Future Prison Design : โครงการออกแบบเรือนจำที่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

คุณคิดว่าเรือนจำเป็นสถานที่แบบไหน?

ต่อให้ไม่เคยเข้าไปหรือแค่เห็นผ่านละครโทรทัศน์ เราคงนึกภาพออกได้ไม่ยากว่าเรือนจำคือสถานที่ที่ไม่น่าหลงใหลแค่ไหน ถึงอย่างนั้นเรือนจำก็ยังคงเป็น ‘สถาปัตยกรรม’ ที่ต้องถูกออกแบบให้มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

Future Prison Design คือโครงการแรกของประเทศไทย ณ ขณะนี้ที่ให้นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ลงมือออกแบบเรือนจำในอนาคต โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross : ICRC)

การออกแบบสิ่งก่อสร้างที่นักศึกษาเหล่านี้ไม่คุ้นเคยอาจฟังดูยาก รวมถึงยังมีระยะเวลาจำกัดเพียง 2 เดือน แต่ผลลัพธ์ของงานออกแบบเรือนจำที่กลั่นกรองมาจากไอเดียสุดเข้มข้น รวมถึงความคิดใหม่ๆ ที่นักศึกษาได้ซึมซับจากโครงการนี้นั้นน่าสนใจ เราอยากให้ทุกคนได้เปลี่ยนความคิดว่าทุกอย่างออกแบบได้ ไม่เว้นแม้แต่เรือนจำ

เรือนจำคือสถาปัตยกรรมที่ส่งผลต่อผู้อยู่อาศัย

อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการนี้เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการพานักศึกษากว่า 70 ชีวิตมารู้จักและลองออกแบบสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า ‘เรือนจำ’

“เริ่มแรกมหาวิทยาลัยได้รับการติดต่อจาก ICRC เพื่อพูดคุยถึงปัญหาเรื่องคุกในประเทศไทยที่อัตราผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้วกลับมาติดใหม่สูงขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในฐานะที่คุกหรืออาคารเป็นสิ่งที่ต้องอยู่กับผู้ต้องขังตลอดเวลา ก็มองว่ามันสามารถเป็นตัวแปรที่ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงปัญหานี้ได้บ้างมั้ย ในฐานะสถาปนิกทำอะไรได้บ้าง”

หลังเรียบเรียงความคิดและความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกับ ICRC อาจารย์สุนารีจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับทีมอาจารย์ประจำคณะทุกคนว่า ถ้าลองเอาโครงการออกแบบเรือนจำให้นักศึกษาลองทำดูจะเป็นจริงได้หรือไม่ ปรากฏว่าเสียงของอาจารย์เป็นเอกฉันท์ว่าท้าทาย น่าลองทำ

การออกแบบที่ใช้ศาสตร์หลากหลาย

ถึงอาจารย์ในภาควิชาจะลงความเห็นว่าโครงการนี้น่าสนใจ แต่การผลักดันให้เกิดขึ้นจริงนั้นยากมาก เพราะการออกแบบเรือนจำต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เฉพาะด้านหลายอย่าง ทั้งเรื่องการวางผังระบบแบบวิศวกร เรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชน และเรื่องกฎระเบียบในการสร้างคุกของประเทศไทย เรียกได้ว่ามีเรื่องที่ไม่รู้เยอะกว่าสิ่งที่รู้ เพราะฉะนั้นการคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเรือนจำจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

“การออกแบบคุกต้องใช้ตำรา ไม่ว่าจะเป็นตำราการออกแบบคุกซึ่งอ้างอิงจากทาง ICRC ที่สนับสนุนคู่มือให้กับเรา หรือจะศึกษาจากหลักการออกแบบคุกของสหประชาชาติก็ได้ และเมื่อศึกษาหลักการของนานาชาติแล้วก็ต้องศึกษาตำรากฎหมายของประเทศไทยอีก”

