบนกระดาษเป็นเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ของข้อมูลกับพื้นที่หน้ากระดาษที่มีจำกัด ที่นักออกแบบต้องหาทางจบงานภายในข้อจำกัดนี้ให้ได้

ส่วนบิวช่วยเสริมฟังก์ชั่นของอินโฟกราฟิกนี้ว่าเป็นทั้งการสรุปข้อมูลและเป็นทั้งอินโทรให้ผู้อ่านอยากไปดูส่วนอื่นต่อ

“อินโฟกราฟิกมันดึงข้อมูลมาแค่ส่วนเดียว แต่มันย่อยส่วนที่สำคัญมารวมไว้ มันช่วยดึงดูดให้เข้าไปอ่านในตัวเล่มได้ด้วย ถ้าอยากรู้ข้อมูลเพิ่มมันต้องอ่านตรงตัวเล่มเพิ่ม”

“เราจำได้ว่าอันที่ยากที่สุดน่าจะเป็นอันนี้ หนทางดิ้นน้อยมาก น่าจะแก้บ่อยที่สุดด้วย” โจ้กำลังพูดถึงอินโฟกราฟิกชิ้น Spa and Wellness ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพในประเทศฝั่งยุโรป 4 ประเทศ โดยเนื้อหาดิบทั้งหมดมีถึงประมาณ 100 หน้า “เราต้องมากรองข้อมูล ซึ่งเล่มนี้กราฟเยอะมาก ต้องลิสต์ออกมาว่าข้อมูลส่วนไหนสามารถนำมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพรวมในแต่ละประเทศ และความแตกต่างของเทรนด์การรักษาสุขภาพในแต่ละประเทศได้”

แป๋วเสริมว่าสำหรับอินโฟกราฟิกชิ้นนี้ ในดราฟต์แรกๆ เคยมีการใส่รูปลงไป แล้วโจ้ก็ท้วงถาม

“พี่โจ้ก็ถามกลับไปว่ารูปนี้มันคืออะไร เท่าที่เห็นพี่โจ้ตรวจงานกับน้อง เหมือนทุกสิ่งที่ใส่ลงไปในนั้นมันต้องมีความหมาย ทั้งเส้น ทั้งกราฟ แม้แต่รูปก็ต้องมีที่มาที่ไป เพราะไม่งั้นมันอาจจะชวนคนอ่านตีความไปทางอื่น การจะใส่อะไรลงไปมันต้องมาคิดดีๆ ว่าสื่ออะไรกับเนื้อหาหรือเปล่า”

“ใช่” โจ้ตอบทันที “คนอ่านเขาจะตีความทันทีว่าอะไรคืออะไร เพราะฉะนั้นจะใส่เพื่อความสวยงามอย่างเดียวไม่ได้”

“ถ้ามีภาพมันต้องเป็นภาพที่แสดงคำพูดได้ด้วย เห็นครั้งแรกต้องสื่อสารได้ชัดเจน” บิวเสริม

สำหรับแทนใจผู้ลงมือสร้างสรรค์อินโฟกราฟิกหลัก เห็นว่า Global Muslim Travel คือชิ้นที่แปลงข้อมูลให้เป็นอินโฟกราฟิกยากที่สุด

“ตอนแรกทำไปแค่แผนที่โลก พอเอาไปแลกเปลี่ยนกับพี่โจ้แล้ว ก็ปรากฏว่ายังไม่สามารถแสดงข้อมูลได้ดีพอ โฟลว์ยังไม่ได้ ไม่สามารถให้ข้อมูลที่เป็นรายละเอียดแยกย่อยได้ เลยต้องเพิ่มส่วนของภาพประกอบและเท็กซ์เข้ามา

