เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องสนุกกับ แดนไท สุขกำเนิด นักออกแบบบอร์ดเกมวัย 14 ปี

Highlights

  • แดน–แดนไท สุขกำเนิด คือนักออกแบบบอร์ดเกมวัย 14 ปีที่เชื่อว่าเกมเป็นสื่อการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย และมีแพสชั่นในการเปลี่ยนเรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ง่ายผ่านบอร์ดเกม
  • แดนทำงานร่วมกับคุณพ่อในการออกแบบเกมให้กับองค์กรต่างๆ ที่สนใจนำเกมไปใช้ในการสื่อสาร และยังช่วยจัดอบรมการออกแบบเกมร่วมกับกลุ่มเถื่อนเกมอยู่เสมอ
  • ขั้นตอนการออกแบบเกมของแดนเกิดจากการทำความเข้าใจสารที่จะสื่อเป็นอย่างดี แล้วตีความออกมาเป็นกลไกเกม กติกาและวิธีการเล่น ก่อนจะทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้แน่ใจว่าเกมมีสมดุล ไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป

ในขณะที่เด็กไทยส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการเรียนในห้องเรียน ทำการบ้านหรือโครงงานที่ได้รับมอบหมาย และเข้าเรียนพิเศษในสถาบันต่างๆ เด็กชายวัย 14 ปีคนหนึ่งเลือกหันหลังให้กับระบบการศึกษาในโรงเรียนมาเรียนโฮมสคูล เพื่อใช้เวลาลงลึกไปกับสิ่งที่สนใจ

บอร์ดเกมคือความสนใจอันดับหนึ่งที่ แดน–แดนไท สุขกำเนิด ตอบออกมาโดยไม่ต้องหยุดคิด และความสนใจของแดนไม่ได้หยุดอยู่ที่การเป็นผู้เล่นเพียงอย่างเดียว เพราะเด็กชายยังสนใจการสร้างสรรค์และออกแบบเกมด้วยตัวเอง โดยร่วมทีมกับกลุ่มเถื่อนเกม (Deschooling Game) เพื่อสร้างสรรค์บอร์ดเกมในฐานะสื่อการเรียนรู้ให้กับองค์กรต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก จนล่าสุดแดนได้รับคำเชิญให้เป็นวิทยากรเล่าถึงบอร์ดเกมบนเวที TEDxYouth@Bangkok มาแล้ว

เพราะสนใจว่าในหัวของเด็กชายนักออกแบบบอร์ดเกมที่มีความคิดอ่านโตกว่าอายุคนนี้เป็นอย่างไร เราจึงไปกดออดรั้วประตูบ้านแดนและนั่งคุยกันดูสักที

แดนไท สุขกำเนิด

เลือกบทบาทตัวละคร

ย้อนกลับไป 4 ปีก่อน เด็กชายแดนไทเริ่มเปิดประตูสู่โลกของบอร์ดเกมจากการจับพลัดจับผลูเข้าชมรมบอร์ดเกมที่โรงเรียน เพียงแค่เพราะเขารู้สึกว่าชมรมอื่นไม่ใช่ทางที่สนใจ แต่เมื่อเขาได้เล่นบอร์ดเกมต่อไปเรื่อยๆ ก็เริ่มติดใจ

“ตอนนั้นอายุประมาณ 10 ปี อยู่ชั้น ป.4 เกมแรกที่เล่นคือเกม Ticket to Ride สร้างทางรถไฟ เล่นกับเพื่อนในชมรมที่โรงเรียน แต่เกมที่เล่นแล้วติดใจคือเกม Evolution ต้องพัฒนาสปีชีส์เพื่อให้อยู่รอด มีสัตว์กินพืช สัตว์กินเนื้อ ที่ชอบเพราะมันสนุก เราไม่ต้องชนะก็ได้ แค่ได้กินเพื่อนก็รู้สึกสะใจแล้ว”