แต่การศึกษาเรื่องทั้งหมดด้วยตัวเองอาจใช้เวลานานเกินไป อาจารย์สุนารีเลยขอความรู้และความร่วมมือจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญที่เคยออกแบบคุกให้ต่างประเทศจาก ICRC มาให้คำแนะนำและร่วมตรวจแบบเรือนจำของนักเรียน ดังนั้นแบบเรือนจำที่เสร็จสิ้นนอกจากจะต้องถูกต้องและครบถ้วนตามหลักการออกแบบสถาปัตยกรรมแล้ว ยังต้องถูกต้องตามกฎการสร้างเรือนจำสากลอีกด้วย

ลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนภาพจำ

เมื่อถึงเวลาที่จะต้องพานักเรียนไปทัศนศึกษานอกสถานที่ที่เรือนจำเปิดที่จังหวัดนครนายกเพื่อใช้อ้างอิงในการออกแบบ ถึงแม้คณะครูและนักศึกษาจะไม่สามารถเข้าไปสอดส่องเดินตรวจสถานที่จริงได้เต็มที่ แต่ก็ได้เห็นขนาดพื้นที่จริงและมีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ต้องขังเพื่อถามถึงวิถีชีวิต ความต้องการ และปัญหาที่แต่ละคนพบเจอในเรือนจำ

บทสนทนาของผู้ต้องขังกับนักศึกษาไม่ได้นำไปพัฒนาโครงการเพียงอย่างเดียว แต่กลับเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างมากกว่านั้นด้วย

พรชัย ประสงค์ฉัตรชัย หนึ่งในนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ที่ร่วมออกแบบในโครงการนี้เล่าให้ฟังว่า “การไปไซต์งานเปลี่ยนทัศนคติของตัวเราเยอะ ก่อนไปรู้สึกว่าคุกต้องน่ากลัวเหมือนในละคร ควรเป็นสถานที่ลงโทษคนผิดเท่านั้น แต่พอได้คุยกับนักโทษ ได้ไปสัมผัสถึงสถานที่ที่เขาอาศัยอยู่ ทำให้เรารู้สึกว่าคุกไม่ควรมีแต่การลงโทษหรือการชดใช้กรรมอย่างเดียว คุกควรทำหน้าที่ปรับปรุงคน ทำให้คนที่กลับออกไปสามารถทำให้สังคมดีขึ้นได้อีก”

และไม่ใช่แค่เด็กที่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง อาจารย์สุนารีเองก็รู้สึกเช่นเดียวกัน “การพามาที่นี่ทำให้เด็กไม่ติดกับภาพจำเดิมๆ ว่าคุกต้องน่ากลัวหรือรุนแรง จริงๆ คนที่ติดคุกมีหลายเหตุผลมาก บางคนติดเพราะไม่ได้จ่ายค่าปรับหรือเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่เรื่องรุนแรง เพราะฉะนั้น มุมมองของเด็กหลายคนเปลี่ยนแปลงได้ชัดเลยจากการพูดคุยกับเขา มีการเปิดมุมมองและเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น จากที่เคยออกแบบแล้วมองคนที่ใช้อาคารเป็นแค่ user หรือผู้ใช้อาคาร เขาก็ออกแบบโดยมองว่าคนอยู่เป็นมนุษย์จริงๆ แทน”

ลงลึกงานออกแบบที่แก้ปัญหา

เมื่อข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการมาอยู่ในมือแล้ว จึงมาถึงโค้งสุดท้ายนั่นก็คือการออกแบบตามโจทย์ของอาจารย์สุนารี ที่ให้นักศึกษาแต่ละกลุ่มเลือกปัจจัยเดียวจากปัจจัยทั้งหมดในเรือนจำขึ้นมาออกแบบ อย่างเช่น ห้องพัก ห้องน้ำ อาคารเรียนรู้ อาคารกิจกรรม หรือพื้นที่พบปะญาติ โดยทีมต้องตอบได้ว่าตัดสินใจเลือกปัจจัยนั้นเพราะอะไรและออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาอะไร

สิ่งที่น่าสนใจคือนักศึกษาแต่ละทีมตัดสินใจเลือกเล่าแตกต่างกัน งานออกแบบแต่ละทีมจึงโชว์มุมมองและวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาของพวกเขา

ความเชื่อแรกของสถาปนิกทุกคนคือรูปแบบและทรวดทรงสามารถสื่อสารกับจิตใจผู้อยู่ได้ ทีมแรก ‘Visiting Area’ ได้นำหลักการออกแบบสถาปัตยกรรมมาช่วยเยียวยาจิตใจของผู้ต้องขังอย่างเป็นรูปธรรม โดยเลือกออกแบบพื้นที่พบปะญาติเป็นทางเดินกระจกกั้น 2 ฝั่งที่เชื่อมตั้งแต่ทางเข้าเรือนจำจนถึงลานพบปะญาติที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ ให้ครอบครัวและผู้ต้องขังมีปฏิสัมพันธ์เห็นหน้ากันได้ตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบเข้ามา

“สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจและขับเคลื่อนผู้ต้องขังได้มากที่สุดคือครอบครัว เขารอคอยที่จะใช้เวลาด้วยกัน เลยเลือกหยิบพื้นที่พบปะญาติมาออกแบบ แต่ไม่อยากให้เป็นห้องสี่เหลี่ยมอึดอัดที่ทำได้แค่นั่งมองหน้า อยากเน้นให้ 2 ฝ่ายมีกิจกรรมร่วมกัน ใช้เวลาด้วยกันให้นานที่สุด แต่โครงสร้างกระจกกั้นก็ต้องเป็นไปตามกฎความปลอดภัย สามารถนำไปสร้างได้จริง” ณหทัย บุญแท้ ตัวแทนทีมเล่าให้เราฟังถึงที่มา

ไม่ใช่ว่าพื้นที่พบปะญาติจะถูกหยิบมาออกแบบทีมเดียว อย่างทีม ‘Freedom Of Limits’ เองก็เลือกปัจจัยนี้เช่นเดียวกัน แต่เน้นไปที่ฟังก์ชั่นการใช้งานซึ่งช่วยประหยัดเวลาให้ครอบครัวและผู้ต้องขัง

“ตามกระบวนการ กว่าญาติกับผู้ต้องขังจะพบหน้ากันต้องผ่านการตรวจ ใช้เวลาเดินทางมาที่ห้องนานมาก จะคุยก็ต้องผ่านกระจกและโทรศัพท์ที่อู้อี้ ฟังยาก บางคนนั่งรถมา 3 ชั่วโมงเพื่อเวลาไม่กี่นาทีที่คุยกันไม่รู้เรื่อง เราเลยออกแบบทางเดินห้องพบปะญาติแบบซิกแซ็ก ช่วยร่นระยะทางและประหยัดเวลาของทั้งคู่ และออกแบบเพดานให้เป็นแบบโค้งคล้ายปีกนกเพื่อช่วยเรื่องการสะท้อนของเสียง ถึงเจอกันได้แค่ 45 นาที ก็ควรเป็น 45 นาทีที่มีความหมายและเต็มที่ที่สุด” พรชัย ประสงค์ฉัตรชัย เล่าถึงคอนเซ็ปต์การออกแบบผลงานของทีม

นอกจากหลักของสถาปัตยกรรมจะถูกนำมาใช้แล้ว หลักของจิตวิทยาเองก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้เช่นกัน

จิณห์ศุภา โรจยารุณ ตัวแทนของทีม ‘Le lien Prison’ ที่หยิบมุมมองเรื่องมนุษย์เป็นสัตว์สังคมขึ้นมาวิเคราะห์และตัดสินใจหยิบการสื่อสารมาเป็นตัวแปรในการแก้ปัญหาในเรือนจำ เล่าให้ฟังถึงผลงานของกลุ่มตัวเองว่า