“พอทำภาพประกอบเราก็ต้องเข้าไปดูอีกว่าคนมุสลิมในช่วงอายุเท่านี้เขานิยมโพกผ้าหรือแต่งตัวกันแบบไหน ซึ่งในอินโฟกราฟิกจะมีการเปรียบเทียบของ 2 เจนเนอเรชั่นที่แตกต่างกัน เราก็ต้องศึกษาว่าในกลุ่มมุสลิมเจนฯ เหล่านี้นิยมแต่งตัวแบบไหน และต้องใช้ภาพแบบไหนถึงจะสื่อสารออกมาได้แม่นยำที่สุด” แทนใจเล่าให้ฟัง

 

คิดเลือกสรร

แทนใจเล่าต่อว่า นอกจากเนื้อหาที่ถูกคิดอย่างละเอียดยิบแล้ว วัสดุที่ใช้พิมพ์และหีบห่อก็ยังเป็นสิ่งที่ทีม Rabbithood Studio ให้ความสำคัญ


“เราเริ่มดีไซน์โดยมีโจทย์จากพี่โจ้ว่างานอินโฟกราฟิกควรจะพับครั้งเดียว เพราะเวลากางออกมารอยพับจะทำให้อ่านยากขึ้น แผ่นอินโฟเลยออกแบบให้อยู่ในไซส์ A2 เมื่อพับครึ่งแล้วจะได้ A3 ซึ่งเท่ากับไซส์พ็อกเก็ตบุ๊กที่เป็น A5 สี่เล่ม ส่วนเรื่องการเลือกกระดาษก็มีผล อย่างตัวอินโฟฯ เราจะเห็นว่าข้อมูลมันเยอะมาก มีตัวอักษรเล็กๆ เยอะๆ ดังนั้นเวลาพิมพ์ออกมาจะต้องชัด เราก็เลยเลือกใช้กระดาษที่รับสีได้ดี สีไม่กระจาย เพราะสีจะอธิบายความหมายของแต่ละหัวข้อด้วย

“ส่วนตัวพ็อกเก็ตบุ๊กก็เลือกใช้กระดาษที่อ่านง่าย สบายตา พิมพ์แล้วต้องไม่ทะลุไปด้านหลัง ไม่งั้นเดี๋ยวข้อมูลจะตีกัน หน้าปกก็เลือกกระดาษที่ดูซอฟต์มีเท็กซ์เจอร์ให้ดูมีความเป็นหนังสืออ่าน

“ส่วนตัวกล่องเราใช้แคนวาสหุ้ม เพราะอยากให้มีเท็กซ์เจอร์อื่นๆ ที่ไม่ใช่กระดาษ รู้สึกว่าพองานออกมาแล้วมันจบครบดี” ส่วนอาร์ตเวิร์กบนแพ็กเกจเลือกใช้สีให้เป็นขาว-ดำเพราะปกข้างในมันเป็นสีแล้ว ทางทีมเห็นว่ามันไม่ควรแข่งกัน”

คิดเรียนรู้

การทำงานชิ้นนี้ของ Rabbithood Studio ไม่ใช่งานครั้งแรกที่ร่วมกับ ททท. ก่อนนี้พวกเขาเคยทำเนื้อหาและรูปเล่มของ Little Chiang Mai หนังสือแนะนำเมืองเชียงใหม่ที่มีตั้งแต่เรื่องจักรยาน ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ ไปจนถึงแกลเลอรีที่ดึงศักยภาพของความเป็นงานพิมพ์ออกมาได้อย่างเต็มที่จนไปคว้ารางวัลทั้งในและต่างประเทศ และยังมีงานออกแบบปกและจัดวาง TAT REVIEW นิตยสารวิชาการรายสามเดือนของ ททท. ที่นำเสนอข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ประสบการณ์การทำงานออกแบบของ Rabbithood Studio เองก็สะสมมาหลายปี

การทำงานกับลูกค้ากลุ่มเดิม การมีประสบการณ์ทำงานมาหลายชิ้น ประกอบกับการที่งานชิ้นนี้มีข้อมูลและตัวหนังสือเกี่ยวข้องเยอะ มันเป็นงานที่ทาง Rabbithood Studio ถนัดไหม เราถาม

“ถ้าหมายถึงทำมันได้ง่ายๆ เหรอ ถ้างั้นไม่มีอะไรถนัดเลย อะไรที่ตอนแรกคิดว่าน่าจะง่ายก็ไม่เห็นเคยง่ายเลยสักอัน พอได้งานใหม่มามันเหมือนเริ่มใหม่ทุกครั้ง เราคิดว่างานแบบนี้มันไม่มีสูตรสำเร็จ เหมือนทำปกอันนี้ แล้วพอต้องทำปกอีกอันหนึ่งมันไม่ได้มีวิธีคิดของปกเก่าที่มาใช้กับปกใหม่ได้”

โจ้อธิบาย “แต่การทำงานเยอะๆ มันช่วยให้เราตัดสิ่งที่ไม่เกี่ยวออกไปได้เร็วขึ้น อย่างน้อยเราพอจะเริ่มรู้ว่าบางอย่างเราไม่ต้องสนใจก็ได้

นอกจากนี้ในแต่ละผลงานของสตูดิโอ เราสัมผัสได้ถึงหนึ่งสิ่งที่ให้ความสำคัญอยู่เสมอ นั่นคือความเต็มที่ในการทำงานและพัฒนาไอเดีย

“เราว่ากระบวนการมันสำคัญพอๆ กับผลลัพธ์นะ หรืออาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำ คือถ้าเราไม่ฝึกคิด ถ้าเราสนใจแค่อยากให้มันจบเร็ว เก็บเงิน แล้วเราพัฒนาอะไรล่ะ กระบวนการมันสำคัญตรงที่เราได้พัฒนาทั้งตัวเราเอง ทีมก็ได้พัฒนา ความสัมพันธ์กับทีมก็ได้พัฒนา กระบวนการคิดมันจะทำให้เราพัฒนาไปเรื่อยๆ แล้วก็ค่อยไปหวังว่าโอกาสที่เราจะยิงถูกเป้าน่าจะมากขึ้น” โจ้บอก โดยเฉพาะกับงานนี้ที่เป็นการทำอินโฟกราฟิกแบบจริงจังครั้งแรกของทีม สิ่งที่ได้เรียนรู้จึงมีไม่น้อย

สิ่งที่ทีมได้เรียนรู้คือการฝึกคิดถึงคนอ่านมากขึ้นมากๆ ทำยังไงให้เขาเข้าใจมากที่สุด ซับซ้อนน้อยสุด อีกอย่างคือการได้พัฒนาการจัดการ ถ้าเราเคลียร์ข้อมูลทั้งหมดและจัดระบบให้เรียบร้อย มันจะไม่ทำให้งานส่วนอื่นๆ พังไปด้วย และไม่ต้องเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็น

“อีกประเด็นคือการพูดคุยกันระหว่างทีมและลูกค้า เพราะข้อมูลมันเยอะมากๆ ถ้าเราไม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน มันค่อนข้างยากเลยที่เราจะคิดได้อย่างครอบคลุมและชัดเจน นี่น่าจะเป็นงานที่คุยกลับไปกลับมากับลูกค้ามากที่สุดแล้วมั้ง

“ส่วนสำหรับเราเอง เราเรียนรู้ว่าการทำอินโฟกราฟิกเป็นทีมมันยากจัง เพราะมันไม่ใช่งานแบบซิงเกิลไอเดีย ไม่เหมือนงานปกที่มา discuss กันแล้วหาไอเดียที่เป็นปกว่ามันจะเป็นอะไรได้บ้าง 1 2 3 4 แต่อินโฟกราฟิกรายละเอียดมันเยอะ มันเลยต้องให้เวลาจูนกันค่อนข้างเยอะ ถ้าอนาคตมีงานแบบนี้อีกก็คิดว่าน่าจะจัดการได้ราบรื่นขึ้นมั้ง”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!