แดนไท สุขกำเนิด

จากที่เคยเป็นผู้เล่น เมื่อในชมรมมีกิจกรรมออกแบบเกมของตัวเองโดยใช้หลักการคิดเรื่องราวหรือธีมใหม่ใส่ให้กับกฎกติกาของเกมเดิมที่มีอยู่ เด็กชายไฟแรงก็รู้สึกขัดใจเพราะอยากออกแบบเกมขึ้นมาใหม่ทั้งหมดด้วยตัวเอง จึงใช้เค้าโครงของ Animal Farm วรรณกรรมที่อ่านอยู่ในเวลานั้นสร้างเกมขึ้นมาเล่นเสียเอง แม้เกมนั้นจะไม่ได้เผยแพร่ที่ไหน และไม่ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดจริงจัง แต่ก็เป็นก้าวแรกในบทบาทนักออกแบบเกมของเขา

ในช่วงเวลาถัดมา แดนเรียนจบชั้น ป. 6 และตัดสินใจว่าเขาอยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง แม้เดิมทีจะอยู่โรงเรียนทางเลือกที่เน้นให้เด็กทำโครงงานมากกว่าการนั่งเรียนธรรมดา แต่ก็ยังมีการกำหนดรูปแบบขั้นตอนการทำโครงงาน ไม่ได้เปิดโอกาสให้วางแผนการทำงานด้วยตัวเองอยู่ดี

“ตอนนี้ผมเรียนกับสถาบันการศึกษาทางไกล ในแต่ละเทอมก็เลือกว่าจะลงเรียนวิชาอะไร อ่านหนังสือ และไปสอบ จริงๆ ก็มีข้อจำกัดที่เลือกได้น้อยกว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่ข้อดีคือเวลาที่เหลือผมก็ได้ทำสิ่งที่สนใจ” เด็กชายบอก

ด้วยความเปิดกว้างให้กับความสนใจของลูก เมื่อแดนสนใจเล่นบอร์ดเกมอย่างจริงจัง ผู้เป็นพ่ออย่าง ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ลองเล่นเป็นเพื่อนลูกจนติดใจและเข้าวงการมาในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งยังมองเห็นบอร์ดเกมเป็นช่องทางสำคัญในการเรียนรู้ที่มากกว่าแค่ระบบโรงเรียน จึงชวนคนคอเดียวกันก่อตั้งกลุ่มเถื่อนเกมขึ้นเพื่อออกแบบเกมที่ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรต่างๆ รวมทั้งจัดอบรมการสร้างเกมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้

เพราะอย่างนี้ นอกจากจะเป็นนักเรียน แดนในวัย 14 ปีจึงมีอาชีพหลักเป็นนักออกแบบบอร์ดเกมภายใต้ชื่อของกลุ่มเถื่อนเกม (Deschooling Game) และมีเพื่อนร่วมงานคนสำคัญคือคุณพ่อของเขาเองอีกด้วย

แดนไท สุขกำเนิด

รูปแบบและกติกา

เมื่อได้โจทย์มา ขั้นตอนแรกของนักออกแบบบอร์ดเกมคือการสืบค้นข้อมูล โดยส่วนใหญ่จะซักถามจากผู้มาติดต่อซึ่งมักเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านดังกล่าวอยู่แล้ว จากนั้นเด็กชายและคุณพ่อจะช่วยกันมองหาเรื่องราวและกลไกที่สามารถนำมาพลิกแพลงให้ออกมาเป็นเกมได้ เพื่อให้เราเข้าใจได้ดีขึ้น แดนไทจึงส่งกระดาษโน้ตที่เขียนอธิบายความคิด และการ์ดเกมที่ทำสำเร็จให้เราดูประกอบการอธิบาย

“เกมนี้ชื่อ Food Diversity เป็นโจทย์ที่ได้จากมูลนิธิชีววิถี พูดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในอาหารที่หายไป เราต้องหากลไกที่ทำให้เราตัดสินใจได้ ผมตีความว่ามันหายไปเพราะผู้บริโภคที่ต้องการอาหารเพียงอย่างเดียว เกษตรกรที่เดิมทีปลูกหลายอย่างก็หันมาปลูกอย่างเดียว เมื่อเกิดภัยพิบัติก็อาจจะทำให้พืชชนิดนั้นเสียหายจนไม่มีอะไรกิน”

แดนไท สุขกำเนิด

ในการออกแบบ เขาต้องมองให้ออกว่าหัวใจสำคัญของแต่ละเกมอยู่ตรงไหน เพื่อสื่อประเด็นที่ต้องการไปยังผู้เล่น

“หัวใจของเกมนี้คือการสร้างระบบที่ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชแค่ชนิดเดียว และทำให้ระบบนั้นพัง เพื่อให้คนเข้าใจว่าหากไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพจะมีข้อเสียอะไร แล้วแปลงเป็นกติกาต่อว่าจะทำให้เกิดสองอย่างนี้ได้อย่างไร”

กติกาของเกมนี้คือ ผู้เล่นถูกแบ่งออกเป็นผู้บริโภคและเกษตรกร โดยผู้บริโภคแต่ละคนจะได้แต้มตามชนิดผักที่เลือกกินและมีหน้าที่เสนอราคารับซื้อให้เกษตรกรปลูกผักที่ตัวเองเลือก ส่วนเกษตรกรก็เลือกปลูกผักตามความต้องการในตลาดและได้เงินตามราคาที่ผู้บริโภคเสนอ โดยเมล็ดพันธ์ุที่ไม่มีใครปลูกก็จะหายไปจากเกม และหากมีภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม โรคระบาด พืชที่ปลูกก็อาจหายไปจากเกมได้เช่นกัน หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ผู้บริโภคจะอดกินและไม่ได้คะแนน ส่วนเกษตรกรก็ไม่มีใครได้เงิน เล่นกันทั้งหมด 4 รอบ แล้วตัดสินผู้ชนะจากผลคะแนน โดยมีผู้ชนะ 1 คนจากฝั่งเกษตรกร นั่นคือผู้ที่ขายผลผลิตได้กำไรมากที่สุด และผู้ชนะอีก 1 คนจากฝั่งผู้บริโภค ซึ่งก็คือผู้ที่กินผลผลิตที่ให้คะแนนรวมมากที่สุดนั่นเอง

แดนไท สุขกำเนิด

เมื่อได้กติกาแล้ว นักออกแบบบอร์ดเกมต้องลองกำหนดตัวเลขว่าจะให้มีพืชกี่ชนิด มีผู้เล่นกี่คน ในที่นี้แดนไทกำหนดให้ฟักทองเป็นผักที่ผู้บริโภคทุกคนกินแล้วจะได้คะแนนมากที่สุดเพื่อจูงใจให้รับซื้อฟักทองในราคาสูงกว่าพืชชนิดอื่น ส่งผลให้เกษตรกรเน้นปลูกฟักทองเป็นหลักและไม่ค่อยปลูกพืชชนิดอื่น จากนั้นก็ทำการทดลองเล่นเพื่อเช็กสมดุลเกมว่าเกมดำเนินไปตามต้องการได้หรือไม่ เพราะในบางครั้งหากเกมไม่สมดุลก็จะทำให้เล่นแล้วง่ายเกินไป ไม่มีวันแพ้ หรือยากเกินไป ไม่มีวันชนะ เล่นเท่าไหร่ก็ไม่จบเกมเสียที แล้วกลับมาปรับค่าตัวเลขต่างๆ ในเกม ก่อนจะทดลองใหม่ จนได้เกมที่สมดุลแล้วจึงค่อยไปสู่ขั้นตอนการออกแบบการ์ด กระดาน หรืออุปกรณ์อื่นๆ อีกที

กว่าจะออกมาเป็นเกมสักเกมที่ผู้เล่นจะได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง นอกจากผู้คิดเกมจะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องลึกซึ้งแล้วนั้น ยังต้องอาศัยการคิดอย่างเป็นระบบขั้นตอนอีกด้วย

แดนไท สุขกำเนิด

ตาแรก และตาถัดมา

แต่กว่าจะเล่าเรื่องขั้นตอนการออกแบบบอร์ดเกมได้ฉะฉานอย่างทุกวันนี้ แดนไทและกลุ่มเถื่อนเกมก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมาไม่น้อย

เกมแรกที่พัฒนาต่อยอดอย่างจริงจังจนถูกนำมาใช้จริงของพวกเขามีชื่อว่า Yellow Cards ที่มีต้นทางมาจากใบเหลืองที่การประมงไทยได้รับเพราะจับปลาเกินกำหนด โดยผู้เล่นจะรับบทเป็นชาวประมงที่ต้องจับปลาให้ได้มากที่สุดโดยไม่ทำให้ปลาหมดทะเล ในทะเลจึงมีทั้งพ่อปลา แม่ปลา และลูกปลา หากจับปลาหมดทะเลจนได้ใบเหลืองสองครั้ง ก็จะกลายเป็นใบแดงและแพ้กันทั้งวง

“ตอนแรกที่คิด ไม่ได้มีเรื่องราวอะไรเลย แต่มีหัวใจคือต้องมีจังหวะที่ปลาหมดทะเล กลไกเกมคิดอะไรได้ก็เขียนออกมา ทำอุปกรณ์เล่นกัน ใช้กระดุม กระดาษลังตัดเป็นชิ้นๆ ซึ่งตอนแรกสมดุลเกมไม่ได้เลย เพราะไม่ว่าทำยังไงปลาก็ออกลูกเยอะมาก จนปลาไม่มีวันหมดทะเล ไม่มีใครได้ใบเหลือง เราก็ต้องแก้ใหม่” แดนเล่า

แดนไท สุขกำเนิด

หลังจากที่ปรับแก้กันจนสำเร็จ ก็เป็นจังหวะดีที่หลักสูตรศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำลังมองหาเกมเพื่อใช้ในการเรียนการสอน เกม Yellow Cards จึงได้ทุนในการผลิตออกมาเป็นจำนวนกว่า 500 ชุดและส่งไปประจำอยู่ที่วิทยาเขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเลยทีเดียว

นับตั้งแต่เกมแรกอย่าง Yellow Cards มาจนถึงวันนี้ แดนออกแบบเกมมาทั้งหมดกี่เกม คำตอบที่ได้ไม่ใช่สิ่งที่เราคาดคิด

“จำไม่ได้เลยครับ เยอะมาก” เด็กชายยิ้มแก้เขิน ก่อนจะอธิบายว่าหลายบอร์ดเกมที่เขาออกแบบนั้นเป็นเกมที่เล่นเพียงรอบเดียว คิดมาเพื่ออีเวนต์ใดอีเวนต์หนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ได้ผลิตออกมาจนเสร็จสวยงามในปริมาณมาก ซึ่งการได้ฝึกฝนสมองด้วยการออกแบบบอร์ดเกมใหม่ๆ ตามโจทย์อยู่เสมอก็ทำให้วิธีคิดการออกแบบบอร์ดเกมของเขาเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ประสบการณ์ทำให้แดนได้เรียนรู้ว่า บอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ที่ดีต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ สามารถสื่อสารประเด็นที่อยากเล่า เปิดโอกาสให้คนเล่นได้เลือกทางเดินของตัวเอง ไม่กำหนดตายตัวว่าจำเป็นต้องเล่นแบบไหนจึงจะชนะ มีจังหวะการเล่นที่ไม่น่าเบื่อ และที่สำคัญคือต้องมีสมดุลเกมที่ดี

“ความท้าทายอยู่ที่การตีโจทย์ให้เปลี่ยนเป็นกลไกเกมให้ได้ และเรื่องสมดุลเกมที่ตอนนี้ก็ยังต้องลองเล่นดูแล้วปรับ ยังไม่มีเครื่องมืออะไรที่ทำให้เกมสมดุลได้เลยตั้งแต่แรก”

แดนไท สุขกำเนิด

ตาต่อไป

คุยกันมาได้สักพัก เราสังเกตว่าเกมส่วนใหญ่ที่เด็กชายออกแบบนั้น เป็นเกมที่เกิดจากโจทย์ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ และมีเนื้อหาที่มีความเป็นวิชาการ จริงจัง และสงสัยว่าถ้าแดนได้เลือกโจทย์ในการออกแบบเกมด้วยตัวเอง เขาจะเลือกทำเกมแบบไหน

“อยากลองทำเกมจากหนังสือเรื่อง เซเปียนส์: ประวัติย่อมนุษยชาติ แต่ยังอ่านไม่จบ เรื่องความสัมพันธ์ของอำนาจในการเมืองก็น่าสนใจมาก หรือเรื่องพลังงานในร่างกาย เคยคิดเล่นๆ ว่าเกมที่เราชวนเพื่อนไปกินชาบูแล้วแคลอรี่เพิ่ม แล้วต้องหาทางออกกำลังกายเพื่อลดแคลอรี่ก็น่าสนุก” แดนตอบด้วยแววตาเป็นประกาย ทำให้เรารู้ว่าเด็กวัย 14 ปีคนนี้ก็จริงจังกับความสนใจของตัวเองไม่แพ้โจทย์จากคนอื่น

ในตอนนี้แม้จะยังมีเกมที่เกิดจากความสนใจของตัวเองไม่มากนัก เพราะนอกจากจะทบทวนบทเรียน เขาก็ใช้เวลาไปกับการออกแบบเกมตามโจทย์ และออกไปอบรมเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ในเทอมหน้าที่จะมาถึง เขาตั้งใจจะออกแบบเกมที่มาจากไอเดียตัวเองให้มากขึ้น แดนบอกกับเราแบบนั้น

คิดถึงชีวิตในรั้วโรงเรียนบ้างไหม เราถาม

แดนนิ่งคิดไม่นานก่อนจะตอบว่า มีบ้างเหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นความเหงาหรืออยากเจอเพื่อนขนาดนั้น เพราะการไปอบรมบอร์ดเกมทำให้เขาได้เจอพี่ๆ ทีมเถื่อนเกมอยู่เป็นประจำและได้เล่นบอร์ดเกมด้วยกัน แม้เขาจะแพ้อยู่บ่อยๆ แต่ก็รู้สึกสนุก

“เราอายุไม่เท่ากันก็จริงแต่ก็เป็นเหมือนเพื่อน” เด็กชายว่า

แดนไท สุขกำเนิด

ในอนาคต แดนยังไม่ได้มองภาพอะไรที่ไกลตัวออกไปมาก ยังตอบไม่ได้ว่าในระดับมัธยมปลายเขาจะยังคงศึกษาในระบบเดิมไหม หรือมีแผนจะสอบเข้าคณะอะไร แต่หลายความสนใจของเขาล้วนเกี่ยวพันกับการทำบอร์ดเกม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเรื่องคณิตศาสตร์ที่อาจจะนำมาช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบได้ หรือสังคมศึกษา เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ก็เป็นเรื่องที่เขาอยากจะลองหยิบมาทำเป็นบอร์ดเกมดูสักที

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แดนไทติดใจบอร์ดเกม นั่นคือรูปแบบเกมที่ไม่ต้องตอบสนองในทันที อาจจะมีการกดดันจากเพื่อนร่วมทีมแต่ก็ไม่จำเป็นต้องรีบ เขาชอบที่ได้มีเวลาค่อยๆ คิด ค่อยๆ เล่น นอกจากนี้เกมยังไม่มีคำตอบถูก-ผิดที่ตายตัว ผู้เล่นสามารถคิดหาวิธีเล่นในแบบของตัวเองได้อย่างเต็มที่

จึงไม่น่าแปลกใจ หากเขาจะค่อยๆ คิด ให้เวลากับตัวเองในการดำเนินชีวิตเช่นเดียวกัน และไม่ว่าแดนจะเลือกเดินต่อไปในรูปแบบไหน เราเชื่อว่าเด็กชายช่างคิดคนนี้ก็จะหาแนวทางการเล่นในแบบของตัวเองได้เสมอ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!