“เรือนจำเปิดเป็นเรือนจำสำหรับนักโทษที่กำลังจะกลับสู่สังคม สิ่งที่เขาต้องเจอคือความกดดันและการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน การสื่อสารจะช่วยเยียวยาและปรับจิตใจ เตรียมความพร้อมให้พวกเขากลับสู่สังคมภายนอก สิ่งที่เราเลือกออกแบบเลยเป็นอาคารกิจกรรม พื้นที่ที่ให้ผู้ต้องขังมาแสดงผลงาน ได้พูดในสิ่งที่ตัวเองอยากพูดให้คนภายนอกได้ยิน ส่วนคนภายนอกก็สามารถเข้ามาเยี่ยมชมหรือแม้กระทั่งร่วมกิจกรรมภายในอาคารได้ เป็นพื้นที่ที่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ศึกษากันและกัน”

เมื่อจิตใจเติมเต็มแล้ว ศักยภาพก็เติมเต็มด้วยเหมือนกัน

The Academy Self-Expression อาคารที่ถูกออกแบบให้เป็นโรงเรียนสำหรับผู้ต้องขัง เกิดจากความคิดของนักศึกษาที่ต้องการให้เปลี่ยนความคิดของผู้ต้องขังที่มองเวลาเป็นเพียงบทลงโทษ ให้มองเป็นเวลาสำหรับการเรียนรู้และการค้นหาตัวเอง

การหยิบระบบการศึกษาใส่เข้าไปในการออกแบบอาคารนั้น สุชานันท์ ขุนชิต ตัวแทนของกลุ่มเล่าว่า “แต่ละห้องจะถูกกั้นแยกสำหรับการเรียนรู้เฉพาะทาง ห้องหนึ่งสำหรับเรียนตัดผม ห้องหนึ่งสำหรับเรียนเชื่อมเหล็ก ห้องหนึ่งสำหรับเรียนทำอาหาร และมีห้องสมุดเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ทุกห้องได้มาแชร์ความรู้กัน ความรู้เฉพาะทางจะทำให้ผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษมีความพร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกง่ายขึ้น และช่วยให้ผู้ต้องขังที่ยังอยู่ข้างในรู้จักเพิ่มคุณค่าของตัวเอง ลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิม”

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนความคิด

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ชั่วโมงที่เราเดินอยู่ในนิทรรศการ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คำว่า ‘เรือนจำ’ ของเราเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ความคิดแรกเรื่องหน้าที่ของเรือนจำที่เอาไว้เป็นบทลงโทษจริงหรือ ไปจนถึงความคิดสุดท้ายที่ติดค้างอยู่ในใจว่า การออกแบบเรือนจำที่เน้นความสะดวกสบายให้แก่ผู้อยู่อาศัยเป็นแนวคิดที่เสี่ยงเกินไปไหม

แต่บทสนทนาสุดท้ายก่อนจากลากับ ฌองค์ มาร์ค ชบินเดนท์ ที่ปรึกษาโครงการจาก ICRC ก็ช่วยตอบคำถามทั้งหมด

“เราไม่ได้มาอยู่ที่นี่เพื่อตัดสินใคร หรือแม้กระทั่งตัดสินคุกว่าคุกมีไว้ทำไม แต่ต้องมั่นใจว่าคุกนั้นไม่ละเมิดหรือทำร้ายสิทธิมนุษยชนอย่างที่ทุกคนบนโลกพึงมี ถ้าคุกทำหน้าที่ลงโทษด้วยการพรากอิสรภาพไปจากมนุษย์ คุกก็สามารถทำหน้าที่ขัดเกลาและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน”

ถึงแม้การเดินทางของแบบเรือนจำทั้งหมดจะจบลงที่การไม่ถูกนำไปสร้างจริง แต่อาจารย์สุนารีมองว่านี่เป็นเพียงก้าวแรกที่นำไปสู่การเดินทางใหม่ อาจเป็นการออกแบบเรือนจำสตรีในภาคการศึกษาหน้าหรือการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาในเชิงสังคมมากขึ้น ทั้งหมดล้วนเป็นการเตรียมพร้อมที่ยังไม่ทราบปลายทาง

แต่สิ่งที่ทุกคนทราบดีคือแม้กระทั่งสถานที่ที่ดูน่ากลัวไปหน่อยอย่างเรือนจำ ก็สามารถเปลี่ยนเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้สังคมดีขึ้นได้

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR